Skip to main content

เสียงสะท้อนแห่งความหวังของเด็กไร้สัญชาติ

คอลัมน์/ชุมชน


สืบเนื่องจากฉบับที่แล้ว ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่า จะมีการจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในวันเสาร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๘ ณ โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา ในฉบับนี้ ดิฉันจึงมีบรรยากาศของงานวันดังกล่าวมาเล่าให้ฟังจากรายงานของคุณจันทราภา นนทวาสี ค่ะ


ช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๘ แม้จะล่วงเลยมาถึงเวลาเกือบ ๙ โมง บรรยากาศโดยทั่วไปของเมืองเชียงรายปกคลุมด้วยสายหมอกบางเบา อบอวลไปด้วยกลิ่นไอแห่งความหวัง ราวกับจะคอยต้อนรับแขกผู้ใหญ่ใจดีที่มาร่วมรับฟังเรื่องราว เพื่อร่วมผลักดันให้มีการแก้ไขตามเหตุที่แท้จริงของปัญหาเด็กไร้สัญชาติ รวมถึงผู้ใหญ่ไร้สัญชาติส่วนหนึ่ง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่งชุดตามชาติพันธุ์ของตนด้วยสีสันสดใสพากันหอบลูกจูงหลานมารอตั้งแต่เช้า


เมื่อใกล้เวลาที่นัดหมายจะประกอบพิธีเปิดงาน แขกผู้ใหญ่เริ่มทยอยกันมาที่งาน อาทิ สว.บุศรินทร์ ติยะไพรัช วรพัฒนานันท์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย สว.จอน อึ๊งภากรณ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ คณะทำงานของรองนายกรัฐมนตรี จาตุรนต์ ฉายแสง และ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร รองประธานอนุกรรมาธิการเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภา


พิธีการเริ่มด้วยการกล่าวต้อนรับโดย อาจารย์ประพันธ์ ทรรศนียากร ผู้อำนวยการโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ จากนั้น ผศ.ดร.เขตไท ลังการ์พินธุ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวรายงานการจัดงานครั้งนี้ พร้อมขอบคุณองค์กรเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา มูลนิธิกระจกเงา องค์กรสิทธิชุมชนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการพัฒนาคุณภาพชุมชนชาวเขาผู้ไร้สิทธิและสัญชาติไทย จังหวัดพะเยา องค์กรเครือข่ายเยาวชนชาวเขาสัมพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งองค์กรพันธมิตร ได้แก่ องค์การแพลนประเทศไทย ศูนย์ชีวิตใหม่ เครือข่ายนักศึกษาไร้สัญชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายที่ได้ร่วมจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติครั้งนี้ โดย UNICEF เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ


หลังรับฟังคำกล่าวรายงานแล้ว ประธานในพิธีซึ่งเดิมวางไว้ว่าจะเป็นตัวดิฉัน (สว.เตือนใจ ดีเทศน์) จึงได้เชิญให้ สว.บุศรินทร์ และ สว.จอน ให้เกียรติเป็นประธานร่วมเปิดการจัดงานในวันนี้ พร้อมทั้งกล่าวอวยพรแก่เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมงาน






จากนั้นเป็น เวทีภาควิชาการเรื่อง "เสียงสะท้อนจากเด็กไร้สัญชาติ" โดยตัวแทนเด็ก ๆ ไร้สัญชาติ ๙ คน คือ นางสาวเฮือน การะ และนางสาวอารีวรรณ ใจปิง ตัวแทนชนเผ่าลัวะ จากกิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา นางสาวไม้ แซ่เล้า และนางเด้ง งานธนสัญญา ตัวแทนชนเผ่าม้งจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นายเอ๋เสี่ยว แซ่พ่าน นางสาวหมวงจ้อย แซ่พ่าน และนางสาวฟามโฟ แซ่พ่าน ตัวแทนชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) จากอำเภองาว จังหวัดลำปาง เด็กชายเรวัติ นามหงษ์ ตัวแทนชนเผ่าไทยใหญ่ จากอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และนางสาวสุลี อุ่ยแม ตัวแทนชนเผ่าอาข่า จากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ดำเนินรายการโดย คุณสรินยา กิจประยูร และคุณชุติ งามอุรุเลิศ ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในเรื่องของคนไร้สัญชาติต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน


เนื้อหาโดยรวมของเสียงสะท้อนจากเด็ก ๆ ก็แบ่งได้เป็น ผลกระทบในด้านสิทธิต่าง ๆ เช่น ตัวแทนเด็กทั้งหมดกำลังศึกษาอยู่ในระดับต่าง ๆ กันไป ไม่สามารถกู้ยืมเงินทุนจากรัฐบาลได้ เด็กบางคนแม้จะมีความสามารถพิเศษในด้านกีฬา ก็ไม่อาจเป็นตัวแทนไปแข่งขันนอกพื้นที่ควบคุมเพราะเดินทางออกนอกพื้นที่ไม่ได้ เด็กไม่สามารถเข้าเรียนหลักสูตรที่ตนเองสนใจ เช่น หลักสูตร รด. (รักษาดินแดน) นอกเหนือจากนั้นตัวแทนเด็กไร้สัญชาติทุกคนต่างได้รับผลกระทบร่วมทางจิตใจ ถูกตั้งข้อรังเกียจว่าไม่มีสัญชาติ แตกต่างจากเพื่อน ๆ บางคนถูกกีดกันออกจากกลุ่ม บางคนถูกถากถางด้วยวาจา ทำให้รู้สึกน้อยใจและแปลกแยกจากสังคม




ในช่วงท้ายของเวทีเสียงสะท้อนจากเด็กไร้สัญชาติ คุณสรินยา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผลกระทบที่เด็กไร้สัญชาติได้รับ จะทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นตามอายุของเด็ก เห็นได้ว่า ในกรณีของเด็กชายเรวัติ ซึ่งยังเป็นเด็กที่เรียนระดับประถมศึกษา จึงยังไม่ค่อยประสบปัญหาและไม่วิตกกังวลกับความไร้สัญชาติของคน ผิดกับกรณีของนายเอ๋เสี่ยว ซึ่งศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง) ซึ่งเผชิญกับผลกระทบมากมาย และยังต้องคำนึงถึงอนาคตข้างหน้าของตนเองที่จะเรียนจบและเข้าทำงานโดยที่ยังเป็นบุคคลไร้สัญชาติอยู่


เสร็จจากเวทีวิชาการเสียงสะท้อนจากเด็กไร้สัญชาติ เวทีในส่วนกลางก็เปิดให้เป็นกิจกรรมภาคบันเทิง มีการแสดงจากตัวแทนเด็กขององค์กรเครือข่ายที่ร่วมมือกันในการทำงานผลักดันเรื่องราวของคนไร้สัญชาติมาอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง รวมถึงการแสดงจากองค์กรพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแสดงในฐานะของชนเผ่าต่าง ๆ อาทิ ฟ้อนนกที่สวยงาม สีสันสดใสจากเด็กหญิงชาวไทยใหญ่จากอำเภอแม่อาย การเต้นรำที่สื่อวิถีชีวิตของชนเผ่าอาข่า และชนเผ่าม้ง นอกจากกิจกรรมการแสดงบนเวทีแล้ว เด็ก ๆ ที่มาร่วมในงาน ยังได้รับความบันเทิงและของขวัญของรางวัลมากมายจากการเล่นเกมตามซุ้มกิจกรรมของแต่ละองค์กร ซึ่งเป็นเกมที่ฝึกสมาธิ สร้างจินตนาการที่ได้รับการคัดสรรมาแล้วอย่างดี


"ต้นไม้แห่งความหวัง" เป็นที่ให้ผู้มาร่วมงานได้ส่งเสียงของตนด้วยการเขียนโปสการ์ดความในใจถึงนายกรัฐมนตรี มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานร่วมกันเขียนความในใจ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนถึงสภาพปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ และเรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้ลุล่วงไปในเวลาอันรวดเร็ว


การรับลงทะเบียนคนไร้สัญชาติ เป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดของงานนี้ โดยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จำนวน ๒๓ คน ที่ผ่านการฝึกอบรมและเตรียมกระบวนการกันเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถรับลงทะเบียนผู้คนจำนวนนับพันที่หลั่งไหลกันเข้ามาในบริเวณงาน เพราะกระบวนการลงทะเบียนค่อนข้างละเอียดและใช้เวลานาน ต้องกรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ อายุ วันเดือนปีเกิด และสถานที่เกิดของตนเองและบิดามารดา รวมทั้งถ่ายภาพเพื่อประกอบทะเบียน


ผลปรากฏว่า มีตัวเลขของผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น ๘๐๔ คน โดยในตัวเลขดังกล่าวนี้ ส่วนที่มีข้อมูลครบถ้วนมีอยู่ ๔๘๐ คน และอีก ๓๒๔ คน มีเฉพาะชื่อและที่อยู่ ภาพของคนไร้สัญชาติอีกจำนวนนับร้อยที่ไม่สามารถลงทะเบียนในงานวันเด็กไร้สัญชาติได้ น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีผู้คนอีกมากที่ยังรอคอยโอกาสที่จะได้รับสิทธิในการพิสูจน์ตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติที่ถูกต้องของตนเอง


ช่วงสุดท้ายของการจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร ได้เชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงาน ได้แก่ ตัวแทนภาควิชาการ คือ อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล อาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนองค์ความรู้ ให้การอบรมกฎหมายสัญชาติแก่คนทำงานและตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน คือ คุณณัฐพล สิงห์เถื่อน จากมูลนิธิกระจกเงา คุณสุริยาวุธ สร้อยสวิง จากโครงการพัฒนาคุณภาพชุมชนชาวเขาผู้ไร้สิทธิและสัญชาติไทย จังหวัดพะเยา คุณกฤษฎา ยาสมุทร จากมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากชุมชน ค้นหาแกนนำที่จะสามารถเป็นตัวแทนในการทำงานระหว่างชุมชนกับบุคคลภายนอก และตัวแทนจากโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา ซึ่งรับปากจะเป็นโรงเรียนนำร่องในการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาไร้สัญชาติของเด็กนักเรียนในโรงเรียน และดิฉัน ในฐานะตัวแทนอนุกรรมาธิการเด็กไร้สัญชาติ ในคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา โดยได้ร่วมกันขึ้นเวทีเพื่อสรุปและเสนอแนวทางที่จะทำงานร่วมกันต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมมือกันทำงานเพื่อคนไร้สัญชาติมีสถานะที่ถูกต้องและเหมาะสมกับข้อเท็จจริงของทุกคน



ปัจจัยหนึ่งของสัมฤทธิผลในงานวันเด็กไร้สัญชาติที่ได้จัดขึ้นครั้งนี้ คือ ความร่วมมือของสื่อมวลชนหลายแขนงทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ และโทรทัศน์ ที่ได้เสนอข่าวของการจัดงานครั้งนี้อย่างกว้างขวาง ทำให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของปัญหา สภาพปัญหา รวมถึงข้อเรียกร้องที่คนไร้สัญชาติต้องการสื่อกับสังคม ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกต่อไป



 


นอกเหนือจากการจัดงานวันเด็กไร้สัญชาติที่ได้ลุล่วงไปแล้ว องค์กรเครือข่ายยังมีภารกิจต่อเนื่องและเร่งด่วนอีกประการหนึ่ง คือ การแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อเด็กไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งมีข้อความดังนี้


"บุคคลที่มีข้อเท็จจริงว่า เกิดในประเทศไทย มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม และมีบิดาตามกฎหมาย หรือมีบิดาที่มิได้สมรสกับมารดา หรือมีมารดาเป็นคนเข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร หากบุคคลมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบทั้งหมดจะมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองในลักษณะที่ผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง"


แต่โดยข้อเท็จจริงเด็กเป็นคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทย และไม่ได้เดินทางอพยพจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเลย กฎหมายมาตรานี้ จึงขัดแย้งกับกับหลักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ ว่าด้วย การต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา สถานะของบุคคล ความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งหลักการของกฎหมายอาญา ที่ว่าบุคคลไม่อาจถูกกำหนดให้รับโทษทางอาญาในสิ่งที่ตนมิได้กระทำ


องค์กรเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานเรื่องเด็กไร้สัญชาติ มีความเห็นพ้องกันว่า ควรจะเสนอให้ยกเลิกมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยจะจัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอปัญหาของหลักกฎหมาย และรับฟังปัญหาของเด็กไร้สัญชาติที่มีองค์ประกอบของข้อเท็จจริงตกอยู่ภายใต้มาตราดังกล่าว รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมเวทีสาธารณะ ในวันเสาร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๘ ณ ห้องประชุม ๑๐๙ อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพายัพ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้และการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว


ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้ผู้สนใจ และติดตามสถานการณ์ของเด็กไร้สัญชาติที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมในเวทีสาธารณะตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว เพื่อร่วมเป็นพลังผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับชีวิตของเด็กจำนวนมากมาย ที่มีองค์ประกอบของข้อเท็จจริงในมาตราดังกล่าว