Skip to main content

รัฐสภาทั้งโลกร่วมใจประชุมติดตามงานประชากรกับการพัฒนาที่กรุงเทพฯ

คอลัมน์/ชุมชน

"ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาเป็นประธานเปิดการประชุมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการดำเนินการตามโครงการปฏิบัติของการประชุมระหว่างประเทศ  ว่าด้วยประชากรและการพัฒนา         ครั้งที่ ๓ และยินดีที่ได้ทราบว่า  การประชุมสองครั้งที่ผ่านมา  ยังผลให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ทั้งในด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  และสภาพแวดล้อม


 


งานพัฒนาเป็นงานยากลำบากและใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลนักพัฒนาต้องมีความอดทน มีความตั้งใจจริงในการทำงานพร้อมทั้งความสุจริตใจ  งานจึงจะดำเนินไปด้วยดี  งาพัฒนาเป็นงานที่จะกระทำตามลำพังผู้เดียวไม่ได้  ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันจากหลายๆ ฝ่ายและแผนการดำเนินงานที่รัดกุมชัดเจน สมาชิกรัฐสภาในฐานะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับประชาชน  เป็นฝ่ายหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในอันที่จะช่วยผลักดันให้นโยบายที่เกี่ยวแก่การพัฒนา  มีผลในทางปฏิบัติ จึงขอให้ท่านทั้งหลายร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนสิ่งที่ดี  ที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน แก่ประชาชน  ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และดำรงชีวิตอย่างผาสุกอันจะยังผลให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง มีภูมิปัญญา  เป็นพลังในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญมั่นคงต่อไป


 


ได้เวลาอันควร  ข้าพเจ้าขอเปิดการประชุม    บัดนี้  ขอให้งานดำเนินไปด้วยดี  ได้สารประโยชน์ตามที่มุ่งหมายไว้   ทั้งขอให้ทุกท่านที่มาชุมนุมพร้อมกัน   มีสุขภาพอานามัยดี มีความสุข  และความเจริญรุ่งเรืองโดยทั่วกัน"


 


พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ในพิธีเปิดการประชุมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินงานตามโครงการปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (IPCI/ICPD ครั้งที่ ๓) เมื่อเช้าวันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ที่ห้องประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เป็นดุจน้ำทิพย์ประโลมใจของคณะผู้จัดงาน  เจ้าภาพ  และผู้เข้าประชุมจาก ๑๐๑ ประเทศ จำนวน ๓๐๐ คน ให้มุ่งมั่นทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรทั่วโลก


 


แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ (อดีตสมาชิกวุฒิสภา) เลขาธิการขององค์กรสมาชิกรัฐสภาเอเชียแปซิฟิกด้านประชากรและการพัฒนา (AFPPD) ได้ทุ่มเทอย่างหนักตลอด ๖ ปี  รวมทั้งการจูงใจให้สมาชิกและองค์กรทุนสนับสนุนให้มีการจัดประชุมสมาชิกรัฐสภาเอเชียแปซิฟิกด้านประชากรและการพัฒนา  (AFPPD) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีมติเห็นชอบมาเกือบ ๒ ปีแล้ว


 


แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐสภาไทยถึงสามครั้ง คือ หนึ่ง การยุบสภา ทำให้ประธานวุฒิสภารักษาการประธานรัฐสภา สอง เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ แล้วยกเลิกผลการเลือกตั้ง  และสาม ปฏิรูปการปกครองมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแทนรัฐสภา  ซึ่งแพทย์หญิงมาลินี  ต้องยืนยันกับรัฐสภาประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยและประสานกับประธานสภาทั้งสามท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ฯพณฯ  มีชัย ฤชุพันธุ์  และรองทั้งสองคือ พลเอกจรัล  กุลละวณิชย์  และนางสาวพจนีย์ ธนวรานิช ซึ่งให้การสนับสนุนอย่างดีแม้จะมีเวลาเตรียมการเพียงไม่ถึงเดือน แต่งานทุกด้านก็พร้อม


 


ดิฉันได้มีโอกาสอยู่เบื้องหลังการเตรียมงาน ซึ่งมีท่านประธานมีชัย ได้มอบให้รองประธานคนที่ ๑ พลเอกจรัล  กุลละวณิชย์   เป็นประธานคณะทำงานเตรียมการจัดการประชุม แพทย์หญิงมาลินี  สุขเวชชวรกิจ ในฐานะเจ้าของงานเป็นรองประธาน มีคณะกรรมการชุดใหญ่มาช่วย คือ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา ผู้แทน AFPPD ผู้แทน UN ผู้แทนสำนักพระราชวัง กระทรวงการต่างประเทศ การบินไทย ผู้แทนตำรวจ ฯลฯ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าประชุม ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ส.ส. ส.ว. องค์กรสนับสนุนทุน และผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ตั้งแต่เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ส่งเข้าโรงแรม ส่งเข้าสถานที่ประชุม จนถึงวันที่เดินทางกลับสู่บ้านเกิด


 


งานประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ชาวไทยได้รับรู้ถึงความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ และผลดีที่จะเกิดแก่ชาวไทยและชาวโลก รับผิดชอบโดยรองเลขาธิการสภาผู้แทนฯ คือ รองคัมภีร์  ดิษฐากรณ์ ใช้สื่อของรัฐสภา สถานีวิทยุรัฐสภา สถานีโทรทัศน์รัฐสภา ซึ่งเพิ่งเปิดใช้งาน จึงสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมายได้จำกัด  ต้องขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ช่วยถ่ายทอดสดในช่วงพิธีเปิด ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน และทีวีช่องอื่นๆ มาถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพฯ ด้วย


 


 


การอำนวยความสะดวกผู้เข้าประชุมในจุดแรกที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อการตรวจวีซ่าคนเข้าเมือง รับกระเป๋าสัมภาระ จัดรถส่งถึงโรงแรมที่พัก เป็นงานที่ต้องอดทน มีไหวพริบ และมีน้ำใจอย่างยิ่ง ดิฉันเห็นเจ้าหน้าที่รัฐสภามารอรับแขกตั้งแต่ก่อนตีห้าจนถึงเที่ยงคืน แม้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิงก็มารับแขกของบ้านเมืองด้วยความสำนึกในหน้าที่ ทำให้ผู้เข้าประชุมจากทั่วโลกประทับใจยิ่งนัก


 


ผู้เข้าประชุมบางท่านมีปัญหาต้องเปลี่ยนเที่ยวบิน ไม่ได้มาตามกำหนดเวลาที่แจ้งไว้ เจ้าหน้าที่รัฐสภาต้องประสานกับเจ้าหน้าที่สายการบินต่างๆ และฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองเพื่อไปรับจนพบตัว และอำนวยความสะดวกได้สำเร็จ


 


พวงมาลัยดอกมะลิประดับด้วยดอกไม้อื่นๆ ๗  สี  ที่เจ้าหน้าที่สภาเตรียมไว้ให้รับแขกวีไอพี    คน  คือ อดีตประธานาธิบดีจากประเทศ MALAWI ในทวีปอัฟริกา  นาย JUSTIN  C.MALE WEZI  รองประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป  และสมาชิกวุฒิสภาจากประเทศ IRELAND คือ ดร. MARY  HENRY  และประธานของสหภาพรัฐสภาอาเซียน (AFPPD) นาย YASUO  FUKUDA  จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับความชื่นชมจากทุกคน  เมื่อได้รับแล้วก็จะยกขึ้นดม  และพินิจดูความประณีต  งดงามของพวงมาลัย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย


 


งานเลี้ยงรับรองตอนค่ำที่โรงแรมแชงกรีล่า  ท่านประธานมีชัย   ฤชุพันธ์  และรองทั้ง ๒ท่านเลขาธิการ AFPPD คือ แพทย์หญิงมาลินี กับคณะผู้แทนไทยทั้ง ๕ คน  นำโดยหัวหน้าคณะ  คือ นายกำธร  อุดมฤทธิรุจ  ได้ไปต้อนรับสมาชิรัฐสภาจากทวีปต่างๆ  ซึ่งแต่งกายในชุดประจำชาติ  โดยเฉพาะผู้แทนจากทวีปอัฟริกามาถึง  ๒๔  ประเทศ ทั้งหญิงชายแต่งชุดที่สวยงาม  โดดเด่น  ทั้งการโพกผมในสไตล์ต่างๆ


 


พิธีเปิดการประชุมตอนเช้าวันอังคารที่  ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ คือหัวใจของงานที่ สมาชิกรัฐสภาทั่วโลกรอคอย  ทุกคนเข้ามาพร้อมกันในห้องประชุมตั้งแต่เวลา ๘  โมง


 


เจ้าภาพจัดงานรอรับสมเด็จพระเทพฯ จากรถยนต์พระที่นั่ง ได้แก่ พญ.มาลินี  สุขเวชชวรกิจ เลขาธิการ AFPPD ทูลเกล้าถวายพวงมาลัย  ผู้อำนวยการบริหารกองทุนองค์การสหประชาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (UNFPA:UNITES NATIONS FUND FOR POPULATION  ACTIVITIES นาง THORAYA A.OBAID ท่านประธานมีชัย ฤชุพันธ์  และประธาน AFPPD  ชาวญี่ปุ่น นาย YASUO FUKUDA)


 



 


สมเด็จพระเทพ ฯ ทรงฟังคำถวายรายงานจากประธาน  AFPPD  ผู้อำนวยการ UNFDA และท่านประธานมีชัย ฤชุพันธุ์ แล้วทรงมีพระราชดำรัสเปิดงาน จากนั้นเสด็จชมนิทรรศการแสดงสถานการณ์ และผลงานด้านประชากรกับการพัฒนาจากทวีปต่าง ๆ ด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้ม แล้วทรงฉายภาพร่วมกับคณะกรรมการจัดการและนายแพทย์ประสพ  รัตนากร ที่ปรึกษาอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้ง AFPPD จนองค์กรมีอายุครบ ๒๕ ปีแล้ว


 


 


 


บรรยากาศในห้องประชุมใหญ่ของ  UN อบอวลด้วยความปลื้มปิติและความมุ่งมั่นของสมาชิกรัฐสภาทั่วโลกและรัฐมนตรี ที่จะร่วมผลักดันให้เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ติดตามข้อตกลงจากการจากการประชุมครั้งที่ ๑ ,๒  ที่กรุงออตตาวา แคนาดา และสตราบรูค ฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จภายใน ค.ศ.๒๐๑๕ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญดังนี้


 


๑. ส่งเสริมให้มีความเข้าใจ การยอมรับสิทธิการอนามัยเจริญพันธุ์และการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัวอย่างทั่วถึง ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กผู้หญิงและผู้หญิง  ให้ผู้ชายได้เข้าใจและร่วมมือกับหญิงด้านอนามัยการเจริญพันธุ์


 


๒. ส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้หญิง ความเสมอภาคของหญิงชาย การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และสิทธิของชนพื้นเมือง


 


๓. การป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ และการให้บริการรักษาอย่างมีคุณภาพต่อผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยทุกคน


 


๔. การแก้ปัญหาความยากจน โดยให้โอกาสการเข้าถึงทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร คือ ที่ดิน น้ำ ทุน สินเชื่อ แก่เกษตรกรรายย่อย คุ้มครองการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อบริโภค ความมั่นคงทางอาหาร


 


๕. ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา  การให้ข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาโดยคนเป็นศูนย์กลาง  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


๖. แก้ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ  ทั้งการย้ายถิ่นในประเทศและระหว่างประเทศ  ผู้อพยพลี้ภัย  ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัว  ชุมชน ประเทศ และภูมิภาคของโลกโดยรวม


 


๗. ร่วมมือศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  การขยายตัวของสังคมเมือง


 


ที่ประชุมสรุปผลในวันแรกของการประชุมว่า ผลการดำเนินงานด้านประชากรและการพัฒนาควบคู่กับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษโดยองค์การสหประชาชาติ นับตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ สมาชิกรัฐสภาทั่วโลกได้ผลักดันให้เกิดผลดังนี้


 


๑. ผ่านกฎหมายด้านประชากรและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์  แล้ว ๗๗ ประเทศ ผ่านกฎหมายแล้ว  ๒๕๐ ฉบับ กำลังอยู่ในกระบวนการร่างอีก ๑๕๗ ฉบับ ใน ๖๓ ประเทศ


๒. เสนอนโยบายต่อความเสมอภาคหญิงชาย และอนามัยเจริญพันธุ์สำเร็จ  ๖๗ นโยบาย


๓. ได้งบประมาณในการสนับสนุน เป้าหมายของ ICPD แล้ว ๔๔ ประเทศ


๔. องค์กรทุน ๑๔ แหล่ง จาก ๑๙ แหล่ง เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน ของ ICPD


 


"คำแถลงกรุงเทพฯ" จะสำเร็จในการประชุมวันที่สอง คือ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ เพื่อนำไปปฏิบัติ โดยรัฐบาลและรัฐสภาโลก ซึ้งผู้อ่านจะติดตามได้ที่เว็บไซต์ของรัฐสภาคะ