Skip to main content

วิกฤตอาหาร วิกฤตแนวคิดเกี่ยวกับชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน


งานมหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน นอกจากจะมีเป้าหมายอย่างแรกเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในคุณค่าของชีวิต ปรัชญา แนวคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยของมนุษย์ สรรพสัตว์และธรรมชาติ เพื่อเป็นทางออกของสังคมไทย


และยังมีเป้าหมายที่สอง คือ เพื่อให้สาธารณชนและทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้าใจความเชื่อมโยงของเกษตรกรรมยั่งยืนกับประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน หนี้สินเกษตรกร ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม การเสริมสร้างสุขภาพ บทบาทของผู้บริโภค


และเป้าหมายที่สาม คือ มุ่งประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่ม องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบ รูปแบบ การจัดการความรู้ เทคโนโลยี และผลักดันนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นจริง


คำนิยามของเกษตรกรรมยั่งยืน คือ เป็นระบบเกษตรที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศน์ เคารพในความเป็นมนุษย์ เป็นธรรมในสังคม เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน เป็นแบบแผนการจัดการทรัพยากรที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย บนพื้นฐานของโลกทัศน์ ระบบคุณค่า วิถีชีวิตที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปันและสันติสุข


รูปแบบของเกษตรกรรมยั่งยืนที่โดดเด่น มี ๕ ระบบ คือ
๑. เกษตรผสมผสาน คือ ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน

๒. เกษตรอินทรีย์ คือ การเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกประเภท รวมทั้งฮอร์โมนกระตุ้นการเติบโตของพืชและสัตว์ มีหัวใจอยู่ที่ความสมบูรณ์ของดิน

๓. เกษตรธรรมชาติ เป็นวิถีแห่งการบ่มเพาะความสมบูรณ์ของมนุษย์ และการเข้าถึงธรรมชาติ ทำการเกษตรโดยไม่แทรกแซงธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ฟูกูโอกะ (ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว") ชาวญี่ปุ่น

๔. ไร่หมุนเวียน คือ ระบบการปลูกพืชในพื้นที่หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วปล่อยให้ธรรมชาติคืนความสมบูรณ์สู่ดิน สัก ๕-๗ ปี แล้วจึงกลับมาทำใหม่

๕. วนเกษตร คือ ระบบเกษตรที่นำหลักความยั่งยืนของป่าธรรมชาติมาเป็นพื้นฐาน มีความหลากหลายของชนิดพืช ได้แก่ ไม้ป่า ไม้ผลยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถา พืชล้มลุก พืชหัว พืชหน้าดิน ชีวิตเล็ก ๆ ชนิดต่าง ๆ มีการหมุนเวียนธาตุอาหารตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์


ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการผลักดันให้เกิดแผนงานส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน กำหนดนโยบายให้ไทยเป็น "ครัวของโลก" การขยายตัวของเกษตรกรรมยั่งยืนจึงกว้างขวางขึ้น ในอัตรารวดเร็ว และมีข้อที่ควรพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบ ๓ ประการ ดังนี้


๑. มีความสับสนในหลักการและวิธีปฏิบัติ คือ ส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยว แม้จะไม่ใช่สารเคมี หรือปลูกพืชโดยใช้สารเคมี แต่ในปริมาณที่มีการควบคุม แสดงว่า ยังไม่กระจ่างชัดในรูปแบบและวิธีการเกษตรกรรมยั่งยืน


๒. เน้นเป้าหมายการตลาด มากกว่าการพึ่งตนเองของเกษตรกร และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม จึงไม่มีหลักประกันว่า สภาพแวดล้อมจะไม่เสื่อมโทรมเหมือนการทำเกษตรแผนใหม่ และเกษตรกรอาจประสบปัญหาด้านราคาผลผลิตเหมือนเดิม


๓. การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียม



การอภิปรายในหัวข้อ "วิกฤตอาหารกับทางเลือกของสังคม" โดยคณะวิทยากรที่ทำงานอย่างทุ่มเท จึงมีสาระที่สื่อมวลชนทุกประเภทน่าจะได้ช่วยกันเผยแพร่เพื่อเปลี่ยนจิตใจ เปลี่ยนแนวคิด และพฤติกรรมของทุกคน


นายแพทย์ลือชา วนรัตน์ ที่ปรึกษาด้านโภชนาการ สำนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า วิกฤตอาหารของประเทศไทย คือ การกินอาหารไม่ถูกต้อง ไม่ปลอดภัย มีพิษ รวมทั้งการกินมากเกินไป ทำให้เป็นปัญหาต่อสุขภาพ สถิติ ๑๒ ปี ย้อนหลัก คนไทยตายเพราะเหตุจากสารกำจัดศัตรูพืช ปีละ ๓-๕,๐๐๐ คน ผลการตรวจเลือดในเกษตรกร พบว่าค่าของเลือดผิดปกติ เพราะสารเคมีชนิดต่าง ๆ ๑๕-๒๕ % โดยยังไม่แสดงอาการ แต่อยู่ดี ๆ อาจตายไปเฉย ๆ


สถิติโรคมะเร็งที่ปอด มดลูก ต่อมไร้ท่อ เต้านม ตับ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในระยะสี่ถึงห้าปี ตัวอย่างสารเคมีในส้มตำ เริ่มจากกุ้งแห้ง ๙๕% พบสีที่เป็นอันตราย มีโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม พริก ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มีสารเคมี ถั่วลิสงมีเชื้อรา มะละกอ ถ้าเป็นชนิดที่ขูดไว้แล้ว ใส่สารกันบูด สารฟอกขาว ให้เก็บได้นาน ดูน่ากิน ทั้งยังมี "อีโคลายน์" ซึ่งมาจากอุจจาระปนอยู่ด้วย มักติดค้างอยู่ในแหวน ซึ่งผู้ขายมักสวมในนิ้วมือข้างซ้ายที่ใช้ชำระล้าง


รัฐบาลนี้ ประกาศนโยบายอาหารปลอดภัยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้ปี ๒๕๔๗ เป็นปีอาหารปลอดภัย ซึ่งยังเป็นมายาคติ เพราะตัวชี้วัดเพียง ๖ ตัว คือ ๑.สารเร่งเนื้อแดง ๒.บอแรกซ์ (ทำให้กรอบ) ๓.สารฟอกขาว ๔.สารกันเชื้อรา ๕.ฟอร์มาลีน (กันบูด ทำให้เก็บได้นาน) และ ๖.ยาฆ่าแมลง แต่สารเคมีที่โฆษณาขายให้เกษตรกรมีถึงร้อยห้าสิบชนิด ซึ่งสารที่เรียกชื่อทางวิทยาศาสตร์ ๑ ชนิด จดชื่อทางการค้าเป็นร้อยชื่อ แม้รัฐบาลประกาศห้ามใช้ ก็ยังลักลอบนำเข้าและโฆษณาขายกันอยู่ เพราะทุกอย่างทำเพื่อเงิน ปริมาณที่เกษตรกรใช้จริงกับตัวเลขนำเข้าจึงไม่เป็นจริง


สารเคมีที่ตกค้างอยู่ในแผ่นดินไทย ปีละ ๑๘,๐๐๐ ตัน ทับถมมากขึ้นทุก ๆ ปี แล้วยังเข้าไปปนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร กุ้ง หอย ปู ปลา ในแหล่งน้ำทุกแห่ง วิกฤตอาหารจึงลามไปถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราทุกอย่าง


อาจารย์มนัส วัฒนาศักดิ์ แห่งคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ย้ำเตือนว่า คนส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค ทำงานสบาย ไม่ออกกำลัง กินตามความอยาก กระบวนการผลิตจึงต้องใช้สารเคมี ซึ่งเมื่อใช้มากเกินไป ก็เป็นอันตราย ผลการวิเคราะห์อาหาร ๒๔๐,๐๐๐ ตัวอย่าง ในพ.ศ. ๒๕๔๔ พบสารอันตรายในกลุ่มอาหาร ดังนี้


ข้าว มีสารอัลฟาท็อกซิน สารกันบูด ขนมเด็ก มีบอแรกซ์ (สารทำให้กรุบกรอบ) กลิ่น สีสังเคราะห์ ถั่ว พบดีดีที อัลฟาท็อกซิน และสารกันบูด เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ใส่สารฟอกขาว เนื้อสัตว์ แหนม พบบอแรกซ์ สารกันบูด และสารเร่งเนื้อแดง นม มียาปฏิชีวนะ อัลฟาท็อกซิน สัตว์ปีก ไข่ พบฮอร์โมน เร่งการเติบโตและยาปฏิชีวนะ เด็กสมัยนี้จึงโตเร็วและผิดปกติทางเพศ กลุ่มเครื่องปรุงรส น้ำตาล เกลือ ใส่สารฟอกขาว น้ำดื่ม มีคลอรีน และภาชนะบรรจุไม่ผ่านมาตรฐาน ผักสด บางแหล่งเอายาแก้ปวดหัวผสมน้ำรดผัก ทำให้ผักสด ไม่เน่าง่าย


ปัญหาสำหรับผู้บริโภค คือ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบตัวอย่าง พบปัญหาแล้ว ไม่เปิดเผยยี่ห้อและแหล่งจำหน่าย และสารบางอย่างตรวจสอบในเมืองไทยไม่ได้



คุณศิเรมอร อุณหธูป นักเขียนอิสระผู้เขียนหนังสือแนวสุขภาพ ให้แนวคิดว่า ปัญหาต่าง ๆ มาจากจิตใจที่ไม่สะอาด คนทุกวันนี้มุ่งแต่ความสะดวก ให้เร็วเข้าไว้ จึงเป็นสังคมที่กินอาหารประหารตัวเอง จึงต้องแก้โดยดูแลตัวเอง ต้องมีศรัทธา ไม่ให้เคยชินกับการป้อนพิษให้กับตัวเอง ต้องสังวรระวังตัวเอง ไม่มีใครช่วยเหลือเราได้ จะหวังพึ่งภาครัฐ ก็หมดหวัง


ร่างกายของแต่ละคน พิษสะสม ปะทุไม่เหมือนกัน ทางแก้ คือ พกใบรางจืดตากแห้งติดตัวไปด้วย เพื่อช่วยล้างพิษ การล้างสารพิษตกค้างในผัก ใช้น้ำซาวข้าว ผสมน้ำ แช่ผักไว้ คายข้าวจะช่วยล้างพิษได้ ถ้าล้างเนื้อ ให้นำเกลือลงในนำซาวข้าว ผสมใบรางจืดลงไปด้วย ขยำแล้วล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง เมืองไทยเราไม่ได้บกพร่องที่วิธีคิด แต่ไม่คิดกันมากกว่า มักอยู่กันไปวัน ๆ ถ้ามีความคิดก็จะเปลี่ยนแปลงได้


คุณดิสทัต โรจนลักษณ์ อดีตผู้จัดการสวนดวงตะวัน ชนชั้นกลางผู้หันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอว่า วิกฤตอาหาร เป็นวิกฤติแนวคิดเกี่ยวกับชีวิต คิดเรื่องอาหาร ต้องคิดถึงรากเหง้า ว่าจะดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้ดีอยู่ได้อย่างไร


ชีวิตขึ้นอยู่กับหน้าดินเพียงยี่สิบเซนติเมตร พืชพรรณรวมพลังจากธรรมชาติมาผลิดอกออกผล เปลี่ยนรูปเป็นอาหารให้เรากิน ทุกสิ่งที่เราใส่ลงไป ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ล้วนมีผลต่ออะตอม โมเลกุลของพืชทั้งสิ้น การพัฒนาเกษตรบ้านเรา ถ้าไม่มองชีวิตจะมองข้ามหัวคน มองข้ามการพึ่งพาอาศัยกันไปหมด คนต้องคิดถึงชีวิตของสัตว์อื่น ๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกันด้วย กรณีหวัดนก แสดงให้เห็นว่า คนบริโภคมากเกินไป กินไก่ไม่ได้ก็หันไปกินหมู ต้องลดการบริโภค เปลี่ยนมากินผัก ผลไม้มากขึ้น


เกษตรยั่งยืน ต้องเป็นทางเลือก ไม่ใช่แค่ตัวเลือก การสร้างทางต้องทำทาง ยากลำบากทั้งคนทำ คนบริโภค ต้องมีกลุ่มผู้ผลิต มีกลุ่มผู้บริโภคที่แน่นอน จึงส่งพืชผักที่สด คุณภาพดีได้โดยตรง ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภคต้องขวนขวายหาความรู้ ทำกลุ่ม ทำเครือข่ายให้เข้มแข็ง ใช้เงินอย่างเดียวไม่ได้


คุณสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ ผู้จัดการสหกรณ์เลมอนฟาร์ม จำกัด ย้ำว่า อาหาร ลมหายใจ เป็นเรื่องเดียวกัน วิธีคิดในสังคมมีสองกระแส คือ พอเพียง หรือ เงินตรา ถ้าเกษตรกรคิดแบบพอเพียง คือ พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องซื้อ ส่วนการขายก็ต้องสร้างกลุ่มบริโภคให้เติบโตจนกำหนดทางเลือกได้ ต้องปรับการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคทางเลือก ให้มีสีสันมากขึ้น เกาะกระแสสุขภาพดี สวย กับการตลาดให้ไปด้วยกัน


แนวอายุรเวช เน้นว่า ร่างกายเป็นวิหารของพระเจ้า จึงต้องดูแลตัวเอง กินอาหารตามธาตุต่าง ๆ ให้สมดุล ให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้คนกลับสู่การมีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความสุข มีสีสัน ต้องสร้างเครือข่าย ทำการเคลื่อนไหวด้านนอกให้มาก ใช้สื่อให้มาก ไม่แปลกแยกกับสังคม


ต้องรณรงค์ให้คนมาร่วมกันมาก ๆ เช่น ไม่ซื้อของจากห้างใหญ่ข้ามชาติ ซึ่งสินค้าเดินทางขนส่งมาไกล ควรซื้อจากร้านเล็ก ๆ ที่ผลิตในท้องถิ่น สดใหม่ รู้กลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค จัดพื้นที่ที่พร้อมจะทำสิ่งดี ๆ เช่น ชุมชนอโศก ทั้งที่ ปฐมอโศก ราชธานีอโศก ศีรษะอโศก เชียงรายอโศก เป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตด้วยความศรัทธาในศาสนธรรม ด้วยสติ และปัญญาอย่างแท้จริง



ใกล้ปีใหม่แล้ว ขอให้ชาวไทย คิดใคร่ครวญ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรม ธรรมชาติที่สมบูรณ์ กินอาหารด้วยปัญญาและเมตตานะคะ