Skip to main content

เลาะเขา; ตะลอนดอยสุเทพ - ปุยก่อนจัดงานวันเด็กที่ศรีเนห์รู

คอลัมน์/ชุมชน

1


 


วันหนึ่งหลังมื้อเที่ยง ในชั่วโมงที่ยังทำงาน ที่สำนักงานตามปกตินั้น พี่ตูน ประมวล โกวิทชัยวิวัฒน์  ประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน ก็เอ่ยปากชวนผมขึ้นไปบนดอยสุเทพ – ปุย เพื่อไปติดต่อการจัดงานวันเด็กที่โรงเรียนศรีเนห์รู ในเดือนมกราที่ใกล้เข้ามาในปีหน้า


 


โรงเรียนศรีเนห์รูตั้งอยู่ห่างจากวัดพระธาตุดอยสุเทพเข้าลึกไปในขุนเขาอีก 9 กิโลเมตร พี่ตูนบอกว่า แรกเริ่มเดิมทีผมบอกว่าไม่อยากไปเพราะกลัวกลับมาคุยงานอีกภาระหนึ่งไม่ทัน แต่ท้ายที่สุด, ด้วยความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นที่ว่า "หากขึ้นไปคงสนุกแน่ๆ เลย" จึงทำให้ผมตัดสินใจไปที่โรงเรียนศรีเนห์รู กับพี่ตูนและลี่ เพื่อนอีกคน


 


3 ชีวิตกับรถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน กับการเดินทางเลาะหุบเขาบนดอยสุเทพ - ปุย จึงเริ่มต้นในเวลาบ่ายโมงครึ่ง


 


2


 


อากาศเย็น สดชื่น และหนาวเล็กน้อยจากร่มเงาของแมกไม้นานาพรรณบนดอยสุเทพ - ปุย ทำให้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง  "ข้างล่าง" ที่อยู่ด้านหลังของผม ที่ซึ่งห่างจากตัวผมไปเรื่อยๆ ข้างล่างที่ว่านี้คือ ตัวเมืองเชียงใหม่ แหล่งที่อยู่ของผู้คน เสียงของรถที่แล่นไปมาในเมือง บีบแตรเสียงดังสนั่นสี่แยก อากาศร้อน อบอ้าว จากฝุ่น จากท่อไอเสีย อากาศที่ไม่ค่อยบริสุทธิ์เท่าใด – นี้แหละครับเมืองเชียงใหม่ ข้างล่าง ที่ผมพูดถึง


 


ส่วน "ข้างบน" คือบนดอยสุเทพ - ปุยนี้ มีสภาพบรรยากาศแวดล้อมที่ตรงกันข้ามกับในเมืองยิ่งนัก  ผมบอกกับตัวเองว่า คิดไม่ผิดเลยที่ตัดสินใจมาข้างบนนี้


 


พวกเรา 3 คนขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมา ผมขี่คนเดียว ส่วนอีกคัน พี่ตูนขี่โดยมีลี่นั่งซ้อนท้าย ถนนหนทางข้างบนนี้ไม่ได้ลาดยาง เป็นแต่ถนนลูกรัง บางที่มีโคลน แฉะเล็กน้อย บางที่มีฝุ่นเกาะตัวกันเยอะมากๆ ทางคดเคี้ยว ก้อนหินน้อยใหญ่นอนนิ่งอยู่บนเส้นทาง ทำให้การขับขี่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ


 


"รอด้วยๆ" เสียงตะโกนดังมาจากด้านหลัง


"เป็นอะไร เกิดอะไรขึ้น" ผมจอดรถตะโกนถามรถคันหลัง


"รถมันดับ ทางมันสูงเกิน แรงรถมันไม่ไหว" พี่ตูนบอก


 


แต่ท้ายที่สุด รถคันหลังก็สตาร์ทแล้วก็ขี่ตามหลังผมมา แล้วพวกเราก็ค่อยๆ ขับขี่ไปด้วยความระมัดระวัง


พอขับมาได้อีก 20 นาที ก็ยังไม่ถึงที่หมายเสียที


"รอด้วยๆ" เสียงตะโกนของดังมาจากด้านหลังอีกครั้ง


"เป็นอะไร เกิดอะไรขึ้น"  ผมจอดรถตะโกนถาม รถคันหลัง


"ไอ้ลี่มันแน่นหน้าอก"  พี่ตูนบอก


"แล้วทำยังไงดีล่ะ"


"ก็ไม่เป็นไร แค่บอกเฉยๆ เดี๋ยวเต้าจะเหงาไม่มีคนคุยด้วย"
ปรากฏว่าแค่อยากมีส่วนร่วมคุยกับผม เพราะกลัวผมเหงา นึกว่ามีอะไรมาก


 


3


 


ในที่สุดพวกเราทั้งสามคน ก็มาถึงโรงเรียนศรีเนห์รู ซึ่งตั้งตัวอยู่ภายในหมู่บ้านม้งขุนช้างเคี่ยน (.เมือง จ.เชียงใหม่)  บริเวณที่แห่งนี้มีชาวบ้านเชื้อชาติม้งอาศัยอยู่กันหลายร้อยครัวเรือน


 



"สวนทางกับชาวบ้าน"


 


เมื่อพวกเราค่อยๆ เคลื่อนตัวรถเข้าไปในหมู่บ้าน ก็สังเกตเห็นแววตาอันสงสัยของชาวบ้าน ประมาณว่า มาทำอะไรกัน – ผมนึกในใจสองอย่าง หนึ่งว่าคงไม่ค่อยมีใครเข้ามาในหมู่บ้านนี้บ่อย สองว่าหากจะบ่อยก็คงจะเข้ามาเพื่อมาเที่ยวชมดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านเท่านั้นแล้วก็กลับออกไป


 


ไม่น่าเชื่อว่าจะมีโรงเรียนซ่อนตัวอยู่บนดอยแห่งนี้ ผมฉงน - ทว่าอากาศที่เย็นและแสงแดดอุ่นของพระอาทิตย์ช่วยทำให้คำถามในใจลดลง และหัวใจของผมค่อยๆ เย็นลงไปด้วย เพราะไม่ได้รีบร้อนหรือใจร้อน อยากใคร่รู้อะไรมากมาย ดังนั้นพอพวกเราเข้ามาถึงในตัวโรงเรียนก็ค่อยเดินดูรอบๆ บริเวณ แล้วจึงเดินไปหาครูใหญ่ของโรงเรียน


 


"สวัสดีครับ พวกเรามาจากเครือข่ายเยาวชน พวกเราและเพื่อนๆ ในเครือข่าย อยากมาจัดงานวันเด็กที่นี้" พี่ตูนพูดกับครูใหญ่แล้วยื่นจดหมายขออนุญาตจัดงานให้


 


เมื่อฟังพี่ตูนพูดคุยกับครูใหญ่ ก็นึกถึงตอนที่ตัวเองได้เถียงกับพี่ตูนก่อนหน้าที่จะมาจัดงานวันเด็กที่นี่ ว่าทำไมต้องมาจัดงานเอาของมาให้เด็กๆ ด้วย เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรทางความคิดหรือทักษะของเด็กเลย ตอนนั้นพี่ตูนบอกว่าเราถนัดงานพัฒนาความคิดมากก็จริง แต่งานในด้านความช่วยเหลือนี้ก็เป็นงานที่น่าจะลองทำ แล้วชวนเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนที่รู้จักมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน -ประหนึ่งว่าได้ร่วมกัน ช่วยเหลือเด็กๆ ข้างบนนี้ และเชื่อมความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ และพี่ๆ ที่ทำงานทางสังคมให้รู้จัก และเข้าใจกันและกันมากขึ้น ส่วนหลังจากจัดงานวันเด็กเสร็จ ก็ต้องมาทำงานต่อกับโรงเรียนนี้ด้วย


 


ใช่, ผมเห็นด้วยว่าเมื่อจัดงานเสร็จแล้วก็ต้องกลับมาทำงานพัฒนาต่อในระยะยาว ต่อจากนี้ด้วย ไม่ใช่ทำครั้งเดียว เสร็จแล้วจากไป เราจำต้องหวังและทำมากกว่าที่คิดไว้ และที่สำคัญมันเป็นการแบ่งปันความสุขในฐานะที่เราต่างเป็นคนร่วมโลกด้วยกัน หากช่วยกันได้ ก็น่าจะลองทำดู


 


พอฟังพี่ตูนคุยกับครูใหญ่เสร็จ หลังจากบทสนทนาเริ่มแรกผ่านไป พวกเรา 3 คน และครูใหญ่ของโรงเรียนก็พูดคุยกันทั่วไปและถามไถ่เรื่องราวต่างๆ ในโรงเรียน


 


ความสงสัยแรกที่ได้รับคำตอบจากครูใหญ่ คือชื่อของโรงเรียนที่ชื่อ "ศรีเนห์รู" นั้นคือชื่อของบุคคลที่ได้มาสร้างโรงเรียนแห่งนี้ แล้วชาวบ้านก็เลยต้องชื่อตามผู้สร้าง


นอกจากนี้ครูใหญ่ยังเล่าให้ฟังว่า เด็กที่เรียนในโรงเรียนมีชาติพันธุ์คือ ม้ง ซึ่งตั้งแต่อนุบาล จนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนประมาณ 160 คน บางคนเรียนจบป. 6 ก็จะลงไปเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่ "บางคนพอลงไปข้างล่างก็ไม่ค่อยกลับขึ้นมาข้างบนอีก แต่บางคนก็ดีที่กลับมาถึงๆ วันหยุด"


 


ผมถามว่า มีไฟฟ้าใช้หรือเปล่า ครูใหญ่บอกว่า ที่นี่ใช้พลังงานจากแสงพระอาทิตย์ ส่วนโทรศัพท์ก็เป็นระบบดาวเทียม "จดหมาย ไปรษณีย์ ไม่ต้องห่วง ไม่มีใครเอามาส่งถึงข้างบนนี้หรอก แต่เราก็จะบอกกับบุรุษไปรษณีย์ว่าหากมีของโรงเรียนก็เอาไปส่งที่บ้านครูคนนี้ แล้วครูที่อยู่ข้างล่างก็นำขึ้นมาข้างบนเมื่อจะมาสอนที่โรงเรียน" ครูใหญ่บอก


 


4


 


หลังจากที่คุยกับครูใหญ่เสร็จ เตรียมวัน เวลา และการจัดการเสร็จแล้ว ผมก็ขอตัวไปเดินเล่นต่อรอบๆ โรงเรียน ที่ข้างบนนี้สามารถมองเห็นเมืองเชียงใหม่ได้อย่างสุดลูกหูลูกตา มีท้องฟ้าเป็นฉากหลัง เครื่องบินลำเล็กๆ ค่อยๆ เคลื่อนตัวบินออกจากสนามบินเชียงใหม่ บ้านหลังเล็กกระจิดชิด ตึกสูงชี้โด่เด่ตามจุดๆ


 


หากเมืองเชียงใหม่ในสายตาผม เป็นเหมือนภาพวาด ระดับครึ่งหนึ่งของสายตาที่มองก็จะเป็นสีน้ำตาล ผสมแดงเล็กน้อย ส่วนด้านบนก็จะเจือจางเป็นสีฟ้าที่สดใส ใช่ครับ – ผมจะบอกว่าเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ตึกสูงระฟ้า รถสัญจรไปมา ปกเต็มไปด้วยฝุ่นละออง มลพิษเสียๆ ทั้งนั้น และหากมองขึ้นมาอีก ก็จะเห็นชัดเลยว่าสีฟ้าของท้องฟ้านั้น ทำให้ได้เห็นถึงปริมาณละอองฝุ่น ควัน ต่างๆ ปกคลุมอยู่ทั่วเมือง, สุดลูกตาเหมือนกันเลยนะครับ


 


"เวลาฝนตกจะแจ่มใสมาก ไม่ค่อยเป็นแบบที่หนูเห็นหรอก คนที่อยู่ในเมืองไม่ค่อยรู้ว่ารอบกายตัวเองเต็มไปด้วยอะไรบ้าง เรามองอยู่ข้างบนแล้วรู้สึกสดชื่นมากกว่าหลายๆ เท่า"  ครูคนหนึ่งเดินทางดูและบอกกับผม พรางชี้นิ้วว่าอะไรตั้งอยู่ตรงไหน ตึกไหนอยู่ที่ใด โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล เห็นทั้งผังเมืองเลยก็ว่าได้


 


เราอยู่ข้างล่างกันได้ยังไงหนอ ผมถามตัวเองในใจ - -‘


 



"ดูชัดๆ เชียงใหม่ เมืองน่าอยู่"


 


5


 


มีเด็กคนหนึ่งวิ่งมาหาผม แล้วทำท่าเป็นมนุษย์ค้างคาว ปล่อยลำแสงออกมาจากตัวเอง ผมไม่งงเท่าใด เพราะบนใบหน้าเขามีหน้ากากที่ทำจากกระดาษ นำมาตัดแปะ เป็นรูปมนุษย์ค้างคาว แล้วก็วิ่งเล่นกับเพื่อนอีกหลายคน


 


เด็กชายตัวเล็ก หน้าตามอมแมม น้ำมูกไหลเยิ้มมานิดหน่อย กับเสื้อนักเรียนสีฝุ่นตลบ ยื่นกระดาษมาให้ผม "ทำหน้ากากให้ผมด้วยครับ" เขาบอกกับผม และผมก็ไม่อาจปฏิเสธท่าทีได้ จึงได้ลงมือนำกรรไกรจากมือของเด็กชายมาตัดกระดาษเป็นรูปทรงต่างๆ


 


พอของคนที่หนึ่ง เสร็จ คนที่สอง สาม สี่ ห้า ก็ทยอย นำกระดาษชิ้นเล็ก ใหญ่สลับกันมาให้ผมตัด แต่ด้วยข้อจำกัดทางเวลาที่ต้องเดินทางกลับ "ข้างล่าง" ให้ทันเวลานัดหมายคุยงานก็เลยทำได้เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น


 


"อยากได้หน้ากากดีๆ ไหม" ผมถามเด็กๆ ประมาณว่าให้ความหวังเล็กๆ


"อยากครับ ผมจะได้เอาไว้เล่นกับเพื่อนๆ บางทีอยากได้พี่ไม่ทำให้"  น้องคนหนึ่งบอก แล้วยื่นกระดาษให้ผมเพื่อให้ตัดเป็นหน้ากาก แต่ผมก็ส่ายหน้าไป เพราะต้องรีบกลับ


"เดี๋ยววันเด็ก 20 มกราปีหน้า พี่จะหามาให้นะครับ"  ผมให้คำมั่นกับเด็กๆ ที่รุมอยู่ข้างๆ แล้วโบกมือลาน้องๆ


 


เพียงแค่หน้ากาก ก็ทำให้เด็กๆ มีความสุข แม้ว่าเบื้องหลังหน้ากากจะเป็นหน้าตาที่มีเหงื่อไคล แต่นัยน์ตาของเด็กๆ ก็บอกว่าเขามีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่เพียงใด


เสื้อไม่ต้องสะอาด กางเกงที่ขาดนิดๆ หน้าแข้งที่มีฝุ่นเกาะ ผมที่ไม่ค่อยเรียบร้อย – เป็นวิถีง่ายที่เด็กๆ เป็นอยู่ด้วยความสุขเล็กๆ จากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เขามีให้แก่กัน 

 


 



"นักเรียนในห้องเรียน"


 


6


 


พวกเรา 3 คนออกเดินทางจากโรงเรียนศรีเนห์รู แล้วเดินทางกลับไปยังเส้นห้วยตึงเฒ่า คือ ไม่ได้กลับทางเดิม แต่อยากลองสัมผัสเส้นทางสำรวจธรรมชาติแมกไม้ต่างๆ ไปในตัว


 


เมื่อขี่รถมาไกลได้สักครู่ใหญ่ๆ เจอหญิงคนหนึ่ง  ผมถาม "ไปไหนมาครับ"
หญิงสาววัยกลางคนที่กำลังแบกต้นผักกาดอยู่เต็มหลังก็ตอบว่า "ไปสวนมา"


"จะไปไหนครับ"


"ไปหมู่บ้านขุนช้างเขี่ยน"


"เหนื่อยไหมครับ"


"เหนื่อยสิ"


 


เมื่อสนทนากันเสร็จผมคิดในใจว่า เขาคงเหนื่อยจริงๆ เพราะจากจุดที่ผมเจอเขาก็ไกลจากหมู่บ้านหลายกิโล แล้วทางก็เป็นทางลาดชันมากๆ คงจะเหนื่อยน่าดู ใจหนึ่งก็อยากกลับไปส่ง แต่ใจหนึ่งก็บอกว่าไม่ดีกว่า ให้เขาเป็นไปตามวิถีปกติของเขาดีกว่า เพราะหากไม่เจอผม เขาก็คงจะเดินเหมือนดังเคย – เหตุผลเข้าข้างตัวเองนิดๆ


 


ต่อจากเจอหญิงสาว พวกเราก็ขี่รถมาเรื่อยๆ จนสิ้นสุดระยะทางไปสู่ปลายทางห้วยตึงเฒ่า แล้วออกจากเส้นทางห้วยตึงเฒ่ามุ่งหน้าสู่ถนนหลักที่จะเดินทางกลับมาที่สำนักงาน


 


เวลาห้าโมงกว่าคือเข็มที่นาฬิกาบอกอยู่ตอนนี้ ผมไม่ทันนัดคุยงานอีกภาระหนึ่งแล้วอย่างแน่นอน
ก็ได้แต่ขี่รถไปตามเส้นทาง
มาตอนนี้ ผมก็ชำเลืองมองไปยังดอยสุเทพ-ปุย ที่อยู่ด้านข้าง แล้วคิดอยู่ในใจสามอย่าง


 


หนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่า วันนี้ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ อ้อมป่าเขาบนดอยได้ไกลเพียงนี้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้
สอง เมื่ออยู่ข้างล่างแล้ว รอบๆ ตัวก็พบเห็น สัมผัสได้ถึงมลพิษ หมอกควันดำ ที่เกิดจากความเจริญต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ เจอเสียงของรถที่แล่นไปมาในเมือง เสียงบีบแตรดังสนั่นสี่แยก อากาศร้อน อบอ้าว จากฝุ่น จากท่อไอเสีย อากาศที่ไม่ค่อยบริสุทธิ์เท่าใด ซึ่งแตกต่างริบลับจากข้างบนดอยที่พึ่งจากมา


 


"รอด้วยๆ" เสียงตะโกนมาจากด้านหลัง


"เป็นอะไรอีกล่ะ" ผมถาม
"ลี่ หายใจไม่ออก"  พี่ตูนบอก ทำหน้าตกใจ
"แน่นหน้าอกเหรอครับ" ผมถามหน้างงๆ


"เปล่า มันกลั้นหายใจ ไม่อยากสูดเอาควันพิษเข้าไปในปอด เดี๋ยวอากาศสดชื่นๆ จากบนดอยจะหายไปหมด" พี่ตูน ปล่อยมุกพร้อมเฉลย และหัวเราะเสียงดัง ส่วนลี่ก็ได้แต่ยิ้มที่มุมปาก


 


และสุดท้าย สาม วันที่ 20 มกรา ปีหน้า ผมและเพื่อนๆ หลายชีวิต (ประมาณ 40 คน) จะร่วมกันจัดงานวันเด็ก ให้กับเด็กๆ บ้านม้งขุนช้างเคี่ยนที่โรงเรียนศรีเนห์รู บนดอยสุเทพ –ปุย แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะหาสิ่งของต่างไปให้เด็กๆ ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งเสื้อกันหนาว ชุดนักเรียน หน้ากากยอดมนุษย์ หนังสือเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา หรือขนมต่างๆ


 


ซึ่งยังต้องกลับมานั่งคิดกันอีกว่า จะหาหรือระดมสิ่งของต่างๆ มาจากใครและที่ใดอย่างไรบ้าง


เมื่อมองหน้าปัดวันที่ ที่นาฬิกา ก็ต้องเตือนตัวเองว่า วันเด็กที่จะจัดงาน ใกล้เข้ามาถึงทุกขณะแล้ว…..


 


ถ้อยคำเชิญชวนทุกท่านที่ว่า  "เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน  ขอเชิญร่วมสมทบ แบ่งปันสิ่งของต่างๆ เพื่อเด็กๆ ในงานวันเด็กที่โรงเรียนศรีเนห์รู หมู่บ้านม้งขุนช้างเคี่ยน (บนดอยสุเทพ-ปุย) .ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 20 มกราคม 2550 ตามจิตศรัทธา" จึงบอกกล่าวมายังท่านผ่านข้อเขียนนี้


ปล. ติดต่อสอบถามรายละเอียดการจัดงานวันเด็กได้ที่  ประมวล โกวิทชัยวิวัฒน์ (ตูน)


โทร 081-0312731 หรือ 086-6547619 หรือ 053-244232
เลขที่ 35 .รัตนโกสินทร์ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่
(หลังโรงเรียนปริ้นรอยัลฯ) www.ncynet.org