Skip to main content

"ก็แค่วัยรุ่น จะฟังเสียงไปทำไม"

คอลัมน์/ชุมชน

คำกล่าวที่ว่า "วัยรุ่นก็คือวัยรุ่น จะฟังเสียงไปทำไม" "เด็กก็คือเด็กอยู่วันยังค่ำ มีความคิดแค่นี้น่ะหรือ" "ทำไมเด็กสมัยนี้ มันแต่เรียกร้อง ทำไมไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่" "ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน คุณเป็นเด็กคุณต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่"  - เป็นคำกล่าวที่มักได้ยินอยู่เสมอ ที่เห็นชัดคือเมื่อเกิดกรณีที่ผู้ใหญ่ "ได้บอก" ให้วัยรุ่นทำอะไรแต่วัยรุ่นกลับไม่เชื่อฟัง เช่น วัยรุ่นไม่เห็นด้วยกับการห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล หรือวัยรุ่นไม่เห็นด้วยกับการจำกัดอายุซื้อเหล้า หรือ วัยรุ่นไม่เห็นด้วยกับการห้ามประกอบอาชีพไคโยตี้เลี้ยงชีพ


 


เมื่อผู้ใหญ่สั่งมา แล้ววัยรุ่นต้องทำตาม หากไม่เห็นด้วย ถกเถียง หรือเห็นต่าง มักจะถูกกล่าวว่า ว่า "คิดได้ไง!" หรือเลยไปถึงขั้น ว่าวัยรุ่นนั้นเป็นแค่เด็กที่ยังไม่ประสีประสาอะไร คิดอะไรมาก็ดูไร้ซึ่งน้ำหนักที่จะรับฟัง


 


วัยรุ่นบางคนที่มี "ความเป็นผู้ใหญ่" มากกว่า "ความเป็นเด็ก" เมื่อแสดงความคิดเห็นออกไป มักถูกมองว่าก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคาระ แก่แดด ทั้งๆ ที่มีท่าทีที่ต้องการเพียงแค่จะส่งเสียงบอกกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่าเท่านั้น แต่ทางตรงกันข้าม ผู้ใหญ่ที่มี "ความเป็นผู้ใหญ่" น้อยกว่า "ความเป็นเด็ก" ก็ใช้มาตรฐานความคิดของตน ปัดและปฏิเสธความสนใจต่อการรับฟังเสียงของเด็ก


 


ยิ่งนับวันผู้ใหญ่ที่มี "ความเป็นเด็ก" ก็เริ่มมีมากขึ้น จึงคิดอะไรแบบเด็กๆ ใช้อำนาจอย่างไม่สนใจว่าจะกระทบต่อสิทธิของคนกลุ่มไหนบ้าง ทางกลับกันก็ยังมีผู้ใหญ่ที่เปิดใจรับฟังเสียงของเด็ก วัยรุ่นอย่างจริงใจ – ที่อารัมบทอย่างนี้เพราะในเมื่อผู้ใหญ่มองว่าเด็ก วัยรุ่นมีทั้งเด็กดี เด็กใส เด็กเสี่ยง ฉะนั้นผู้ใหญ่ที่ว่ากันมาก็ต้องมีทั้งผู้ใหญ่ที่ดี ผู้ใหญ่ที่ใส และผู้ใหญ่ที่เสี่ยง


 


กล่าวคือ ในความเป็นคน คนมีความหลากหลายในตัวของแต่ละคนที่ต่างกันไป ร้อยคนก็ร้อยความคิด พันคนก็พันความคิด ฉะนั้นวัยรุ่นแต่ละคนก็อาจคิดต่างกัน เหมือนกับผู้ใหญ่ที่ต่างก็ไม่ได้คิดเหมือนๆ กันเสมอ


 


ความคิดของเด็กวัยรุ่นที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ต้องรับฟังอย่างทั่วถึงและรอบด้าน บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในทางนโยบาย ได้ประกาศกฎ ระเบียบ นโยบายอะไร กลับเลือกฟังเสียงเด็ก วัยรุ่นที่เห็นด้วย (กลุ่มเดียว ด้านเดียว) แล้วนำไปดำเนินการ โดยที่ไม่ได้ฟังเสียงเด็ก วัยรุ่นที่เห็นต่าง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเหล้า เรื่องไคโยตี้ เป็นต้น


 


ต่อคำถามที่ว่า การรับฟังเสียงของวัยรุ่นสำคัญหรือไม่นั้น ต้องย้อนดูว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าเด็กวันนี้ คืออนาคตของชาติ แต่ในเมื่อวัยรุ่นมีวามคิดเห็น หรือต้องการรับผิดชอบ ชีวิต และสังคมในปัจจุบันที่เป็นอยู่ กลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ และมักถูกปฏิเสธอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในระดับครอบครัว ในโรงเรียน หรือแม้แต่ระดับชุมชนและสังคม


 


หากผู้ใหญ่เห็นว่าอนาคตของชาติขึ้นอยู่กับเด็ก ก็ต้องปล่อยให้เด็ก วัยรุ่นได้มีสิทธิ คิด และรับผิดชอบสังคมในวันนี้ด้วย มิใช่ต้องรอให้ถึงอนาคตก่อน เพราะไม่อย่างนั้นอนาคตที่ผู้ใหญ่อยากให้เด็กรับผิดชอบสังคม อาจไม่มีเด็ก วัยรุ่นคนไหนใส่ใจเลยก็ได้ แล้วความคิดที่ว่า "เรื่องสังคมเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก" ก็จะเกิดขึ้น และเมื่อนั้น ความรับผิดชอบของเด็ก วัยรุ่นในสังคมก็จะมีน้อย


 


ในทางจิตวิทยา มองว่าการรับฟังเสียงของวัยรุ่น จะทำให้วัยรุ่นเห็นคุณค่าตัวเอง และจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบและสามารถคิด แยกแยะ ไตร่ตรอง ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี


 


ส่วนที่มีคนมองว่า "เป็นแค่วัยรุ่น จะไปฟังเสียงทำไม" นั้น ไม่น่าจะเป็นประโยคที่ออกมาจากผู้ใหญ่เลย    (แต่ก็ห้ามไม่ได้ คนคิดแบบนี้ยังมีอีกมาก หรือเพื่อนวัยรุ่นคิดแบบนี้ก็มี) เพราะประโยคนี้ เหมือนเป็นการ "ลดค่า" ศักดิ์ศรีของวัยรุ่นคนนั้นลง


 


ยิ่งหากวัยรุ่นคนไหนเป็นเด็กไม่ดีในสายตาผู้ใหญ่ อาทิ เด็กแก๊ง เด็กในสถานพินิจ เด็กติดเกม พูดหรือส่งเสียง แสดงความคิดเห็น ก็จะถูกปฏิเสธมากกว่าเด็กที่ผู้ใหญ่มองว่าดี เช่น เด็กเรียนดี เด็กที่แข่งกีฬาเก่ง เป็นต้น - คำพูด ความคิดเห็นของเด็ก วัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นคนไหน ก็ต้องรับฟังไม่ใช่หรือครับ ผิด ถูก ว่ากันอีกที แต่ควรรับฟังด้วยใจที่ปราศจากอคติ


 


มีตัวอย่างให้ศึกษาเรื่องการรับฟังเสียงวัยรุ่น คือ มีกลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งใน จ.พะเยา ที่ทำกิจกรรมเรื่องเอดส์ และเพศศึกษาร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชน แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะทำกิจกรรมผู้ใหญ่ในชุมชนกลัวว่าเด็กรวมกลุ่มกันแล้วจะมั่วสุมมากขึ้น และมองว่าการที่เด็กคุยเรื่องเพศจะทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น เพราะมีกลุ่มเด็กมีสมาชิกที่เป็นเด็กแก๊ง และชอบเที่ยวกลางคืน จึงทำให้ผู้ใหญ่กลัวไปต่างๆ นาๆ


 


แต่หลังจากที่วัยรุ่นหลายคนในชุมชนมารวมกลุ่ม แสดงความคิดเห็น และส่งเสียงบอกกับผู้ใหญ่ว่าสิ่งที่ทำไปนั้น ทำเพื่ออะไร และได้ชวนผู้ใหญ่ในชุมชนมาร่วมทำกิจกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการทำกิจกรรมก็คือ ผู้ใหญ่เชื่อมั่นในความคิดของเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น และกลุ่มนี้ก็มีส่วนช่วยลดปัญหาด้านเอดส์ เพศ ในชุมชนอีกด้วย


 


ตัวอย่างกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็น "รูปธรรม" ที่บอกว่าการเชื่อมั่นและเชื่อใจในความคิดของเด็ก วัยรุ่นนั้น เป็นการเพิ่ม "คุณค่า" ให้กับวัยรุ่น ให้ทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและรับผิดชอบตัวเองและสังคมมากขึ้น


 


การรับฟังเสียงของวัยรุ่น อย่างทั่วถึงและหลากหลาย จะเป็นการเพิ่ม "มิตรภาพ" ระหว่างคนที่มีวัยต่างกัน น่าจะช่วยทำให้วัยรุ่นรับผิดชอบตัวเอง และสังคมมากขึ้น


 


ก่อนจะจบข้อเขียนนี้ อยากฝากหลักในการคำนึงถึงเรื่องการมีส่วนร่วมระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ที่มาพูดคุยกันมากในช่วงนี้ ซึ่งเป็นหลักการที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการประเมินและติดตามสภาวะการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นกับผู้ใหญ่


 


รายละเอียดมีการแบ่งระดับ หลักคิดการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ไว้ 3 แบบ


 


แบบที่ 1 คือ แบบ "สั่งการ" คือผู้ใหญ่เป็นผู้คิด ผู้ตัดสินใจ ผู้ออกคำสั่ง ระเบียบ แบบแผนให้วัยรุ่นเป็นคนกระทำตามที่ผู้ใหญ่ต้องการเอง โดยไม่ฟังเสียงวัยรุ่นเลย เช่น ครูสั่งให้เด็กนักเรียนจัดแจกันสำหรับจัดการประชุม หรือ ผู้ใหญ่บ้านสั่งให้กลุ่มเยาวชนหยุดทำกิจกรรมเนื่องจากไม่เหมาะสม หรือ ผู้ใหญ่คิดว่าเด็กติดเหมมากขึ้นจึงสั่งห้ามเด็กออกนอกบ้านเกิน 4 ทุ่ม เป็นต้น ในแบบแรกนี้จะมีลักษณะที่ไม่ได้เปิดให้วัยรุ่นได้แสดงความคิดเห็นเท่าใดหากแต่ต้องฟังเสียงจากผู้ใหญ่สั่งเท่านั้น


 


แบบที่ 2 คือ แบบ "ปล่อยให้ทำ" หมายถึงการที่ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย โดยปล่อยให้วัยรุ่น เป็นคนคิด ริเริ่มทำงานบางอย่าง โดยที่ผู้ใหญ่ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรเลย เช่น กลุ่มเด็กเก็บขยะในหมู่บ้านแต่ไม่รู้จะเอาไปทำลายอย่างไร จะขอคำปรึกษาจากผู้นำชุมชนแต่กลับบอกว่าให้ทำอย่างที่อยากทำไปเลย  แบบที่สองนี้จะมีลักษณะที่ผู้ใหญ่ปล่อยให้วัยรุ่นโดยที่ อาจจะ "เชื่อมั่น" หรือ "รำคาญ" มีได้หลายมุม และแบบนี้ผู้ใหญ่ไม่ได้ให้แม้กระทั่งข้อแนะนำหรือคำชี้แนะใดๆ


 


แบบที่ 3 คือ แบบ "พันธมิตร" กล่าวคือ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ มีการคิด ริเริ่ม ดำเนินการ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน ประเมินผลร่วมกัน ในลักษณะของความเท่าเทียมแก่กัน ซึ่งแบบนี้ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ต่างเปิดใจพูดคุยแสดงความคิดเห็นได้โดยหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ลักษณะแบบนี้ค่อนข้างจะช่วยลดอุปสรรคระหว่างวัยที่มีของคนสองวัย และยังช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงข้อจำกัดของกันและกันอีกด้วย


 


แม้ว่าทั้ง 3 แบบ จะมีฐานคิดที่มาจากความปรารถนาดี เป็นห่วง อยากให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยและรับผิดชอบในการดำรงตนอยู่ในสังคม แต่หลักการนี้ น่าจะช่วยประเมินและสะท้อนถึงการรับฟังเสียงและการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ในระดับต่างๆ ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และระดับชาติ ได้เป็นอย่างดี และช่วยทำให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1 ไประดับ 2 และไปจนถึงระดับ 3 ที่ถือว่าเป็นหลักการมีส่วนร่วมที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมวันนี้


 


สังคมวันนี้ - กรณีขายเหล้าและห้ามเต้นไคโยตี้น่าจะช่วยทำให้เรารู้ว่าผู้ใหญ่เมืองไทยเป็นแบบไหน