Skip to main content

ฤาจะถึงวาระสุดท้ายแห่งมาตุธาร "หลานซางเจียง"

คอลัมน์/ชุมชน

เย็นวันนั้น แสงสีทองอาบเรือที่ผมโดยสารมาจากเมืองเชียงรุ่งอย่างอบอุ่นไปทั้งลำ


เกือบ 10 ชั่วโมงแล้ว ที่ผมเดินขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างดาดฟ้าเรือกับห้องโดยสารที่อยู่ข้างใต้


 


มันเป็นช่วงเวลาเล่นเกมกับเจ้าหน้าประจำเรือชาวจีนที่คอยไล่บรรดา "ทัวร์ริสต์" ให้ลงจากดาดฟ้าด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เขาบอกว่าเมื่อต้องผ่านเกาะแก่งต่างๆ จะทำให้สายน้ำโขงสีกาแฟไหลเชี่ยวกรากกว่าเดิมหลายเท่าและกลัวคุณหล่น  ขณะที่บรรดาญาติๆ กัปตันและลูกเรือลำนั้นได้อภิสิทธิ์พลอดรักจีบกันสบายใจ ณ ดาดฟ้า


 


วันนั้น ผมไม่ได้สนใจดับเบิ้ลแสตนดาร์ดของเรือจีนมากนัก นอกจากสายน้ำที่อยู่ตรงหน้า  สายน้ำที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์เล่าว่าเป็นยาวเป็นอันดับที่ 10 ของโลก ด้วยระยะทางถึง 4,909 กิโลเมตร  มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว้างขวางถึง 810,000 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศไทยราว 1 เท่า)เริ่มต้นตั้งแต่หุบเขาจิฟู เขตปกครองตนเองยูซุ ที่ราบสูงทิเบต แล้วไหลผ่านมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ทางใต้สุดของแผ่นดินจีน ผ่านพื้นที่รัฐฉานของพม่า ผ่านแขวงหลวงน้ำทาทางภาคเหนือของลาว ไหลเรื่อยมาทางตะวันออกเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทยกับลาว แล้วลดระดับลงเป็น "ไนแองการ่าเอเชีย" บริเวณคอนพะเพ็ง แก่งหลี่ผี


 



สายน้ำโขงลัดเลาะจากเมืองเชียงรุ่งมุ่งเข้าสู่ "ประตูหลังของอุษาคเนย์" ที่สามเหลี่ยมทองคำภาพนี้ถ่ายจากเครื่องบินที่บินจากกรุงเทพ-จิ่งหง (สิบสองปันนา) (ถ่ายภาพโดย รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล)


ก่อนจะไหลไปเลี้ยงภาคอีสานของเขมร แล้วผันน้ำบางส่วนไปหล่อเลี้ยง "ตนเลสาบ" ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ต้นกำเนิดอู่อารยธรรมขอมซึ่งมีความเป็นมายาวนานนับพันปี ไหลรินต่อไปเป็น "จัตุรมุข" (จุดที่น้ำจากแม่น้ำโขงไหลมาบรรจบแม่น้ำป่าสัก และคลองทะเลสาบซึ่งเชื่อมต่อกับตนเลสาบ กลายเป็นแม่น้ำโขงอีกสายไหลสู่ประเทศเวียดนาม คลี่คลายขยายพื้นที่ออกเป็น "เกาลอง" หรือ "มังกร 9 หัว" หล่อเลี้ยงพื้นที่เวียดนามใต้แถบไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ซิตี้และบริเวณโดยรอบ) ทำให้เวียดนามปลูกข้าวแล้วส่งออกแข่งขันกับไทยได้อย่างคู่คี่สูสีในยุคนี้


 


เย็นวันนั้น ที่ดาดฟ้าเรือ ผมประจักษ์ใจแล้วว่า สายน้ำที่ครืนครั่นอยู่ใต้ท้องเรือซึ่งเดินเครื่องเต็มฝีจักรเพื่อพาเราไปยังท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงรายนั้นเชี่ยวกรากและมีพลังยิ่งใหญ่ลึกล้ำ ยิ่งเมื่อพบกับแก่งหิน เพิงหิน ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ก็ทำให้ลำน้ำโขงตลอดสายเกิดปรากฏการณ์น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย ตั้งแต่น้ำวน หาดทรายสีขาวดุจดั่งทรายจากท้องทะเลที่ริมฝั่ง แก่งอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่เป็นระยะตลอดน้ำโขงช่วงตั้งแต่เมืองเชียงรุ้งในแคว้นสิบสองปันนา ไปจนถึงช่วงที่แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดนระหว่างลาวกับพม่า


 


แม่น้ำโขงที่ผมได้สัมผัสตั้งแต่ไหลจากเชียงรุ่งนั้น ได้กัดเซาะภูเขาจนเป็นหุบเหวลึกลักษณะคล้ายแกรนด์แคนยอนของสหรัฐอเมริกา แต่จุดที่ต่างกันคือสองฝั่งนั้นครึ้มด้วยต้นยางนับหมื่นนับแสนไร่ที่จีนพยายามปลูกในแบบที่ภาคใต้เมืองไทยอาจจะชิดซ้าย เพราะภูเขาบางลูกนั้นเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นยางเต็มพื้นที่แทนป่าปรกติไปโดยปริยายและภูเขาเช่นนี้มีไม่ต่ำกว่า 50 ลูก


 


แต่แม้ว่าสายน้ำโขงตอนบนที่เชี่ยวกรากตรงหน้าผมจะมีพลังน่าตื่นตะลึงปานใดก็ตาม ก็คงต้องทำใจยอมรับว่า เทคโนโลยีของมนุษย์กำลังกัดกร่อนแม่น้ำสายนี้ เหนือขึ้นไปตามสายน้ำโขง เขื่อนต่างๆ ที่รัฐบาลจีนมีแผนจะสร้างเพื่อปิดกั้นแม่น้ำโขงกำลังเสร็จสิ้นลงทีละเขื่อนๆ


 


ปี 2536 เขื่อนม่านวาน เขื่อนปั่นกระแสไฟฟ้าขนาด 1,500 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องเป็นเขื่อนแรก และเร็วๆ นี้ เขื่อนเซี่ยวหวานซึ่งเป็นเขื่อนที่สองก็กำลังจะเสร็จสิ้น เขื่อนที่สามคือเขื่อนจิ่งหง (หรือเขื่อนเชียงรุ่ง) ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้างจะมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2555 โดยจะมีขนาดสูงเท่ากับตึก 100 ชั้น


 



หนึ่งในเขื่อนใหญ่ของจีนที่ทำให้แม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนสภาพไปอย่างช้าๆ (ภาพจาก "ผู้จัดการออนไลน์)  


ผมใจหายว่านี่ถ้าเขื่อนยักษ์ตามสายน้ำโขงทั้งหมดของจีนสร้างเสร็จสิ้นลงเมื่อใด "หายนะ" ย่อมมาเยือนแม่น้ำแสนมหัศจรรย์สายนี้แน่นอน เพราะทุกวันนี้ก็มีข้อมูลว่าการขึ้นลงของแม่น้ำโขงบริเวณที่อยู่ใต้เขื่อนไปนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้เสียแล้ว ด้วยมันขึ้นอยู่กับจีนที่จะเปิดหรือปิดเขื่อนตามแต่ตนต้องการ


 


แม่น้ำอันทรงพลังสายนี้คงจะเงียบเสียงลง พร้อมกับชีวิตของคนย่านนี้อีกหลายแสน ไม่ต้องพูดถึงระบบนิเวศวิทยาว่าจะป่นปี้เพียงใด เพราะการขึ้นลงของแม่น้ำโขงทั้งสายหลังเขื่อนเสร็จจะตกอยู่ในกำมือจีนโดยสิ้นเชิง ภูมิปัญญาชาวบ้านริมน้ำ ภูมิปัญญาชนเผ่าต่างๆ ที่หาอยู่หากินกับแม่น้ำโขงมานานนับพันปีจะถูกทำลาย


 


นอกจากนี้ยังมีโครงการระเบิดแก่งหินซึ่งกีดขวางการเดินเรือสินค้าอีกนับร้อยแก่งตลอดลำน้ำโขงตั้งแต่เชียงรุ่งไปจนถึงหลวงพระบาง เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือนานาชาติ แล้วนำสินค้าประเภทกระเทียม ผลิตผลทางการเกษตรจำนวนมหาศาลของจีนบรรทุกใส่เรือเหล็กท้องแบนขนาดไม่ต่ำกว่า 100 ตัน นำมาขายในประเทศไทย พม่า และลาว (จน "ล้นตลาด" และทำลายเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยไปไม่รู้กี่ครัวเรือน)


 


เมื่อไม่มีแก่งและโขดหินตามลำน้ำ "ไก" หรือ "สาหร่าย" อันเป็นอาหารปลาบึก ราชาปลาแห่งแม่น้ำโขงซึ่งขึ้นเฉพาะตามโขดหินและแก่งต่างๆ จะหมดไป แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาก็จะถูกทำลาย ปลาจะลดจำนวนลง


 



เกาะแก่งต่างๆ กลางแม่น้ำโขงซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและ "ไก" สาหร่ายซึ่งเป็นอาหารหลักของปลาบึก


(ภาพจาก "ผู้จัดการออนไลน์") 


 


ปัจจุบันโครงการระเบิดแก่งนี้ลุล่วงไปถึงอำเภอเชียงแสนแล้ว


เกาะแก่งที่ผมเห็นมาตลอดทางจากเชียงรุ้งนั้นคือสิ่งที่หลงเหลือหลังจากระเบิดดังกล่าว มีข้อมูลล่าสุดว่าการระเบิดแก่งหยุดลงเนื่องจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่อำเภอเชียงของลุกขึ้นมาคัดค้าน โดยเฉพาะกรณีแก่งคอนผีหลงที่มีพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ ทั้งยังมีกรณีกระแสน้ำหลังจากการระเบิดแก่งที่อาจทำให้ไทยเสียดินแดนบางส่วนจากการกัดเซาะชายฝั่ง รัฐบาลไทยจึงสั่งระงับชั่วคราว ยังผลให้รัฐบาลที่เหลืออีก 3 ประเทศไม่ค่อยพอใจนัก


 


แก่งคอนผีหลงขณะนี้จึงเหมือนปราการสุดท้ายที่ขัดขวางการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงและรักษาระบบนิเวศน์ที่เหลือเอาไว้


 


แต่ก็ไม่แน่  ขณะนี้ประเทศไทยปกครองโดยระบอบรัฐบาลทหารของสนธิ บุญยรัตกลิน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ อาจฉวยโอกาสทำอะไรตามใจก็ได้ ในเมื่อองค์กรตรวจสอบนั้นไม่มีเหลืออยู่แม้แต่องค์กรเดียว ทั้งสื่อมวลชนไทยส่วนมาก "เพี้ยน" ไปสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่


 


ยิ่งในเมืองจีนไม่ต้องพูดถึง ผู้นำรุ่นปัจจุบันเป็นเทคโนแครตทั้งสิ้น จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จึงชื่นชอบที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โต สนใจแต่การพัฒนามากกว่ารักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งจีนยังมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์มานานปี สามารถกล่อมเกลาให้ผู้คนเชื่อรัฐบาลเสียทุกเรื่อง ทั้งประชาชนบางคนยังหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งรัฐบาลตนเอง ไกด์ท้องถิ่นที่ผมพบก็พูดอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากบอกว่า "ต้องแล้วแต่รัฐบาล" เชื่อข้อมูลที่รัฐบาลป้อนว่าในการสร้างเขื่อนนั้น "ปกติรัฐบาลเรามีการศึกษาอยู่ตลอดก่อนสร้างเขื่อน จริงๆ แล้วมีปัญหาน้อยมาก คนที่ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนรัฐบาลได้ชดเชยให้อย่างคุ้มค่า มีปัญหาก็ไม่กี่ราย"


 


ทั้งที่โดยตรรกะเป็นไปได้อย่างไร ที่คนเป็นล้านๆ ถูกอพยพโดยไม่มีปัญหาอะไรเลย


 


ขณะที่โครงการเขื่อนในแม่น้ำสาละวินช่วงที่ไหลเคียงแม่น้ำโขงแถบมณฑลยูนนานที่ยูเนสโกระบุว่า หากสร้างอาจทำให้น้ำท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อสถานะพื้นที่มรดกโลก รัฐบาลจีนกลับให้ชะลอโครงการอันเนื่องมาจากกลัวสูญเสียผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว


 


แล้วเขื่อนในแม่น้ำโขงแสดงว่ารัฐบาลจีนแน่ใจแล้วหรือว่าไม่มีผลกระทบ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของโครงการเขื่อนในแม่น้ำสาละวินที่ต้องให้องค์กรระดับโลกออกมาเตือนในขณะที่โครงการผ่านและเกือบสร้างอยู่แล้ว - - เราจะไว้ใจผลการศึกษาของรัฐบาลจีนได้อย่างไร


 


ถึงตรงนี้หลายคนต่อว่าผมว่า ตั้งคำถามแบบนี้ไม่ได้ ไกด์ย่อมตอบไม่ได้เพราะเขาไม่ใช่รัฐบาล ผมเข้าใจ แต่สิ่งที่ผมพยายามสะท้อนและพิสูจน์จนแน่ใจกับตัวเองแล้วก็คือ คนจีนส่วนหนึ่งไม่เคยตั้งคำถามอะไรเลย


 


แม่น้ำสายนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าคน 1.2 พันล้านคนที่ต้นน้ำไม่รับรู้ว่ารัฐบาลตนเองหาผลประโยชน์จากแม่น้ำโดยอ้างว่าต้องจัดเตรียมพลังงานจำนวนมหาศาลให้พวกเขา ซึ่งจะก่อผลกระทบกับประชากรในประเทศปลายน้ำอีกหลายร้อยล้านคน


 


ยิ่งร่วมด้วยช่วยกันกับรัฐบาลอีก ๔ ประเทศในภูมิภาคอินโดจีนที่สนใจแต่ผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนกับมังกรจีนและเอาแต่กู้เงินธนาคารโลกมาสร้างเขื่อนไม่ต่างกัน ก็น่าคิดทีเดียวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป


 


เย็นวันนั้น…เมื่อก้าวขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเชียงแสน


ผมก็ได้แต่รำพึงกับตัวเองว่าหากยังเป็นแบบนี้ต่อไป


แม่น้ำสายนี้จะไม่มีอนาคต