Skip to main content

กลืนวัฒนธรรมด้วยการศึกษา

คอลัมน์/ชุมชน


 


รากฐานทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะวัฒนธรรมคือการถักทอของความหลากหลายในวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่รวมกันได้อย่างสันติสุข ความสงบสุขนั้นจะเกิดขึ้นได้หาใช่ด้วยอำนาจและการสยบยอมต่ออำนาจ แต่เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเคารพ การเห็นคุณค่า การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันละกันอย่างเกื้อกูล  ในวัฒนธรรมใดๆ หากยิ่งมีมิติของความซับซ้อน การสอดผสาน และการกำเนิดใหม่ นั่นแสดงถึงความหลากหลายในเชิงคุณค่าได้ถักทอ ก่อกำเนิดขึ้นอย่างอิสระเสรี ซึ่งจริงๆ แล้วความงามของวัฒนธรรมจะงอกงามได้ ก็ด้วยการให้พื้นที่แก่ความคิดสร้างสรรค์ และพรสวรรค์ในปัจเจกบุคคล ได้เติบโตและงอกงามจากรากฐานของการเข้าใจตัวเอง เข้าใจคุณค่าในวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่เราได้เติบโตมาอย่างแท้จริง


 


ในสมัยก่อนการกลืนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก เนื่องด้วยผู้คนมีความผูกพันและหวงแหนในผืนดินถิ่นเกิด วัฒนธรรมของแต่ละชุมชนเป็นเสมือนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ บ่งบอกถึงภูมิปัญญา ความงดงามแห่งสันติภาพ อิสรภาพ และศักยภาพอันหลายหลายของผู้คนที่เลือกที่จะอยู่ร่วมกัน แต่แล้วความหมายของการศึกษาที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน กลับถูกครอบงำด้วยอิทธิพลที่เราได้รับมาจากตะวันตกโดยสิ้นเชิง  เพราะหากเราใคร่ครวญดูความเข้าใจของเราที่มีต่อคำๆ นี้  แทบจะไม่มีอะไรที่บอกให้เราได้เข้าใจถึงคุณค่าที่การศึกษามีต่อชีวิตมนุษย์ หรือวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละวัฒนธรรมเลยแม้แต่น้อย  ผิดกับในอดีตที่คำว่าศึกษาหรือสิกขา ให้คุณค่าและความหมายเด่นชัดถึงการเรียนรู้ และเข้าใจชีวิตอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังโยงใยไปถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณ การเข้าถึงหัวใจแห่งการเรียนรู้เพื่อตื่นรู้ ความรักผู้อื่น เรียนรู้เพื่อการเคารพความงดงามอันหลากหลายของผู้คน นั่นคือ ศึกษาให้เข้าถึงหัวใจแห่งไตรสิกขา ซึ่งเป็นการเรียนรู้และประพฤติปฏิบัติใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อการพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูงอย่างแท้จริง  


 


แต่แล้วในโลกสมัยใหม่ การศึกษากลับกลายเป็นเพียงเครื่องมือแห่งอำนาจ ที่หล่อหลอมให้ผู้คนเรียนรู้เพียงเพื่อการต่อสู้ แย่งชิง และแข่งขัน และเมื่อระบบทุนนิยมได้ก่อกำเนิดเป็นลัทธิวัตถุนิยมแผ่แพร่กระจายไปทั่วทุกอณูของโลก ทุนนิยมก็ได้ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทำให้ตัวระบบสามารถคงอยู่ได้ ในสภาพที่ว่าผู้ถูกเอาเปรียบกลับกลายเป็นผู้ให้ความสนับสนุนหล่อเลี้ยงให้ระบบอันเลวร้ายคงอยู่ต่อไปโดยไม่รู้ตัว


 


สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบสามารถเชิญชวนให้ผู้คนทำร้ายตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว ก็คือ การหยิบยื่นความเย้ายวนในรูปของกิเลสนานาประการให้กับผู้คน อันกอปรด้วย โลภะทางวัตถุในรูปของอำนาจเงิน โทสะในรูปของอำนาจทางการงาน การเมืองและการทหาร  และโมหะในรูปของความกลัวและความรู้สึกพร่องที่สื่อสารมวลชนเป็นตัวควบคุมและกำหนดชี้  เมื่อโลกสมัยใหม่สร้างมายาภาพแห่งการสร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งความสะดวกสบาย กลายเป็นวัฒนธรรมเดี่ยวที่แผ่ปกคลุมไปทั่วโลก ความหลายหลายของวิถีชีวิตผู้คนก็ค่อยๆถูกกลืนหายไปทีละน้อยๆ และการจะหล่อเลี้ยงให้ระบบอันเลวร้ายสามารถคงอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากระบบการศึกษา ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญอันยิ่งยวดของโครงสร้างที่กล่าวมาทั้งหมด


 


การกลืนวัฒนธรรมด้วยการศึกษา เป็นเรื่องที่สังคมไทยน่าจะให้ความตระหนักรู้เท่าทันกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหากจะอธิบายให้ลึกก็คือการใช้การศึกษาเพื่อเป้าหมายในการกลืนคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยที่เราไม่รู้ตัว  ด้วยประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาแบบอเมริกันแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจการศึกษาเป็นเครื่องมือในการกลืนทางวัฒนธรรม (assimilation) ของชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ความกลัวและความพร่องทางจิตวิญญาณ ทำให้คนขาวมองความแตกต่างทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นเรื่องเลวร้าย  มองสิ่งที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมตัวเองว่าด้อยและไม่พัฒนา  


 


เริ่มต้นด้วยการขับไล่ให้ชาวพื้นเมืองให้ต้องอพยพโยกย้ายไปสู่พื้นที่ไร้ประโยชน์ ซึ่งโดยมากก็เป็นเขตทะเลทรายอันกันดาร นอกจากจะทำให้ชาวพื้นเมืองประสบปัญหาการยังชีพ ที่แต่เดิมสามารถทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ เพื่อการเป็นอยู่อย่างพอเพียง และสมดุลกับระบบนิเวศ ยังเป็นกระบวนการที่ทำให้ชาวพื้นเมืองต้องตัดขาดจากผืนแผ่นดินถิ่นกำเนิด ซึ่งผืนดินสำหรับชาวพื้นเมืองนั้น เป็นเสมือนเลือดเนื้อ ชีวิต และเรื่องราว คุณค่าทางจิตวิญญาณ ภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ  จากนั้นจึงแยกความสัมพันธ์อันซับซ้อนในชุมชน ด้วยการศึกษาภาคบังคับที่แยกเด็กออกมาจากชุมชน  จากนั้นก็ถูกสอนด้วยครูที่ถูกส่งไปจากทางการ สอนชุดความรู้แบบแยกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับวิถีชีวิตอันซับซ้อนในเชิงนิเวศของชนพื้นเมือง เลิกการใช้ภาษาท้องถิ่น ผลักดันด้วยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและความเจริญ ตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดจากภายนอก  จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลของระบบการศึกษาในลักษณะนี้จะออกมาว่า เด็กมีผลการเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ตีตราว่าคนพื้นเมืองเหล่านั้นเป็นคนโง่และไร้การศึกษาอีกนั่นเอง  ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่ากระบวนการนี้ไม่ต่างกับสิ่งที่การศึกษาไทยทำต่อชนพื้นเมืองชาวเขาทางภาคเหนือเลยแม้แต่น้อย


 


หากสังเกตให้ดี กระบวนการกลืนทางวัฒนธรรมด้วยการศึกษานี้ กำลังเกิดขึ้นในทุกระดับของสังคมทั่วโลก  ในสังคมไทยเราจะเห็นตัวอย่างที่คล้ายกันในการจัดการศึกษาท้องถิ่นที่ไม่คำนึงพื้นฐานทางวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา และอาชีพ  ระบบการศึกษาที่ผู้คนเหล่านั้นได้รับกลับกลายเป็นมาตรฐานเดี่ยวที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ  ยิ่งศึกษาสูง ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก รังเกียจรากเหง้าของตัวเอง พอกพูนความทะเยอทะยานที่จะแสวงหาความสำเร็จ และชื่อเสียง ที่สื่อและค่านิยมทางสังคมเมืองหลวงได้กำหนดขึ้น ด้วยนิยามการสร้างค่านิยมของความเป็นไทย ที่ผิดไปจากความหมายดั้งเดิม ของการเป็นสังคมของการอยู่ร่วมกันของหลายวัฒนธรรม   ปัจจุบันวัฒนธรรมพื้นเมือง ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างต้องดิ้นรนเพื่อการรักษา สืบต่อคุณค่าให้คงอยู่  และหากมองให้กว้างขึ้นถึงค่านิยมการตะเกียกตะกาย เพื่อไปศึกษาไขว่คว้าปริญญาจากต่างประเทศ ด้วยการขาดซึ่งความเข้าใจและเห็นคุณค่าของรากฐานวัฒนธรรมของเราเองอย่างลึกซึ้ง ค่านิยมของการไปศึกษาต่อต่างประเทศก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของแนวโน้มการถูกกลืนทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้อย่างเด่นชัดในสังคมนักเรียนนอก   


 


จึงเป็นคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะมีการศึกษาที่ให้คุณค่าแก่รากฐานทางภูมิปัญญาอันหลากหลาย ให้ผู้คนในแต่ละท้องถิ่น แต่ละชุมชนได้เกิดความเข้าใจ ความรัก ความหวงแหนในรากเหง้า คุณค่าและศักดิ์ศรีความงดงามของความเป็นมนุษย์ที่สั่งสมและสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เป็นการศึกษาเพื่อการเข้าใจตนเองและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ แล้วจึงค่อยๆ เติบใหญ่เรียนรู้ให้กว้างขึ้น ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยความรัก เคารพ และหวงแหนในคุณค่าและภูมิปัญญาอันหลากหลายของผู้อื่น จนเกิดเป็นภาพของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ผู้จิตใจสูงและเปิดกว้างอย่างแท้จริง