Skip to main content

ประเทศสเปน...บังคับให้ทุกอาคารใหม่ต้องติดแผงโซลาร์เซลล์ แต่ไทย...มุ่งหาถ่านหินและนิวเคลียร์ (ฮาย!)

คอลัมน์/ชุมชน

ก่อนอื่น ผมขอโทษที่ต้องตั้งชื่อบทความนี้ยาวเป็นพิเศษ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ยาวเหมือนชื่อเต็มของ คปค. หรอกครับ  แต่ในยุคที่ผู้คนในสังคมมีเวลาน้อยลง การอ่านแต่เพียงชื่อบทความจะทำให้ผู้อ่านสามารถตัดสินใจได้ง่ายว่าจะเลือกอ่านรายละเอียดต่อไปหรือไม่


 


สำหรับคำว่า ฮาย! ในวงเล็บนั้นเป็นเสียงถอนหายใจว่า ผมรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความคิดที่ล้าหลังและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของกลุ่มคนในรัฐบาลไทยและผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายพลังงานมาตลอด  จะไม่ให้เหนื่อยได้อย่างไรในเมื่อประเทศอื่นเขามีแต่ข่าวดีๆ แต่ประเทศของเรากลับมีแต่สิ่งตรงกันข้าม


 


ผมขอทบทวนเรื่องในบ้านเราก่อน แล้วจะตามด้วยข่าวดีๆจากรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศสเปนที่เพิ่งประกาศเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เอง


 


เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน รัฐมนตรีพลังงานของไทย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า  กำลังพิจารณาแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย ที่เรียกย่อๆ ว่า "แผนพีดีพี 2006" และเสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่เพิ่งรอดพ้นจากการแปรรูปมาหยกๆ ด้วยคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด


 


แผนนี้จะมีผลในอนาคตนานถึง 15 ปีข้างหน้า คือตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2564 สาระสำคัญของแผนดังกล่าวก็คือการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จำนวนประมาณ 10,570 เมกกะวัตต์  โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงอย่างละ 40% รวมเป็น 80% ที่เหลืออีก 20% จะเป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ


 


โปรดสังเกตนะครับว่า ไม่มีที่ว่างให้กับเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานหมุนเวียนเลยแม้แต่นิดเดียว  พร้อมๆกันนี้ก็มีการกระพือข่าวการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสื่อต่างๆติดต่อกันหลายวัน  แม้แผนพีดีจะยังไม่มีการกล่าวถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  แต่ก็มีผู้ถือโอกาสนำเสนอเข้ามาเป็นการโยนหินถามทางอยู่บ่อยๆ


 


ทำไมผมจึงกล่าวว่า แผนพีดีพี 2006 ของไทยเป็นเรื่องล้าหลังและเห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง


 


คำตอบมีอยู่ 3 เหตุผลสำคัญที่แยกจากกันไม่ได้  คือ


(1) นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน  จนก่อให้เกิดภัยพิบัติไปทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งน้ำท่วมและความแห้งแล้ง พายุ แผ่นดินไหว คลื่นความร้อน(ที่ทำให้คนยุโรปเสียชีวิตไป 2-3 หมื่นคนในปี 2546) และการสูญเสียความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต 


 


(2)  ทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ผูกขาดโดยกลุ่มทุนจำนวนน้อยคน ทั้งระดับข้ามชาติ และระดับชาติอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด  และมีนักวิ่งเต้นและล็อบบี้ต่อนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น


 


(3)  การใช้พลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมีการจ้างงานจำนวนน้อย เพราะเป็นกิจการที่รวมศูนย์ จึงก่อให้เกิดปัญหาคนตกงานและปัญหาสังคมตามมาเป็นลูกโซ่  ในทางตรงกันข้าม การใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งได้แก่ พลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และพลังงานน้ำขนาดเล็ก จะช่วยให้มีการจ้างงานจำนวนมาก  รายงานของรัฐบาลประเทศเยอรมนี(ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานลมมากที่สุดในโลก)บอกว่า เฉพาะกิจการกังหันลมเพียงอย่างเดียว มีการจ้างงานถึงกว่า หนึ่งแสนตำแหน่ง  รายงานของกลุ่มกรีนพีชระบุว่า อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้ากิจการเซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ที่ใช้ทำไฟฟ้า จะสามารถจ้างงานได้ถึง 2 ล้านตำแหน่งทั่วโลก


 


ในปัจจุบันคนไทยเราใช้ไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละเกือบ  4 แสนล้านบาท  ในจำนวนนี้ประมาณ 47% เป็นค่าเชื้อเพลิง  ดังนั้นค่าเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวจึงตกปีละประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท


 


ถ้าแผนพีดีพี มีการใช้พลังงานหมุนเวียนรวมกันสัก 10% ก็จะทำให้เงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาทกระจายอยู่ในชนบทและมีการจ้างงานจำนวนไม่น้อย ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาหลักหนึ่งของประเทศก็จะลดลง นี่ยังไม่นับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำลายสุขภาพของชาวแม่เมาะ รวมทั้งชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าด้วย


 


อ่านเรื่องล้าหลังของผู้กุมอำนาจในประเทศไทยไปแล้ว ลองมาดูเรื่องดีๆจากประเทศสเปนกันบ้าง


 


ข่าวรอยเตอร์ (14 พฤศจิกายน 2549) จากกรุงแมดริด ประเทศสเปน  รายงานว่า นับแต่เดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นไป บ้านทุกหลังที่จะก่อสร้างใหม่ จะต้องติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนด้วยแสงอาทิตย์ให้ได้อย่างน้อย 30 ถึง 70% ของปริมาณน้ำร้อนที่แต่ละบ้านจำเป็นต้องใช้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่


 


สำหรับอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น ศูนย์การค้า โรงพยาบาล จะต้องติดแผงโซลาร์เซลล์ (photovoltaic) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัดส่วนที่อาคารเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้


 


รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า  หลายปีที่ผ่านมา การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ยังไม่ได้เพิ่มมากเท่าที่ควร ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลได้มุ่งอุดหนุนการใช้กังหันลมมากเป็นพิเศษ


 


กฎระเบียบเรื่องการสร้างอาคารใหม่   อยู่ที่การปรับปรุงระบบฉนวนกันความร้อนความเย็นให้ดีขึ้น และมุ่งการใช้แสงจากธรรมชาติให้มากขึ้น  มาตรฐานของอาคารใหม่อยู่ที่การลดการใช้พลังงานในอาคารลงให้ได้ 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของอาคารในปัจจุบัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ลง 40  ถึง  55  เปอร์เซ็นต์


 


ข่าวชิ้นเดียวกันนี้ได้รายงานว่า  ทางบริษัทกิจการก่อสร้างคาดหมายว่า จะทำให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้น  8 ถึง  12 เปอร์เซ็นต์   แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยบอกว่า  ตัวเลขของทางบริษัทก่อสร้างดังกล่าว "ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง"   ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1% เท่านั้น


 


ข่าวรอยเตอร์ชิ้นนี้รายงานเพียงเท่านี้  แม้เราจะมีรายละเอียดไม่มากนัก แต่ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างนโยบายของประเทศเรากับประเทศสเปน


 


อนึ่ง ผมขอเพิ่มข้อมูลจากข่าวชิ้นนี้สักเล็กน้อย ประเทศสเปน เป็นประเทศที่มีการใช้กังหันลมมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศเยอรมนี  เฉพาะในปี 2548 เพียงปีเดียว สเปนได้ติดตั้งกังหันลมเพิ่มขึ้นถึง 1,760 เมกกะวัตต์  รวมกำลังติดตั้งจากกังหันลมในสเปนมีจำนวน 10,000 เมกกะวัตต์ หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณไฟฟ้าสูงสุดที่ประเทศไทยใช้ในช่วงเดือนเมษายนของแต่ละปี


 


ผมเองไม่ทราบประวัติศาสตร์ของประเทศสเปนเป็นการเฉพาะ  แต่ฐานะที่ให้ความสนใจถึงข่าวสาร "การเคลื่อนไหวสีเขียว (green movement)"   ในระดับโลก   ทำให้ผมพอจะทราบบ้างว่า   พลเมืองของประเทศในทวีปยุโรปซึ่งรวมถึงสเปนด้วยต่างให้ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมาก   พลเมืองของเขาตื่นรู้และร่วมกันขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนมาตลอด 


 


การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครนเมื่อปี 2529 ได้ทำให้ชาวยุโรปตื่นตัวและเกรงกลัวภัยจากนิวเคลียร์กันมาก  พวกเขาจึงได้ติดตามและร่วมผลักดันนโยบายด้านพลังงานมาตลอด ไม่เพียงแต่ในประเทศของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการร่วมกันปกป้องโลกที่บอบบางและมีปัญหาสารพัดดังที่กล่าวแล้ว


 


วัตถุประสงค์ของบทความนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานเท่านั้น  แต่เป็นการนำเสนอและเรียกร้องต่อพลเมืองไทยทุกภาคส่วนให้ร่วมกันติดตามและตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด


 


ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม  ถ้าพลเมืองที่ตื่นรู้ต่างพากันวางเฉยก็จะเป็นเหยื่ออันโอชะก้อนมหึมาให้กับพ่อค้าพลังงานที่แอบอยู่เบื้องหลังรัฐบาลเสมอมา