Skip to main content

คุณคิดและทำอะไรอยู่ 3

คอลัมน์/ชุมชน

มาถึงตอนนี้ฉันค้นพบข้อความที่น่าคิดน่ากลัวขึ้นมาแล้วจากหนังสือเล่มนี้ "ต้นคิด"


 


ท่านยกตัวอย่าง นักคิดนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ว่า พวกเขาไม่ยอมเสียเวลาไปทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เช่น เซอร์ คริสโตเฟอร์ สร้างโบสถ์เซ็นต์ปอล ไม่ยอมเสียเวลาสร้างบังกะโล ดอกเตอร์ แซมมวล ทำพจนานุกรมเป็นเวลา 8 ปี กิบบอน แต่งหนังสือเรื่องความเสื่อมและความล่มสลายของราชอาณาจักรโรมันเป็นเวลา 14 ปี


 


เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ฉันถามตัวเองว่า...เรากำลังทำอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เหลือไม่มากนักของชีวิต เราได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่แล้วหรือยัง  และคิดว่าจะทำงานที่ยิ่งใหญ่ได้หรือไม่ และท่านมีเป้าหมายแค่ไหน ถ้าคิดว่าตัวเองทำได้จงเริ่มต้นเสีย


 


โปรดอย่าลืมว่างานที่ยิ่งใหญ่อยู่ที่ความหมายของตัวท่าน


 


แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะทำงานที่ยิ่งใหญ่ได้ ท่านว่า สมองของคนเราจะต้องสดชื่นอยู่เสมอ ถ้าสมองเพลียแล้วยังทำงานต่อไปจะไม่เป็นผลดี ดังนั้นเมื่อสมองเริ่มล้าจะต้องหยุด งานใช้ความคิดเมื่อทำสำเร็จแล้วจะเกิดความรู้สึกตื่นเต้น ปลื้มใจ


 


ความเบื่อหน่ายต้องยอมให้มัน


ในเรื่องของความเบื่อหน่ายนั้นเกิดขึ้นทุกคน ดังนั้นท่านว่าอย่าตกใจ หยุดสักสองสามวัน เที่ยวหย่อนใจจนกว่าสมองจะสดชื่นแต่อย่าเลิกล้มความตั้งใจที่จะทำ อย่าตรากตรำฝืนทำงานต่อไปไม่เช่นนั้นจะตายในเวลา2-3 ปี


 


พึงจำเอาไว้ว่าความคิดจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีเวลาเพียงพอ งานใช้ความคิดไม่ใช่ของง่าย ดังนั้นต้องให้โอกาสสมองมากที่สุด และถ้าให้ดีควรได้นั่งข้างหน้าต่าง มองไปได้ไกล  พวกอยู่ในเมืองใหญ่ถ้าไม่มีทุ่งกว้างให้ดูก็พยายามมองดูฟ้าเข้าไว้ มองให้เลยหลังคาบ้านและตึกสูง


 


เมื่อไม่มีสมาธิทำอย่างไร


ในการทำงาน สมาธิเป็นสิ่งสำคัญที่สุด บางคนมีกำลังใจและสมาธิดียิ่งถึงขั้นที่เวลาผ่านไปโดยไม่รู้สึก คนแบบนี้แหละจะเป็นคนต้นคิดได้ แต่หากว่าเป็นคนที่ตรงกันข้ามคือทำใจให้แน่วแน่กับงานไม่ได้สักชั่วโมงก็จะเป็นผู้ทำงานใช้ความคิดได้ยาก


 


วิธีแก้ท่านว่าให้นั่งหลับตา สงบใจอย่าทำงานในขณะรำคาญใจหรือฟุ้งซ่าน ถามตัวเองว่าฉันต้องทำอะไร ถ้ายังสงบหรือมีสมาธิไม่ได้ท่านว่าให้นอน 10 นาที


 


อย่าเร่งสมองให้ทำงานเร็ว ให้ความเร็วปกติตามความชำนาญ และสมาธิของแต่ละคน โดยเฉพาะคนเขียนหนังสือ ท่านว่าเขียนสองสามวรรคได้ข้อความชัดเจนดีกว่าเขียนไปเรื่อย ๆ ตั้งพันคำในเวลาหนึ่งชั่วโมง จงเอาใจใส่ในคุณภาพ


 


ในเรื่องของเวลาทำงานนั้น ท่านว่าควรทำจนกว่าสมองของท่านจะรู้สึกเหนื่อย จนไม่สามารถทำใจให้แน่วแน่กับงานได้ เป็นคำเตือนของธรรมชาติ ไม่เป็นการฉลาดที่จะบังคับสมองที่เหน็ดเหนื่อย และควรหยุดพักเล็กน้อยทุก ๆ ชั่วโมง ดีกว่าทำงานรวดเดียวจบ


 


ความมั่นคงของสมอง


นอกจากนั้นท่านว่ายังมีเรื่องความมั่นคงของสมอง ผู้ทำงานใช้ความคิด จำเป็นต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่กับโต๊ะหนังสือ จะต้องมีอาการเมื่อยขบ ไม่มีอากาศบริสุทธิ์หายใจและหายใจไม่ลึก ร่างกายอยู่นิ่ง ๆ เมื่อสมองทำงานซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี กำลังสมองต้องอาศัยอนามัยของร่างกายเป็นส่วนใหญ่ ต่างฝ่ายต่างให้กำลังซึ่งกันแหละกัน สังเกตได้ว่าระหว่างหยุดพักหรือสมองว่างจะมีความคิดดี ๆ เกิดขึ้น


 


อย่าปฏิเสธความสนุกสนาน


ข้อนี้น่าสนใจมากและฉันคิดว่าเพื่อน ๆ นักเขียนที่อ่านถึงตรงนี้คงจะเห็นด้วย ท่านว่า เราจงอย่าตัดความสนุกและความรื่นเริง และมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่นการเดินออกกำลัง การสะสมสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ การถ่ายรูป


 


มีผู้กล่าวว่า คนเราควรจะมีการเล่นอย่างหนึ่งอย่างใดไว้บ้าง เพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมความชื่นบานในวันสุขสบายและบรรเทาความเศร้าหมองในวันทุกข์


 


การสนทนาเป็นการช่วยเหลือมันสมองได้อย่างหนึ่ง การมีเพื่อนอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งพูดอะไรได้ตามใจชอบ ไม่ได้ถือขนบธรรมเนียม  มีการโต้เถียงกันถือเป็นเรื่องดีที่นักคิดนักเขียนควรจะทำ เพื่อระดมความคิด หรือสร้างแนวคิดใหม่ในเรื่องนั้น ๆ


 


บ้านต้องเป็นบ้าน


ในช่วงสุดท้ายที่น่าสนใจ ท่านว่า สิ่งที่ดีที่สุดในโลกคือบ้าน ไม่ควรเปลี่ยนสภาพของบ้านเป็นโรงงานหรือโรงเรียน การทำงานใช้ความคิดนั้น บ้านเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด


 


นักติและนักวิจารณ์


ท่านว่า คนต้นคิดนั้นมีน้อยแต่คนตินั้นมีมาก นักคิดแทบทุกคนถูกคนพวกนี้โจมตี 


ท่านว่านักติหรือนักวิจารณ์นั้น  ไม่ใช่เป็นคนแต่งหรือเป็นคนต้นคิด เขาเขียนเพื่อให้เป็นที่พอใจของผู้หนึ่งผู้ใด มากกวาเสนอความเห็นแก่ประชาชนและเขาใช้เครื่องวัดในอดีตมาเป็นข้อพิสูจน์ เขาคัดค้านสิ่งใหม่ ๆ และมักแสดงความเห็นฟ้องกับนักประพันธ์ในอดีตและคัดค้านนักประพันธ์ในปัจจุบัน


 


********


 


นี่เป็นทัศนะก่อนปี 2475


ในปัจจุบัน ฉันคิดวาคงจะเปลี่ยนไปแล้ว นักวิจารณ์ในยุคสมัยนี้ คงจะไม่เห็นแก่ความพอใจของใครและคงจะทำงานเพื่อเสนอความเห็นแก่ประชาชน (แก่ประชาชนนะไม่ใช่แก่นักเขียนเท่านั้น) แต่ถ้าใครที่ยังเป็นเช่นก่อน 2475 ก็เห็นควรจะต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่าทำไมเราจึงยังเป็นเช่นนี้


 


ว่าด้วยเรื่องนักวิจารณ์ในบ้านเราในยุคปัจจุบัน ดูเหมือนจะเป็นนักติเสียส่วนใหญ่ ทุกครั้งที่อ่านงานรู้สึกคล้าย ๆ กับว่า พวกเขากำลังตำหนิและสั่งสอน ตลอดจนชี้ผิดและถูก ด้วยน้ำเสียงที่เป็นผู้รู้ ไม่ใช่เสนอข้อคิดแก่ประชาชน


 


นี่เป็นส่วนหนึ่งใน หนังสือ "ต้นคิด" ของดอกเตอร์เคิต คอฟมันน์ กับศาสตราจารย์ อูฟเย็นส์ ครูส ซ.สมบัติ แปลเรียบเรียงไว้พิมพ์ในปี 2475 


 


ฉันนำมาเขียนเล่าต่อเพื่อนนักอ่านนักเขียน บัดนี้ถึงเวลาแกควรแล้ว...นานไปก็จะเกิดการเบื่อหน่าย


 


เป็นธรรมดาเมื่อเราอ่านอะไรมา เราก็จะมานั่งคุย เล่าสู่กันฟัง ตามประสาเพื่อนฝูง ที่อยู่ใกล้กัน ทั้งรุ่นที่รุ่นน้อง บางครั้งก็ถกเถียงกันในบางประเด็น เป็นการเผชิญหน้าได้รู้ได้เห็นว่าเพื่อนเบื่อแล้ว แต่การเขียนเล่าต้องประเมินเอาเอง


 


สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือถูกเบื่อ