Skip to main content

เรื่องของ "คน" - "ทองแดง"

คอลัมน์/ชุมชน

"ปี้รู้ได้ไฮก๊ะว่าน้องเพ็นคนท่าย"  เด็กสาวชาวตรังถามหนุ่มแท็กซี่กลางเมืองหลวง  เธอฉงนและตรวจดูตัวเองโดยรอบ 


"ปี้ดูฉากบุคลิกคานแหท่งทัวหรือก๊ะ"  หนุ่มแท๊กซี่ได้แต่ยิ้ม  (ฮา……….)


 


คนใต้มีเรื่องราวมากมายที่มีเสน่ห์  หนึ่งล่ะคือสำเนียงและน้ำเสียงอันหวานฉ่ำจับใจผู้ที่ได้ยินยิ่งนัก(ฮา…….)  ลองนึกถึงบรรยากาศท่าทีและสำเนียงลีลาในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของท่าน  "ไตรรงค์  สวรรณคีรี" ท่าน "วีระ  มุสิกพงษ์"  ดูแล้วท่านก็น่าจะนึกออกว่าน่ารักน่าชังขนาดไหน  แม้บางทีจะมีบางคน บางกลุ่มหยิบยกเรื่องราวเช่นนี้มากมายมาเป็นมุกตลกแหย่กันเล่นบ้าง  แต่ก็ไม่ถือว่าน่าเกลียดนักเพราะนั่นเป็นบุคลิกเฉพาะถิ่นของคนใต้โดยแท้  ไม่น่าแปลกใจหรอกหากคนใต้จะมีสำเนียง "ทองแดง"  ติดตัวมาเมืองกรุงด้วย 


 


 


ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ภาพจาก www.thairakthai.or.th


 


 


วีระ มุสิกพงษ์ ภาพจาก www.trueworld.net/.../20060515185130147.jpg


 


ท่านไตรรงค์เองก็ยังเคยพูดตัดพ้อนักข่าวเล่นในบางครั้งที่ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่เลยว่า "ต้าเมืองหลวงอยู่ตี้สงขลา  ไอ้พวกคนกรุงเทบ ข้อพูดทองแดงกันทั้งนั้นแหละ"  (ฮา….)  ว่าไปนั่น


 


ที่ยกตัวอย่างมาก็เป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์โดยแท้นะครับ อีกอย่างที่รู้จักกันทั่วคือ  คนใต้เป็น "คนตรง  คนจริง"  หรือ  "คนนักเลง"  ฯลฯ  ที่กล่าวมาผมไม่ปฏิเสธแม้แต่ข้อเดียวครับ  ไม่ใช่ว่าเพราะผมเป็นคนใต้หรอกแต่เพราะสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนรับรู้ร่วมกัน 


 


ลักษณะนิสัยพิเศษ คือ  ชอบนับพี่น้อง(ญาติ)  รักพวกพ้อง  รักถิ่นฐานบ้านเกิด  รักตายาย (หมายถึงบรรพบุรุษ)  ใจสู้  ใจใหญ่  พูดไม่หวาน  หัวหมอ (ไม่ยอมใครง่ายๆ )  ชอบอิสระ  รักศักดิ์ศรี  มักเชื่อเรื่องกรรม  เป็นต้น


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ "คนนักเลง"  ซึ่งลือกันกระฉ่อนว่าต้องยกนิ้วให้กับ  "คนเมืองลุง" (พัทลุง)  "คนคอน" (นครศรีธรรมราช)  และคนสงขลา เป็นหัวขบวนนักเลง  ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็นชุมชนรอบลุ่มทะเลสาบ


"นักเลง" ที่ว่านั้นไม่ได้หมายความถึง  "อันธพาล"  ตามที่ใครบางคนนึกอยู่ในใจหรอกนะ  แม้จะมีบางส่วนที่เป็นอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากครับ  คนใต้ทั่วไปรู้กันดีว่า "นักเลง"  ที่ว่านั้นหมายถึงกลุ่มคนที่มีจิตใจกว้างขวาง  คบมิตรมาก ใจถึง  อาจเรียกว่า  "คนใช้ได้"  บ้างในบางพื้นที่  แต่มักเรียกกันในวงแคบๆ   นับว่าเป็นภาษาถิ่นมากทีเดียว "นักเลง"  ที่ว่ามักใจเด็ดเดี่ยวกล้าได้กล้าเสียทั้งเรื่องเพื่อนพ้อง  การพนัน  น้ำมิตรน้ำใจและอีกหลาย ๆ เรื่อง  พวกเขาจึงชอบเล่นการพนันประเภทการต่อสู้พวกชนไก่  วัวชน  ปลากัด  มวย  โดยปกติแล้วคนใต้จะพูดกันห้วนๆ  สั้นๆ  กระชับไม่ยืดยาด  ชัดเจนเหมือนเสียง "ทับมโนราห์" (เครื่องดนตรีมโนราห์) ซึ่งว่ากันว่าเป็นเจ้าแห่งจังหวะเลยทีเดียว  และเสียงห้วนนั้นก็เป็นเสียง "ทองแดง"  ด้วย 


 


ตัวอย่างในการสนทนาพูดคุยกันคร่าวๆ เช่น  หากจะถามว่าไปไหน  ชาวบ้านก็จะพูดกันเพียงว่า  "ไหน"  ถ้าตอบว่าไปหาดใหญ่  ก็พุดว่า  "ใหญ่"  เท่านั้น  การสนทนาจึงมีเสียงเกิดขึ้นเพียง  "ไหน" – "ใหญ่"  เป็นต้นครับ  ก็ที่ว่าขับรถสวนทางกันก็พูดกันเข้าใจแล้วนั่นแหละครับ  ยังมีตัวอย่างอีกเยอะแต่ไม่ขอเอ่ยถึงก็แล้วกัน


อีกอย่าง  ข้อสังเกตว่าคนใต้หรือเปล่า? 


 


ถ้าอยู่ในสังคมเมืองหลวง  หากเป็นคนแถวหน้ารามยิ่งแล้วก็ง่ายนิดเดียว  (ง่ายกว่าปอกกล้วยจริงๆ )  ใครที่เคยใช้ชีวิตอยู่บริเวณนั้นก็จะรู้จักกันดีนะครับ  ว่าถ้าเดินคุยกันเสียงดัง (ถ้าเป็นชาย)  เสื้อยืด  กางเกงยีนส์รองเท้าหนีบ  รูปร่างสันทัดผิวเข้ม  ตาคม  ผมหยักศกหรือหยิก  หากจับกลุ่มนั่งตามซุ้ม  คนเยอะๆ  พูดคุยเรื่องการเมืองกินกาแฟ  เป็นต้น ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะใช่  (หากเป็นหญิง)  ร่างเล็กผิวเข้มผมมักหยิกเดินกันเต็มไปหมด  และที่สำคัญพูด  "ทองแดง"  เหมือนกับพวกผู้ชายนั่นแหละครับ 


 


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพร่างที่จะแนะนำบุคลิกง่าย ๆ  ให้พอเป็นที่รู้จัก  หากใครมีเพื่อนเป็นคนใต้ก็ลองถาม ๆ  หรือลองสังเกตเอาเองก็แล้วกันนะครับว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง  อาจมีบางกลุ่มที่ไม่เหมือนที่ผมกล่าวมา  เช่น  อาจเป็นพี่น้องคนใต้เชื้อสายจีน  คนใต้เชื้อสายชวา – มลายู เป็นต้น


 


แบบว่าเรื่องของ  "คนทองแดง"  ไม่ได้มีแค่นี้หรอกครับ  แต่เป็นเจตนาของผมเองที่จะบอกกล่าวไว้เพียงเท่านี้  เอาพอชี้ทางไปก็พอแล้ว  (อีกนัยหนึ่ง "กนท่ายอย่างผมข้อหัวไชยังว่างปอตี้ฉะให้ตั้นเข้ามาทำความเข้าใจคับ")  (ฮา…) 


(โปรดอย่าอ่านเป็นภาษากลาง)


 


บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ-สงขลา