Skip to main content

ความทรงจำหลังเกลียวคลื่น

คอลัมน์/ชุมชน

หาดทะเลนอก จังหวัดระนอง ปลายปี 2548 หนึ่งปีหลังสึนามิถล่มผืนแผ่นดิน


หาดทะเลนอก จังหวัดระนอง ปลายปี 2548 หนึ่งปีหลังสึนามิถล่มผืนแผ่นดิน


 


 


ปลายปี 2548 หาดทะเลนอก จังหวัดระนอง


 


สายวันนั้น ความเย็นยะเยือกเข้าเกาะกุมจิตใจของผมเมื่อทราบว่าชายหาดที่สงบราบเรียบตรงหน้าที่เพิ่งบันทึกภาพไปนั้น - - เคยมี "ชีวิต"


 


"ชีวิต" ของครูและเด็กๆ ไม่ต่ำกว่า 10 คน ซึ่งหายไปภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาที เมื่อช่วงสายวันที่ 27 ธันวาคม 2547 หลังคลื่นยักษ์ซึ่งเดินทางมาไกลนับพันกิโลเมตรจากมหาสมุทรอินเดียพุ่งเข้าชนกำแพงและหลังคาของโรงเรียนจนพังทลายลงทั้งแถบ


 


"คลื่นสึนามิต้องใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงครึ่ง กว่าที่คลื่นจะเดินทางจากจุดเกิดแผ่นดินไหวไปจนถึงศรีลังกาและใช้เวลา 1 ชั่วโมงก่อนมันจะไปถึงชายฝั่งตะวันตกของไทยและมาเลเซีย คุณสามารถดินลึกเข้าไปในแผ่นดินสัก 15 นาทีก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว แต่บริเวณมหาสมุทรอินเดียไม่มีระบบเตือนภัยสึนามิเลย"


 


เสียงของชาร์ลส์ แมคคลีรี ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยสึนามิ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าว CNN  เมื่อปลายปี 2547 ดังขึ้นในสมอง เมื่อผมเดินไปบนบริเวณที่คนนำทางบอกว่าเคยเป็นจุดที่เด็กๆ และคุณครูเหล่านั้นยืนอยู่ในวันที่คลื่นยักษ์ถาโถม


 


การเดินทางสำรวจชายหาดของภาคใต้ฝั่งตะวันตกครั้งนั้น นอกจากความสลดใจที่ประเทศตัวเองไม่เคยมีการเตรียมพร้อมรับมืออะไรสักอย่าง นอกจากการพบว่าหาดทะเลนอกคือจุดที่ผมสลดใจที่สุดในบรรดาพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากสึนามิแล้ว ผมยังพบว่า เหล่าผู้นำทุกระดับตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนถึงระดับชาติล้วนมีจิตใจฉ้อโกงเป็นส่วนใหญ่ทั้งสิ้น


 


พวกเขาพร้อม "กระทืบซ้ำ" ชาวบ้านผู้ประสบภัยดุจดั่งพวกเขาไม่มีจิตใจของมนุษย์หลงเหลืออยู่


 


ปลายปี 2548…หลังเกิดสึนามิ 1 ปี ที่บ้านน้ำเค็ม ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านที่อยู่รายรอบ บ้านผู้ใหญ่บ้านกำลังถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นบ้าน 3 ชั้น รถปิกอัพคันใหม่เอี่ยมเพิ่งจะถูกถอยออกมาจากอู่


"ให้ทางการสร้างบ้านชั้นเดียวแบบคนอื่น ฉันอยู่ไม่ได้หรอก เลยขอเป็นเงินแล้วมาสร้างเอง"


 


เมียผู้ใหญ่บ้านเอ่ยพร้อมกระดิกนิ้วมือทั้ง 5 ซึ่งเต็มไปด้วยแหวนและกำไลทองคำอย่างกรีดกราย ชวนให้ผู้มาเยือนสงสัยยิ่งนักว่า ขณะที่ลูกบ้านของเธอกำลังหมดอาลัยเพราะสูญเสียเครื่องมือทำมาหากิน สูญเสียญาติมิตรและทรัพย์สินทั้งหมดไปกับคลื่นยักษ์ เธอเอาของพวกนี้มาจากไหน


 


อีกหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมหลังคลื่นยักษ์ เมื่อนายทุนฉวยโอกาสส่งคนเข้าไปยึดพื้นที่หมู่บ้านในขณะที่ชาวบ้านอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยไม่ยอมให้เข้าไปค้นหาญาติมิตรและไปดูแลทรัพย์สินที่เสียหาย


 


ปลายปี 2548 หนึ่งปีหลังสึนามิ สภาพเหล่านี้ปรากฏอยู่ทั่วไปตามชายฝั่งตะวันตกของด้ามขวาน


 


* * * *


 


ปลายปี 2549 …ขณะที่ผมสัญจรไปตามถนนสายเล็กๆ แถบจังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทอง และอยุธยาก็พบว่าสองข้างทางที่รถวิ่งผ่านนั้นปรากฏทะเลสาบกว้างใหญ่มากมายและงามยิ่งนักเมื่อมันสะท้อนแสงพระอาทิตย์ตกดินเป็นประกายระยับ


 


แต่ต้นกล้วยที่ยืนตาย เรือกสวนที่จมอยู่ใต้น้ำ ก็กระชากให้ผมหลุดออกจากความดื่มด่ำนั้น เพราะมันบอกว่า ภายใต้ความสวยงามคือทุกข์ของชาวนาชาวสวนที่ยอมรับเคราะห์แทนคนกรุงเทพฯ โดยปล่อยให้ราชการผันน้ำไปในพื้นที่ของตนเองในแบบที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่น้ำเหล่านั้นจะระบายออกไปจากที่ของตน



หนาวปีนี้ ลมหนาวยังไม่มา และการเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่นาของพวกเขานั้นไม่สามารถทำได้


 


ความช่วยเหลือจากคนกรุงผู้มีอภิสิทธิ์นั้น คือการลงพื้นที่ 2-3 วัน ของชนชั้นปกครอง แจกถุงยังชีพแล้วให้นักข่าวถ่ายรูป โดยไม่ได้มีแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมออกมาแต่อย่างใด


 


คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่เพิ่งจะยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไม่ต่างอะไรจากรัฐบาลชุดก่อนที่ลงไปแก้ปัญหาสึนามิ หลังปล้นประชาธิปไตยโดยความยินยอมของสื่อมวลชนและบรรดาชนชั้นกลางที่พากันเพี้ยนสนับสนุนการยึดอำนาจ (และเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีกว่าปี 2540 จะเกิดขึ้นจากปากกระบอกปืน) แล้ว พวกเขาก็มัวยุ่งอยู่กับการส่งคนของตนเองเข้าไปยังส่วนราชการต่างๆ เพื่อกุมอำนาจและประกาศว่ามีคลื่นใต้น้ำเพื่อคงกฎอัยการศึกของตนที่สามารถกดหัวประชาชนได้เอาไว้


 


สื่อหลายแขนงยังกินโต๊ะแนวคิดประชาธิปไตยโดยสาปแช่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าชิงสุกก่อนห่ามอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่ดูข้อเท็จจริงว่าหากปล่อยให้เจ้าสมัยนั้นร่างรัฐธรรมนูญ สื่อทั้งหลายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้นั้นก็จะยังคงไม่รู้จักคำว่าประชาธิปไตยและได้เรียนรู้มันเหมือนทุกวันนี้ (มีหลักฐานปรากฎในบันทึกของทูตญี่ปุ่นสมัยนั้น)


 


สื่อบางแขนงที่ประกาศตัวว่าเป็นยามเฝ้าแผ่นดินก็ส่งคนของตนเข้าไปเป็น สนช. เถื่อนที่มาจากการแต่งตั้งถึง 3 คน รับทั้งเงินเดือนจากต้นสังกัดและกินภาษีประชาชนอย่างน่าไม่อายถึงเดือนละหลายสตางค์


 


น่าสนใจจริงๆ หนึ่งปีหลังน้ำท่วม หนึ่งปีหลังประชาธิปไตยสะดุดหกล้ม เราจะมีความหวังกับชนชั้นปกครองที่มีอำนาจในประเทศไทยขณะนี้ เราจะยังหวังกับชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่หลงผิดไปเช่นนี้ได้หรือไม่


 


ภาพของหาดทะเลนอกภาพนี้  ทำให้ผมเผลอคิดไปว่า หรือประชาธิปไตยของไทย จะเหลือเพียงซากดุจเดียวกับที่หาดทะเลนอก เมื่อปลายปี 2548 นั้น