Skip to main content

หนีงานพืชสวนโลก ไปล่องน้ำโขง

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


ในขณะที่ผมล่องอยู่กลางแม่น้ำโขงจากบริเวณเมืองห้วยทราย ฝั่งตรงข้ามเชียงของ มุ่งลงสู่หลวงพระบาง


ผมหยิบเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมาออกมาอ่านทุกถ้อยคำในบทสนทนาว่าด้วยเรื่องพืชสวนโลก ของพะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปวาเก่อญอ ที่ "ยามหนึ่ง อนาคาริก" บันทึกไว้ในคอลัมน์จดหมายเหตุดินฟ้าอากาศ ทำให้ผมมองเห็นความจริงกับความลวงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


 


"ใช่ มันเป็นของเล่น บ่ใช่ของแท้ แต่เขาทำเป็นของเล่นให้คนเห็นเป็นของแท้ คนเข้าใจผิด เขาขุดต้นไม้มารักษาพยาบาลต้นไม้อยู่ดีๆ ก็ทำให้ป่วย แล้วช่วยให้มันมีชีวิตอยู่รอดขึ้นมา ต้องเลี้ยงมัน ให้น้ำให้อาหารมัน ปล่อยให้มันโตเองไม่ได้ ธรรมชาติไม่ได้จัดการน้ำไว้ให้ ต้องปฐมพยาบาลกันไปให้คนเดินชมกันไป" พะตีจอนิ บอกย้ำถึงพืชสวนโลกที่กำลังดึงดูดผู้คนหลั่งไหลเข้าไปในงานอย่างบ้าคลั่ง


 


"ดูป่าข้างหลังโน่น (หลังบริเวณพืชสวนโลก) ไม่มีใครให้อะไรมัน มันอยู่กันเองได้..."


 


ยิ่งยามเห็นภาพผู้คนทะลักหลั่งไหลกันเข้าไปชมงานกันอย่างล้นหลามเนืองแน่น อาจเป็นเพราะแรงของการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่หวังเรื่องการตลาดเม็ดเงิน ยิ่งทำให้มองเห็นอะไรๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น


 


โดยเฉพาะภาพพ่อค้าแม่ค้ากว่าห้าร้อยคนปิดถนนประท้วง เพราะทางผู้จัดงานไม่ยอมให้วางขายสินค้าระหว่างทางเข้า ไม่ยอมให้รถโดยสารเข้ามาจอดใกล้ๆ บริเวณงาน ทำให้ขายน้ำขายของไม่ได้ (หลายคนบอกว่า นั่นเป็นวิธีการบังคับให้นักท่องเที่ยวต้องเดินไกลและเหนื่อย และเข้าไปซื้อหาน้ำดื่มและของที่ระลึกที่กลุ่มผู้จัดงานเขาจัดหรือบังคับไว้ให้ทุกคนต้องซื้อภายในงาน)


 


ยิ่งทำให้ผมเห็นภาพอะไรชัดแจ่มยิ่งขึ้น...


 


"...อันนี้เขาหาสตางค์ให้คนรวย ไปดูต้นไม้ของคนรวย เขาซื้อต้นไม้ของคนรวย เป็นต้นไม้ของคนรวยที่เก็บไว้ คนบนดอยเขาจะคิดว่า พวกนี้มันคิดสร้างไปเรื่อยเน้อ แต่มันกินกับข้าวบ่ได้ เป็นไม้สวยข้างนอก ข้างในไร้น้ำใจ" พะตีจอนิ บอกไว้ให้ฉุกคิด


 


ยิ่งยาม "ยามหนึ่ง" เอ่ยถึงต้นปาล์มเก่าแก่ อายุเป็นร้อยปีสี่ห้าต้นอยู่รวมกัน มีราคาเป็นล้านบาท.


 


"พื้นเพมันอยู่ที่อื่น มีพื้นที่เขาอยู่ เป็นที่เขาควรอยู่ เอามานี่ เอามาได้ แต่ที่จริงน่าจะเอาเม็ดมันมา มันจะได้ค่อยๆ ปรับตัว อันนี้ถอนรากถอนโคนเขามา มันบอกมันเหนื่อย มันกลัว มันปรับตัวเยอะ มันต้องเรียนรู้ที่นี่ ดินเป็นยังไง อากาศเป็นยังไง อากาศเป็นยังไง น้ำลมเป็นยังไง คนเป็นยังไง ถ้าเอาเม็ดมาเพาะ ปลูกให้มันโต มันจะค่อยๆ รู้จักดินที่นี่"


 


เมื่อผู้เขียนถามว่า ดูมันมีความสุขมั้ย?


 


"อย่างนี้มันไม่มีความสุข ดูยอดดูใบ มันยังตกใจ แต่ให้เวลารากมันปรับตัวสักหน่อย มันอาจชอบที่นี่ก็ได้ ตอนนี้ดูมันยังไม่หายเหนื่อย"


 


เมื่อถามว่า แล้วพืชสวนโลกของลุงเป็นยังไง?


 


"สวนโลกจริงๆ ต้องเริ่มต้นด้วยเมล็ด ปล่อยให้มันโตสามสี่ปี ให้มันปรับตัวของมัน อย่าไปรุกล้ำมันเกินไป ให้มันปรับตัวจนเกิดเป็นธรรมชาติของมัน ความรู้จะมาเอง ความสวยงามก็เกิด นกหนูสัตว์ก็แวะมา ให้คนได้มีฉากหน้าฉากหลัง มีแสงมีเงา มีสูงๆ ต่ำๆ มีพืชหลากหลาย อยู่เป็นเดือนไม่ตาย พืชสวนโลกมันต้องอย่างนั้น อย่างนี้เขาเรียนรู้ส่วนเกินของคน เรียนรู้ความอยากของคน ส่งเสริมความอยากของคน"


 


"คือต้องไม่จัดการ ธรรมชาติปรับตัวมันเอง ปลูกข้าวหนึ่งเม็ดต้องรอสามสี่เดือนกว่าจะได้รวง แมงบางชนิดใช้เวลาฟักตัวปีกว่า เม็ดพืชบางชนิดกว่าจะแตกหน่อใช้เวลานานกว่าจะโตยิ่งนาน ต้องใช้เวลา ไม่ง่ายเหมือนขุดมาปลูกพืชบางอย่างงอกเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องใช้เวลาเป็นปีสองปีก็มี มันมีฤดู มีผลัดใบ ผลิใบ ออกดอกออกลูกออกหน่วยของมัน อยู่กันเป็นครอบครัว ครอบครัวพญาเสือโคร่ง ครอบครัวทะโล้ ครอบครัวก่อ มีทั้งปู่ย่าตายายลูกหลานเต็มหุบเขา ไปดูได้เลย แข่งกันออกลูกออกหลาน ล้มกันไปบ้าง แมงกินไปบ้าง ลมพัดหักไปบ้าง ตายไปบ้าง สวนโลกมันต้องเป็นอย่างนั้น"


                            


บางถ้อยคำของพะตีจอนิ เหมือนกับรหัสธรรมชาติบางอย่างที่ซ่อนปรัชญาสามัญเอาไว้ให้หลายคนได้ฉุกคิด ทำให้รู้ว่าอะไรคือความจริง ความงาม หรือความลวง...


 


มาถึงตอนนี้ ผมเดินทางมาไกล ไม่รู้ว่าสถานที่จัดงานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่จะเป็นยังไงกันบ้าง ผู้คนหลั่งไหล ต้นไม้เริ่มเหี่ยวเฉา แดดจัดจ้า แม้ค้าคัดค้าน เสียงสบถของผู้คน เสียงบ่นเอือมระอากับการเดินเที่ยวชมงาน!?


 


ในขณะที่หลายคนทะลักเข้าไปชมงานพืชสวนโลก


ทว่าผมและเพื่อนกลุ่มหนึ่งกลับเลือกที่จะเดินทางไปตามลำน้ำโขง มุ่งสู่หลวงพระบาง.


 


 


ข้อมูลประกอบ


 


จากคอลัมน์ "จดหมายเหตุจากดินฟ้าอากาศ" ของ "ยามหนึ่ง อนาคาริก" เรื่อง "ลุงจอนิ พูดถึงสวนโลก" เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 พ.ย. 2549