Skip to main content

หนังสือ คนอ่าน และ คนเขียน

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ที่ลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มีกิจกรรมของคนรักการอ่านและการเขียนที่ชื่อว่างาน "Indy Festival" ซึ่งเขาจัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ในงานก็มีกิจกรรมเสวนา ขายหนังสือ ขายสินค้า แสดงดนตรี ฉายหนังสั้น ฯลฯ ในคอนเซ็ปต์แบบ "อินดี้ๆ" ตามชื่องานนั่นละครับ


 


ทีแรกผมตั้งใจจะไปร่วมงาน และไปพบปะสังสรรค์เท่านั้น ไม่ได้คิดจะไปช่วยงานแต่อย่างใด แต่ด้วยเหตุบังเอิญ ก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝน ไปมีส่วนร่วมช่วยงานกับเค้าด้วย


 


โดยรวมๆ แล้ว บรรยากาศอบอุ่นครับ คนในแวดวงนักอ่าน-นักเขียน ทางเหนือค่อนข้างจะรู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ได้สังสรรค์กันในงานที่สร้างสรรค์ ก็ย่อมจะยินดี แม้จะรู้สึกว่า คนมาร่วมงานน่าจะมากกว่านี้ แต่ก็เข้าใจกับข้อจำกัดหลายๆ อย่าง


 


อย่างน้อยที่สุด ก็ขอชมเชยคณะทำงานจาก ร้านเล่า และน้องๆ นักศึกษา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกๆ คนที่ตั้งใจทำงานกันเต็มที่ จะขาดตกบกพร่องสิ่งใด ก็ขอให้เก็บไว้แก้ไขปรับปรุงในครั้งต่อๆ ไปเถอะครับ งานดีๆ ความตั้งใจดี ๆ ควรจะได้รับการสนับสนุนให้ทำต่อไป


 


ที่จริงกิจกรรมและสินค้าที่ขายในงานก็มีอยู่หลายอย่าง แต่ที่ผมติดใจและอยากจะพูดถึงคือร้านของ "ชุมชนคนรักป่า" ซึ่งจัดให้มีการสอยดาวหนังสือ จ่ายเงินแค่ 10 บาท คุณก็มีสิทธิ์จะได้เลือกสลาก 1 ใบถ้าโชคไม่แย่นัก ก็จะได้เลือกหนังสือไปอ่าน 1 เล่ม ถ้าโชคดีน้อยกว่านั้นนิดนึง ก็จะได้โปสการ์ด 5 ใบ หรือปากกา 1 ด้าม หรือถ้าโชคดีกว่านั้นอีกหน่อยก็จะได้เลือก แก้วหรือถ้วยเซรามิกสีสวยไป 1 ใบ 


 


ด้วยความสนใจ (บวกความโลภ) ในหนังสือราคาถูก ผมหมดเงินไปหลายสิบบาท แต่ได้หนังสือใหม่ 1 เล่ม กลางเก่ากลางใหม่ 1 เล่ม กับแก้วเซรามิกอีก 1 ใบ ก็ถือว่าคุ้มแล้วละครับ เท่าที่สังเกตดู สอยดาวหนังสือ ได้รับความสนใจไม่น้อยเลย หนังสือเก่า หนังสือใหม่ มีสิทธิ์เท่าเทียมกันที่จะถูกเลือก ใครมาก่อนก็ได้เลือกก่อน ต้องขอชมว่าเป็นไอเดียที่เข้าท่ามาก งานไหนมีแบบนี้อีก ขอให้บอก จะได้เตรียมไปเล็งหนังสือไว้แต่เนิ่นๆ


 


จากงานคราวนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าหากหนังสือบ้านเราราคาไม่แพงเกินไป มันคงจะเข้าถึงคนไทยได้มากกว่าที่เป็นอยู่  ทุกวันนี้ ราคาพ็อกเกตบุ๊คใหม่ๆ โดยเฉลี่ยก็อยู่ระหว่าง 150-200 บาทถ้าเดือนหนึ่งซื้อสัก 3-4 เล่ม ก็เฉียดพันบาทแล้ว อยากได้จริงๆ ก็ต้องเลือกแล้วเลือกอีก แล้วก็ตัดใจซื้อ ไม่อย่างนั้นก็ต้องรอให้ลดราคา บางทีรอนานจนลืมไปแล้วว่าเคยอยากได้มากก็มี


 


สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมซื้อหนังสือเดือนละหลายเล่มเหมือนกัน แต่หลังจากเรียนจบ ทำงาน และต้องโยกย้ายไปมา จนหนังสือดีๆ หายไปเสียหลายเล่ม ผมก็ลดปริมาณการสะสมลงไป จนกระทั่งได้มาเป็นนักข่าว ผมก็แทบจะไม่ได้ซื้อหนังสือเลย เพราะแค่หนังสือฟรี ในแต่ละเดือนก็อ่านไม่ทันแล้ว ทั้งที่มีผู้ให้มา และทั้งที่จำเป็นต้องอ่านเพราะเป็นงาน ไหนจะหนังสือที่สำนักพิมพ์ส่งมาให้กอง บก. ช่วยแนะนำอีกสัปดาห์ละหลายสิบเล่ม และผู้แนะนำมักจะเผื่อแผ่ให้ผู้ร่วมงานอ่านมากกว่าจะหอบกลับบ้าน


 


และหลังจากการโยกย้ายที่อยู่อีกหลายครั้ง ผมก็กลายเป็นคนไม่ซื้อหนังสือ เพราะการสะสมมันหมายถึงน้ำหนักที่ต้องขนย้าย ตั้งใจว่า เอาไว้มีบ้านของตัวเองเมื่อไร ค่อยเริ่มสะสมอีกที


 


ผมหันมาใช้บริการห้องสมุดประชาชนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีหนังสือใหม่มากนัก แต่ก็มีหนังสือที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะอายุมากขึ้นด้วยหรือเปล่า เลยเริ่มสนใจในเรื่องที่ไม่เคยสนใจ เช่น เรื่องประวัติศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สิ่งแวดล้อม ซึ่งหนังสือพวกนี้มักจะมีประจำในห้องสมุดทุกที่อยู่แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าที่อื่นเป็นอย่างไรบ้าง แต่ห้องสมุดประชาชนที่ผมแวะเวียนไปประจำมีพวกนิยายไทย นิยายแปล และนิยายกำลังภายใน อยู่ค่อนข้างมากทีเดียว ผมได้อ่าน "เพชรพระอุมา" ภาคแรกที่นี่ นิยายกำลังภายในหลายๆ เล่มที่อยากอ่านแต่ไม่อยากซื้อก็ได้อ่านที่นี่เหมือนกัน


 


แต่ทว่า ห้องสมุดประชาชนที่นี่ ก็คงไม่ต่างจากห้องสมุดประชาชนอีกหลายๆ ที่ในประเทศไทย คือไม่ค่อยจะคึกคักเท่าไรนัก ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการก็มักจะอ่านหนังสือพิมพ์ แม้มีคอมพิวเตอร์ประมาณสิบเครื่องไว้ให้เล่นอินเตอร์เน็ตฟรี แต่คนมาใช้บริการก็ยังโหรงเหรง วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ดูเหมือนปริมาณคนใช้จะไม่ได้ต่างจากวันธรรมดาสักเท่าไร


 


เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2548 ระบุว่า อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 7.9 แต่หากคำนวณจากกิจวัตรประจำวัน พบว่า คนไทยอ่านหนังสือกันโดยเฉลี่ยแค่คนละ 2 นาทีกว่าๆ ต่อวันเท่านั้น


 


ไม่แน่ใจว่า ข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า "คนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด" หรือไม่ อย่างไร แต่มองภาพรวมแล้ว มันก็ยังเป็นตัวเลขที่น้อยเสียจนไม่น่าจดจำพอๆ กันอยู่ดี ผมคิดว่า ถ้าหากนักการเมืองและนักการศึกษาทั้งหลายจะร้องตะโกนว่า "เราต้องปฏิรูประบบการศึกษา" ก็รบกวนช่วยมาดูแลเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยด้วยเถิดครับ เพราะการศึกษาทุกวันนี้มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรั้วโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษาอีกต่อไปแล้ว ถ้าหากยังคิดกันอยู่ในกรอบเพียงแค่นั้น ผมว่า อีกไม่นานประเทศไทยคงจะตามหลังอินเดียแน่นอน เพราะเขาก้าวกระโดดไปถึงขั้นให้คนศึกษาเองจากสื่อทางไกลผ่านคอมพิวเตอร์ราคาถูกแล้ว


 


เราพูดกันมานานหลายปี (จนขี้เกียจจะพูด) แล้วว่า "การศึกษา" ของประเทศเรานั้น มันวิกฤติมาเนิ่นนานจนไม่รู้จะจินตนาการถึงความเละเทะไปมากกว่านี้ได้อย่างไรอีกแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยเห็นว่าจะมีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริม "การอ่าน" อันเป็นรากฐานของการศึกษาอย่างจริงจังแต่อย่างใด กิจกรรมเกี่ยวกับการอ่าน-การเขียนส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคเอกชนทั้งสิ้น


 


บ้านเรานี่ก็แปลกดีนะครับ เรื่องสร้างนู่นสร้างนี่สร้างอะไรใหญ่ๆ โตๆ เขาให้ความสำคัญกันเหลือเกิน แต่เรื่องอะไรที่เสริมสร้างรากฐานพัฒนาประเทศชาติอย่างเช่น การอ่าน การเขียน กลับเป็นเรื่องลำดับสุดท้ายที่จะคิดถึง แม้แต่สื่อมวลชนเองก็ตาม คอลัมน์ประเภท แนะนำหนังสือ เริ่มหายไปจากสื่อหลายสำนัก กลายเป็นแนะนำภาพยนตร์ หรือละครแทน ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ หนังสือออกใหม่เดือนละหลายสิบเล่ม ไม่ได้น้อยกว่าจำนวนหนังที่เข้าฉาย หรือละครที่ออกอากาศเลย


 


ถ้าคิดว่า คนสมัยใหม่ชอบอะไรที่ง่ายๆ และรวดเร็ว จึงต้องนำเสนอและสนับสนุนแต่สื่อที่ใช้เวลาเสพน้อยๆ ส่วนเรื่องยากๆ ใช้เวลาเสพนานๆ อย่างหนังสือ ปล่อยให้คนอื่นเขาทำ เราก็คงต้องอยู่แต่ในวังวนของความง่ายและรวดเร็วพวกนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่ๆ ไม่อ่านหนังสือกันเลย ดูแต่โทรทัศน์ ฟังวิทยุ และเล่นอินเตอร์เน็ตเท่านั้น อีกสิบปีข้างหน้า ผมก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่า สติปัญญาของคนบ้านเรามันจะเป็นยังไง อย่าว่าแต่ปฏิรูปการศึกษาเลยครับ แค่ให้แต่ละคนตั้งคำถามกับชีวิตและสังคม ผมว่ายัง "ยาก" เลย


 


กระนั้น ทั้งเรื่องหนังสือและเรื่องการอ่าน ก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมยังให้ความสนใจที่จะทำให้อะไรๆ มันดียิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็น ทว่า สิ่งที่ยากจะเปลี่ยนแปลงได้คือ ผลตอบแทนของผู้ผลิตงานหรือ จะให้พูดกันตรงๆ ก็คือเรื่อง "ความจนของนักเขียน" นั่นละครับ


 


ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง ได้กล่าวสรุปสถานการณ์นักเขียนบ้านเราไว้อย่างตรงไปตรงมาและน่าจดจำมาก


 


ท่านบอกว่า "...สรุปแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแต่ นักเขียนบ้านเรามันก็ยังจนเหมือนเดิมอยู่นั่นละครับ..." คืออะไรต่อมิอะไรมันจะพัฒนาไปมากแค่ไหน กระบวนการผลิตหนังสือจะทันสมัยรวดเร็วปานใด คนอ่านหนังสือฉลาดในการอ่านและการเลือกหนังสือมากขึ้นเพียงใด แต่นักเขียนผู้สร้างงาน ก็ยังจนเหมือนเดิม ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ถ้านักเขียนไม่ได้เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เอง เป็นเรื่องยากมาก ที่จะได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่า คำพูดที่ว่า "โรงพิมพ์รวย คนเขียนจน" ครึ่งศตวรรษผ่านไป มันก็ยังเป็นความจริงอยู่


 


หลายปีที่ผ่านมา ผมพยายามตั้งคำถามกับความเป็น "นักเขียน" ที่ใครหลายคนชอบเรียกว่า "เป็นอาชีพพิเศษ" จนกระทั่งได้คำตอบที่ไม่คาดคิดจากงาน Indy Festival นี่เอง


 


นักเขียนหนุ่มหนวดงามจากเชียงดาว แม้นานๆ จะปล่อยงานออกมาสักที แต่ก็ยืนหยัดบนเส้นทางการเขียนมาสิบกว่าปี ตอบคำถามของผมว่า "...นักเขียนไม่ใช่อาชีพ เพราะอาชีพ หรืออาชีวะ หมายถึงงานเลี้ยงชีพ แต่นักเขียนเป็นงานที่เลี้ยงจิตวิญญาณ..."


 


ผมคิดจะถามว่า "แล้วพี่เขียนงาน พี่ไม่ต้องการเงินหรือครับ?"


แต่กลัวจะโดนเตะ เลยไม่ได้ถาม