Skip to main content

คนต้นคิด 1

คอลัมน์/ชุมชน

กินอะไรเข้าไปจึงคิดเช่นนั้น ?


 


มีผู้กล่าวว่า เรามักจะได้ในสิ่งที่เหมาะสมกับเรา หากไม่เหมาะสมกับเราสิ่งนั้นก็อยู่กับเราไม่ได้ หรืออยู่กับเราไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม


 


ฉันกำลังกล่าวถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้มา


ปีสองพันห้าร้อยสี่สิบสอง  ฉันเดินทางท่องเที่ยวเมืองเหนือ


 


ช่วงที่อยู่เมืองในหุบเขา และได้หนังสือเก่ามาเล่มหนึ่ง เก่าจริง ๆ เก่าที่สุดเท่าที่เคยได้หนังสือมา  หน้าปกเขียนว่าราคา 1 บาท พิมพ์เมื่อ 2475


 



 


การเดินทางของหนังสือเล่มนี้ หากนับกาลเวลาก็ยาวนานกว่าจะถึงมือฉัน และหากนับการเดินทางของความคิดยิ่งยาวนานไปอีก แต่แนวคิดในหนังสือเล่มนี้ยังใช้ได้กับยุคสมัยที่เป็นอยู่และฉันคิดว่าคงจะเป็นเช่นนี้อีกยาวนานหรือตลอดไปเท่าที่มนุษย์ยังคงอยู่


 


หนังสือเล่มนี้ พระรูปหนึ่งให้มา  ท่านบอกว่ามีโยมคนหนึ่งให้ท่าน โยมผู้ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ โยมเก็บไว้เฉย ๆ


 


"อาตมาคิดว่าเจ้าของน่าจะทำงานโรงพิมพ์ โยมที่ได้รับมรดกเคยมาที่วัดมาเรื่องผ้าทอ ก็เห็นว่า อาตมาอ่านหนังสือ เขาจึงให้" ท่านว่าเช่นนั้น


 


หนังสือเก่า ปกสีน้ำตาลไหม้ กระดาษกรอบจนแทบจับไม่ได้ ต้องค่อยๆ เปิด ชื่อหนังสือว่า "ต้นคิด"  (บรรยายวิธีการใช้ความคิด และกำเนิดแห่งความคิด) โดย ดอกเตอร์เคิต คอฟมันน์ กับศาสตราจารย์อูฟ เย็นส์ ครูส (ชาวเยอรมัน) ราคา 1 บาท พิมพ์เมื่อปี 2475


 


.สมบัติ เขียนไว้ในคำนำว่า ข้าพเจ้าได้อ่านดูรู้สึกว่าเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อ่านมากที่สุด  จึงจะนิ่งดูดายไม่ทำการขยายให้พวกเรารู้เห็นบ้างมิได้


 


ฉันเห็นจริงตามท่าน จึงทำตามเจตนารมย์ของท่านอีกครั้งหนึ่ง โดยนำมาขยายต่อเพราะคิดว่าคงจะมีคนสนใจอีกจำนวนหนึ่ง


 


ในคำนำยังกล่าวไว้อีกว่า พวกเรามีหน้าที่ในการปกครองกันเอง ปัญหาจึงมีว่า ทำอย่างไรตัวของเราและชาติของเราจึงจะมีความสุขความเจริญ ซึ่งเป็นการจำเป็นที่พวกเราจะต้องช่วยกันคิด แต่จะหาความคิดกันอย่างไร


 


เพราะปี 2475 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะราษฎร์ ท่านจึงเขียนคำนำเช่นนี้  ฉันเห็นว่า ในขณะนี้ประเทศเรากำลังมีปัญหาเรื่องความคิด การช่วยกันคิดและการตั้งคำถามว่า จะหาความคิดกันอย่างไร นั่นดูเหมือนจะเรื่องสำคัญยิ่งในเวลานี้ ถือได้ว่าในปี 2549 นี้ อยู่ในช่วงที่เปราะบางทางความคิดมาก ความขัดแย้งจากความคิดที่ไม่เหมือนกันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงเลวร้ายได้เสมอ


 


มีคำถามหนึ่งว่า หรือเพราะเราขาดผู้นำที่เป็นนักคิดที่ดี  บรรดาผู้บริหารประเทศท่านมีวิธีคิดเช่นไรจึงนำพาเราไปสู่ความไร้สุขเช่นนี้ หากเราคิดให้ลึกลงไปปัญหาต่าง ๆ น่าจะเกิดมาจากความคิดเมื่อคิดผิดก็ทำผิด ดังนี้เป็นต้น


 


ดังคำกล่าวของผู้หลักผู้ใหญ่ในยุคสมัยก่อนว่า ค่อย ๆ คิด ค่อยทำไปนะลูก หรือค่อยคิดอ่านไปนะลูก สมัยที่ฉันเป็นเด็ก ยังได้รับคำเตือนเช่นนี้จากตายาย


 


หนังสือเล่นนี้มีอยู่ทั้งหมด 10 บท แต่ ซ.สมบัติ เขียนไว้ในคำนำว่า ชอบบทที่ 9 มาก เพราะได้บรรยายถึงบ่อเกิดแห่งความคิดใหม่ ๆ อย่างละเอียดลออ ท่านจึงนำมาเขียนใหม่ให้เหมาะสมกับคนไทยและใช้ชื่อหนังสือว่า ต้นคิด


 


ฉันชอบบทที่ว่า "กินเพื่อคิด" และคำถามที่ชอบถามกันเล่น ๆ กับเพื่อนว่า "กินอะไรเข้าไปจึงคิดเช่นนั้น"


 


ฉันสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ฉันเชื่อว่าอาหารมีส่วนสำคัญในการใช้ความคิด ความหิวโหยไม่เป็นผลดีด้านความคิดเช่นเดียวกับการกินจนอิ่มมากจนเกินไป


 



 


ประเทศของเรามีผู้อิ่มมากและผู้หิวโหย ผู้อิ่มมากเป็นระดับผู้นำจึงคิดอะไรไม่เข้าท่า คิดผิด คิดแต่จะได้ โดยไม่รู้ว่าจะได้ไปเพื่ออะไรและจะครอบครองไปนานเท่าไหร่ ท่านเหล่านั้นจะคิดให้ดีให้ถูกให้ควรไม่ออก เช่นเดียวกับผู้หิวโหยอดอยากที่คิดอะไรไม่ออกเหมือนกันเพราะพวกเขาไม่มีจะกิน เมื่อพวกอิ่มมากคิดอะไรผิด ๆ  พวกหิวมากก็ยอมตามความคิดผิด ๆ นั้น


 


ดังนั้นเรามาลองดูเรื่องอาหารของผู้ใช้ความคิดกันเถิด


อาหารเพื่อนักคิดว่าควรจะเป็นอาหารเช่นไร


ท่านว่าดังนี้ ....ผู้ใช้ความคิดต้องรัปทานอาหารที่ย่อยง่ายและไม่ควรมากเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว โลหิตที่สมองต้องการจะใช้ก็จะลงไปอยู่ที่กระเพาะ


 


สังเกตได้ว่าเมื่อเรารัปทานอาหารหนักภายในหนึ่งชั่วโมงจะมีความคิดไม่แจ่มแจ้ง เพราะเราจะใช้สมองและกระเพาะทำงานพร้อมกันไม่ได้


 


ผู้ใช้ความคิดต้องรัปทานอาหารที่ซ่อมแซมสมอง เช่น นม ผลไม้ ผักสด ผักสดท่านว่าดีที่สุด คือเห็ด โดยเฉพาะเห็นโคน


 


ไข่ ก็ดีแต่ยกเว้นไข่ต้มที่แข็งมาก และปลา บรรดาอาหารทั้งหมดผู้ชำนาญยกให้ปลาเป็นอาหารอย่างดีของสมองและย่อยง่าย ส่วนเนื้อนั้นผู้ใช้ความคิดต้องการเป็นจำนวนน้อยสุด เนื้อเหมาะสำหรับผู้ใช้แรงงาน


 


คนที่ทำงานใช้ความคิดท่านว่าไม่ควรคิดในขณะที่รัปทานอาหาร หากรัปทานกับเพื่อนโปรดหยุดโต้เถียงอย่างจริงจัง ควรหาเรื่องสนุก ๆ เบา ๆ มาพุดคุย


 


หากรัปทานคนเดียวไม่ควรอ่านหนังสือไปด้วย ให้พยายามเอาใจใส่ในเรื่องอาหาร ชื่นชมยินดีในเรื่องที่จะชื่นชมได้ คิดถึงจดหมายที่เพิ่งได้รับ ครอบครัว หรือคิดถึงเพื่อน


 


ไม่ควรรัปทานอย่างรวดเร็วรีบเคี้ยวรีบกลืนและรีบไปทำงาน เพราะในระหว่างที่รัปทานอาหารสมองต้องหยุดพัก ถ้าหยุดคิดไม่ได้จริงๆ ก็ควรจะเปลี่ยนเรื่องเอาใจใส่ในเรื่องอื่น ๆ


 


ผู้ใช้ความคิดเชื่อกันว่า เป็นการดีที่สุดที่จะรัปทานอาหารเช้าและกลางวันเป็นอาหารเบา ๆ และเวลาหมดงานแล้วรัปทานอาหารหนัก การรัปทานอาหารหนักในเวลาค่ำไม่มีปัญหาต่อการนอน ถ้ามีเวลาห่างกันพอหรือไม่นอนในทันที


 


ชาและกาแฟทั้งสองอย่างช่วยความคิดได้ ยกเว้นคนที่มีโรคประจำตัวและเป็นโรคเส้น ประสาท  คนใช้ความคิดส่วนมากดื่มกาแฟในเวลากลางคืน สิ่งนี้ไม่ควรเพราะจะทำให้หลับไม่สนิท ควรดื่มนมร้อน


 


จำพวกอาหารที่เรียกว่าอาหารสมองที่นักเคมีได้ปรุงแต่งขึ้น ท่านว่าไม่ควรแตะต้องเปลืองเงินเปล่า ๆ น้ำเปล่าสักหนึ่งแก้ว นมหรือน้ำผลไม้สักแก้วดีกว่า หรือจะเป็นขนมทาเนยสักชิ้นสองชิ้นก็เป็นอาหารที่ดีและย่อยง่าย


 


สรุปก็คือว่า คนใช้ความคิดไม่ควรรัปทานอาหารอย่างคนขี่ม้าแข่ง และต้องจำไว้ว่า ถ้ารัปทานมากก็ต้องหยุดพักนาน จะต้องไม่ให้สมองและกระเพาะทำงานพร้อมกัน


 


นี่เป็นบทหนึ่งที่นำมาเขียนเล่าสู่กันฟัง ฉันขออนุญาตผ่านฟ้าดิน(เพราะไม่รู้จะขออนุญาตใคร ทั้งผู้คิด เขียน ผู้แปลเรียบเรียง ก็คงเป็นฟ้าเป็นดินไปแล้ว รวมทั้งพระที่มอบหนังสือเล่มนี้ให้ฉัน..ท่านก็มรณภาพไปแล้วเมื่อสองปีก่อน)


 


** หมายเหตุ เคยเรียบเรียงสู่นักอ่านแล้วครั้งหนึ่ง-ลงสยามรัฐรายวัน (ชาวกรุง)


 


(อ่านต่อฉบับหน้าเพื่อพบว่าคุณเป็นนักคิดใหม่ได้ไหม ?)