Skip to main content

การเพิ่มเลขโทรศัพท์มือถือเป็น 10 หลัก ฤาซ้ำรอยกรณี Y2K ?

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกำลังถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งให้เพิ่มตัวเลขเข้าไปในหมายเลขโทรศัพท์จากเดิม 9 หลักเป็น 10 หลัก            หน่วยงานดังกล่าวได้บอกถึงเหตุผลแต่เพียงว่า เพื่อไม่ให้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิดความขาดแคลน เพราะขณะนี้มีอัตราการเพิ่มที่ค่อนข้างสูง  แต่เขาไม่ได้บอกเลยว่าอีกสักกี่ปีจำนวนหมายเลขที่มีอยู่จึงจะหมดไป หรือความขาดแคลนจึงจะเกิดขึ้นจริงเมื่อใด


 


ผมลองตั้งเป็นคำถามชวนให้คิดก่อนว่า สมมุติว่าความขาดแคลนจะเกิดขึ้นจริงในอีก 5 ปีข้างหน้า แล้วทำไมจะต้องมาเพิ่มตัวเลขจาก 9 หลักเป็น 10 ให้เป็นภาระกับผู้ใช้ทั่วประเทศตั้งแต่ตอนนี้ด้วยเล่า  รออีก 4 ปีก็ยังได้


 


ภาระที่ว่าคืออะไรเหรอครับ ว่ากันง่ายๆ ก็คือภาระที่จะต้องกดตัวเลขเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะโทรผิดพลาดก็มีมากขึ้น  ยิ่งคนอายุมากๆ ยิ่งเป็นปัญหา ครั้นจะอ้างว่าผู้ใช้สามารถบันทึกไว้ในเครื่องได้  เหตุผลนี้ก็ไม่เป็นความจริงในกรณีโทรศัพท์บ้านโทรเข้าโทรศัพท์มือถือ  เป็นต้น


 


ข้อสงสัยของผมมีมากขึ้น เมื่อเขาประกาศให้เพิ่มเฉพาะเลข 8 เท่านั้น เพราะการเพิ่มอย่างนี้ไม่ได้ทำให้จำนวนหมายเลขเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด  ผมขอขยายความด้วยการสมมุติให้ง่ายขึ้น เพื่อให้คนคิดตามได้ทันดังต่อไปนี้


 


สมมุติว่าระบบโทรศัพท์เรามีเพียง 3 หลักเท่านั้น คือ เริ่มต้นจากหมายเลข 000 ถึง 999 รวมแล้วเรามี 1 พันหมายเลข เรื่องนี้ไม่ว่าท่านจะเป็นนักเล่นหวยหรือไม่ก็ตาม ก็คงเข้าใจได้ง่าย


 


คำถามก็คือว่า เมื่อเราเพิ่มเลข 8 เข้าไปอีก 1 หลัก คือจาก 3 หลักเป็น 4 หลัก กลายเป็น 8000 เป็น  8999  จำนวนหมายเลขทั้งหมดก็ยังคงเท่าเดิมคือ 1 พัน ไม่เห็นว่าจำนวนหมายเลขมันได้เพิ่มขึ้นตรงไหน


 


เขาอาจจะใช้ระบบ 10 หลักสำหรับอนาคตก็ได้  แน่นอนครับ ผมเห็นด้วย แต่ถามว่า "อีกนานเท่าใด อนาคตนั้นจึงจะมาถึง"


 


ผมใช้เวลานานหลายชั่วโมงเพื่อที่จะค้นหาเหตุผลในการสั่งการครั้งนี้จากอินเตอร์ ทั้งจากกระทรวงไอซีที  และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)  แต่ก็ไม่พบอะไรมาก


 


หนังสือพิมพ์บางฉบับได้อ้างคำพูดของคุณสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช.  บอกว่า งบประมาณที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์เรื่องการเพิ่มตัวเลขจาก 9 หลักเป็น 10 หลักสูงถึง 30 ล้านบาท แต่ในการประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้ตอบข้อสงสัยดังที่กล่าวมาแล้วเลย


 


ข้อมูลที่ผมค้นได้จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (28 กรกฎาคม 2549) ซึ่งอ้างถึงข้อมูลจากกระทรวงไอซีที(แต่ผมหาไม่พบ-ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเห็นกันชัดๆบนหน้าเว็บไซต์) ว่า  ขณะนี้ (ปี 2549) มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 33 ล้านหมายเลข ในขณะที่ปี 2546, 2547 และ 2548   มีผู้ใช้ทั้งหมดจำนวน 21, 27 และ 30 ล้านหมายเลขตามลำดับ


 


ถ้าคิดเป็นร้อยละของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เราพบว่าในปี 2547 และ 2548 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพียงร้อยละ 44  และ 48   แม้มีคนใช้โทรศัพท์เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งของประชากรทั้งหมดซึ่งมีประมาณ 65 ล้านคน (โดยมีอัตราการเพิ่มประมาณร้อยละ 1 ต่อปี)


 


คิดมาถึงตอนนี้ เรามีคำถามว่าจะต้องใช้เลขโทรศัพท์สักกี่หลักจึงจะเพียงพอที่จะบริการกับจำนวนประชากรของคนไทยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ก่อนจะตอบคำถามนี้เรามาทำความเข้าใจกับจำนวนหมายเลขของแต่ละรหัสก่อน  


 


ถ้าเราใช้ระบบตัวเลข 7 หลัก รวมกับรหัสข้างหน้า เช่น 01 อีก 2 หลัก รวมเป็น 9 หลักดังปัจจุบัน  เราสามารถจัดสรรได้ 10 ล้านหมายเลข (เทียบกับหวย 3 ตัวมี 1 พันเบอร์)


 


ปัจจุบัน นอกจากรหัส 01 แล้ว เรายังได้เปิดใช้ รหัส 06 และ 09 ด้วย แต่ละรหัสเรามี 10 ล้านหมายเลข ดังนั้น เฉพาะที่นำหน้าด้วย 01, 06 และ 09 รวมกันแล้วเรามี 30 ล้านหมายเลข


 


นอกจากนี้ เรายังได้นำรหัสของโทรศัพท์บ้านที่ยังไม่เปิดใช้ (และยังคงไม่เปิดใช้ไปอีกนาน) มาเป็นโทรศัพท์มือถือได้อีก 16 ล้านหมายเลข  เช่น ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ยังมีรหัส 071, 072, 078 และ 079  ที่สามารถเปิดเป็นโทรศัพท์มือถือได้ (และบางรหัสก็ได้เปิดไปบ้างแล้ว) ถ้าเราเปิดใช้ให้หมดจะได้หมายเลขถึง 4 ล้านหมายเลข


 


สำหรับเขตพื้นที่ภาคกลาง ก็ยังมี รหัส 031 และ 033 อีก 2 ล้านหมายเลข  สำหรับเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานได้รวมกัน 10 ล้านหมายเลข  รวมทุกหมายเลขในระบบ 9 หลักในปัจจุบันเราสามารถจัดสรรได้ถึง 46 ล้านหมายเลข


 


เมื่อกล่าวมาถึงตอนนี้  ผมลองเสนอทางเลือกให้กับทาง กทช. สองทางซึ่งแต่ละทางไม่เหมือนกับที่ทาง กทช. ได้ประกาศไปแล้ว


 


ทางที่หนึ่ง ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ จากที่กล่าวมาแล้วเรามีหมายเลขโทรศัพท์มือถืออยู่ถึง 46 ล้านหมายเลข  ปี 2549 เราใช้จริงเพียง 33 ล้านหมายเลข  คิดเป็นร้อยละที่ใช้ไปแล้วเท่ากับ 72  หรือเรายังมีหมายเลขเหลืออีก 13 ล้านหมายเลข


 


ในปีล่าสุดมีผู้ใช้โทรศัพท์เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านเลขหมาย ในขณะที่จากปี 2546 ถึง 2547 มีจำนวนหมายเลขที่ใช้เพิ่มขึ้นถึง  5.2 ล้านราย  เราจึงคาดหมายได้อย่างคร่าวๆ ว่าในปี 2550 จำนวนหมายเลขจะเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ไม่ถึง 1.3 ล้านราย ถ้าตัวเลขเป็นเช่นนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 8 ถึง 10 ปี ความขาดแคลนจริงจึงจะมาถึง


 


ทางที่สอง   ถ้าทาง กทช. เปิดใช้รหัส 08 (ซึ่งยังไม่ได้เปิดใช้ในระบบ 9 หลัก แต่เปิดเป็นระบบ 10 หลัก) แล้วตามด้วยเลข 7 หลัก รวมเป็น 9 หลัก  เราก็จะได้หมายเลขโทรศัพท์เพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านหมายเลข  ดังนั้น เมื่อรวมกับของเดิม 46 ล้านหมายเลข เราก็จะมีหมายเลขทั้งหมดเป็น 56 หมายเลข ทำให้ร้อยละของหมายเลขที่ถูกใช้ไปแล้วลดลงมาอยู่ที่  59  (แทนที่จะเป็น 72 อย่างทางที่หนึ่ง)  หรือจะทำให้เรามีหมายเลขว่างอยู่ถึง 26 ล้านเลขหมาย  ต้องใช้เวลาอีกกว่า 20 ปี สภาวะขาดแคลนที่แท้จริงจึงจะมาถึง


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นคิดเพียงคร่าวๆ เท่านั้น ถ้าจะคิดกันให้ละเอียดปัญหาจะมีความซับซ้อนมากกว่านี้ แต่ผลลัพธ์ก็ไม่น่าจะต่างไปจากนี้มากนัก 


 


ผมไม่ได้เสียดายเงินค่าประชาสัมพันธ์ 30 ล้านบาท แต่ผมรู้สึกเสียใจที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในบ้านเมืองไม่ได้ให้ความสนใจที่จะอธิบายกันด้วยเหตุด้วยผล (public reasoning) เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าใจ


 


ท่านผู้อ่านคงยังจำกรณี  Y2K ได้ไหมครับ ตอนนั้นหลายหน่วยงานทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องเสียเงินเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อของคืนสุดท้ายของปี 1999 กับวันแรกของปี 2000   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจการบิน  หลายคนไม่กล้านั่งเครื่องบินในคืนนั้น  แต่ในที่สุดชาวโลกมารู้ตัวในภายหลังว่าถูกหลอกเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม


 


การเปลี่ยนหมายเลขจาก 9 หลักมาเป็น 10 หลักครั้งนี้ ถ้าข้อมูลเป็นไปตามที่ผมค้นได้ นอกจากผู้บริโภคจะถูกหลอกซ้ำรอยกรณี Y2K แล้ว ยังเป็นการผลักภาระที่ไม่จำเป็นมาให้ผู้ใช้อีกด้วย   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดอธิบายให้กระจ่างพร้อมข้อมูลที่ครบถ้วนด้วย  เลิกคิดที่จะสั่งการผู้บริโภคจนเคยชินเสียทีเถิดครับ