Skip to main content

เรื่องโคด โคด... โคดสะนา ไหนๆ ก็ไหนๆแล้วโฆษณาขนม ขนม

คอลัมน์/ชุมชน


กำลังรอดูว่าวันที่ 3 ธันวา 49 ที่จะถึงนี้ซึ่งเป็นวันเริ่มปฏิบัติการห้ามโฆษณาเหล้า เบียร์ ในทุกรูปแบบจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เท่าที่เห็นการเคลื่อนไหวของบริษัทใหญ่ๆ ที่มักบอกว่าเหล้า เบียร์ นี้เป็นความภูมิใจของความเป็นไทย  ดูจะมีการปรับตัว แต่งตัว และหาทางออกกันไว้บ้างแล้ว ทั้งการอ้างโลโก้บริษัทว่าไม่ใช่ยี่ห้อเบียร์ หรือเหล้า การใช้สัญลักษณ์ การใช้สีมาแทน ทั้งนี้ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ดำเนินการขายสินค้าแอลกอฮอล์เหล่านี้มายาวนานหลายสิบปี ขณะเดียวกันก็โฆษณามานมนานแล้วเช่นกัน จึงเชื่อว่าผู้คนจดจำกับสินค้าตนเองได้แม้แค่เห็นสีหรือสัญลักษณ์บางอย่าง ก็ดูกันต่อไปว่าสังคมไทยจะปรับตัวกันอย่างไรเมื่อไม่มีโฆษณาเหล้า เบียร์ การบริโภคจะลดลงมากเพียงใด หรือคนรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่รู้จักสินค้านี้ในระยะยาวต่อไปก็ได้ใครจะรู้ 


 


ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมาตลอดเกี่ยวกับโฆษณาอีกประเภทหนึ่งที่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน คือโฆษณาเกี่ยวกับขนมขบเคี้ยวต่างๆ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลารายการเด็ก รายการการ์ตูน ซึ่งมีความถี่มากในหนึ่งรายการ และมีการใช้รูปแบบดึงดูดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการมีของแจกของแถม การใช้ดาราเด็กๆ มาเป็นผู้นำเสนอการโฆษณา การใช้เวลานำเสนอในรายการโปรดของเด็กๆ โดยเฉพาะการ์ตูนวันหยุด


 


ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญในหลายประเทศ การโฆษณาไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุน้อยๆ นั้นควรได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลให้ได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ชักจูงให้ไขว้เขว จึงมีความพยายามที่จะออกกฎควบคุมโฆษณาในรายการสำหรับเด็ก ดังที่ ประเทศอังกฤษกำลังดำเนินการ http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/6154600.stm  โดยคณะกรรมการสื่อ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลผู้บริโภคสื่อมวลชนทุกประเภท  มีกฎหมายรับรองให้มีการควบคุมการโฆษณาขนม อาหาร ในรายการเด็ก เพราะพบว่าขนม อาหารเหล่านั้นมีปัญหาทางโภชนาการคือมี ไขมัน น้ำตาล และเกลือสูงมากเกินไป


 


สำหรับประเทศไทยก็มีลักษณะไม่ต่างไปจากอังกฤษในเรื่องโฆษณาขนมขบเคี้ยว  ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นเมื่อได้เห็นข้อมูลจากหนังสือ "การพัฒนาทางโภชนาการที่ไม่เท่าเทียมกัน : ความเชื่อมโยงของนโยบายและกระบวนการโลกาภิวัฒน์กับการเปลี่ยนผ่านทางโภชนาการ โรคอ้วน และโรคเรื้อรังอันเนื่องมาจากอาหาร" ที่เขียนโดย ดร.โครินนา ฮอว์คส แปลและจัดทำโดย แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเครือข่ายครอบครัว (โทร.02-218-8445, 02-251-3531)  ที่นำเสนอว่าโลกาภิวัฒน์ทำให้บรรษัทขนมข้ามชาติเข้ามาทำตลาดมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้มีการตั้งเป้าว่าคนไทยที่บริโภคขนมขบเคี้ยวเพียงปีละ 1 กิโลกรัมต่อคน สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคนเม็กซิโก 3 กิโลกรัม และคนอเมริกัน 10 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้น แผนงานโฆษณาจึงดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อกระตุ้นการบริโภค ทั้งที่ขนมขบเคี้ยวเหล่านี้จะมีปัญหาทางโภชนาการคือมีความเค็ม มีไขมัน และน้ำตาล สูงเกินความจำเป็น


 


อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่าสำหรับประเทศไทยหน่วยงานใด หรือองค์กรใด จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการโฆษณาเหล่านี้  ในประเทศไทยมีคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และใช้อำนาจออกประกาศ งดการโฆษณาเหล้าเบียร์   ส่วนเรื่องขนมขบเคี้ยวควรเป็นบทบาทภาระหน้าที่ของใคร หรือควรมีการจัดตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการแห่งชาติมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


 


โรคเรื้อรังที่มีผลมาจากการบริโภคอาหารที่มีไขมัน ความเค็ม และน้ำตาลมาก เช่น เบาหวาน  หัวใจ และมะเร็งบางชนิด และโรคที่กำลังมาแรงมากตอนนี้คือ โรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนในเด็ก การควบคุมโฆษณาขนมขบเคี้ยวในช่วงรายการเด็กเป็นมาตรการหนึ่ง ในเชิงป้องกัน นอกจากนี้ต้องมีมาตรการอื่นๆ มารองรับอีกมาก ในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสารอาหาร ในขนม ในอาหารสำเร็จรูปต่างๆ การสนับสนุนส่งเสริมให้มีการบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ และมีโภชนาการที่เหมาะสม การเห็นอันตรายของการบริโภคเค็ม มัน หวานเกินไป เป็นต้น


 


ไหนๆ ก็จะงดโฆษณาเหล้าเบียร์แล้ว ก็ขอให้มีการพิจารณาการโฆษณาขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีคุณค่าในเรื่องสารอาหารด้วย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่องดโฆษณาในรายการเด็กแล้ว ก็ไม่มีมาตรการมารับรองว่ารายการเด็กจะอยู่ได้แม้ไม่มีโฆษณา  รัฐต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ดูรายการที่ชอบ ได้ดูการ์ตูน โดยไม่ถูกแฝงด้วยโฆษณาขนมที่ไม่มีคุณค่า ควรมีการสนับสนุนรายการเด็กด้วยงบประมาณของรัฐให้มากขึ้น หรือรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบเด็กๆ ของสังคมไทยให้มีรายการดีดี โดยไม่มีโฆษณาที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตด้วย