Skip to main content

โลกนี้สีเขียวด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน

คอลัมน์/ชุมชน


ใกล้ปีใหม่สากลซึ่งคนทั้งโลกจะเปลี่ยนปฏิทินกันแล้ว หลายคนคงจะคิดเลี้ยงฉลองกัน ดิฉันจึงขอเสนอสาระจากงานมหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๘ - ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน


คณะผู้จัดงาน (และตัวดิฉันเองด้วย) หวังว่า เกษตรกรรมยั่งยืนจะนำมาซึ่งความกระจ่างชัดในระบบคุณค่า ปรัชญา แนวคิด เป็นทางออกในการดำเนินชีวิตของบุคคล ครอบครัว ชุมชน และเป็นทางออกจากวิกฤตของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง หากทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ผู้แปรรูป ฝ่ายการตลาด การโฆษณา ผู้บริโภค และภาครัฐ ได้เปลี่ยนแนวคิด มุมมองในการอยู่ร่วมกันในสังคมและธรรมชาติ เปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตแบบใหม่ ศานติสุขที่ยั่งยืนก็จะมาสู่ทั้งโลกได้อย่างแท้จริง



เวทีภาควิชาการในห้องประชุม เริ่มด้วย ปาฐกถาของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี สรุปได้ว่า


"ยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ควรใช้แนวคิดแบบแยกส่วน และใช้เงินเป็นตัวตั้งตามแนวทางจักรวรรดินิยม ดังตัวอย่างของประเทศศรีลังกาที่หมดศักยภาพในการปลูกข้าวไปแล้ว เนื่องจากเมื่ออังกฤษมาปกครองก็ให้ชาวนาปลูกชาแทนข้าว เพื่อความสะดวกในการปกครองของตน แต่กลับทิ้งปัญหาให้กับประเทศเมืองขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งคนศรีลังกาปลูกข้าวไม่เป็น ทั้งที่เป็นจิตวิญญาณเดิม การที่เราเอาวิชาการมาจากต่างประเทศ ทำให้เราเปลี่ยนจากการปลูกพืชหลายอย่างมาเป็นปลูกพืชอย่างเดียว ซึ่งการปลูกพืชเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการทำลายอย่างหนัก เป็นการทำลายเศรษฐกิจของเกษตรกร ส่งผลให้ชาวบ้านยากจนลง ต้องซื้อของแพง ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน และนับวันหนี้สินยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องขายนา ขายควาย ให้ลูกสาวไปเป็นโสเภณี จึงจะมีข้าวกิน ขณะที่ข้าวปลาอาหารของเราอุดมสมบูรณ์ แต่วันนี้เศรษฐกิจล่มสลายลง และทำลายสิ่งแวดล้อมที่มีค่ามาก นั่นก็คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ


การเกษตรกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้ธรรมชาติเสียหาย ทั้งฝนแล้ง ทั้งน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากการที่ป่าไม้มีไม่พอ เนื่องจากต้นไม้ต้นหนึ่งมีรากยาวเป็นกิโลเมตร ดูดน้ำได้มาก เมื่อทำลายป่าจึงเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งเราใช้เงินอย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ การใช้ยาฆ่าแมลงของเกษตรกรได้ฆ่าทุกอย่าง ทั้งฆ่าจุลชีพในดิน และสารพิษก็ลงในแม่น้ำลำคลอง สถานที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ก็คือ มดลูกของแม่ ถ้าสารเคมีไปโดนดีเอ็นเอ ก็จะส่งผลต่อร่างกาย ขณะนี้ ความพิการมากขึ้น เพราะแผ่นดินต้องอาบยาพิษ


เมื่อเศรษฐกิจล่มสลายลง ต้องแยกย้าย สูญเสียวิถีชีวิตร่วมกัน อยู่ด้วยกันไม่ได้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของคนจน คนทั้งแผ่นดินและสิ่งแวดล้อม วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเศรษฐกิจแบบแยกส่วน ขณะที่ชีวิตนั้นเกิดจากความเชื่อมโยงของชีวิตและจิตวิญญาณ เมื่อเราแยกส่วนก็เกิดวิกฤต เราต้องหายุทธศาสตร์ในการแก้ แต่รัฐบาลกำลังแก้เป็นส่วน ๆ ทั้งที่จริง ควรต้องมียุทธศาสตร์ทุกส่วนพร้อมกัน แล้วสิ่งนั้นคือ "เกษตรกรรมบูรณาการ" หรือเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งเชื่อมต่อกันทุกเรื่อง เป็นการแก้ปัญหาความยากจน และสร้างวัฒนธรรม แต่ถ้าเราเอาเงินเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างก็จะเปลี่ยน ซึ่งทุนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเงินของคนส่วนน้อย


"เกษตรกรรมบูรณาการ" ที่ผู้นำชุมชนทั่วประเทศทำขึ้นคือ บทพิสูจน์ความจริง เพราะทุกคนเหลือกิน หนี้หมด มีเงินออมมากขึ้น มีสุขภาพดีทุกด้าน รวมทั้งมีต้นไม้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้นไม้นั้นถือเป็นบำนาญชีวิต ชีวิตสามารถวางแผนได้ด้วยการปลูกต้นไม้ อีกทั้งต้นไม้ก็ยังสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ปัญหาที่ดินทำกิน ทำให้รัฐไม่ต้องมาคอยแก้ไขปัญหาเหล่านี้


ถ้าเรายังพัฒนาแบบเงินนิยม จะนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจร่วมกันว่า "เกษตรกรรมบูรณาการ" เป็นสันติ เป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหาของประเทศ เนื่องจากช่วยให้คนจนหายจน ช่วยแก้วิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ และช่วยลดความรุนแรงลง


"เกษตรกรรมบูรณาการ" เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง เราควรต้องหาทิศทางการพัฒนา ต้องทำเรื่อง "เกษตรกรรมบูรณาการ" หรือเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นยุทธศาสตร์ชาตโดยต้องดำเนินการ ๖ ประการ ดังนี้

๑. การสร้างความเข้าใจวัตถุประสงค์เรื่อง "เกษตรกรรมบูรณาการหรือเกษตรกรรมยั่งยืน" ร่วมกันทั้งประเทศ
๒. การสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน อาทิ ต้องนำเรื่องราวของ "เกษตรกรรมบูรณาการหรือเกษตรกรรมยั่งยืน" เข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจในเกษตรกรรมยั่งยืน ควรผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรเกษตรกรรมยั่งยืน และกำหนดให้นักศึกษาปริญญาโทต้องลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน
๓. การปรับโครงสร้างการศึกษา
๔. การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเกี่ยวกับ "เกษตรกรรมบูรณาการหรือเกษตรกรรมยั่งยืน" เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน เช่นเดียวกับการดำเนินการของขบวนการแผนแม่บทชุมชนที่ชาวบ้านต่าง ๆ กำลังทำวิจัยกันอยู่ในพื้นที่พันตำบลจนกลายเป็นเครือข่ายแผนแม่บทสี่ภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนที่มีหนี้สิน แล้วปรับมาทำเกษตรยั่งยืนจนประสบความสำเร็จ ผลจากการวิจัยทำให้ได้ข้อสรุปว่า ควรสนับสนุน "เกษตรกรรมบูรณาการหรือเกษตรกรรมยั่งยืน" ในทุกตำบล เช่นเดียวกับประเด็นในด้านที่ดิน ที่ดินทำกิน ที่ควรมีการวิจัยและพัฒนาหรือแก้ปัญหา โดยอาจไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยการปฏิรูปที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่อาจเปลี่ยนมาให้ชาวบ้านเช่าที่ทำกินระยะยาวเพื่อทำเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยก็ได้
๕. การเชื่อมโยงระหว่างประเด็น "เกษตรกรรมบูรณาการหรือเกษตรกรรมยั่งยืน" กับประเด็นสิทธิของเกษตรกรและชุมชน อาทิ สิทธิในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายรวมถึง สิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม สิทธิในการสื่อสาร และการสร้างระบบการเงินในชุมชน เป็นต้น
๖. นโยบายลดการทำการเกษตรสารเคมี ลดการนำเข้าสารเคมี ปุ๋ยเคมี


แนวทางการพัฒนาต้องปรับมาเป็นแนวเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจแบบยั่งยืน หรือเศรษฐกิจแบบศีลธรรม โดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในเมือง ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันทำ ถ้าเชื่อมโยงกันได้ จะกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น และต้องทำตรงนี้ให้ได้ โดยอาจเริ่มต้นจากองค์กรเล็ก ๆ ที่จะมาเชื่อมโยงงานในส่วนนี้ ระหว่างชนบทและในเมือง


ที่สำคัญ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน ควรทำอย่างต่อเนื่อง ผลักดันในเรื่องนโยบายนำเสนอให้รัฐบาล อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องก็ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องสร้างเอกภาพและความเข้าใจในทุกฝ่าย การสนับสนุนทางการปฏิบัติด้วย


สิ่งที่ผู้นำชุมชนทั่วประเทศได้ช่วยกันทำมาเป็นการเคลื่อนทางศีลธรรม และขบวนการ "เกษตรกรรมบูรณาการหรือเกษตรยั่งยืน" จะใหญ่ขึ้นจนเป็นระบบหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีหลายคน และช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น."



การอภิปรายในหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าเกษตรกรรมยั่งยืนในสังคมไทย" ดิฉันได้รับแรงบันดาลใจอย่างยิ่งจาก คุณเดชา ศิริภัทร เลขาธิการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ คุณขวัญดิน สิงห์ดำ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย - ชุมชนศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ) คุณพัฒน์ อภัยมูล เกษตรกรจากจังหวัดเชียงใหม่ และคุณชนวน รัตนวราหะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ


ซึ่งทุกคนพูดตรงกันว่า เกษตรกรรมยั่งยืน ต้องเกิดขึ้นโดยพลังของเกษตรกร และพลังภาคประชาชน คือ ผู้บริโภค แม้รัฐจะไม่สนับสนุนอย่างจริงใจ แต่เกษตรกรต้องใช้หลักศาสนา ใช้มิติทางจิตวิญญาณ ที่จะเข้าถึงธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้


คุณเดชา ศิริภัทร มั่นใจว่า ปัจจุบันและอนาคต จะมีคนรุ่นใหม่ คนในเมืองที่กล้าหาญ หันกลับมาทำเกษตรยั่งยืน เป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตอย่างใหม่ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และสอดคล้องกับธรรมชาติ ทั้งยังรวมตัวเป็นเครือข่ายรณรงค์เผยแพร่ความรู้ และต่อต้านประเด็นที่สำคัญ เช่น การใช้สารเคมีการเกษตร การปลูกพืชจีเอ็มโอ เป็นต้น


คุณขวัญดิน สิงห์ดำ เน้นว่า เกษตรกรรมยั่งยืนนั้น ต้องมักน้อย สันโดษ และยอดขยัน ฝึกใจให้รู้จักพอ มีเป้าหมายพออยู่พอกิน ที่เหลือจึงแจกจ่ายและแปรรูป ต้องลด เลิกอบายมุขให้ได้ ต้องขับเคลื่อนองค์กรและเครือข่ายเป็นหัวหอก ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง แม้รัฐจะเอาสารเคมีมาขายก็ไม่เอา เพราะเห็นว่ามีผลต่อสุขภาพโดยตรง และเปลืองเงินด้วย คุณขวัญดินเชื่อมั่นว่า เกษตรกรรมยั่งยืนแข่งกับเกษตรเคมีได้แน่นอน


คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร มีตัวอย่างภาพยนตร์สั้น ๆ มาฉายให้ดูหลายตอน เริ่มด้วยคำถามของพระเจ้าอยู่หัวว่า "ทุกวันนี้คนไทยกินข้าวไทยกันหรือเปล่า" ทำให้ย้อนคิดถึงกระบวนการผลิตข้าวของชาวนาไทย ซึ่งแต่เดิม แม่โพสพ คือ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของท้องถิ่นต่าง ๆ ถึง ๒๐,๐๐๐ ชนิด ใช้ควายไทยไถนา ได้ขี้ควายเป็นปุ๋ยให้ผืนนาไทย เมื่อเริ่มฤดูไถนาก็ทำขวัญควาย ทำขวัญข้าว ทำขวัญนา เมื่อจะดำนา เกี่ยวข้าว ก็ลงแขก ร่วมแรงร่วมใจกัน จากเมล็ดข้าวสู่รวงข้าวเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมที่งดงาม เข้มแข็ง แต่เดี๋ยวนี้ พันธุ์ข้าวไทยมีแค่ กข. ไม่กี่อย่าง ไถด้วยรถไถจากต่างชาติ ใช้น้ำมันที่นำเข้า เกี่ยวและนวดด้วยเครื่องจักรที่นำเข้า ทำให้เสียดุลทางการค้า เสียมิติทางจิตวิญญาณ และวัฒนธรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติ จึงต้องหวนคืนมาทำกสิกรรมธรรมชาติอย่างแท้จริง


คุณพัฒน์ อภัยมูล เกษตรกรจากเชียงใหม่ ผู้บุกเบิกเกษตรกรรมยั่งยืน เล่าว่า เกษตรกรแม่ทา ปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามนโยบายของรัฐมานาน แต่ยิ่งปลูกก็ยิ่งจน เพราะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและยาเคมี รัฐบาลไม่เคยห่วงเกษตรกร ไม่ช่วยด้านการตลาด คุณพัฒน์จึงเปลี่ยนตัวเอง ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๙ โดยคิดถึงคนรุ่นพ่อแม่ ที่รู้คุณค่าของธรรมชาติ เจ้าป่าเจ้าเขา มีคติสอนใจ ปลูกพืชหลากหลายในสวน เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร คนรุ่นใหม่ต้องมีอิสรภาพทางความคิด ถ้าพัฒนาตามทุนนิยมอย่างไม่เหลียวหลัง กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว อยากให้รัฐบาลมองการเกษตรแบบบูรณาการ


คุณเดชา ศิริภัทร ย้ำว่า อนาคตมาจากอดีตที่งดงาม ถ้าละเลยรากเหง้าของอดีตที่งดงาม เราจะมีอนาคตที่ยั่งยืน มั่นคง ไม่ได


ร่วมกันทบทวนอดีตที่ดีงามของประเทศ เพื่อสร้างปัจจุบันและอนาคตที่ดีงามของสังคมไทยและสังคมโลกผ่านเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งจะเสนอครั้งหน้าอีกตอนหนึ่งค่ะ