Skip to main content

"นโยบายสัมมาทิฎฐิ สร้างสังคมพอเพียง ร่มเย็นเป็นสุข"

คอลัมน์/ชุมชน


 


วันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ควรเป็นวันประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ที่นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสร้างมิติใหม่ที่นายกฯ และคณะ ครม. นั่งฟังอยู่ในห้องประชุมสภาและตอบข้อเสนอของ สนช. ตั้งแต่เปิดประชุม ๐๙.๓๐ น.จนเลิกประชุมเกือบเที่ยงคืน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐบาลที่แล้ว ที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


 


สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงชื่ออภิปรายถึง ๖๐ คน โดยตั้งข้อสังเกต ให้ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ ความรู้ ความห่วงใยและมุมมองที่หลากหลาย


 


เริ่มด้วยผู้อาวุโสทางการเมือง คือนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ได้เวลาในการอภิปราย ๓๐ นาที ต่อด้วยผู้รู้ทางกฎหมายคือ อาจารย์วิษณุ เครืองาม จากนั้นก็เป็นการอภิปรายของสมาชิกสภานิติบัญญัติคือ คุณกัญจนา ศิลปอาชาหมอแว (แว มาฮาดี แวจาโอะ) จากนราธิวาส อาจารย์ตวง อันทะไชยครูภูมิปัญญาจากอีสานและครูหยุย (นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์) เป็นต้น


 



 


ช่วงแรกได้เวลาอภิปรายคนละ ๑๕ นาที ต่อได้อีกถึงเกือบ ๒๐ นาที จนเวลาไม่พอต้องลดเหลือแค่ ๑๐ นาที ผู้ที่อภิปรายเน้นเรื่องคุณธรรม ศาสนธรรม คือ นายวรเดช อมรวรพิพัฒน์ เลขาธิการยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาจารย์เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตด้านปรัชญา ซึ่งอาจารย์วรเดชเริ่มด้วยการอนุโมทนาที่นโยบายของรัฐเริ่มด้วยสัมมาทิฎฐิ คือ ความคิดที่ถูก คือการมุ่งสร้างสังคมคุณธรรม พอเพียง ร่มเย็นเป็นสุขและสมานฉันท์ ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ


 


อาจารย์เสถียรพงษ์ เน้นว่าความสำเร็จต้องมาจากหลักใจและหลักปฏิบัติ ที่จะทำให้คนในสังคมถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยหลักธรรมที่มาจากหลักศาสนา ซึ่งมนุษย์จะเรียนรู้ได้จากบุคคลและสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ถือเป็นครู โดยได้ยกพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ว่า สังคมที่ดีต้องสมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๑๐ ประการ คือ


 


                        อันความกรุณาปรานี                      จะมีใครบังคับก็หาไม่


            หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ                      จากฟากฟ้าสุราลัย....สู่แดนดิน


            เมืองใดไม่มีทหารหาญ                               เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า


            เมืองใดไร้จอมพารา                                  เมืองนั้นไม่ช้าอับจน


            เมืองใดไม่มีพาณิชย์เลิศ                             เมืองนั้นย่อมเกิดสับสน


            เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ                                 เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม


            เมืองใดไม่มีกวีแก้ว                                   เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม


            เมืองใดไร้นารีงาม                                     เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ


            เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ                                เมืองนั้นไม่เพริศพิศมัย


            เมืองใดไร้ธรรมอำไพ                                 เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย.


 


อาจารย์กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิตด้านปรัชญา เสนอให้มีแผนการสอนวิชาปรัชญาในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีรากฐานในระบบความคิดที่สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์และสร้างสรรค์ทางเลือกที่ดีกว่าด้วยปัญญา โดยไม่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก


 


คุณกัญจนา ศิลปอาชา แสดงความชื่นชมที่ท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวขอโทษต่อที่ประชุมพี่น้องมุสลิมภาคใต้ในนโยบายและการปฏิบัติที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดก่อน            ซึ่งเป็นแบบอย่างแก่เด็กและผู้คนในสังคมว่า ผู้นำสามารถขอโทษประชาชนได้ถ้าทำผิด และขอบคุณที่นายกฯ ยอมเป็นผู้นำประเทศในภาวะยากลำบากเพื่อกอบกู้สถานการณ์ของประเทศ เป็นการอภิปรายที่น่ารักแสดงถึงจิตใจที่ดีงามของคุณกัญจนา ซึ่งเป็นนักการเมืองสตรีที่บริสุทธิ์ผุดผ่องไร้รอยตำหนิในเรื่องคุณธรรม


 


รัฐมนตรีหลายท่านกล่าวตอบว่าฟังการอภิปรายด้วยความอิ่มใจอิ่มในความห่วงใย ในความรู้ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ให้ข้อเสนอแนะต่อนโยบายรัฐบาลด้วยความจริงใจ โดยขอนำข้อเสนอทุกอย่างไปพิจารณา


 


ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยข้อเสนอต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคุณประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร"ประธานสภาราษฎร" ซึ่งเป็นแบบอย่างของราษฎรผู้ติดตามและต่อสู้เพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างต่อเนื่อง คุณประพันธ์ศักดิ์เห็นว่าไม่ควรใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยเหตุผลดังนี้


 


.เพราะไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปริญญาชน ซึ่งผู้ร่างล้วนจบจากปริญญาตรีอย่างต่ำและมีประชาชนบางกลุ่ม ชมรม คณะบุคคล องค์กร ขบวนการ สมาคม สภาสถาบันบางแห่งเท่านั้นที่กระตือรือร้นมีส่วนร่วม – คนไม่จบปริญญาถูกตัดสิทธิโอกาสรับใช้ชาติ สมัคร ส.ส. ส.ว.


 


๒.เป็นรัฐธรรมนูญฉบับทุนนิยม ซึ่งส่งเสริมลัทธิบูชาเงินระบอบธนาธิปไตย ให้โอกาสกลุ่มทุนธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมผูกขาดเข้ามาเสวยอำนาจการเมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยการใช้กลไกพรรคการเมืองตามกฎหมายคล้ายบริษัทธุรกิจผูกขาดและการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว       ถือเป็นภัยอันตรายร้ายแรงสุดของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในประเทศไทย รวมถึงความมั่นคงของประชาชน ประเทศชาติ ราชบัลลังก์ แผ่นดิน ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั้งปวง


 


๓.กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง ทั้งสามฉบับถือเป็นกฎหมายการเมืองรวมศูนย์อำนาจผูกขาดไว้ที่ผู้นำคนเดียว คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งคุมอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ พรรคการเมือง ครอบงำวุฒิสภาและแทรกแซงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การสื่อสารคมนาคม สื่อสารมวลชนจนกลายเป็นเผด็จการทรราชถูกขับไล่ออกนอกประเทศไป กฎหมายเป็นเหตุหลัก พฤติกรรมเป็นเหตุตาม ไม่จำเป็นต้องทำให้รกสมอง สติปัญญาสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งควรจะเปิดกว้าง


 


๔.สสร.๒๕๔๐ ไม่ยุติธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญ ขาดจริยธรรมทางวิชาการอย่างร้ายแรงด้วยการจงใจตัดสาระสำคัญของผลการสำรวจประชามติประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งกว่า ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง รวมถึงการแสดงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ เป็นการฝ่าฝืนมติมหาชน ซึ่งแสดงเจตนารมณ์โดยสุจริต


 


๕.กฎหมายการเมืองทั้งสามฉบับไม่ใช้สถาบันอันเป็นเครื่องมือประชาธิปไตย ตรงข้ามกลับทำให้เกิดช่องว่างทางชนชั้น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา เป็นความผิดพลาดของการสร้างสังคมที่ไม่ยุติธรรม – ทำให้เกิดปัญหาความสับสนวุ่นวาย ระส่ำระส่ายทางเศรษฐกิจสังคม การเมืองตามมาไม่สิ้นสุด การทุจริตคอรัปชั่นอำนาจอธิปไตยของปวงชน การทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ลัทธิอุปถัมภ์พวกพ้องในวงงานราชการเป็นไปอย่างแพร่หลาย ไร้ระเบียบวินัย ที่สำคัญคือการเกิดรัฐตำรวจซึ่งใช้อำนาจไม่ยุติธรรม


 


๖.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งทำให้ กกต. กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน เป็นสถาบันสร้างกฎเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งผิดทำนองคลองธรรม กลายเป็นนั่งร้านช่วยให้คนไม่ดี คนทุจริตเข้าสู่อำนาจเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ผลการเลือกตั้งซึ่งไม่สุจริตและยุติธรรม ยิ่งทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น


 


๗.โดยสรุปกฎหมายรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ อาจมีดีอยู่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง แต่โดยที่การกำหนดโครงสร้างอำนาจ ระบบการเมือง การเลือกตั้งซึ่งผิดพลาดอย่างร้ายแรงยังผลให้เกิดระบบธุรกิจการเมือง เผด็จการทรราชรวมศูนย์ ความอยุติธรรมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การทุจริตคอรัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน การมั่วนิ่มอนาธิปไตย การขายชาติขายแผ่นดินอย่างไร้สำนึก อาชญากรรมแพร่หลาย สังคมหาระเบียบ หาความสุข คุณงามความดีไม่ได้ ประชาชนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทนไม่ได้ พร้อมใจกันปฏิวัติก็สมเหตุสมผลดีอยู่แล้ว ด้วยการร่วมมือกับคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กับรัฐบาล ช่วยกันสร้างสรรค์วางรากฐานประชาธิปไตยในประเทศชาติราชอาณาจักรของเราใหม่ให้ดีที่สุด


 


ดิฉันหวังว่าชาวไทยทุกคนจะใช้สติและปัญญา เพื่อช่วยกันสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมร่มเย็นเป็นสุข สมานฉันท์ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความอดทน อดกลั้นด้วยความเมตตากรุณา ขอให้เราผ่านวิกฤตด้วยการให้อภัยต่อกัน แล้วสร้างสังคมแห่งความหวังร่วมกันนะคะ


 


เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์


Tuenjai_d@yahoo.com