Skip to main content

‘สงครามข่าวสาร’ กับหนึ่งปีที่กำลังจะผ่านไป

คอลัมน์/ชุมชน

ใกล้จะสิ้นปีแล้วนะครับ พอถึงเดือนธันวาคม ผมมักจะรู้สึกว่ามันรวดเร็วกว่าเดือนอื่นๆ เสมอ อาจจะเป็นเพราะต้องรีบเคลียร์งานที่คั่งค้าง รวมทั้งเป็นหน้าหนาวที่มืดเร็ว แต่ละวันในเดือนธันวาคม เลยดูเหมือนจะสั้นกว่าวันในเดือนอื่นๆ


 


นอกจากงานเลี้ยงปีใหม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมรอคอยในวันสิ้นปีคือ "การสรุปข่าวของหนังสือพิมพ์รายวัน" เพราะทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่ารอบๆ ตัวเรา มันเต็มไปด้วยข่าวสารมากมายจนจำกันไม่หวาดไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราสนใจ เรื่องที่อยากจำ เรื่องที่ต้องจำ เรื่องที่ไม่อยากจำ ฯลฯ พอได้อ่านสรุปข่าวที ก็ได้รำลึกเหตุการณ์ที่ผ่านไปในหนึ่งปีสักที


 


แล้วทุกวันนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นประเพณีประจำปีของบรรดาสื่อมวลชนทุกสำนักไปเสียแล้ว (ไม่เว้นแม้แต่โทรทัศน์และวิทยุ) ที่ทุกๆ สิ้นปีจะต้องมีการทำสรุปข่าวประจำปีเป็นหมวดหมู่ จำได้ว่าปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับถึงกับมีสรุปข่าวติดกัน 2 วันซ้อนเลยทีเดียว ถ้าจะให้คาดเดา ผมว่าปีนี้อาจมีบางฉบับที่ทำสรุปข่าวมากกว่า 2 วัน เพราะโดยธรรมชาติของสื่อบ้านเราแล้ว ใครเขามี ตัวก็ต้องมีมั่ง แม้โดยจุดยืนอาจจะแตกต่าง แต่วิธีการในการนำเสนอไม่ค่อยจะต่างกันสักเท่าไร


 


ว่าไปแล้ว ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์รายวันในบ้านเรา มีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ เทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้การสื่อข่าวรวดเร็วยิ่งขึ้น และเทคโนโลยีการพิมพ์ อาจทำให้ข้อผิดพลาดลดน้อยลง ความคมชัดเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในส่วนของเนื้อหาเองก็เปลี่ยนแปลงไป หลายฉบับให้ความสำคัญกับข่าวที่ "ขายได้" มากขึ้น ขณะที่ข่าวเจาะหรือการนำเสนอข่าวในเชิงลึกก็ลดน้อยลงไป


 


อย่างที่มีคนเคยเสียดสีไว้ว่า "หนังสือพิมพ์ อ่านแล้วเชื่อก็บ้า ถ้าไม่อ่านเลยก็โง่" เมื่อก่อนผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำพูดนี้เท่าไร แต่พอเวลาผ่านไปก็ชักจะเห็นว่า มันก็มีส่วนจริงไม่น้อย ช่วงหลังๆ นอกจากจะไม่ค่อยดูโทรทัศน์แล้ว ผมก็ยังอ่านหนังสือพิมพ์รายวันน้อยลงไปมาก แม้จะมีหัวสีฉบับหนึ่งที่ซื้อประจำอยู่ (ไม่ใช่หัวเขียว) แต่ก็แค่อ่านผ่านๆ ไม่ได้สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ


 


อันที่จริง พอได้ถอยห่างจากข่าวสารมาระยะหนึ่ง รู้สึกว่าจะได้มองเห็นทิศทางและวิธีการ รวมทั้งเจตนารมณ์ ของสื่อมวลชนแต่ละสำนักได้ระดับหนึ่ง ใครเชียร์ใคร ใครถล่มใคร ใครให้ความสำคัญกับสถาบันไหน และใครสนใจสังคมในแง่มุมไหน ผมคิดว่า สื่อมวลชนแต่ละสำนักถึงแม้จะมีจุดยืนอย่างไรก็ตาม แต่ด้วยสภาวะการทำงาน คนทำงานข่าว และสภาพปัจจุบัน ทิศทางนั้นก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน อย่าว่าแต่ปีต่อปีเลยครับ แค่ภายในปีเดียวกัน สื่อมวลชนบางสำนักยังเปลี่ยนทิศทางตั้ง 2-3 ครั้ง เคยยืนข้างรัฐบาล ก็เปลี่ยนไปโจมตีรัฐบาล เคยเชียร์ทหารก็เปลี่ยนไปโจมตีทหาร เคยเปิดพื้นที่ข่าวให้ภาคประชาชน ก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องการเมือง


 


นี่ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูกนะครับ เพียงแต่จะบอกว่า ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสื่อมวลชนแต่ละสำนัก หากเรามองให้ออก เราก็จะมองเห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ "ข่าว" ไม่ได้นำเสนอ รวมไปถึงอะไรหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลังการนำเสนอข่าว


 


เคยมีคนถามผมว่า ทำไมหนังสือพิมพ์บางฉบับ คอลัมน์หนึ่งเขียนด่ารัฐบาล เปิดหน้าถัดมาเขาเขียนเชียร์รัฐบาล ทั้งที่เป็นฉบับเดียวกันแท้ๆ เท่าที่ผมทราบ (ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกนะ) คือ หนังสือพิมพ์บางฉบับ เขามีนโยบายทำตัวให้เป็น "กลาง" เป็นปากเสียงให้ทุกฝ่าย คอลัมน์ในฉบับจึงต้องมีทั้งชื่นชมรัฐบาล ตำหนิแนะนำ รวมไปถึงวิพากษ์วิจารณ์


 


ถ้าถามว่า สื่อมวลชนทำอย่างนั้น แล้วจะต่างอะไรกับแสดงละครล่ะ?  อันนี้ผมไม่ทราบนะครับ แต่ถ้าถามว่า ทำอย่างนี้แล้ว เขาได้ให้ "สติปัญญา" อะไรกับคนอ่านบ้างหรือไม่? ผมคิดว่าคงมีอยู่บ้างเหมือนกันในแง่ที่ทำให้ได้คิดว่า เราไม่อาจฝากความหวังอะไรกับพวกเขาได้ นอกจากจะชั่งน้ำหนักแล้วคิดเอาเอง "เชื่อตัวเอง" ให้มากกว่าเชื่อสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้อ่าน


 


พูดอย่างนี้เหมือนกับมองสื่อมวลชนบ้านเราในแง่ร้าย แต่ผมคิดว่า ผมได้มองในความเป็นจริงที่สุดแล้ว ภายใต้วงจรทุนนิยม ความจริงก็คือว่า "ความอยู่รอดสำคัญกว่าเนื้อหา" แม้ใครจะเถียงว่ามันสำคัญเท่าๆ กันก็ตาม แต่ในฐานะสินค้าที่ต้องขาย ไม่ใช่แจกฟรี ยอดขายจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องคิดถึง ความเร็วและแรง (หรือข่าวที่ขายได้) เป็นเรื่องต่อมา เนื้อหาเป็นเรื่องท้ายสุด ฉะนั้น 2-3 ปีที่ผ่านมา คนจำนวนหนึ่งถึงได้บอกว่า อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวก็เหมือนโดนครอบงำทางความคิด ดูโทรทัศน์อย่างเดียวก็ถูกล้างสมอง แต่จะรับข่าวสารให้ครอบคลุมทุกด้านก็คงไม่มีเวลามากมายขนาดนั้น แล้วจะทำอย่างไร? นั่นนะสิ


 


เรื่องตลกที่น่าเศร้า ก็คือสื่อมวลชนบ้านเรา ถึงแม้ดูเหมือนว่าจะแย่งกันนำเสนอข่าวให้รวดเร็วและเที่ยงตรงที่สุด หลายๆ สำนักมีเว็บไซต์ข่าวของตนที่ update ตลอดเวลา หรือส่งข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือ เร็วกันชนิดนาทีต่อนาที จนดูเหมือนจะเป็น "สงครามข่าวสาร" แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละสำนักก็นำเสนอข่าวเดียวกันในเนื้อหาและแง่มุมที่แทบจะไม่ต่างกันเลย อย่างที่ว่าไปในตอนต้นว่า ใครเขามี ตัวก็ต้องมีมั่ง กลายเป็นการวิ่งแข่งเพื่อแย่งชิงมวลชน ไม่ได้วิ่งแข่งเพื่อแย่งชิงความถูกต้องและความแตกต่างในเนื้อหา


 


ไม่ใช่แค่สื่อประเภทเดียวกันเท่านั้นนะครับ แม้แต่สื่อต่างชนิดกันก็ยังใช้วิธีแบบที่คอลัมนิสต์ท่านหนึ่งเรียกว่า "มักง่าย" คือ ไม่ต้องแสวงหาข่าวที่ไหน เอาหนังสือพิมพ์นั่นแหละ มานั่งอ่านออกอากาศให้ประชาชนฟัง พอสำนักหนึ่งดัง สำนักอื่นๆ ก็เอาตามอย่างกันจนเหมือนกันไปหมด ซึ่งก็ไม่ทราบว่า จะมีประโยชน์อะไรแก่คนฟังที่ได้รับข่าวที่เหมือนๆ กันทุกช่องทาง


 


ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีและช่องทางในการนำเสนอข่าวทุกวันนี้ ไปไกลถึงขนาดเอาโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพและเสียง ส่งมาออกอากาศได้แล้ว แต่ดูเหมือนว่า วิธีคิดในการทำข่าวของบ้านเรายังไปไม่ถึงไหน นักข่าวรุ่นใหม่ ถูกสอนให้มองว่าข่าวไหน "ขาย" มากกว่าข่าวไหน "มีประโยชน์" หรือข่าวไหนตอบสนองความต้องการของต้นสังกัด มากกว่าเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน ใครที่คิดว่างานข่าวเป็นงานอิสระนั้น ตอนนี้คงไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมดเสียแล้วละครับ ในวงการมีคำพูดแรงๆ ที่ว่า นักข่าวก็เหมือน "หมาล่าเนื้อ" มีอิสระตอนเขาปล่อยให้ล่า ล่าเสร็จก็โดนล่ามปลอกคอ คุณไม่มีอิสระที่จะ "ล่า" สิ่งที่คุณต้องการด้วยตัวเอง ความน่าเบื่อของงานข่าวประการหนึ่งก็อยู่ที่ตรงนี้ หากต้องการอิสระมากกว่าเดิม ก็ต้องขยับขยายโยกย้ายไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือโต๊ะข่าวอื่นที่น่าจะมีอิสระมากกว่า หรือสำนักข่าวอื่นที่น่าจะดีกว่า ที่อยู่นานจนเบื่อ แล้วออกไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานข่าวงานเขียนเลยก็มีไม่น้อย


 


ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เคยบอกกับผมว่า เมื่อก่อนงานข่าวเป็นเหมือน "ถนนสายใหญ่แห่งการเขียน" เพราะนักเขียนสมัยก่อนมักจะเริ่มต้นทำงานข่าวไปก่อนหรือพร้อมกับการเขียนหนังสือ เพราะการทำงานข่าว จะทำให้อยู่กับกระแสสังคม ได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงของสังคม ได้ฝึกหัดทักษะในการตั้งคำถามการจับประเด็นและการเรียบเรียงสิ่งที่ได้พบได้เห็นออกมา ในจำนวนข่าวที่ทำนั้น ย่อมต้องมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนงาน นักเขียนสมัยก่อน บางท่าน แม้จะมีผลงานของตัวเองมากมายแล้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้งงานข่าวก็มี


 


แต่สภาพการณ์ตอนนี้ แตกต่างจากตอนนั้นมากแล้ว คนทำงานข่าวไม่สนใจงานวรรณกรรม คนทำงานวรรณกรรม ก็ไม่สนใจงานข่าว งานข่าวจึงขาดภาษาที่มีชีวิตชีวาแบบงานวรรณกรรม ส่วนงานวรรณกรรมก็เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าจะพูดถึงสังคม


 


วันนี้เราอาจจะมีเว็บไซต์ข่าวมากมายให้เลือกอ่าน เลือกพิจารณา แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี จึงมีคนแค่ไม่กี่หมื่นคน (ในจำนวนหลายแสนคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต) ที่ได้รับข่าวสารผ่านทางนี้ คำว่า "สงครามข่าวสาร" ทุกวันนี้ จึงไม่ใช่สงครามระหว่างสื่อแต่ละสำนักแล้ว แต่กลายเป็นสงครามระหว่างสื่อกับคนรับสื่อด้วย สื่อพยายามจะยึดพื้นที่ทางความคิดของประชาชน ส่วนประชาชนก็ต้องพยายามรักษาและพัฒนาวิธีรับและวิธีคิดหลังจากรับข่าวสารเช่นกัน


 


เบื้องหลังการนำเสนอข่าวแต่ละข่าว มีเจตนารมณ์แฝงอยู่ด้วยเสมอ หากคนรับสื่อ "เท่าทัน" ก็จะสามารถอ่านออกได้ว่า "สำนักข่าวนั้นๆ" มีจุดยืนอย่างไร แล้วเราจะเชื่อเขาได้มากน้อยแค่ไหน


 


นั่นล่ะครับ เราจึงจะไม่เป็นผู้พ่ายแพ้ในสงครามข่าวสาร