Skip to main content

การร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ เมื่อไม่เก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทแล้ว

คอลัมน์/ชุมชน

ที่สุดแล้วก็ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เสียที  หลังจากที่รัฐมนตรีสาธารณสุข ออกมาให้ข่าวโยนหินถามทางเป็นสองสามสัปดาห์ก่อนนำเข้าที่ประชุมบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อบ่ายวันที่ 30 ตุลาคม 49 ที่ผ่านมา  ซึ่งบอร์ดมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม โดยมีการเสนอให้พิจารณาการร่วมจ่ายค่าบริการในรูปแบบอื่นด้วย ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป (www.nhso.go.th)  


 


เหตุผลสำคัญคือ การเก็บค่าธรรมเนียมนี้ไม่ได้เก็บจากทุกคน ในจำนวนผู้มีสิทธิ 48 ล้านคน มีจำนวนเกือบๆ 25 ล้านคนที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายได้รับการยกเว้น อันเนื่องมาจากเป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นคนจน เป็นอาสาสมัคร เป็นทหารผ่านศึก เป็นผู้พิการ เป็นผู้สูงอายุ เป็นเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี เป็นต้น  ดังนั้น การต้องมาดำเนินการเพื่อพิสูจน์ว่าใครรายได้เท่าไร ใครจนไม่จน นับเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรในการจัดการ เช่นเดียวกับว่าการเป็นคนจน คนรวย คนได้รับการยกเว้น จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา วันนี้รวย พรุ่งนี้อาจจนได้ หรือการต้องไปพิสูจน์ความจน ความรวย มันทำให้เสียศักดิ์ศรีการเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์  


 


อีกเหตุผลสำคัญคือ ไม่เห็นด้วยในการเก็บค่าร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เพราะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันได้  และทำให้เกิดการบิดเบือนการให้บริการได้ ดังกรณี คนลืมบัตรมา ไม่อาจบอกที่มาที่ไปตนเองได้ เพราะอพยพเคลื่อนย้าย ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้โอกาสนี้เรียกเก็บเงินได้  ดังมีการร้องเรียนและการต้องตามแก้ปัญหากันมาเสมอ


 


หากไม่ต้องจ่าย ณ จุดบริการแล้วประชาชนร่วมจ่ายอย่างไรบ้าง ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประชาชนร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพอยู่แล้ว จากการเสียภาษีให้รัฐ  เนื่องจากรัฐใช้งบจากภาษีประชาชนมาดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพนี้  ให้กับประชาชนทุกคนไม่เลือกรวย หรือจน เพราะภาษีที่รัฐได้รับส่วนหนึ่งมาจากภาษีในการซื้อสินค้าและบริการทุกประเภท ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ส่วนภาษีรายได้ทางตรงนั้นในประเทศไทยเก็บได้จากประชาชนผู้มีรายได้ประจำไม่ถึง 10 ล้านคน ดังนั้น คนจนส่วนใหญ่คือคนที่ใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปในราคาสินค้าแล้ว รัฐก็มีหน้าที่ในการจัดสวัสดิการให้เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตของคน โดยสวัสดิการรักษาพยาบาลนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลชีวิตประชาชน ในขณะที่รัฐไม่อาจรับประกันให้คนมีงานทำ มีรายได้ที่เหมาะสม เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ยิ่งห่างมากขึ้นเรื่อยๆในบ้านเราจากการสำรวจแต่ละครั้ง  ดังนั้น คนมีมาก มีรายได้มาก มีโอกาสใช้ทรัพยากรของชาติมาก ก็ต้องร่วมจ่ายภาษีมากขึ้น เพื่อให้รัฐนำมากระจายให้กับคนทุกคนในรูปแบบสวัสดิการต่างๆ


 


นอกจากการร่วมจ่ายรายบุคคลแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าจะมีการ ร่วมจ่ายแบบร่วมงบประมาณด้วยอย่างไร เช่น การพิจารณาระบุชัดเจนไปเลยว่าแต่ละปีจะจัดสรรภาษีจากสินค้าหรือบริการใดมาสำหรับการดูแลระบบหลักประกันสุขภาพ เหมือนกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุชัดเจนที่มากองทุนว่ามาจากร้อยละ 2 ของภาษีเหล้า บุหรี่   ภาษีจากบริษัท หน่วยงาน โรงงาน ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดมลภาวะ มีอันตรายต่อสุขภาพ การจัดเก็บภาษีที่คนได้รับโอกาส เช่น การสะสมที่ดิน การเก็งกำไร การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ การได้รับประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ  เช่น การที่มีการสะสมที่ดิน การกว้านซื้อที่ดิน เพราะทราบว่าจะมีโครงการก่อสร้างสนามบิน รถไฟฟ้า ฯลฯ  ซึ่งทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว  หรือการนำเงินค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ข้าราชการและครอบครัว มารวมเป็นกองทุนเดียวกันเพื่อบริหารร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ


 


กรณีเมื่อรัฐใช้จ่ายในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ดีขึ้น ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน แล้วต้องใช้เงินเพิ่มสูงขึ้นมากเกินขีดรายได้โดยรวมของประเทศ ก็ต้องให้ประชาชนร่วมจ่ายมากขึ้นนอกเหนือจากการจ่ายภาษี  เช่น การร่วมจ่ายเป็นรายปี  ตามความสามารถทางรายได้  ซึ่งต้องมีการควบคุมระบบการแจ้งรายได้ที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน   คนไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องร่วมจ่ายแต่ได้รับบริการเหมือนๆกันไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน


 


ปัจจุบันนี้ ประชาชนก็ร่วมจ่ายเป็นแรงงาน เป็นการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การสร้างความยอมรับและเชื่อมั่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่แล้ว ในรูปแบบการช่วยลดภาระที่โรงพยาบาล การพัฒนาระบบบริการใกล้บ้านใกล้ใจ การจัดตั้งกองทุนสุขภาพในชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อต้องมีค่าใช้จ่ายในการเหมารถ เพื่อไปโรงพยาบาล เหล่านี้เป็นการมีส่วนร่วมแบบชาวบ้านๆที่ดำเนินอยู่ ไม่อาจระบุเป็นตัวเงินได้ชัดเจนว่าร่วมจ่ายกี่บาท แต่เป็นร่วมจ่ายด้วยแรงกาย แรงใจ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพยั่งยืนด้วยเช่นกัน