Skip to main content

๙ วันในเมียนมาร์ วันแรกในย่างกุ้ง

คอลัมน์/ชุมชน


ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล  คุณแม่ทางธรรมของดิฉัน ได้กรุณาชวนไปไหว้พระที่พม่าเป็นเวลา ๙ วัน ๙ คืน  ระหว่างวันที่ ๔ – ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ โดยวางแผนล่วงหน้ากันมาหลายเดือน ดิฉันอยากไปเรียนรู้ชีวิตของเพื่อนบ้านมานาน แต่ไม่เคยมีโอกาส คิดว่าหมดวาระสมาชิกวุฒิสภาแล้ว น่าจะมีเวลาพอ จึงตอบรับที่จะไปร่วมทำบุญกับอาจารย์ด้วยความปลื้มปีติ โอนเงินค่าใช้จ่ายให้ผู้จัด "ธรรมะทัวร์สบาย ๆ" ไปเรียบร้อยในราคาประหยัดสุด ๆ


 


เมื่อได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ กำหนดวันประชุมสภาทุกวันพุธ พฤหัสบดี หากจะเดินทางไปเมียนมาร์ตามกำหนดการ จำเป็นต้องลาประชุม ๒ วัน ในวันที่ ๘,๙  พฤศจิกายน ๒๕๔๙


 


ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องลาประชุมตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของการทำงาน ได้ปรึกษาเพื่อน สนช.หลายท่านแล้วเห็นว่าควรไป เพราะได้เตรียมแผนไว้ก่อนที่จะเป็น สนช. แล้ว ประสบการณ์ตรงที่ได้จากการไปเยือนพม่า น่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจที่ดีและความสัมพันธ์กับเมียนมาร์ในอนาคต


 


วันศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นำคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ๕ คน แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่ ๙.๓๐ น. ถึงเวลาเกือบเที่ยงคืน โดยท่านนายก ฯ และคณะรัฐมนตรีอยู่รับฟังการอภิปรายซักถามและให้ข้อแสนอแนะของ สนช.ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยท่าทีที่อ่อนน้อมถ่อมตน เปิดใจรับฟังอย่างเป็นมิตร เมื่อท่านนายกและรัฐมนตรีตอบข้อซักถามของ สนช. ก็ตอบด้วยความสุภาพ ตอบอย่างกระชับ ตรงประเด็น ไม่ใช้เป็นโอกาสหาคะแนนเสียงนิยมทางโทรทัศน์ ดิฉันมองท่านนายกแล้วชื่นใจ เหมือนท่านเป็นพระที่นั่งอยู่ในสภาอย่างสงบสำรวม


 


นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับท่านนายก ฯ พลเอกสุรยุทธ์ และครม. ได้ร่วมกันทำหน้าที่ให้ สนช. เป็นต้นแบบที่ดีของการเป็นสภาแห่งสัตตบุรุษ ซึ่งสมาชิกทุกคนทำหน้าที่ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ด้วยปัญญา ด้วยความกตัญญูต่อแผ่นดิน ต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก โดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว


 


ความตั้งใจที่จะออกจากห้องประชุมประมาณ ๔ ทุ่ม เพราะเช้าวันเสาร์ที่ ๔ ต้องออกเดินทางไปขึ้นเครื่องบินแอร์เอเชียจากสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ตีสี่  จึงเป็นอันพื้นไป อยู่จนประธาน สนช.ปิดการประชุมตอนใกล้เที่ยงคืน


 


โชคดีที่ดิฉันเตรียมจัดกระเป๋ามาจากเชียงรายแล้ว จึงไม่ต้องกังวล แม้จะเข้านอนตอนตีหนึ่ง ตื่นตีสามครึ่ง ก็อาบน้ำแต่งตัวนั่งแท็กซี่ไปสนามบินได้เลย


 


เมื่อพบศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ และคณะผู้ร่วมเดินทางไปเมียนมาร์รวม ๒๖ คน และ check in ได้บัตรขึ้นเครื่องแล้ว ก็ชวนกันไปกินข้าวรองท้องเพื่อจะได้ไม่อ่อนเพลียเกินไป


 


ห้อง Magic Food ชั้นล่างสุดของสนามบินสุวรรณภูมิมีร้านอาหารชนิดต่าง ๆ ขายโดยใช้ระบบคูปอง ดิฉันสั่งก๋วยเตี๋ยวราดหน้าทะเล จานละ ๓๕ บาท ซึ่งเย็นชืดและเหม็นคาว คงเป็นเพราะยังเช้าตรู่อยู่ ผู้ขายจึงเตรียมตัวไม่พร้อม ก็อโหสิกรรมกันไป


 


เครื่องบินแอร์เอเชียใช้เวลาบิน ๑ ชั่วโมง ๑๐ นาที ก็ถึงสนามบินย่างกุ้ง ผ่านระบบตรวจคนเข้าเมือง รับกระเป๋าแล้ว แต่ต้องรอสมาชิกกลุ่มที่มาโดยสายการบินไทย ซึ่งออกช้ากว่าแอร์เอเชียประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่สนามบินย่างกุ้งไม่มีที่พอให้นั่งรอ พวกเราจึงต้องขึ้นรถบัสออกไปรออยู่ข้างนอกสนามบิน


 


บริเวณที่จอดรถมีรถบัส รถแท็กซี่จอดอยู่นับสิบคัน ดิฉันเดินออกไปนอกรถเพื่อหาร่มไม้ให้ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ มองไปด้านขวาเห็นโรงแรมหรู มีฝรั่งเดินออกมา นุ่งกางเกงขาสั้นสบายๆ แต่ดิฉันไม่กล้าเดินไปไกลจากรถ เพราะยังไม่คุ้นเคยกับสังคมพม่า ต้องระวังตัวไว้ก่อน ให้อยู่ในสายตาของโชเฟอร์เจ้าของถิ่น เดินไปเดินมาหลายรอบ ยังไม่มีวี่แววว่าเครื่องการบินไทยจะลง นึกเป็นห่วงเพื่อนสมาชิกที่นั่งหลับกันอยู่ในรถ เพราะอากาศข้างนอกร้อนมาก คนเกือบ ๒๐ คน นอนอยู่ในรถที่จอดเปิดแอร์อยู่ น่าจะไม่ถูกสุขลักษณะ ออกซิเจนคงไม่พอหายใจ พอดีกับสมาชิกท่านหนึ่งเดินลงมาจากรถ บอกว่าทนอึดอัดอยู่ในรถไม่ไหว อากาศข้างนอกซึ่งสดชื่นกว่ามาก จึงไปชวนสมาชิกทั้งหมดลงมาสูดอากาศข้างนอก ซึ่งหลายคนบอกว่าเริ่มมึนหัว/ปวดหัวแล้ว


 


การบินไทยมาถึงล่าช้าเกือบชั่วโมง ไกด์อาสาสมัครทั้งสองสาวคือ น้องปุ๊ก (สาวไทยผู้มาปฏิบัติธรรมที่พม่าหลายปีจนพูดภาษาพม่าคล่อง นับเป็นธรรมทูตที่น่ายกย่อง) กับมะแต๊ะแต๊ะ(เพื่อนเกลอของน้องปุ๊ก) เสนอว่าใกล้สิบเอ็ดโมงแล้ว คณะเรามีแม่ชีมา ๒ ท่าน จึงขอปรับแผนเป็นไปทานอาหารกลางวันก่อน แล้วจึงไปไหว้พระตามกำหนดการเดิม


 


เราไปกินที่ร้านอาหารพม่าแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นร้านดังประจำย่างกุ้งชื่อร้าน AUNG TUKKHA (ร้านนายสุข) มีลูกค้าหนาแน่นตลอดเวลา หน้าร้านมีอ่างพร้อมสบู่ให้ล้างหน้าล้างมือ คณะเราจองที่ไว้ชั้นบน มีโต๊ะไม้ตัวเตี้ยชนิดที่ต้องนั่งบนพื้น ตั้งไว้นับสิบโต๊ะ


 


อาหารที่ร้านจัดให้ฟรีทุกโต๊ะคือ น้ำพริก ผักลวก ผักสดกับแกง ๑ ถ้วย ซึ่งจะเติมเท่าไรก็ได้ ข้าวสวยไม่คิดราคาเป็นจานหรือเป็นหม้อเติมเท่าไรก็ได้ ส่วนกับข้าวเป็นจานมีหลายอย่างทั้งเมนูปลา หมู ไก่  ราคาไม่แพงสำหรับชาวไทย


 


กินข้าวเสร็จสมาชิกต้องใช้บริการห้องน้ำ ซึ่งมีแค่ห้องเดียว ใช้ทั้งหญิงและชาย ต้องต่อคิวกันยาว ซึ่งห้องน้ำอยู่ติดกับห้องครัว ได้รับไอร้อนจากเตาไฟเป็นของแถม  เหมือนเข้าเตาอบ จึงใช้เวลาในห้องน้ำกันอย่างรวดเร็ว แม้กระนั้นก็ยังเหงื่อซึม


 


อิ่มท้องแล้วไกด์อาสาพาไหว้พระเจดีย์โบดาทาว (BODATAUNG PAGODA) ที่บรรจุพระเกศาธาตุและสักการะขอพรกับเทพทันใจ แล้วไปไหว้พระพุทธรูปเช้าทัดจี พระปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดมีพระพักตร์งดงามมาก


 


แสงไฟจับต้องพระพักตร์พระปางไสยาสน์ทำให้เห็นเสมือนแววตากับพระโอษฐ์ที่แย้มยิ้มชวนให้เกิดความอิ่มเอิบใจ


 


เจ้าหน้าที่วัดชี้ให้ไปยืนตรงมุมที่จะถ่ายภาพของพระพุทธรูปได้งดงาม จึงได้ภาพประทับใจมาฝากท่านผู้อ่านเพื่อเป็นสิริมงคล เพื่อเตือนให้ทุกคนได้เจริญสติ ให้มีจิตผ่องใสประภัสสรในทุกขณะที่ทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน


 


ทั้ง ๒ วัดนี้ดิฉันตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นชาวพุทธในพม่า พากันมาทำบุญที่วัดกันมากมาย ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นที่เป็นพ่อแม่และรุ่นลูกรุ่นหลาน


 


ผู้ชายเกือบทั้งหมดนุ่งโสร่งผ้าฝ้าย พับปมไว้ที่ด้านหน้า สวมเสื้อพื้นเมืองบ้าง เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืดบ้าง ส่วนผู้หญิงนุ่งซิ่นผ้าฝ้าย เสื้อพื้นเมือง รวบผมเกล้ามวยหรือถักผมเปีย ปล่อยผมยาวสยาย เป็นเครื่องแต่งกายที่เรียบง่าย ประหยัดและพอเพียงจริงๆ


 


เครื่องสักการะที่ใช้ทำบุญคือ มะพร้าว กล้วยทั้งหวี (แทนนิ้วมือที่ประนมไหว้) น้ำ ขนมหวาน กับดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวง โดยไม่ได้ประดิษฐ์ตกแต่ง ไม่มีสิ่งที่เป็นเนื้อสัตว์หรือเครื่องดองของเมาใดๆ


 


ดอกไม้ที่ใช้บูชาคือดอกว่านมหาหงส์ กลิ่นหอมเย็น ที่ชาวอาข่ามักจะปลูกไว้ประดับหมวกเงินของผู้หญิง ดอกพุทธชาด ดอกมะลิก็มีบ้าง ขายพวงละ 500 จั๊ด (คณะธรรมะทัวร์แลกเงินไทยได้ในอัตรา ๑ บาท ต่อ ๒๙ จั๊ด เราจึงคิดอัตราแลกเปลี่ยนกันง่ายๆว่า จำนวนจั๊ดหารด้วย ๓๐)


 


หลังอาหารเย็นเราไปไหว้พระธาตุชเวดากอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันดับหนึ่งของชาวพม่า ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะเมีย


 



พระธาตุชเวดากอง


 


ไกด์อาสาเล่าว่าวันนี้กับพรุ่งนี้ เป็นวันหยุดสำคัญทางพุทธศาสนาของชาวพม่า เพราะเป็นวันเพ็ญเดือน ๑๒ ผู้คนจึงหอบลูกจูงหลานไปทำบุญกันเนืองแน่น


 


พระเจดีย์ชเวดากองสีทองสุกอร่าม กระทบแสงจันทร์วันเพ็ญที่ลอยเด่นบนท้องฟ้ากระจ่างใส รอบๆพระเจดีย์องค์ใหญ่มีพระเจดีย์องค์เล็ก และพระพุทธรูปปางต่างๆทั้งปางสมาธิ ปางยืน ปางไสยาสน์ ทุกองค์มีพระพักตร์แย้มยิ้มงดงาม รวมทั้งพระประจำวันเกิดทั้ง ๗ วัน ที่สาธุชนจะมาสรงน้ำพระประจำวันเกิดกัน


 


ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ  สุจริตกุล นำสมาชิกธรรมะทัวร์นั่งสวดมนต์และเจริญสมาธิภาวนา ที่ลานอธิษฐาน ซึ่งมีแท่นให้บูชาดอกไม้และธูปเทียนอยู่ข้างหน้า มีชาวพม่านั่งสวดมนต์ นับสร้อยลูกประคำกันอยู่จำนวนมาก แล้วต่อด้วยการเดินจงกรมประทักษิณ สักการะแด่พระธาตุชเวดากอง ๑ รอบ


 


การขึ้นลงเพื่อนมัสการพระธาตุชเวดากองต้องใช้ลิฟต์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยบริการปิดเปิดตลอดเวลา


 


ชาวต่างชาติต้องซื้อบัตรเข้านมัสการพระธาตุราคา ๕ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดสติ๊กเกอร์สีเขียวให้เป็นสัญลักษณ์ว่าชำระเงินแล้ว


 


จบวันแรกในย่างกุ้งด้วยความชื่นใจที่ได้เห็นศรัทธาอันเต็มเปี่ยมในพระพุทธศาสนาของชาวพม่า ซึ่งเข้าวัดในฐานะที่เป็นโรงมหรสพทางวิญญาณ เป็นรมณียสถาน นับว่าพุทธศาสนิกชนชาวพม่ามีบุญที่ไม่ถูกกระตุ้นให้เสพสุขทางวัตถุ ด้วยนโยบายของรัฐให้มีเงิน ความร่ำรวยเป็นเป้าหมายของชีวิต ด้วยกระแสบริโภคนิยม ดังที่ไทยเคยผิดพลาดมาแล้ว แต่ได้เสพสุขทางธรรมะที่ได้ความสงบเย็นอย่างลึกล้ำ ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา


 



พระธาตุอินทร์แขวน


 


วันที่สองคณะธรรมะทัวร์เดินทางไปเมืองหงสาวดี (พระโค) เพื่อนมัสการพระธาตุอินทร์แขวน เห็นเด็กนักเรียนทาหน้าด้วยแป้งทานาคา ถือปิ่นโตใส่อาหารไปกินกลางวัน สะพายย่าม เห็นร้านขายท่อนทานาคา กับแท่นหินสำหรับฝนทานาคาไว้ทาใบหน้า ซึ่งจะเล่าตอนต่อไปค่ะ