Skip to main content

ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่

บอกซิเออ เธอจะเอาเท่าไร เอาเท่าไร
ไม่อ้วนเอาเท่าไร บอกซิเออ
เธอจะเอาเท่าไร เอาเท่าไร
ไม่อ้วนเอาเท่าไร


มองอยู่นานก็ดูเข้าที
พอเห็นความหล่อเหมือนกัน
แต่มองนาน แล้วก็ชักจะหวั่น
ก็เริ่มจะเห็นไขมัน ดูอีกทีเท่ดีไม่เบา


กระเป๋าคงหนักเหมือนกัน
แต่ตอนทำตาซึ้งเหมือนหมูชวนฝัน
ยิ่งดูยิ่งขำกลิ้งเลย ใจเธอดีช๊อบ
ชอบจังเลย ไม่เค๊ยไม่เคยพบใคร


มาคอยเอาใจให้ดอกไม้เป็นเข่ง                                                                              
ร้องเพลงให้ฟังทุกวัน


อยากจะเอาหัวใจให้ไป
ก็ชอบใจอยู่เหมือนกัน แต่ควงกันเดิน
แล้วต้องคิดอีกนาน


เดี๋ยวโดนเพื่อนล้อแย่เลย


อ้วนเอาไว้ให้ใคร อ้วนไปเพื่ออะไร


 


ผู้เขียนไม่ได้ดู "ดาบมังกรหยก" เมือคืนศุกร์ที่ผ่านมาเพราะว่าง่วงจัด และต้องรีบตื่นขึ้นมาแต่เช้าเพื่อสอนตั้งแต่เช้าจรดบ่ายแก่ๆ ไม่เสียดายเท่าไรนักเพราะเห็นแล้วว่ามีขายตามร้านเช่า/ขายแผ่นพวกนี้ เอาเป็นว่างานต้องมาก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะเสียคน เมื่อมาถึงที่ทำงาน ก็พบว่ามีเด็กนักเรียนระดับมัธยมต้นมาเต็มนิด้า เพราะว่ามีงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำ อันเป็นความร่วมมือของคณะวิชาหนึ่งในนิด้าและโรงเรียนต่างๆ


 


ขณะที่ผู้เขียนเดินเข้าตึก ก็มีบรรดานักศึกษาป.โทที่ทำสาระนิพนธ์กับผู้เขียนได้เดินเข้ามาคุยเรื่องงาน เด็กๆมัธยมเหล่านี้ก็นั่งดูการสนทนาของผู้เขียนกับนักศึกษา เมื่อเสร็จแล้ว ผู้เขียนจึงรีบเดินเข้าลิฟต์เพราะต้องรีบเตรียมไปสอน เมื่อเข้าในลิฟต์ เห็นเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งตะโกนแซวผู้เขียนว่า "ลิฟต์ไม่ขึ้นแล้วค่ะ" เนื่องจากผู้เขียนนั้นอ้วนและพูดจาคะขากับลูกศิษย์


 


ผู้เขียนพยายามกลั้นหัวเราะเพราะว่าตลกกับการอารมณ์ดีแบบไร้เดียงสานั้น แต่ใจหนึ่งก็อดสะท้อนใจไม่ได้ว่าสังคมไทยไม่เคยสอนให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มองถึงความต่างที่เข้าใจ หากมองความต่างเป็นเรื่องตลก เรื่องที่น่าหัวเราะเยาะ และเป็นลักษณะที่ต่ำต้อยกว่า มีคนบอกผู้เขียนว่าสมัยนี้สังคมไทยนั้นยอมรับเรื่องความต่างทางเพศวิถีได้มากขึ้น ซึ่งผู้เขียนบอกว่าไม่จริง ไม่ได้เรียกว่ายอมรับ แต่เรียกว่าชินตามากกว่า การชินตาไม่ใช่การยอมรับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริง นอกจากนี้สังคมไทยก็ไม่ได้ยินดีที่จะรู้อะไรทั้งสิ้นในเรื่องความต่าง


 


เมื่อสักครู่นี้ได้ไปอ่านข่าวของประชาไทเรื่องการสัมมนาวิชาการว่าด้วยความหลากหลายในสังคมไทย[1]  หลายคนในแวดวงวิชาการได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ หลายคนได้ดิบได้ดีในเรื่องแบบนี้ ถือว่าดีที่ได้ให้ความสนใจ แต่ในเนื้อแท้แล้วไม่แน่ใจนักหรอกว่าจะเข้าใจจริงแค่ไหน แต่เอาเถอะช่วยกันทำให้มากขึ้นก็ขอขอบคุณแล้ว แม้ว่าหลายครั้งคนที่ทำก็ใช้มุมมองของคนนอกกลุ่มซึ่งให้ภาพที่ไม่ชัดเจนนักก็ตาม เช่นเรื่องความหลากหลายทางเพศ


 


เพลง "ไม่อ้วนเอาเท่าไร" เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่มองคนอ้วนต่ำกว่ามนุษย์ที่ไม่อ้วน คนอ้วนคือตัวร้าย แต่คนผอมคือคนเคราะห์ร้าย แม้จะมีภาพว่าคนอ้วนมักอารมณ์ดี (อันนี้ผู้เขียนก็อยากบอกในนามคนอ้วนว่า ที่เหมือนอารมณ์ดีเพราะต้องอดทนกับภาพลบๆ ที่คนในสังคมมอบให้นั่นเอง จึงอารมณ์ดี ดีกว่าจะไปหาเรื่อง)  อย่างไรก็ตาม เพลงแบบนี้ก็เป็นที่นิยมของสังคมไทย ผู้เขียนเป็นคนอ้วนมาแต่เด็กแล้วก็มาผอมตอนวัยรุ่น แล้วก็มาอ้วนตอนหลังวัยรุ่น ดังนั้น ต้องบอกว่าเคยเป็นทั้งคนอ้วนและคนผอม วันนี้เป็นคนอ้วนที่มีความสุข อาจมีโรคภัยบ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่อ้วนจะไม่ป่วยเจ็บ เพียงแต่ว่าการแพทย์นี่ก็พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะบอกว่าคนอ้วนเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยมากมาย พูดง่ายๆ ความอ้วนคือโรคแบบหนึ่งที่ต้องกำจัด คนอ้วนคือตัวเชื้อโรคที่น่าขยะแขยงประเภทหนึ่ง


 


จำได้ว่าไปประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับสุขภาพไม่นานมานี้  ในงานเป็นเรื่องการรณรงค์ให้มีสุขภาพดี ไม่ให้อ้วนไม่ให้ผอม แต่เน้นผอมดีกว่าอ้วน เอาล่ะสิ ในงานนี้ผู้เขียนก็เป็นคนอ้วนที่ชัดเจนที่สุด แม้กระทั่งเจ้าของงานผู้น่ารักก็ยังอดแซวความอ้วนของผู้เขียนไม่ได้ ในงานนี้ผู้เขียนไปนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมของนายแพทย์ ต้องการสร้างแพทย์พันธุ์ใหม่ให้เป็น "โปรเฟสชั่นแนล" ไม่ใช่ "เจ้าบุญนายคุณ" เป็นเรื่องที่แหวกกรอบของงานเล็กน้อย อย่างไรก็ตามตอนทานข้าวเที่ยงร่วมกัน ผู้เขียนก็แอบกระแนะกระแหนกับเพื่อนร่วมโต๊ะว่า "งานนี้ทานอะไรไม่ค่อยอร่อย เพราะรู้สึกว่าความอ้วนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่ที่สหรัฐฯนี่ เค้าถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะเป็นการเลือกประพฤติปฏิบัติ ขัดเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน" แต่ไม่เห็นมีใครมองเรื่องนี้ แล้วก็ยังคงพูดเรื่องประเด็นว่าอ้วนนี่ไม่ดี ผู้เขียนก็บอกว่าก็พยายามลดอยู่ ก็ทำได้แค่นี้   จากจุดนั้นก็เห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าเมืองไทยนี่ต้องมีความเข้าใจเรื่องนี้อีกมาก โดยเฉพาะพวกทำงานเพื่อสังคม


 


สมัยที่ผู้เขียนสอนที่สหรัฐฯ ผู้เขียนใช้เว็บหนึ่งสอนเรื่องความต่างนี้คือ http://www.tolerance.org  เป็นเว็บที่ให้ความเข้าใจและสอนเรื่องการยอมรับในความต่างบอกว่า tolerance as a way of thinking and feeling — but most importantly, of acting — that gives us peace in our individuality, respect for those unlike us, the wisdom to discern humane values and the courage to act upon them. ซึ่งผู้เขียนขอไม่แปลเป็นไทยเพราะแปลไม่ได้ตรงเนื่องจากเรื่องแบบนี้ไม่มีชัดเจนในวัฒนธรรมไทย แม้กระทั่งคำว่า tolerance ก็ยังแปลตรงตัวไม่ได้ เพราะมีความหมายว่า "อดกลั้นต่อ" อันมีความหมายว่าสิ่งนั้นคือความเลวจึงต้องอดกลั้น ทั้งที่ tolerance นี่เป็นเรื่องอดกลั้นที่เกิดในทางบวก คืออดกลั้นที่จะไม่แสดงอคติของตน ไม่ยอมให้อคติของตนมีอำนาจเหนือตน และใช้เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการเกลียดชังและเลือกประพฤติปฏิบัติคนที่ต่างออกไป


 


ในสังคมไทยนั้น กลไกเรื่องแบบนี้ยังไปไม่ถึง อาจเป็นเพราะปัจจัยหลายๆอย่าง แต่ที่ผู้เขียนมองชัดที่สุดคือเรื่องของการที่สังคมไทยยังมีค่านิยมหลายชุดที่มองความแตกต่างเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เน้นการเป็นหนึ่งเดียว social conformity มากเกินไป หลายครั้งไม่ดูเหตุผลใดๆ อย่างไรก็ตามหลายครั้งก็มีคนหลายๆคนก็พยายามจะแหกคอกตลอดและตะบี้ตะบันทำเพื่อเอาชนะคะคาน การทำลาย social conformity จึงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก ส่งผลให้สังคมไปไหนไม่รอด นอกจากนี้ก็คือโครงสร้างอำนาจนิยมที่ขาดการตรวจสอบที่ชัดเจนและเที่ยงตรง ดังนั้น หากไม่ถูกใจใคร การอุ้มฆ่าหรือลอบสังหารจึงเป็นของปกติ


 


ผู้เขียนเชื่อว่า การที่สอนให้คนเข้าใจในเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก และจำเป็นต้องสอนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ต้องมีตัวอย่างในสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น ระบบตุลาการและกฎหมายต้องพัฒนาให้ถึงขั้นที่จะรองรับเรื่องนี้ได้  แม้ว่าจะไม่ถึงเต็มร้อย แต่การเริ่มมีทีละน้อยในทุกด้านก็จะช่วยให้เกิดขึ้นได้ ว่าแล้วเรื่องนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น่าจะทำงานมากกว่านี้


 


เรื่องนี้คงมีเล่าต่ออีกในวาระต่อไป