Skip to main content

วันเด็กแห่งชาติ ฟังเสียงของเด็กไร้สัญชาติด้วยนะจ้ะ

คอลัมน์/ชุมชน


วันเด็กแต่ละปี ผู้ใหญ่มักพากันคิดถึงความสำคัญของเด็กแค่วันนี้ ทั้ง ๆ ที่ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ ตามสี่แยกไฟแดงมีเด็กตัวเล็ก ๆ บางคนอายุแค่ ๕ - ๖ ขวบ ต้องออกมาเร่ขายพวงมาลัย ดอกไม้ หรือมาคอยเช็ดกระจกรถ ตรากตรำแดดลม แม้ยามค่ำคืนก็ไม่ได้หลับนอน ตามสี่แยกไฟแดงของจังหวัดต่าง ๆ ในวันหวยออก ก็มีเด็กตัวเล็ก ๆ ความสูงยังไม่พ้นกระโปรงหน้ารถ ออกมาเดินขายใบตรวจลอตเตอรี่กันเกลื่อนตา เมืองไทยมีทั้ง "เด็กได้โอกาส" และ "เด็กด้อยโอกาส" แต่เด็กด้อยโอกาสมีอยู่เต็มประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท เขตชายขอบแดนของประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างไกลไม่มีผู้ใหญ่ไปรู้เห็นสภาพความด้อยโอกาสที่ซ้ำซ้อนของเขา


ตัวอย่างเช่น โรงเรียนในเขตภูเขาชายแดนไทยพม่า ที่หมู่บ้านหัวแม่คำ ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นโรงเรียน ตชด. มีนักเรียนราว ๒๐๐ คน ครูราว ๑๐ คน บางห้องไม่มีโต๊ะ นักเรียนต้องนั่งเรียนกับพื้นห้อง ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ ยามฤดูหนาวพื้นปูนเย็นเจี๊ยบ ห้องเรียนก็คับแคบ เมื่อครูสอนที่ห้องหนึ่ง เสียงของครูและนักเรียนห้องข้าง ๆ ก็ดังเซ็งแซ่ จนบางครั้งครูต้องสลับกันสอน สลับกิจกรรม เพื่อไม่ให้เสียงรบกวนกัน


การลงทุนด้านการศึกษาระหว่างโรงเรียนในกรุง ต่างจังหวัด และในชนบทห่างไกลไม่เท่าเทียมกัน เช่น สัดส่วนครูที่พอเหมาะกับจำนวนนักเรียน การฝึกอบรมครูให้มีความสามารถสอนวิชาต่าง ๆ ได้เหมาะกับสภาพท้องถิ่น เช่น การสอนระบบ ๒ ภาษา ๒ วัฒนธรรม วิธีสอนภาษาไทยแก่นักเรียนที่พูดภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง รองจากภาษาท้องถิ่น สำหรับนักเรียนที่พูดภาษาชาวเขาเผ่าต่าง ๆ หรือชุมชนที่พูดภาษายาวีทางใต้ รวมทั้งการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ การแนะนำให้นักเรียนรู้ศักยภาพของตน และได้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในสายวิชาที่เหมาะสม เพื่อให้มีคุณภาพเพียงพอที่จะเป็นบุคคลากรอันทรงคุณค่าของประเทศ


ดูจากงบประมาณแผ่นดินแล้ว ประเทศไทยลงทุนเพื่อการศึกษาไม่น้อยหน้าประเทศแนวหน้าของโลก คือกระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณเป็นลำดับ ๑ ของประเทศ คิดเป็น ๑๖.๙๘ % ของงบประมาณแผ่นดิน ของงบประมาณประเทศ แต่การกระจายงบประมาณทั่วถึงและเป็นธรรมหรือไม่ สร้าง "เด็กได้โอกาส" จำนวนน้อยด้วยทุนมาก แต่ทอดทิ้ง "เด็กด้อยโอกาส" ให้ยิ่งด้อยโอกาสยิ่งขึ้นหรือไม่



ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปีนี้ คณะทำงานด้านเด็กไร้สัญชาติ ของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จังหวัดเชียงราย โดยนางสาวจันทราภา นนทวาสี และนายกฤษฎา ยาสมุทร ขอเสนอปัญหาอันเนื่องมาจากความไร้สัญชาติของเด็กไร้สัญชาติ (ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับอนุกรรมาธิการเด็กไร้สัญชาติ คณะกรรมาธิการกิจการสตรีเยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา โครงการแก้ไขปัญหาเด็กไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งครูหยุย ส.ว.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธาน ดิฉันและ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร เป็นรองประธานฯ ) ดังนี้ค่ะ


เด็กไร้สัญชาติตามความเข้าใจส่วนบุคคลของคนทั่วไป มักจะคิดถึงเด็กที่ตะลอน ๆ อยู่ตามที่ต่าง ๆ เร่ร่อนไปทั่ว ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีบัตรหรือใบเอกสารประจำตัว ในอนาคตก็น่าเป็นห่วงว่าจะเข้าสู่วงจรอาชญากรรมทุกรูปแบบ


โดยคำจำกัดความของผู้ใหญ่ที่ทำงานด้านสถานะบุคคล ต่างร่วมให้นิยาม "เด็กไร้สัญชาติ" ว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองของรัฐหรือประเทศใด ๆ ในโลกนี้ ซึ่งเด็กดังกล่าวประกอบด้วย ชาวเขา ชนกลุ่มน้อยที่มีหลากหลายกลุ่ม รวมไปจนถึงกลุ่มที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนสัญชาติใดด้วย


เพื่อให้ง่ายกับการทำความเข้าใจ กลุ่มเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย คือเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติใด กล่าวคือ เป็นเด็กที่มีเอกสารเป็นบัตรประจำตัวสีต่าง ๆ ซึ่งรัฐไทยพยายามจะจำแนกตามชาติพันธุ์หรือช่วงเวลาหรือสถานการณ์ ที่น่าตกใจก็คือ กลุ่มบัตรประจำตัวสีต่าง ๆ เท่าที่กรมการปกครองดูแลอยู่มีถึง ๑๘ กลุ่ม ๑๘ ชนิดบัตร ได้แก่ ญวนอพยพ (บัตรสีขาวขอบน้ำเงิน), อดีตทหารจีนคณะชาติ (บัตรสีขาว), จีนฮ่ออพยพ (บัตรสีเหลือง), จีนฮ่ออิสระ (บัตรสีส้ม), อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์ (บัตรสีเขียว), ไทยลื้อ (บัตรสีส้ม), ลาวอพยพ (บัตรสีฟ้าขอบน้ำเงิน), เนปาลอพยพ (บัตรสีเขียว), ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (บัตรสีเหลืองขอบน้ำเงิน), ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (บัตรสีชมพู), ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า มีถิ่นที่อยู่ถาวร (บัตรสีส้ม), ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าเพื่อใช้แรงงาน (บัตรสีม่วง), บุคคลบนพื้นที่สูงและชาวเขา (บัตรสีฟ้า), ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกง กัมพูชา (บัตรสีเขียว), ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา (บัตรสีขาวขอบแดง), เผ่าตองเหลือง มลาบรี (บัตรสีฟ้า), ชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง), แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย (ใบอนุญาตให้ทำงาน) ซึ่งสิทธิและโอกาสของแต่ละบัตรไม่เท่ากัน โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย



การเป็นบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย ทำให้สิทธิต่าง ๆ หลายอย่างถูกจำกัดลิดรอน โดยเฉพาะขั้นพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด เด็กบางคนถูกปฏิเสธการแจ้งเกิด ทั้งที่มีระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ตอนที่ ๓ ว่าด้วยทะเบียนคนเกิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องรับแจ้งเกิด ถึงแม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ขาดเอกสารยืนยันสถานที่เกิดว่า แท้จริงแล้ว พวกเขาเป็นคนที่เกิดในผืนแผ่นดินไทย


เมื่อเติบโตจนถึงวัยต้องศึกษาเล่าเรียน ปัจจุบันนี้เด็กทุกคนสามารถเข้าเรียนได้ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ขาดสิทธิในการกู้ยืมเงินเล่าเรียนจากรัฐบาล อีกทั้งเมื่อสำเร็จการศึกษา ใบรับรองวุฒิบัตรจะมีตราประทับ "ไม่มีสัญชาติ" ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขให้ยกเลิกการประทับตราในวุฒิบัตร โดยให้ประทับเฉพาะต้นขั้วเท่านั้น


ในขณะที่ต้องเดินทางออกจากถิ่นที่อยู่เพื่อศึกษาเล่าเรียน หรือกรณีอื่น ๆ เด็กไร้สัญชาติจะประสบกับ ๒ ปัญหาใหญ่ ๆ คือ ผู้ถือบัตรประจำตัวบางชนิด อาทิ บัตรสีเขียวขอบแดง, บัตรลาวอพยพ ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ควบคุม จะเดินทางได้เฉพาะในอำเภอของตน อีกปัญหาคือ บุคคลผู้ถือบัตรประจำตัวสีต่าง ๆ ไม่มีสิทธิขอทำใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะใด ๆ จึงมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับในข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับขี่ อยู่เป็นประจำ มีผู้ใหญ่บ้านม้งคนหนึ่งกล่าวว่า ลูกบ้านของตนขนพืชผักลงไปขายที่ตลาดในตัวอำเภอ ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิการเดินทาง แต่ถูกตำรวจจับ ข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับขี่ วันรุ่งขึ้นกำลังจะนำใบสั่งไปจ่ายค่าปรับที่โรงพัก ก็ถูกจับในข้อหาเดิมอีก


หลังสำเร็จการศึกษา แม้เด็กไร้สัญชาติหลายคนจะมานะอุตสาหะ เล่าเรียนจนได้รับวุฒิบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูง บางคนสามารถสำเร็จระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่านั้น แต่สภาวะของความไร้สัญชาติ ทำให้ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับวิชาที่ศึกษาเล่าเรียน เพราะการประกอบอาชีพของบุคคลไร้สัญชาติ จำกัดอยู่เพียงอาชีพที่ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ เด็กบางคนมุ่งมั่นว่า หากตนได้รับสัญชาติจากการอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นคนไทยแล้ว จะรับราชการทหาร ตำรวจ แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะอาชีพทั้งสองถูกสงวนไว้ให้กับบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด


แม้จะไม่มีโอกาสประกอบอาชีพรับราชการ หรือบริษัทเอกชนที่ค่อนข้างเข้มงวดกับการพิจารณาคนทำงานจากความมีสัญชาติ ความเพียรพยายามของบุคคลไร้สัญชาติก็ไม่ได้หยุดยั้ง บางคนเสาะแสวงหาประกอบอาชีพส่วนตัว ค้าขาย จนค่อนข้างมีฐานะ บางคนต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลด้วย มีความต้องการจะสะสมทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ แต่ก็มีปัญหาในข้อกฎหมายเรื่องการซื้อหาทรัพย์สิน ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ผู้มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย หรือบุคคลผู้ถือพาสปอร์ตและมีวีซ่าเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย การแก้ไขที่พวกเขาดิ้นรนต่อ ก็คือ ขอให้ญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่มีสิทธิซื้อหาทรัพย์สินด้วยเงินทองของตนเอง ซึ่งต้องเสี่ยงกับการถูกฉ้อโกงเพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้


เมื่อถึงวัยอันควร บุคคลไร้สัญชาติก็มีความต้องการจะสร้างครอบครัว อยู่กินกับสามีหรือภรรยาของตนอย่างถูกต้องตามจารีตประเพณีและกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนของอำเภอหลายท้องที่ปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสของคู่สามีภรรยาที่ถือบัตรประจำตัวสีต่าง ๆ ทั้งที่โดยความเป็นจริง มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหมวดที่ว่าด้วยครอบครัว และพระราชบัญญัติจดทะเบียนสมรส พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่ระบุว่าหญิงชายที่ต้องการเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องจดทะเบียนสมรส โดยมิได้ระบุว่าต้องเป็นคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น


ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งปกติของทุกคน บุคคลไร้สัญชาติบางคนที่ฐานะยากจน เพราะไม่อาจประกอบอาชีพที่สร้างรายได้มาก ๆ และต้องการขอรับการรักษาพยาบาลตามระบบ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง หรือบัตรผู้สูงอายุ หรือกระทั่งบัตรผู้พิการ ก็ไม่อาจใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้ เด็กหญิงไร้สัญชาติคนหนึ่ง ที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอตอนอายุได้ราว ๗ ขวบ ในระยะแรกทางบ้านพยายามหาเงินค่ารักษาพยาบาลให้เธอ ต้องมีการเจาะเส้นเอ็นตรงหัวเข่าเพื่อให้ยืดตัว และต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะฐานะทางบ้านไม่ดีนัก ประกอบกับการไม่มีสัญชาติ จึงไม่อาจใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีได้ ปัจจุบันเธออายุ ๑๗ ปี ยังไม่สามารถเดินได้


กระทั่งถึงเวลาแห่งการเสียชีวิต นอกเหนือจากภาระของการจัดทำพิธีศพตามประเพณีแล้ว ญาติของบุคคลไร้สัญชาติบางพื้นที่ โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวใด ๆ เลย ยังประสบปัญหาถูกปฏิเสธการแจ้งตาย



ปัญหาที่มีจุดเริ่มต้นจากการไร้สัญชาติ ตามความเข้าใจของคนในสังคมไทยว่า ไม่น่าจะรุนแรง หากวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้ง กลับเป็นบ่อเกิดปัญหาที่ตามมามากมาย เพราะชั่วชีวิตของคน ๆ หนึ่งตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ของครอบครัว ความพยายามที่จะได้มาซึ่งสิทธิความเป็นพลเมืองตามกฎหมาย สิทธิของบางคนจึงอาจเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย มิชอบด้วยศีลธรรมอันดีงาม และกระทบกับสิทธิอันพึงมีของบุคคลอื่น การแก้ไขให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายไปได้อย่างยั่งยืน ต้องกระทำด้วยความรอบคอบและศึกษาเพื่อเข้าใจถึงปัญหาอย่างถ่องแท้ ตัวเลขเด็กไร้สัญชาติเฉพาะที่สำรวจโดยโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการของจังหวัดเชียงรายประมาณ ๑๔,๘๐๐ คน


วันเด็กแห่งชาติประจำปี ๒๕๔๘ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๘ กลุ่มองค์กรที่ร่วมกันทำงานเพื่อหาแนวทางให้เหมาะสมกับสถานะของคนไร้สัญชาติ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยาและแม่ฮ่องสอน ได้รวมตัวกันจัดงาน "วันเด็กไร้สัญชาติ" ขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยหวังจะสะท้อนภาพให้สังคมมีโอกาสรับรู้และเรียนรู้เรื่องราวของเด็กไร้สัญชาติ ผ่านกิจกรรมภาควิชาการที่เปิดโอกาสให้เด็กบอกกล่าวถึงสภาพความเป็นจริงที่เขาเผชิญอยู่ เพื่อให้ผู้ใหญ่ใจดีหลาย ๆ ท่านรับฟัง ตลอดจนการรับเรื่องราว เอกสารการดำเนินการเพื่อหาแนวทางด้านสถานะบุคคลที่เหมาะสม รวมไปถึงกิจกรรมภาคบันเทิง สันทนาการที่ให้เด็ก ๆ มีโอกาสรับความสนุกสนานในพื้นที่ที่พวกเขาสามารถยืดอก แสดงตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกมองจากคนอื่นว่าเป็นคนละกลุ่ม คนละพวก


วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกท่านที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมเป็นกำลังใจ ร่วมรับรู้และทำความเข้าใจกับสถานการณ์เด็กไร้สัญชาติ ตลอดจนพาบุตรหลานมาร่วมกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ภายในงานได้ ในวันเสาร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๘ นี้ ณ โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ - ๑๖.๓๐ น.