Skip to main content

‘งานแต่งงาน’ ราคาของความรัก

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปงานแต่งงานของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ซึ่งเธอ


เป็นเพื่อนผู้หญิงสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเพียงคนเดียวที่ผมยังไปมาหาสู่อยู่ อันที่จริงเราเรียนกัน


คนละคณะ แต่ช่วยกันทำกิจกรรมสภานิสิตฯ หลายปี แถมพอเรียนจบ ก็ยังได้มาทำงานที่เดียวกันอีก นิสัยเธอออกลุยๆ ไม่เรื่องมาก ก็เลยคบหากันได้ยั่งยืน เมื่อผมย้ายมาอยู่ที่ลำพูน ก็ได้เธอนี่ละครับที่คอยช่วยเหลือดูแลในหลายๆ เรื่อง


 


เจ้าบ่าวของเธอเป็นรุ่นพี่ที่เรียนคณะเดียวกัน คบหากันมาตั้งแต่สมัยเรียน สิ่งที่ผมนับถือมากสำหรับคู่นี้คือความมั่นคง เพราะฝ่ายเจ้าสาวเพื่อนผมนี่เค้าทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนเจ้าบ่าวเขามีกิจการของตัวเองที่จังหวัดกระบี่ สัก 3-4 เดือนถึงจะได้เจอกันสักครั้ง เพราะฉะนั้นตลอดเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ (พูดคำนี้แล้วรู้สึกมันนานจัง) ที่คบหากัน จึงเป็นเรื่องของความอดทนและความเชื่อใจกันล้วนๆ พอได้แต่งงานกันเพื่อนฝูงก็ปลื้มใจไปด้วยเป็นธรรมดา


 


สำหรับผมแล้ว นี่เป็นหนึ่งในหลายสิบคู่ ที่ผมรู้จัก ที่คบหากันตั้งแต่เรียนแล้วได้แต่งงานกัน


 


สิ่งที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังสำหรับงานแต่งงานของเพื่อนผมคนนี้คือ "รูปแบบ"ของงานครับ เพราะตั้งแต่เคยไปงานแต่งงานมาหลายต่อหลายคู่ ไม่ว่าจะของญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ผมยังไม่เห็นงานไหนมีรูปแบบที่ "ง่าย" และ "เป็นกันเอง" เท่างานนี้มาก่อน


 


ก่อนงานแต่ง 1-2 วันผมไปช่วยเขาจัดสถานที่ ผมพบว่า งานนี้เขามีคอนเซปต์คือ ฟ้า ขาว แสด ซึ่งหมายถึง ภูเขา ทะเล และคณะ ครับ ภูเขา หมายถึงจังหวัดลำพูนบ้านเจ้าสาว ทะเลหมายถึงจังหวัดกระบี่ บ้านเจ้าบ่าว ส่วนคณะคือที่ๆ ทั้งสองได้มาเจอกัน งานจึงเต็มไปด้วยสีทั้งสาม (แต่ผมคิดว่าคอนเซปต์จริงๆ น่าจะเป็น ดอกไม้ และแอลกอฮอล์ มากกว่า เพราะงานนี้เต็มไปด้วยดอกไม้กับเบียร์สดอีกห้าถัง)


 


งานจัดที่บ้านเจ้าสาว เช้ามีบะหมี่ เกี๊ยว น้ำชา กาแฟ เลี้ยงฝ่ายเจ้าบ่าว ตอนกลางวันเป็นบุฟเฟ่ต์เลี้ยงแขก พิธีเริ่มต้นด้วย ขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวเข้าตอนเก้าโมงเช้า รับขันหมาก รับไหว้ ผูกข้อมือ ให้ศีลให้พร ถ่ายรูปร่วมกับผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ทั้งหมดนี้กินเวลาแค่ชั่วโมงกว่าๆ จากนั้นก็สังสรรค์กันตามอัธยาศัย พวกสาวๆ จะไปนั่งรวมกลุ่มกันอยู่ใต้ซุ้มต้นไม้ ดูรูปถ่ายของเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่หนีบคลิบโยงไว้เป็น instalation เล็กๆ ที่ดูเก๋ไก๋แบบดูดีได้ไม่ต้องแพง ส่วนพวกผู้ชายก็ไปนั่งล้อมถังเบียร์สดเฮฮากันไป


 


แม่เจ้าสาวบอกกับผมว่า ที่อยากจัดแบบนี้ เพราะแม่เองก็เบื่องานที่ต้องนั่งนานๆ คนแก่ก็ปวดเมื่อย หนุ่มสาวก็เบื่อ อยากจัดให้ง่ายๆ สบายๆ กันทุกฝ่ายดีกว่า เลี้ยงพระนั่นเอาไว้ไปเลี้ยงที่วัดทีหลังก็ได้ ผมได้แต่คิดในใจว่า โห-คุณแม่ช่างสปอร์ต ทันสมัย "เรียบง่ายแต่ดูดี" อะไรประมาณนั้นเลย นี่จึงเป็นงานแต่งงานที่ผมประทับใจมากงานหนึ่ง


 


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่างานแต่งงานเป็นเรื่องของคนหกคนคือ เจ้าบ่าวเจ้าสาว พ่อแม่เจ้าบ่าว และพ่อแม่เจ้าสาว จะให้มีพิธีรีตองอย่างไรก็อยู่ที่หกคนนี้ตกลงกันเอง จะเอาแบบหมั้นวันหนึ่ง แต่งอีกวันหนึ่ง เลี้ยงพระอีกวันหนึ่ง จัดที่บ้าน จัดที่โรงแรม หรือที่ห้องประชุมที่ไหน จะเอาแบบพิธีครึ่งวันเสร็จ หรือพิธีชั่วโมงกว่าเสร็จ ก็แล้วแต่จะเห็นดีเห็นงามกัน 


 


สำหรับงานแต่งงานของผมนั้น อยู่ตรงกลางครับ คือพิธีนานหน่อยประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ  แต่พิธีเสร็จแล้วก็เลี้ยงโต๊ะจีนกลางวันประมาณ 20 โต๊ะ เลยไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไร


 


เท่าที่ผมเคยไปร่วมงานหรือได้รับทราบมา รูปแบบทั่วไปของงานแต่งงานจนน่าจะเป็นรูปแบบสำเร็จรูปไปแล้ว คือ เช้ามีพิธีที่บ้านเจ้าสาว ส่วนเย็นก็เลี้ยงโต๊ะจีน อาจจะที่บ้าน ที่โรงแรม หรือที่ห้องประชุมโรงเรียน ก็แล้วแต่ โดยทั่วไปแล้ว พิธีเช้าตั้งแต่ขันหมากเข้า ไปจนถึงปูที่นอนหรือถ่ายรูปร่วมกันมักจะกินเวลาไม่น้อยกว่าสองชั่วโมงหรือบางทีก็มากกว่านั้น (เจ้าบ่าวเจ้าสาวหิวจนเป็นลมก็มี) ส่วนงานเลี้ยงตอนเย็นจะเริ่มประมาณหนึ่งทุ่ม และกว่าจะเสร็จก็ประมาณสามถึงสี่ทุ่ม บางที่เพื่อนเยอะก็ลากยาวไปถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน


 


วันแต่งงานจึงเป็นวันที่คู่บ่าวสาวเหนื่อยที่สุดในชีวิตอีกวันหนึ่ง (เพื่อนผมบางคนถึงกับบอกว่าเหนื่อยกว่าวันรับปริญญาห้าเท่า) บางคู่ต้องตื่นตั้งแต่ตีสามตีสี่เพื่อมาแต่งหน้าแต่งตัว เพราะฤกษ์ขันหมากเข้าตีห้าหรือหกโมงเช้า กว่าจะเสร็จพิธีกว่าจะต้อนรับแขกเหรื่อแป๊บเดียวก็เที่ยงแล้ว ได้พักหายใจกันไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเตรียมตัวไปงานเลี้ยงตอนเย็นอีก กว่าจะได้นอนก็ดึกดื่นเที่ยงคืน วันแต่งงานสำหรับคนสมัยนี้ จึงเป็นวันที่แสนจะยาวนานจริงๆ


 


กระนั้น ก็ยังมีอีกหลายคู่ ที่ไม่สนใจพิธีรีตองมากมายขนาดนั้น จัดให้ง่าย แต่เหมาะสม เน้นสะดวกและสบายกับทุกฝ่าย


 


ผมไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่าอะไรนะครับ เพราะอย่างที่บอกเรื่องอย่างนี้มันอยู่ที่คน 6 คน กับความเหมาะสมหลายๆ อย่าง ถ้ามีสถานภาพทางสังคมค่อนข้างสูง มีคนรู้จักมาก จะแต่งเล็กๆ ง่ายๆ เชิญแขกไม่กี่คน ก็อาจไม่เหมาะ และในความเป็นจริง เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า "การแต่งงาน" นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ "ประกาศให้สังคมรับรู้ว่าชายหญิงคู่หนึ่งจะอยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยา" เท่านั้น หากแต่เป็นการแสดงให้เห็นถึง หน้าตาทางสังคมของคู่บ่าวสาวและครอบครัวของทั้งสองฝ่ายด้วย ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ "หน้าตา" นั่นละครับ ถ้ามีมาก ขนาดของงานก็ต้องใหญ่ตามไปด้วย และแน่นอน "ราคา" ของมันก็ต้องสูงตามกันไป


 


แล้วเมื่อราคามันสูง มันก็มักจะกลายเป็นปัญหาของฝ่ายเจ้าบ่าวไปโดยปริยาย


 


เพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นวิศวกรโรงงานระดับผู้จัดการ คบหากับแฟนมาหลายปี พอจะแต่งงานผมก็โทรไปแสดงความยินดีด้วย แต่ฟังน้ำเสียงมันเหนื่อยๆ ผมเลยแซวว่า เสียดายความเป็นโสดหรือไง มันบอกว่าเปล่าหรอก ไม่ได้เสียดายความเป็นโสด แต่เสียดายเงิน เพราะต้องจัดงานแต่งที่โรงแรมระดับห้าดาวของจังหวัด (ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย) และค่าใช้จ่ายก็คงเอาการอยู่ ทว่า มันก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้


 


สำหรับฝ่ายชายซึ่งไม่มีสมบัติพัสถานมากพอ (อย่างเช่นผม) เมื่อความคิดเรื่องแต่งงานเกิดขึ้น มันเป็น "เรื่องใหญ่" ในชีวิตเลยทีเดียว รู้ๆ กันอยู่นะครับว่า งานแต่งงานสมัยนี้ เอาอย่างพอประมาณ ค่าใช้จ่ายก็ร่วมแสนแล้ว คนทำงานกินเงินเดือนมีเงินเก็บแค่เดือนละไม่กี่พัน จะต้องเก็บเงินกี่ปีถึงจะพอ ถ้าโชคดีฝ่ายเจ้าสาวไม่ได้เรียกร้องมากหรือคืนสินสอดให้คู่บ่าวสาวไว้ทำมาหากินกันต่อนั่นก็ดีไป แต่ถ้าเจอแบบ "เรียกแพง" ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องไปกู้เงินดอกเบี้ยแพงมาเป็นสินสอด พอแต่งงานแล้วก็ต้องช่วยกันทำงานใช้หนี้ กลายเป็นภาระหลังงานแต่งให้คู่สามีภรรยาต้องชำระกันไป แต่งแล้วทำงานอีกหลายปีกว่าหนี้จะหมดก็มี


 


พูดง่ายๆ คือนอกจากจะเหนื่อยก่อนแต่ง คือต้องหาเงินมาแล้ว ต้องมาเหนื่อยในงานคือรับรองแขกตั้งแต่เช้ายันค่ำ เสร็จแล้วก็เหนื่อยหลังจากเสร็จงานอีกคือหาเงินมาใช้หนี้


 


บางทีผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ราคาของ "ความรัก" มันต้องแพงขนาดนั้นเชียวหรือ? ผมคิดว่าผู้ชายที่อยากมีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายแต่มีปัญหาเรื่องนี้ย่อมต้องสงสัยกันทุกคน แต่ในเมื่อค่านิยมทำนองนี้มันยังอยู่ คนเป็นเจ้าบ่าวก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมอย่างเดียวเท่านั้นละครับ คุณอยากได้ลูกสาวเขา เขาเรียกเท่าไรก็ต้องหามาให้ได้ เขาอยากจะจัดให้เลิศหรูอลังการแค่ไหนก็ต้องทำ จะสรุปว่า เมื่อเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้วจะไม่มีปัญหานั้น คงไม่ได้ เพราะประเภทจัดงานใหญ่โตเลี้ยงโต๊ะจีนเป็นร้อยโต๊ะ เชิญแขกเป็นพันคน แล้วมามีปัญหาเรื่องเคลียร์ค่าใช้จ่ายกันทีหลัง มันก็มีให้เห็นอยู่


 


"ผู้ใหญ่" จึงกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการกำหนดรูปแบบของงาน ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายนะครับ บางกรณีก็หมายถึงผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายให้ความเคารพนับถือด้วย บางกรณีเป็นพระ ซึ่งรูปแบบงานก็ต้องไปทางทำบุญเลี้ยงพระตามประเพณีไทย


 


อย่างกรณีเพื่อนผมที่ยกมาเล่าให้ฟังข้างต้น ผมเข้าใจเอาเองว่า เนื่องจากทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเป็นลูกคนสุดท้องทั้งคู่ พี่ๆ ก็แต่งงานกันไปแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายคงจะมีประสบการณ์กับเรื่องแต่งงานมากพอสมควรที่จะสรุปได้ว่า คนที่ควรจะมีความสุขที่สุดในงานนี้คือคู่บ่าวสาว ไม่ใช่คนอื่น จึงออกแบบงานมาให้ไม่ซับซ้อน เน้นดูดี รื่มรมย์ สนุกสนานเหมือนงานเลี้ยงในสวนอะไรประมาณนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวและผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ก็เปลี่ยนชุดสบายๆ มานั่งสรวลเสเฮฮา แสดงความยินดีกับเพื่อนฝูงแขกเหรื่อได้เลย ไม่ต้องรอพิธีการใดๆ ในช่วงเย็นอีก


 


ไปงานแต่งงานมาก็หลายงาน เพิ่งจะมีงานนี้ละครับ ที่เสร็จพิธีเช้าแล้ว ต้อนรับแขกเหรื่อในช่วงเที่ยงแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวมาสังสรรค์เฮฮากับเพื่อนฝูงได้ทันที นั่งดื่มกันไปตั้งแต่บ่ายยันค่ำ


 


จากงานแต่งของเพื่อนคนนี้ ผมก็อดคิดถึงงานแต่งแบบฝรั่งไม่ได้ เพราะของเขาเน้นเรียบง่ายเป็นกันเอง และออกไปทางสนุกสนานร่วมกันยินดีอยู่แล้ว เข้าโบสถ์ สวมแหวนหมั้น โยนช่อดอกไม้ มีงานเลี้ยงในสวน มีดนตรีกล่อมเพลินๆ จะใช้ค่านิยมเดิมๆ ของเรามาบอกว่า จัดงานแต่งใหญ่ๆ   พิธีเยอะๆ แล้วจะทำให้อยู่กันยืดนั้นคงไม่ได้แล้วละครับ ฝรั่งที่แต่งกันแบบง่ายๆ เขาอยู่กันจนแก่จนเฒ่าก็มีถมไป ตรงกันข้าม ของเราประเภทจัดงานใหญ่จนดังไปทั้งจังหวัด แต่อยู่ไม่ถึงปีก็เลิกกันไปเงียบๆ ก็คงเคยได้ยินกัน


 


ผมคิดว่า รูปแบบของงานแต่งงานเป็นเพียง "กรอบ" ไม่ใช่ "ภาพถ่าย" ต่อให้กรอบนั้นหรูเลิศอลังการเป็นลายกนกสิบหกชั้น แต่ภาพในกรอบไม่ใช่ใบหน้าที่เปี่ยมความสุขของคู่บ่าวสาว กรอบนั้นก็ไร้ประโยชน์ ตรงกันข้าม ถ้ากรอบเป็นเพียงกรอบไม้ธรรมดาๆ แต่ใบหน้าเจ้าบ่าวเจ้าสาวดูมีความสุขที่สุดในโลก


 


นั่นต่างหากที่ "งานแต่งงาน" ควรจะเป็น