Skip to main content

พลังปัญญาจากคนรักแม่น้ำโขง

คอลัมน์/ชุมชน


เเมื่อวันที่ ๒๖ - ๒๗ พฤศจิกายน นี้ มีการรวมพลคนรักแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ราว ๕๐๐ คน ทั้งจากผู้คนในท้องถิ่นเอง จากนักต่อสู้แห่งลุ่มน้ำมูน ลุ่นน้ำสงคราม ลุ่มน้ำยม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา


ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลเพื่อเตือนสติผู้นำของ ๖ ประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศและการพัฒนาลุ่มน้ำ รวมทั้งสื่อให้ประชาชนหันมาเรียนรู้ รับฟัง และคิดด้วยมิติใหม่ ที่มิใช่การคิดตามฝ่ายศูนย์กลางอำนาจอย่างเดียว แต่คิดในมิติชีวิตของคนชายขอบ ของชุมชนท้องถิ่น และคิดในมิติของผลประโยชน์ข้ามพรมแดนประเทศคือประโยชน์ของมนุษย์ชาติทั้งมวล


นักวิชาการผู้เปิดเวทีความคิดคนแรกคือ ดร.สุริชัย หวันแก้ว แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำงานเคียงข้างประชาชนตลอดมา ได้แสดงปาฐกถานำเรื่อง "โลกาภิวัตน์กับความมั่นคงในชีวิตและอาหาร" โดยเน้นว่าความรู้เกี่ยวกับคนชายขอบ พื้นที่ชายขอบ (ซึ่งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจของรัฐ) เป็นสิ่งที่รัฐและสังคมต้องสนใจ เพราะเป็นความจริงในชีวิตของชาวบ้าน ถ้าคนหาปลาในแม่น้ำโขงหรือแม่หญิงที่เก็บไก(สาหร่ายในแม่น้ำโขง) ปลูกผักอยู่ริมฝั่งโขง ไม่มีความมั่นคงในชีวิต รัฐต้องสนใจสาเหตุที่ทำให้ชีวิตของประชาชนเหล่านี้ไม่มั่นคงและเร่งหาทางแก้ไข เพราะความมั่นคงในชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย คือ ความมั่นคงที่แท้จริงของประเทศ แต่คนเหล่านี้มักถูกเบี่ยงออกจากศูนย์กลางอำนาจ และศูนย์กลางการตัดสินใจ


คนในสังคมมักคิด และตัดสินใจด้วยมิติเดียว คือมิติของการแข่งขันในเวทีโลก แต่แทบไม่สนใจความเสี่ยงในชีวิตของคนชายขอบ ซึ่งมีชีวิตที่พึ่งพา สัมพันธ์กับธรรมชาติ ถ้าคนไทยไม่รู้เรื่องชีวิตและธรรมชาติในลุ่มน้ำโขงก็จะมองแต่มิติของประโยชน์ทางการค้าขายอย่างเดียว


จุดอ่อนของการแก้ไขปัญหาความยากจนในปัจจุบันของไทย คือรัฐบาลเป็นผู้เลือกกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่เข้าใจชีวิตที่แท้จริงของประชาชนผู้เป็นกลุ่มเป้าหมาย ลดคุณค่าของความคิดริเริ่มโดยชุมชนท้องถิ่น แต่กลับเพิ่มคุณค่าของความริเริ่มโดยผู้นำประเทศ ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลมากกว่าชีวิตของคนท้องถิ่น เมื่อชาวบ้านทักท้วงให้ความเห็นที่แตกต่างก็จะถูกมองดังนี้


๑. มองว่าเป็น "คนอื่น" ที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน เช่น กรณีเขื่อนปากมูล สังคมได้ข้อมูลว่าชาวบ้านได้ค่าชดเชยเรื่องที่ทำนาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าชาวประมงซึ่งต้องพึ่งพาปลาในน้ำมูลเป็นอาชีพไม่ได้ชดเชย
๒. มองว่าเป็นภาระ เป็นส่วนเกินของสังคม
๓. มองว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนา


สังคมควรเปลี่ยนจาก การมองในมิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียว มาเป็นมองเรื่องความมั่นคงในชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร อาชีพ และความมั่นคงของธรรมชาติ ของระบบนิเวศควบคู่ไปด้วย


ดร.สุริชัย หวันแก้ว ได้สรุปว่า ขณะนี้สังคมอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดสติ เป็นการเมืองการตลาดที่ใช้ความเด็ดขาดในการแก้ปัญหา ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลของฝรั่ง ไม่สนใจความรู้ท้องถิ่นที่จะช่วยนำสู่มิติแห่งการเรียนรู้ไร้พรมแดน โดยเสนอทางออกแก่สังคมดังนี้
๑. การต่อสู้โดยความริเริ่มของท้องถิ่นบนฐานของสติปัญญาของชุมชน เช่น ที่เชียงของ ที่ปากมูน ที่สะเอียบ (แก่งเสือเต้น จ.แพร่) น้ำสงคราม (ซึ่งไหลผ่านจังหวัดอุดรธานี นครพนม ลงสู่แม่น้ำโขง) เป็นต้น
๒. ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างใหม่แก่สังคม สื่อสารความความใจว่าชุมชนในลุ่มน้ำโขง น้ำมูน สะเอียบ เขื่อนราษีไศล น้ำสงคราม ชาวจะนะ จังหวัดสงขลา ได้อะไรจากนโยบายและโครงการของรัฐที่ลงสู่พื้นที่
๓. ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า จะปล่อยให้ประเทศชี้นำขับเคลื่อน โดยอำนาจกระแสหลักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีมิติด้านความมั่นคงในชีวิตและอาหารของคนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยสร้างเสริมเครือข่ายการเรียนรู้ให้แผ่ขยายมากขึ้น
๔. ผลประโยชน์ของชาติ ไม่ควรนิยามโดยผู้นำและศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฝ่ายเดียว แต่ต้องนิยามโดยชุมชนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของท้องถิ่น และผลประโยชน์ของมนุษยชาติ ชีวิตของธรรมชาติและสรรพสัตว์เพราะมนุษย์จะอยู่โดยลำพังไม่ได้



ช่วงของการรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขงตอนบน โดยเครือข่ายแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers Network: IRN) และเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Rivers Network) มีการฉายภาพประกอบการบรรยาย ทำให้เห็นภาพที่น่าสะเทือนใจ คือ คนในชุมชนที่ถูกอพยพออกจากพื้นที่สร้างเขื่อน MAN WAN ในมณฑลยูนนาน ต้องเปลี่ยนสภาพชีวิตจากการเป็นเกษตรกรที่มีความสุขด้วยธรรมชาติอันอุดม ต้องกลายมาเป็นคนเก็บขยะขายเพื่อประทังชีพ รัฐจัดที่อยู่อาศัยให้ แต่ไม่มีที่ทำกิน ชีวิตจึงฝืดเคือง ไร้ความหวัง


เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว ๒ เขื่อน (จากทั้งหมด ๑๕ เขื่อนที่จะสร้างในแม่น้ำโขงส่วนที่อยู่ในจีน) ได้ก่อ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ ดินพังทลาย คุณภาพน้ำเสีย กระแสน้ำเปลี่ยนทาง มลพิษทางน้ำ กระทบต่อพันธุ์ปลา และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขง ผลกระทบต่อสังคม คือ การอพยพประชาชน ความยากจน การค้ามนุษย์ ผลต่อพี่น้อง ๒๐ ชนชาติ และการทุจริตคอรัปชั่น ผลต่อการเมือง ปัญหาในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกันของ ๖ ประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรมทั่วถึง เช่น จีน ติดตั้งสถานีอุทกวิทยาในแม่น้ำโขงตอนบน ประเทศอื่น ๆ มีสิทธิจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ และข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนทั้ง ๑๕ แห่ง จีนถือเป็นความลับสุดยอด ประเทศท้ายน้ำจะได้รับรู้และเจรจาต่อรองได้หรือไม่


UNESCO กำลังเตรียมการเสนอให้พื้นที่แม่น้ำสามสายไหลเคียงกัน คือ สาละวิน โขง และแยงซีเกียง เป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติของโลก (Three Parallel Rivers) แต่หากจิตสำนึกของสาธารณชนใน ๖ ประเทศลุ่มน้ำโขง และของชาวโลกทั้งมวล ยังไม่ตระหนักว่า แม่น้ำทุกสายเป็นมรดกของโลก การใช้สื่อทุกช่องทางเพื่อให้ข้อมูลการเรียนรู้ร่วมกันของคนทั้งโลก จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน โดยเร่งศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขา และเสนอแนะให้รัฐบาล ๖ ประเทศทำตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก คือ
๑. ทุกชาติต้องกำหนดกติกาการใช้แม่น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน
๒. กิจกรรมการพัฒนาทุกอย่างต้องเปิดเผยข้อมูลรอบด้านอย่างโปร่งใส และได้รับการยอมรับจากประชาสังคมทุกฝ่าย


เวทีอภิปราย เรื่อง "แม่น้ำโขง: มุมมองภาคประชาสังคมกับงานวิจัยจาวบ้าน" โดยคุณชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการ SEARIN เป็นผู้ดำเนินการ และเวทีนำเสนอข้อมูลการวิจัยจาวบ้าน เปิดตัวหนังสือ "แม่น้ำโขง แม่น้ำแห่งชีวิตและวัฒนธรรม" เป็นเวทีที่ก่อพลังความตื่นตัวทางปัญญาที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์แม่น้ำโขง ด้วยจิตสำนึกอันบริสุทธิ์ ดิฉันจะนำเสนอในรายละเอียดในโอกาสต่อไปนะคะ


คืนวันลอยกระทง ทุกคนในเวทีเสวนา ได้ลอยกระทงคารวะแม่น้ำโขงร่วมกัน และได้ชมภาพยนตร์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น รวมทั้งได้ร่วมฟังเทศน์มหาชาติที่วัดหาดไคร้ ซึ่งพระสงฆ์และชาวบ้านได้ร่วมฟื้นฟูประเพณีการเทศน์มหาชาติ เพื่อนำธรรมะมาสู่จิตใจของชาวพุทธทั้งมวล


รายงานการล่องเรือชมธรรมชาติและชีวิตสองฝั่งโขง กับการทำพิธีคารวะกตัญญูต่อแม่น้ำโขงที่หาดฟ้า และการปาฐกถา เรื่อง "อารยธรรมลุ่มน้ำโขงตอนบนกับโลกาภิวัตน์" โดย รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม จะนำเสนอครั้งหน้าค่ะ ครั้งนี้ให้ชมภาพงามของแม่น้ำโขงให้อิ่มใจนะคะ


หมายเหตุ
ขอขอบคุณ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) ที่เอื้อเฟื้อภาพคนเก็บขยะ