Skip to main content

นิทรรศการ "คำ" # 4

คอลัมน์/ชุมชน


 


แบบเรียน


 


ไม่มีโรงเรียน ไม่มีวัด เราเรียนกันใต้ร่มไม้ นักเรียนของผมคือคนทั้งหมู่บ้าน วิชาที่สอนไม่มีกำหนดไว้ในตาราง ทุกสิ่งทุกอย่างคือการเรียนทั้งนั้น


 


สำหรับเด็กๆ ผมสอนให้รักษาสุขภาพ สอนให้อดทน สอนให้คิด สอนให้กระตือรือร้นต่อการฝ่าฟันชีวิต


 


ผู้ใหญ่และคนแก่ ผมสอนให้รู้จักทันคน สอนให้รู้จักคุณค่าของแรงงานที่เสียไป สอนให้รู้จักคำว่าได้เปรียบเสียเปรียบ และสอนให้ตระหนักถึงความยุติธรรม


 


สมภาร พรมทา


จากเรื่อง รอเพื่อน, หนังสือ บันทึกคนนอกคอก


 ....................................................................................


 




ความรัก


 


ใบหน้าของแม่ยิ้มสดชื่นขณะถ่อเรือกลับบ้าน ฉันนั่งเพลินด้วยตั๊กแตนบนหัวสองตัว มองต้นข้าวที่งามเขียวเต็มทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา


 


ทิวไม้กั้นอยู่ไกลที่ตีนฟ้า ต้นข้าวงามเป็นลำชูยอดสง่า ใบโบกพลิ้วพะเยิบพะยาบ ที่คอต้นต่อกับตรงใบอวบพองด้วยแม่โพสพกำลังตั้งท้อง อีกไม่นานวันก็จะออกรวงสะพรั่งให้เห็นเป็นที่ชื่นชมยินดีของชาวนา


 


ฉันรักแม่ของฉันจริงๆ และฉันเริ่มรู้สึกรักแม่ของแม่...


แม่โพสพ


 


ละเอียด นวลปลั่ง


จากเรื่องสั้น ทำขวัญข้าว, หนังสือ ลูกชาวนา


....................................................................................


 




ลืม


 


แม่หัดให้ลูกมีชีวิตอยู่ โดยสมมุติว่าไม่มีแม่อยู่ใกล้ๆ หัดคิด หัดตัดสินใจ ทำอะไรด้วยตัวเอง โดยมีแม่คอยมองดูอยู่ห่างๆ


แม่หัดลูกของแม่เช่นนี้ทุกวัน เพื่อว่าแม่ตายไปลูกจะได้ไม่ลำบากนัก


 


แต่มันก็ช่างตลกแท้ทีเดียวนะจ๊ะ ที่แม่เอาแต่คิดว่า สักวันหนึ่งแม่จะต้องตาย สักวันหนึ่งแม่จะต้องตาย คิดแต่ว่าแม่จะต้องตาย


จนลืมคิดว่าลูกก็ตายได้เหมือนกัน


 


จันทรำไพ


จากเรื่อง ผ่านทางช้างเผือก, หนังสือ กระท่อมในดง


....................................................................................


 




ความต้องการ


 


สมมุติว่ามีใครมาจับไหล่ผมไว้ในขณะนั้นแล้วถามว่า


"เด็กน้อย...เจ้าอยากเป็นอะไรมากที่สุดในชีวิต เป็นหมอ หรือนักดนตรีคนเก่ง เป็นจิตรกร หรืออัครเสนาบดี"


ผมก็จะตอบโดยไม่รีรอเลยว่า ความใฝ่ฝัน...ความปรารถนา...ความอยากได้อย่างเดียวของผมคือ อยากได้จักรยาน และอยากจะถีบปร๋อลงเนินไปโดยปล่อยมือ...เพียงแค่คิดก็ตัวสั่นแล้วล่ะ"


 


โรอัลด์ ดาห์ล


จากเรื่อง โรอัลด์ อาห์ล เด็กชายแสนซน, แปลโดย สาลินี คำฉันท์


....................................................................................


 




การแก้ปัญหา


 


ผมเห็นบุรุษไปรษณีย์แบกจดหมายสำหรับแจกจ่ายแก่คนแทบทุกคนในหมู่บ้าน


แต่เขาต้องเก็บจดหมายของพ่อไว้อ่านเองเป็นแน่ ผมเชื่อว่าบุรุษไปรษณีย์เป็นคนเลวมาก


อย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนไปเลย แม่ครับ


 


วันพรุ่งนี้จะมีตลาดนัดในหมู่บ้านถัดไป แม่บอกให้คนใช้ไปซื้อปากกาและกระดาษมา


ผมจะเขียนจดหมายของพ่อหลายๆ ฉบับ แม่จะไม่พบตัวผิดสักแห่งเดียว


ผมจะเขียนจาก ก. ถึง ญ.


อ้าว, แม่ครับ แม่ยิ้มทำไมนี่?


แม่ไม่เชื่อมือผมที่จะเขียนได้ดีเท่าพ่อ


ผมจะตีเส้นบนกระดาษด้วยความประณีต และเขียนตัวอักษรโตๆ อย่างสวยงาม


 


เมื่อเขียนจบ แม่คิดว่าผมโง่เหมือนพ่อหรือ ที่จะหย่อนลงในถุงของบุรุษไปรษณีย์โหดร้ายคนนั้น


ผมจะถือมาส่งแม่ด้วยตัวเองโดยไม่ชักช้า และจะอ่านให้ฟังทีละฉบับ


 


รพินทรนาถ ฐากูร


จากกวีนิพนธ์ จันทร์เสี้ยว, แปลโดย ปรีชา ช่อปทุมมา


....................................................................


 




ประเด็น


 


รัฐมนตรีบางท่านบอกว่า นักข่าวไทยถามคำถามไม่เป็น ถามแบบปัญญาอ่อน


ผมเคยมานั่งนึกว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น


จริงอยู่ นักข่าวหลายคนไม่ได้เตรียมตัวมาเท่าที่ควร แต่ถ้าเราดูจริงๆ นักข่าวไทยเป็นภาพสะท้อนของคนไทย คือไม่ถามตรงๆ


บางทีนักข่าวไปนั่งกินกาแฟกับรัฐมนตรี ก็รู้ว่าคนนี้โกง เขาก็ยอมรับว่าโกง แต่ถ้ามาเขียนอะไรโป้งป้าง ไม่ได้ มันเสียความรู้สึก


 


นักข่าวไทยจะถามความรู้สึกมากกว่า


 


มนตรี เจนวิทย์การ


บทสัมภาษณ์ในนิตยสารดีเขต, 8 ตุลาคม 2534


....................................................................


 




คำถาม


 


มีคนเคยถามเราว่าเสี่ยงตายทำไม เงินเดือนไม่กี่บาท


แต่เรารักงานของเรา เราทำข่าวไม่แบ่งหรอกว่าข่าวอะไร ถ้าเป็นงานแล้วทำหมด


ข่าวชายแดน ข่าวเขมร ผ่านความหนาวในหัวอกเหมือนชีวิตจะหายไปหลายครั้ง


ตอนนี้ยังเหลือตาตั้งข้างนึง ไม่เป็นอุปสรรค ยังทำต่อเหมือนเดิม ไม่กลัว


ถ้ากลัวก็กลัวว่าทำไมบ้านเมืองเราต้องเป็นแบบนี้ ทำไมยิงกัน พ.ศ. นี้แล้ว


นึกว่าทหารจะฉลาดขึ้น ก็ยังโง่อยู่เหมือนเดิม


 


พรวิไล คารร์


บทสัมภาษณ์ในนิตยสารสารคดี, มิถุนายน 2535


....................................................................





ที่อยู่

 


ในสังคม แม้จะมีปัญหาและความบกพร่องมาก ผมก็ไม่เกลียดชังหรือคิดหลีกหนี เราต้องรับรู้ไว้ เพราะนั่นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นลักษณะหนึ่งของมนุษย์ เป็นความจริง


 


นิคม รายยวา


จากเรื่อง มากับลมฝน, รวมเรื่องสั้น คนบนต้นไม้