Skip to main content

งานวิจัยจาวบ้านเรื่องแม่น้ำโขง

คอลัมน์/ชุมชน


เวทีรวมพลคนรักแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บ่ายวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นการนำเสนอ " งานวิจัยจาวบ้าน " โดย " ครูตี๋ " นิวัฒน์ ร้อยแก้ว และคุณสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งครูตี๋กล่าวว่า งานวิจัยจาวบ้านเน้นย้ำถึงความสำคัญขององค์ความรู้ท้องถิ่น นักวิจัย คือ " จาวบ้าน " ซึ่งเป็นผู้รู้ผ่านวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงมานานชั่วอายุคน เมื่อมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงเกิดขึ้นมากมาย โดยไม่เคยถามชาวบ้าน ได้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คน และระบบนิเวศน์อย่างรวดเร็ว


พี่น้องบ้านปากมูน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ริเริ่มงาน " วิจัยไทบ้าน " เป็นครั้งแรก เมื่อ พ . ศ . ๒๕๔๕ เพื่อให้คำตอบแก่สังคมว่าเขื่อนปากมูนได้ก่อปัญหาแก่วิถีชีวิตของชาวบ้าน และทำลายระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขาอย่างไร จาวบ้านเชียงของจึงได้นำแนวทางวิจัยไทบ้านมาปรับใช้ โดยมุ่งหวังที่จะให้ งานวิจัยจาวบ้านเป็นพลังหนึ่งที่จะสื่อสารกับสังคม เพื่อร่วมกันปกป้องแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง เพื่อให้ผู้คนสองฟากฝั่ง ๖๐ ล้านคน ใน ๖ ประเทศได้พึ่งพาแม่น้ำแห่งชีวิตสายนี้ตลอดไป *


งานวิจัยนี้ทำโดยชาวบ้าน ๑๔๖ คน จาก ๑๓ หมู่บ้านที่อยู่ริมน้ำโขง ที่อยู่ในอำเภอเวียงแก่น และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใช้วิธีในการวิจัยคือ ๑ . ประชุมกลุ่มนักวิจัยจาวบ้านเพื่อร่วมกันอธิบายความรู้ในประเด็นนั้น ๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง พันธุ์ปลา พรรณพืช ๒ . สำรวจร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัย ๓ . สัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลัก สังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมโดยผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งทำหน้าที่เขียนรายงาน จะลงไปอยู่ในชุมชนเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต และร่วมกิจกรรมชุมชนของนักวิจัยจาวบ้าน


เรื่องแรกของงานวิจัย คือ เรื่องระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง บนพรมแดน ไทย - ลาว ตอนบน นักวิจัยจาวบ้านได้อธิบายด้วยความรู้พื้นบ้าน โดยแบ่งระบบนิเวศน์เป็น ๑๑ ระบบ ตัวอย่างเช่น


๑ . " ผา " ซึ่งเป็นแท่งหินหรือกลุ่มหินที่เกิดในแม่น้ำ เมื่อน้ำหลาก " ผา " จะจมอยู่ใต้น้ำ เมื่อน้ำลด " ผา " จะโผล่พ้นน้ำ เช่น ผาฟ้า ผาได ( ผา = แก่งในภาษาไทยกลาง )


๒ . " คก " คือบริเวณที่น้ำไหลวนเป็นหลุมลึก ที่เกิดจากกระแสน้ำปะทะผา บริเวณคกจะมี " ปวกน้ำ " ( ฟองอากาศ ) และคราบน้ำสีน้ำตาลจะลอยอยู่บนผิวน้ำ มักมีแมลงและเศษพืชเป็นอาหารของปลาปะปนอยู่ด้วย )


นอกจากนี้ยังมีระบบนิเวศน์อีก ๙ ชนิด คือ ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง กว๊าน ซึ่งแต่ละระบบเป็นที่กำเนิดของพรรณพืชหลากหลายชนิด และเป็นแหล่งอาศัยของแมลง ซึ่งทั้งพืชและแมลงเป็นอาหารของปลา และนกชนิดต่าง ๆ



เรื่องพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง พ่อเสาร์ ระวังศรี เล่าว่า ชาวบ้านห้วยลึก จับปลาเป็นอาชีพหลักตลอดทั้งปี ชาวบ้านเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับการอพยพของปลา เช่น สีของน้ำในแต่ละฤดูกับชนิดของปลาที่จะมากับน้ำ ฤดูของดอกไม้ริมโขงกับชนิดของปลา ชนิดของปลาที่จะอพยพมาพร้อมกัน หรือปลาบางชนิดมาก่อน อีก ๒ - ๓ วัน ปลาอีกชนิดหนึ่งจะตามมา เป็นต้น


ชนิดของปลาที่สำรวจได้จะน้อยกว่าที่มีอยู่จริง เพราะสำรวจจากชนิดของปลาที่จับได้ด้วยเครื่องมือหาปลา แต่ปลาบางอย่างก็เป็นปลาเล็กที่จับไม่ได้ หรือปลาบางอย่างที่จับได้แต่ไม่กิน เช่น ปลาปักเป้า


เครื่องมือหาปลาใน " น้ำของ " แบ่งเป็นประเภท ล่อปลา ดักปลา จับปลา รวมทั้งหมด ๗๑ ชนิด


ผลกระทบจากโครงการพัฒนาในแม่น้ำโขงก่อให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ชนิดปลาลดลง ปริมาณปลาลดลง เรือหาปลาลดลงเพราะหาปลาได้ยาก เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการหาปลาลดลง ราคาปลาแพงขึ้น



เรื่องพรรณพืชแม่น้ำโขง แม่หญิงลุ่มน้ำโขง คือ แม่ฉวีวรรณ แห่งบ้านหาดไคร้ เล่าว่า อาชีพของแม่หญิงมี ๒ อย่าง คือ หาปลา กับเก็บไก (สาหร่ายน้ำจืดมีเฉพาะใน "แม่น้ำของ") กลุ่มแม่หญิงเก็บไกรวมตัวกันได้ ๕๐ - ๖๐ คน ศึกษาพบว่า "ไกน้ำของ" มีรสหวานกลมกล่อม ถ้าน้ำของใสสะอาด และมีแสงแดดส่อง ไกจะออกมาก (เป็นอาหารของปลา โดยเฉพาะปลาบึก) แต่เมื่อ ๕ - ๖ ปีมานี้น้ำของขุ่น สกปรก และเปลี่ยนทิศทาง ไกจึงออกน้อยต้องซื้อจากฝั่งลาว


ผลิตภัณฑ์จากไก มีทั้งไกอบ ทอด น้ำพริกไก เป็นสินค้ายอดนิยมระดับ ๕ ดาวของ OTOP เชียงราย หากน้ำของถูกทำลาย ไกก็ถูกทำลายไปด้วย


แม่แสง จากบ้านหาดทรายทอง นำเสนอเรื่องพรรณพืชในน้ำของซึ่งสำรวจในระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ทั้งพืชใต้น้ำ ปากแม่น้ำ เชิงเขา หาดทราย พบกว่า ๒๐๐ ชนิด ซึ่งจัดเป็นหมวดหมู่ตามฤดูกาลที่พบและการใช้ประโยชน์


แม่แก้วใส ชาวไทลื้อบ้านหาดบ้าย นำเสนอว่า "ได้สำรวจพืชอาหาร ๔๒ ชนิด พืชสมุนไพร ๓๐ ชนิด ชาวไทลื้อชอบธรรมชาติ กินอาหารธรรมชาติ ผัก ผลไม้เป็นหลัก ไม่ค่อยกินเนื้อสัตว์ ถ้าระเบิดหินน้ำของแล้ว ต่อไปลูกหลานก็ไม่ได้กินผักธรรมชาติ"


ซึ่งนาง HASNA MODUS นักอนุรักษ์จากบังคลาเทศ ได้แสดงความห่วงใยเรื่องสิทธิบัตรที่จะถูกจดลิขสิทธิ์โดยชาวต่างชาติ ดังกรณีเปล้าน้อย กวาวเครือ ซึ่งชาวบ้านได้ขอให้คุ้มครองพรรณพืชจากผลกระทบของโครงการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำแม่โขง และ คุ้มครองให้ชาวบ้านได้เป็นเจ้าของภูมิปัญญา ซึ่งชุมชนท้องถิ่นได้ศึกษาและถ่ายทอดกันมานาน แม้ในช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่งก็ศึกษาไม่จบ


 


พ่อทองเจริญ แห่งแม่น้ำมูน ได้เสนอว่า น้ำของ ไม่ใช่เป็นของประเทศใด แต่เป็นของคนทั้งโลก ธรรมชาติทำไว้ให้พอดี แต่ไม่พอกับความโลภของคน บทเรียนจากการต่อสู้ 14 ปีของพี่น้องเขื่อนปากมูนพบว่า " การสร้างเขื่อนแม้แต่คิดก็ผิดแล้ว คนจนที่ถูกรังแกจึงต้องไปช่วยกันไม่ว่าปัญหาเกิดที่ไหนก็ต้องไปช่วยกัน " นับเป็นบทสรุปที่หนักแน่นของเวทีอภิปรายวันแรก



วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ คือวันที่ทุกคนรอคอย เรือราว ๔๐ ลำ พาคนหลากหลายวัยลงชมธรรมชาติและวิถีชีวิตริมโขง ตั้งแต่ผู้สูงวัย อายุเกิน ๘๐ ปีคือคุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งยังมีทั้งใจรักและสุขภาพเต็มร้อย จนถึงนักเรียน นักศึกษาวัย ๘ ขวบถึง ๒๐ ต้น ๆ ธงเขียวประกาศเจตนารมย์รักแม่น้ำโขงโบกพริ้วในเรือทุกลำ


นายท้ายเรือพาเรือลัดเลาะไปตามกระแสน้ำเชี่ยวกรากในบางช่วง ดิฉันอธิษฐานขอให้กัลยาณมิตรผู้มีจิตใจงามผู้นั่งอยู่ในเรือทุกลำ ได้รับความคุ้มครองจากเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขง เพื่อร่วมกันรณรงค์สร้างสำนึกรักแม่โขงไปได้ทั่วทั้งโลก


ความปิติอย่างยิ่งของฉัน คือการได้ร่วมพิธีสวดพุทธมนต์ โดยคณะสงฆ์ สวดชยันโต ขณะที่ผู้ร่วมงานนับร้อย โปรยดอกไม้ เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งแม่น้ำโขง แสดงความเคารพ กตัญญู และความศรัทธามุ่งมั่น ที่จะร่วมกันพิทักษ์รักษาแม่น้ำโขงให้เป็นมรดกของมนุษยชาติและสรรพสัตว์ตลอดกาลนาน




เรือแล่นต่อมาจนถึงบ้านหาดบ้าย ซึ่งชาวไทลื้อแต่งชุดท้องถิ่นมารอรับถึงท่าน้ำ ดิฉันเห็นแล้วชื่นชมอย่างยิ่ง จึงเดินไปหาซิ่น และเสื้อ แบบไทลื้อจากร้านต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงราย ๒ ฝั่งถนนในหมู่บ้าน แม่บ้านได้ช่วยโพกหัว หาสไบและถุงย่ามให้ครบชุด เป็นแม่ป้าชาวไทลื้อไปอีกคนหนึ่ง



มองดูตามบ้านเรือนเห็นมีหูกทอผ้าอยู่เกือบทุกหลัง นับเป็นงานสืบทอดภูมิปัญญาที่สร้างงาน สร้างรายได้ ไม่ต้องออกไปหางานต่างถิ่น


ซิ่นไทลื้อบ้านหาดบ้าย มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ราคาตั้งแต่ ๕๐๐ – ๓ , ๐๐๐ บาท แล้วแต่ความวิจิตรบรรจงของลวดลาย กรรมการสิทธิมนุษยชน คือคุณสุนี ไชยรส คุณวสันต์ พานิช ซื้อกันไปคนละหลายชิ้น


มาถึงวัดหาดบ้าย ดิฉันเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์ แล้วออกมาที่ศาลาหน้าวัด ชาวบ้าน แสดงดนตรี การขับเพลงและการฟ้อนอย่างไทลื้อขนานแท้ มีทั้งเด็กผู้ใหญ่มาร่วมงานทอดผ้าป่าเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำโขงกันเกือบห้าร้อยคน


จากนั้น รศ . ศรีศักร วัลลิโภดม ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง " อารยธรรมลุ่มน้ำแม่โขงตอนบนกับโลกาภิวัตน์ " ซึ่งได้ให้ความรู้ เปิดโลกเรื่องประวัติศาสตร์ของแม่น้ำโขงแก่ดิฉันและผู้ฟังทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง สรุปได้ดังนี้


หาดบ้ายเป็นเป็นแหล่งอารยธรรมดั้งเดิมของแม่น้ำโขง ซึ่งมีการปะทะกันของ ๒ อารยธรรม คือ อารยธรรมตะวันออกที่เน้นเรื่องศาสนา จิตวิญญาณ เชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างอัตลักษณ์เพื่อการอยู่ร่วมกันภายใต้จารีตประเพณีเดียวกัน คนลุ่มน้ำโขงนับถือสิ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนา นับถือพญานาค และนับถือวีรบุรุษเดียวกัน อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน


ในขณะที่อารยธรรมตะวันตกเน้นเรื่องปัจเจกบุคคลเป็นหลักไม่มีมิติทางจิตวิญาณ ซึ่งเป็นการทำลายการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เมื่อลัทธิอาณานิคมเข้าสู่ลุ่มน้ำโขง ถือเป็น " ขึด " ( คือการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้น ) ครั้งแรก ฝรั่งเศสทำให้ช่องลึกของแม่น้ำโขงกลายเป็นพรมแดนแบ่งกั้นไทย – ลาว ซึ่งเคยเป็นพี่น้องกันตลอดมา


" ขึด " ครั้งที่สอง คือ การที่จีนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนเหนือ ทั้ง ๆ ที่คนแม่น้ำโขงถือว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ มีพญานาคคุ้มครอง เป็นอัตลักษณ์ของแม่น้ำโขง


ทุนนิยมรุกสู่แม่น้ำโขง โดยจีนใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางรุกสู่อาณานิคมทางการเกษตรของประเทศท้ายน้ำ คือ ไทย ลาว เขมร เวียดนาม เป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากคนในท้องถิ่น


  ลูกแม่น้ำโขงทุกคน จึงต้องกล้าต่อรองว่าทุนนิยมและอุตสาหกรรมจะเอาแค่ไหน เพื่อให้เกิดดุลยภาพ ด้วยหลักทางสายกลาง ชุมชนต้องเข้มแข็ง ไม่ปล่อยให้เกิดระบบปัจเจกบุคคลเข้ามาแทนระบบครอบครัวและชุมชน เพราะอารยธรรมแม่น้ำโขงเกิดมานับพันปี จนสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นพี่น้องกัน มีความเสมอภาคในความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน


อให้พลังแห่งองค์ความรู้ท้องถิ่น พลังแห่งความเคารพกตัญญูต่อแม่น้ำโขง ต่อแม่น้ำทุกสาย ต่อธรรมชาติ ต่อธรรมะที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคนให้ดำรงอยู่กับสรรพชีวิต ด้วยเมตตา จงแผ่ขยายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายการเมือง ต้องกำหนดเรื่ององค์ความรู้ท้องถิ่นเป็นนโยบายหลักของประเทศ เพื่อความมั่นคงของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริงตลอดไป


* บางส่วนจากกิตติกรรมประกาศ บทสรุปงานวิจัยจาวบ้านเชียงของและระเบียบวิธีวิจัยในหนังสือ " แม่น้ำโขง แม่น้ำแห่งชีวิตและวัฒนธรรม " โดยนักวิจัยจาวบ้าน เชียงของ - เวียงแก่น จัดพิมพ์โดยเครือข่ายแม่น้ำเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการแม่น้ำและชุมชน สนับสนุนโดย IUCN OXFAM ติดต่อรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐๕๓-๒๗๘๓๓๔, ๒๘๐๗๑๒ หรือ www.searin.org