Skip to main content

ค้ำโลก?

คอลัมน์/ชุมชน

ผงาดง้ำค้ำโลก  โดย พาราด็อกซ์


 


ชีวิตมันท้อ มันหด มันย้อย มันเสื่อม มันถอย


มันเบื่อและทรมาน มันทุกข์ทรมาน


ชดใช้ชีวิตไปกับความเหงา


เป็นอย่างคนแพ้ ไม่ผ่อน ไม่คลาย... มันไม่คลาย...


 


ทนไม่ไหว (get away, get away,


get away, get away out)


อย่าให้เฉาตาย...โว้ว...โฮว...


 


บุกบั่น มันให้สู้ อย่าอ่อนล้า


อย่าเหี่ยวจนโทรมแต่งไม่เป็นป่อง


สูบฉีดเติมชีวิต ก็สู้ให้ผงาดง้ำ


หยัดยืนบนโลกให้สุดแรง


 


จะล้มจะลุก จะแหลกจะเหลว จะขื่นจะขม


ต้องอึดต้องทน... ยังไม่ตาย...


จะเนรมิต ชุบชีวิต กระตุกความฟิต


ให้ปึ๋งปั๋งดึ๋งดั๋ง ขึงขังทุกธาตุ ให้ชีวิตมีพลัง


 


จงเข้มแข็ง (get away, get away,


get away, get away out)


อย่าให้เฉาตาย...โว้ว...โฮว...


 


บุกบั่น มันให้สู้ อย่าอ่อนล้า


อย่าเหี่ยวจนโทรมแต่งไม่เป็นป่อง


สูบฉีดเติมชีวิต ก็สู้ให้ผงาดง้ำ


หยัดยืนบนโลกที่มันโหดร้าย


 


จงเข้มแข็ง (get away, get away,


get away, get away out)


อย่าให้เฉาตาย...โว้ว...โฮว...


 


บุกบั่น มันให้สู้ อย่าอ่อนล้า


อย่าเหี่ยวจนโทรมแต่งไม่เป็นป่อง


สูบฉีดเติมชีวิต ก็สู้ให้ผงาดง้ำ


หยัดยืนบนโลกให้สุดแรง


 


บุกบั่น มันให้สู้ อย่าอ่อนล้า


อย่าเหี่ยวจนโทรมแต่งไม่เป็นป่อง


สูบฉีดเติมชีวิต ก็สู้ให้ผงาดง้ำ


หยัดยืนบนโลกที่มันโหดร้าย


 


(เนื้อร้องก๊อปมาจากhttp://www.siamzone.com/music/thailyric/index.php?mode=view&artist=!!bed2c3d2b4e7cda1abec&song=!!bca7d2b4a7e9d3a4e9d3e2c5a1  และลองร้องคาราโอเกะได้ที่http://www.youtube.com/watch?v=QPgGb96IJe4)


 


อนุสนธิจากคำขอของคอลัมนิสต์รุ่นเยาว์ที่เข้ามาอ่านบทความที่แล้ว เลยเอาเพลงที่ท่านนั้นขอมา มาแปะไว้ ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกว่าเพลงร่วมสมัยหาฟังได้ง่ายกว่าเพลงเก่า (ที่ผู้เขียนพอฟังได้) อย่างมากมาย แถมมีมิวสิควิดีโอคาราโอเกะด้วย แต่ว่าเรื่องภาษาและความหมายของเพลงนั้นฟังแล้ว บอกได้เลยว่าเห็นช่องว่างระหว่างวัยแบบชัดๆ และไม่น่าสงสัย เรียกได้ว่าอย่าคิดว่าจะมามองทางเดียวกันเลย เอาเป็นว่าเหมือนกับ "ทางใครทางมัน" น่าจะเหมาะกว่า


 


เพลงที่ยุให้สู้อย่างเถื่อนๆ แบบนี้ คงไม่มีวันได้ฮิตได้ง่ายในโลกสมัยผู้เขียนหรือก่อนหน้า เพราะการสู้ของโลกก่อนหน้านี้ มองว่าสังคมมาก่อน และสังคมไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่คนในสังคมบางกลุ่มที่เลวร้าย แต่ต้องมีการพิทักษ์สังคมร่วมกันจากคนอีกหลายกลุ่ม ในเพลงใหม่นี้เน้นว่าโลกเลวสังคมเลว แล้วเราจะเอาตัวรอดอย่างไร จึงไม่แปลกใจเลยที่คนรุ่นใหม่มักได้มองอะไรแบบ "โลกหมุนรอบตัวกู" มากกว่า "โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์"


 


ผู้เขียนตอนนี้เริ่มปลงได้มากกับเรื่องการมองโลกของคนรุ่นใหม่โดยทั่วไป ไม่ได้บอกว่าเขาผิด แต่มองว่าพวกเราคนแก่ต่างหากที่สอนพวกเค้าได้อย่างเลวร้าย จนออกมาเป็นแบบนี้ อย่างไรก็ตามเพลงเดียวก็คงไม่ใช่ตัวตัดสินสังคมคนยุคใหม่ทั้งหมด เพียงแต่ว่ามันสะท้อนให้เห็นภาพที่เป็นจริงส่วนหนึ่ง และก็ไม่ได้บอกว่าคนรุ่นเก่าจะไม่ใช่พวก "โลกหมุนรอบตัวกู" เพราะก็เห็นกันอยู่ทุกวัน ตั้งแต่คนที่อยู่ในสังคมที่ต่ำสุดจนถึงสังคมที่สูงสุดของสังคมไทย เพียงแต่แยบยลกว่าเพราะอยู่นาน ทำให้มีการเคลือบฉาบไว้แยะหลายครั้งกลายเป็น "สัจธรรมทางสังคม" ไปเลย เศร้าจริงๆ


 


ผู้เขียนยอมรับว่าคนรุ่นใหม่หลายคนมองโลกแบบ "ไม่ซับซ้อน" มากกว่ารุ่นเก่าๆ ในหลายเรื่อง เช่นการมองว่าความสำเร็จคือการมีวัตถุ มีเงิน และเกียรติยศหน้าตา และสามารถโดนกล่อมอะไรได้ง่ายกว่าในเรื่องของความสำเร็จที่สำเร็จรูป ตัวอย่างเช่น วิธีที่จะจูงใจเด็กให้เรียนหนังสือได้ในปัจจุบันต้องบอกว่า "วันหน้าคุณจะเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ" ในขณะที่สมัยก่อนอย่างมากเราก็จะได้ยินว่า "จะได้เป็นเจ้าคนนายคน" แต่ก็ยังมีการมาเบรกกันว่า ถ้าทุกคนเป็นเจ้าคนนายคนหมด ใครจะทำงานอื่นๆ กัน


 


ปัจจุบันเราพยายามให้ทุกคนเป็น "ผู้บริหาร" ไม่มีใครอยากเป็น "ผู้ถูกบริหาร"  และเพราะการใช้วาทะที่เน้น "ฝัน" เรื่องความสำเร็จ ทำให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัว แต่น่าเสียดายเมื่อผู้เขียนกล่าวต่อไปว่า "ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย" หลายคนทำหน้าเหรอหรา ถามต่อไปว่าแล้วอะไรที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคม" หลายคนนึกไปว่าต้องเสียภาษีและไม่เป็นโจร ซึ่งถูกในระดับหนึ่ง แต่ไม่เคยมีคนนึกถึงคำว่า  Civic Mind ถ้าแปลในสมัยก่อนคือการทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ซึ่งจุดนี้เราต้องสอนให้มากขึ้น ปัจจุบันสอนยากขึ้นเพราะผู้ใหญ่เองก็เลว ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีนักต่อคนรุ่นใหม่


 


ดังนั้น ถ้าหันกลับมามองภาพอีกทีก็จะเห็นภาพที่เรียกว่า "ความสำเร็จ" ของคนรุ่นใหม่ผูกกับการสร้าง "อัตตา" ของตนเองให้แก่กล้าแต่ไม่ได้มองว่า "อัตตา" ตนเองถ้าใหญ่คับฟ้า มันก็จะไปทับอัตตาของคนอื่นๆ ซึ่งจุดนี้ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จำได้ว่าตอนที่เรียนที่สหรัฐฯ มีเพื่อนซี้ฝรั่งนั่งนินทานักเรียนไทยให้ฟังแบบเหยียดๆ ว่า นักเรียนไทยที่ไปเรียนนั้นเพลิดเพลินกับความเป็นอภิสิทธิชนมากเกินไป จนมาเมืองนอกแล้วทำใจไม่ได้ มีอาการช็อคทางวัฒนธรรมหลายคน หลายคนหยิ่งใส่กันหรือใส่เจ้าหน้าที่ของภาควิชา (หลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทย) แต่กลัวอาจารย์ฝรั่งหงอ (บางคนก็ตรงกันข้ามหือใส่อาจารย์ฝรั่ง ทำให้จบช้าหรือไม่จบไปเลยก็พอมี)


 


เพื่อนคนนี้บอกว่า "การเรียนเก่ง หรือมีตำแหน่งทางสังคม หรือได้รับเลือกมาเรียนที่อเมริกา ไม่ได้ทำให้คนพวกนี้เป็นเทวดา แต่ต้องมองว่าโอกาสแบบนี้เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในสังคมประเทศด้อยพัฒนาที่ไม่มีจะกินหรือยากจนได้เสียสละโอกาสของพวกเค้าในด้านอื่นๆ เพื่อให้พวกที่เรียกตนเองว่าคนเรียนเก่งนี้ได้มาชูคอที่อเมริกาและเตรียมกลับไปชูคออีกทีที่บ้านเกิดหลังเรียนจบ ในทางตรงข้ามคนเหล่านี้ต่างหากมีหน้าที่ต้องรับใช้สังคม ไม่ใช่เอาเปรียบสังคมหรือดูดทรัพยากรจากสังคม"


 


ผู้เขียนฟังแล้วขนลุกซู่ จากวันนั้นจนวันนี้ คำพูดอันนี้ไม่ได้หายไปจากสมอง เป็นเวลากว่า 13 ปี ดีใจตรงที่ว่าเป็นทุนส่วนตัว ถือเป็นพระคุณของพ่อแม่ แต่ก็รู้ดีกว่าการที่พ่อแม่มีเงินได้ก็เพราะสังคมไทยเปิดโอกาสให้ทำมาหากิน อันนี้ถือเป็นหนี้ที่ผู้เขียนติดอยู่กับสังคมไทย และในทางสำนึกถือเป็นหน้าที่ที่ต้องชดใช้  อย่างไรก็ตามก็ต้องบอกด้วยว่าได้ติดหนี้สังคมอเมริกันด้วยที่ได้ให้ผู้เขียนไปเรียน แม้ค่าเรียนจะแพงในสายตาของคนไทยก็ตาม  ค่าเรียนเหล่านั้นไม่ใช่ค่าเล่าเรียนที่แท้จริงซึ่งสูงกว่าที่จ่ายไปนั้นไม่น้อยกว่าสามเท่า (เช่นจ่าย5.000 เหรียญต่อเทอม ต้นทุนจริงคือ ราวๆ 15.000เหรียญ) ดังนั้น คนที่เรียนจบมาจากสหรัฐฯเองก็ควรจะมองเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐในสหรัฐฯ ส่วนที่เรียนสถาบันเอกชนก็ต้องมองด้วยว่าเพราะสถาบันเหล่านั้นถูกยกเว้นภาษี จึงมีต้นทุนลดลง ทำให้ค่าเล่าเรียนไม่แพงมากเกินไปจนจับไม่ได้


 


ผู้เขียนกลับมาเมืองไทยคราวนี้ ได้เห็นภาพ "คนดัง" ในสังคมไทยที่โหนกระแสมากมาย น่าแปลกมากที่สื่อในสังคมไทยก็ได้เรื่องจริงๆ ไม่ว่าสื่อในกระแสหรือนอกกระแสก็ชอบเหลือเกิน สื่อในกระแสก็ชอบเขียนว่า "คนดัง" นี้เป็นลูกใครหลานใคร ได้ทุนโน่นนี่ ทั้งๆ ที่หลายทุนนี่ก็มาจากภาษีทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้น ซึ่งก็ดีที่มีคนเก่ง แต่อย่าสร้างกระแสว่าการได้ทุนคือการได้อภิสิทธิ์ทำให้กลายเป็นเทวดา  (หลายๆคนที่ได้รับทุนเป็นพวกคุณขอมาก็แยะ) ส่วนกลุ่มนอกกระแสก็เชียร์กันเองเช่นกัน กลายเป็น "กระแสหลัก" ของคนนอกกระแสไปอีก ส่วนคนที่หากลุ่มตนเองไม่ได้ก็เป็น "คนนอกกระแสซ้ำซ้อน" ไม่ต้องโงหัวกันเลยชาตินี้ นอกจากนี้ก็จะเห็นพวกที่ไต่เต้าจากการคนชายขอบที่ขาดโอกาส (แต่บังเอิญเป็นคนชายขอบชั้นสูง—ในบรรดาคนชายขอบเองก็มีการแบ่งระดับ) ที่พกเอาปมด้อยแบบท้าวแสนปม พวกนี้ก็จะไล่บี้คนที่ตนเองคิดว่าโชคดีกว่าแล้วมีโอกาสในสังคมอย่างง่ายๆ ไม่เช่นนั้นก็ทำหน้าที่เป็นขี้ข้าผู้มีอิทธิพลอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนได้ดิบได้ดีให้เห็นกันในสังคม


 


เพราะภาพที่บ่งบอกความสำเร็จมีหลายมาตรฐานทับซ้อนตามลักษณะสังคมไทยดั้งเดิมขณะเดียวกันก็มีปัจจัยจากโลกภายนอกเข้ามาอย่างถาโถม คนรุ่นใหม่จึงมองหาตนเองไม่เจอ คนรุ่นเก่าหลายคนก็ยังคิดไม่ทัน มันจึงพังกันนัวเนีย การเป็น "คนดัง" แม้ชั่วข้ามคืนก็เป็นที่ปรารถนาของคนส่วนใหญ่แม้หลายคนจะดัดจริตบอกว่าไม่อยากดัง แต่ลึกๆก็อยากดัง เพราะเมื่อดังแล้วก็จะได้อะไรๆตามมาอีกมากมายตามกรอบของสังคมไทยปัจจุบัน


 


เพลง ผงาดง้ำค้ำโลก ในสายตาผู้เขียนคือเพลงที่บอกว่าคนรุ่นใหม่กำลังสงสารตนเอง และท้อแท้ เป็นผู้ที่กำลังจะแพ้ในสังคมที่มีการแข่งขันอย่างไร้จุดหมายและไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง คิดขนาดจะค้ำโลก แค่ค้ำตัวเองก็ยังไม่รู้จะค้ำอย่างไร ดังนั้น การสร้างภาพว่าโลกเลวร้าย เราต้องสู้กับมัน จึงต่างจากค่านิยมในสังคมผู้เขียนเด็กที่มองว่า สังคมคือสังคม แต่เราจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่แค่สอนให้เพียงแค่เอาตัวรอดเท่านั้น


 


เอาเป็นว่าหากใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน  ไหนๆ ขอมาแล้วจึงจัดให้ คงได้มีเรื่องมาถกกันอีก