Skip to main content

ลมหวน

คอลัมน์/ชุมชน

คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล


ทำนอง: หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ / หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์


 


ลมหวนชวนให้คิดถึงความหลัง


ภวังค์จิตคิดขื่นขมระทมใจ


ตัวใครเป็นคนผิดอยากถามนัก


รักไยใจจะกลับดังลมหวน


 


ใกล้เรากล่าวถ้อยนัยที่รัก


เจ็บนักพอถึงอื่นก็คืนคำ


มาทำชิดสนิทใหม่ใครจะเชื่อ


เบื่อแล้วไยจะมารับกลับคืน


 


ใกล้เรากล่าวถ้อยนัยที่รัก


เจ็บนักพอถึงอื่นก็คืนคำ


มาทำชิดสนิทใหม่ใครจะเชื่อ


เบื่อแล้วไยจะมารับกลับคืน...


 


http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%99 มีให้ฟังด้วยเป็นเวอร์ชั่นเดิม  ส่วนของนัดดา วิยะกาญจน์ ฟังได้ที่ http://i.domaindlx.com/bvrs/song/thai/mp3ss126d.swf )


           


เมื่อคืนวันศุกร์ (10 ..) ผู้เขียนมีนัดทานอาหารเย็นกับผู้ชายที่รักที่สุดในชีวิต ถึงกับเคยเอาชื่อเขาเป็นนามปากกา เราพบกันเมื่อพฤศจิกายน ปี 2531 ตอนนั้นผู้เขียนอายุ 24 ปี และตัวเขาเองก็อายุ 21 ปี พบกันครั้งสุดท้าย เมื่อ 2534  การพบกันคราวนี้เหมือนกับครบรอบ 18 ปีที่ได้รู้จักกัน แต่ผู้เขียนไม่รู้สึกตื่นเต้นอย่างที่น่าจะเป็น ไม่มีอารมณ์ที่กระดี๊กระด๊า รู้สึกเหมือนแค่ว่าจะได้พบเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบมานานแสนนาน ใจลึกๆ คิดถึงภาพเก่าๆ ที่เราใช้เวลาร่วมกัน แล้วคิดต่อว่าเมื่อได้เจอกัน ต่างคนคงไม่ผงะใส่กันและต่างคนต่าง "โกยเถอะโยม" เพราะสังขารที่ร่วงโรยของกันและกัน


 


เพลง "ลมหวน" ที่นำมาให้ฟังคราวนี้ เพราะว่าเหตุการณ์คราวนี้คล้ายๆ กับภาพในอดีตมันย้อนกลับมา อีกอย่างหนึ่งคือว่า ตอนที่เขาคนนี้เดินออกจากชีวิต ไม่มีการบอกลา ไม่มีการคุยกัน เหมือนจู่ๆ ภาพบนทีวีก็ล้มแล้วหายไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ตอนนั้นงงและใจหาย แต่เพราะว่ามีธุระในชีวิตมากมาย จึงทำให้ลืมเรื่องหนีหายนี้ไปได้ง่ายขึ้น แล้ววันหนึ่งเมื่อเดือนพ.. ปีที่แล้วได้ลองเล่นๆ พิมพ์ชื่อของเขาในเว็บองค์การโทรศัพท์ จึงพบว่าเขายังมีชีวิตอยู่ และโทฯไปจึงพบว่าเขาอยู่อีกแห่งหนึ่ง จึงพยายามติดต่ออีก ในที่สุดก็ได้คุยกันทางโทฯ แล้วก็ติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนกลับมาเมืองไทย และพบกันหลังจากเกือบหกเดือนที่ผู้เขียนถึงเมืองไทย


 


เขาคนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมาก ภาพใสๆ ของเขาเมื่อตอนเด็กๆ เปลี่ยนไป เป็นหนุ่มใหญ่ที่ภูมิฐาน ยอมรับว่าดีใจมากที่ได้เจอ รอยยิ้มของเขาไม่ได้เปลี่ยนไป นึกถึงพวกนิยายไทยและฝรั่งในฉากที่คนรักเก่าได้มาเจอกันหลังจากที่ขาดหายไปนับสิบกว่าปี นึกไม่ถึงว่าจะเจอกับตนเอง ได้แต่คิดว่าเออมันก็แปลกดี ส่วนความหวานแหววไม่มีเลย คงเพราะแก่ไปแล้วทั้งสองฝ่าย แล้วเราก็ถามสารทุกข์สุขดิบ ใช้เวลาสองชั่วโมงกว่าๆ ขณะที่นั่งคุยกัน สามสาวโต๊ะข้างก็มีการตบตีกันหลังจากเมาได้ที่ ทำให้คิดในใจว่าที่เรียกว่าน้ำเปลี่ยนนิสัยนี่มีการตอกย้ำว่าจริงอีกครั้ง


 


เราแยกย้ายกลับบ้านเมื่อราวห้าทุ่มกว่า เพราะผู้เขียนต้องสอนอีกกว่า 6 ..ในวันรุ่งขึ้น ขณะกลับบ้าน ผู้เขียนมัวแต่ห่วงว่าพรุ่งนี้จะสอนอะไรมากกว่าจะมานั่งหัวใจพองโตที่ได้เจอคนรักเก่า


 


หากจะเปรียบประชาธิปไตยวันนี้ของสังคมไทยกับความรักของแต่ละคน ในแต่ละวัยแต่ละยุค ก็คงไม่ต่างกัน เพราะหลายคนก็พยายาม "ดอง" หรือ "หยุดเวลา" ของประชาธิปไตยหรือความรักของตนเองเอาไว้ โดยบอกว่านิยามของตนเองหรือความรักในวันนั้น คือความถูกต้องที่สุด แถมพาลอีกว่าความรักของชาวบ้านนั้นไม่ถูก ชาวบ้านไม่มีรักแท้หรือไม่มีสำนึกของประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เหมือนกับว่าชาตินี้ โลกนี้ มีประชาธิปไตยหรือความรักฉบับถูกต้องมีแบบเดียว ชุดเดียวของตนเอง และเป็นอมตะ


 


ประชาธิปไตยนั้นคือ "สิ่งสร้างทางสังคม" หรือ Social Construct ซึ่งจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามปัจจัยหลายอย่าง บางทีก็เอียงไปทางซ้าย บางทีก็เอียงไปทางขวา การที่ยังยึดมั่นในเวอร์ชั่นใดเวอร์ชั่นหนึ่งแล้วมาบอกว่าของตนดีเลิศคงไม่ถูกนัก เท่ากับเป็นการขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยที่ตนเองหวงแหน ดูไปดูมาเป็นเรื่องของการวางอัตตาตนเองให้เหนือคนอื่น ไร้ซึ่งความเป็นกลาง แต่ทั้งนี้อ้างตนเองเป็นตุเป็นตะว่าถูกต้อง ดูไปๆ ก็เหมือนอำนาจนิยมในอีกมุมหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่อ้างความชอบธรรมที่มาจากตำราหรือคัมภีร์  อ้าง authority ของตนเอง จนเฝือไปหมด


 


เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ต่างกับ radical groups หรือกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งในแต่ละด้าน เช่น ด้านศาสนา Christian Fundamentalists กลุ่มฝักฝ่ายเชื้อชาติ White Supremacists หรือแม้กระทั่งเรื่องความแตกต่างทางเพศ Radical Feminists เหล่านี้มาจากความเชื่อว่าความถูกต้องมีชุดเดียวหรืออะไรที่มีอยู่เลวร้ายไปหมด ต้องลบทิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ลืมมองว่าหลายอย่างมีดีมีชั่วปะปน ทั้งที่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ว่าในกรณีใดๆ คือความรุนแรง อันมีพื้นมาจาก "อำนาจนิยม" นั่นเอง


 


ผู้เขียนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นของคู่โลก แต่ผู้เขียนไม่เชื่อว่าความรุนแรงไม่ว่าทางวาจาหรือทางกายจะเป็นทางออกให้เห็นความจริง หลายครั้งที่ผู้เขียนเห็น "การที่จะเอาชนะ" ของใครสักคนก็ไม่ได้ทำให้คนนั้นสุขเมื่อได้ชัยชนะมาแล้ว คงสมดังที่คติที่ว่า "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร" อย่างไรก็ตาม คำว่า "ดวงตาเห็นธรรม" เกิดขึ้นได้ไม่ใช่จากปริญญาหรือจากตำแหน่งทางวิชาชีพหรือวิชาการ แต่อยู่ที่ใจตนเอง เพราะความสำเร็จที่สำคัญคือการเข้าใจตนเอง


 


"ลมหวน" คงเกิดขึ้นอีกในชีวิตของผู้เขียน ถือเป็นโชคของผู้เขียนที่ได้มองย้อนกลับไปในอดีตของชีวิต เพื่อให้เข้าใจชีวิตในปัจจุบัน โดยที่ไม่ต้องให้เดือดร้อนใจนัก