Skip to main content

สามวันในแขวงจำปาสัก (ตอนที่ ๑) ไหว้พระที่วัดพู

คอลัมน์/ชุมชน


คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้ไปศึกษาดูงานที่แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ ได้เห็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เร่งรีบ ไม่แข่งขันของพี่น้องชาวลาว ซึ่งยังมีน้ำใจและความซื่อใสบริสุทธิ์ เป็นความประทับใจ อยากเห็นความสัมพันธ์ของไทย-ลาวแน่นเฟ้นเป็นหนึ่งเดียว ทั้งในแนวนอน คือ ภาคประชาชนต่อประชาชน และระดับรัฐต่อรัฐ


วันพุธที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘ รถตู้ ๓ คันของหัวหน้าทัวร์กิตติมศักดิ์ นายสัตวแพทย์ชวลิต องควานิช ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี (ชื่อเล่นพี่ป๋อง) มารับพวกเราที่โรงแรมทอแสงโขงเจียม ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ น. เดินทางไปด่านช่องเม็ก ซึ่งใช้เวลาทำเรื่องผ่านด่านประมาณชั่วโมง แล้วตรงไปเมืองปากเซ เอาสัมภาระเข้าที่พักโรงแรมปากเซในตัวเมือง


ออกเดินทางจากโรงแรมตอนบ่ายสอง เพื่อไปที่ท่าแพ ให้รถรอคิวลงแพขนาดใหญ่ที่จุรถตู้ได้ ๓-๔ คัน ที่ท่าแพมีแม่ค้าขายข้าวโพดต้ม ถั่วแระ (ถั่วเหลือง) ต้ม และลูกตาลสด ซื้อมาแบ่งกันกิน ถึงเวลาแพออก พารถกับคนข้ามแม่น้ำไปยังหมู่บ้าน คณะ สว. แยกย้ายกันทักทายชาวบ้าน บ้างก็สนใจนั่งกินส้มตำ บ้างก็กินกาแฟลาวที่คั่วเอง บดเอง ชงด้วยถุง ใส่นมข้นหวาน แก้วละ ๔,๐๐๐ กีบ (อัตราแลกเปลี่ยน ๒๖๐ กีบ ต่อ ๑ บาท : ซึ่งพี่ป๋องแนะนำว่า การคิดเทียบค่าเงินเป็นเงินไทยให้คูณด้วย ๔ เช่น กาแฟแก้วละ ๔,๐๐๐ X ๔ = ๑๖ บาท) บ้างก็สนใจโรงกลั่นสุราพื้นบ้าน ก็แวะไปชมไปชิม แล้วสั่งซื้อสุรากลั่นแท้น้ำหนึ่ง ขนาด ๕๐-๖๐ ดีกรี


งานนี้ดิฉันพาลูกชาย (ซึ่งกำลังจะจบ ม.๖ รอผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ ชื่อลูกหว้า : บวร ดีเทศน์) ไปศึกษาเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ลูกชายทำหน้าที่ตากล้องสมัครเล่นซึ่งใช้เป็นภาพประกอบบทความนี้ ได้แวะเยี่ยมบ้านที่มีคุณยายอายุ ๗๐ กว่า กับลูกชายลูกสาว ซึ่งมีอาชีพทำขนมจีนกับน้ำยาขาย ทุกคนหน้าตายิ้มแย้มพูดคุยถามทุกข์สุขอย่างเป็นกันเอง โดยต่างฝ่ายต่างฟังภาษากันรู้เรื่องเหมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน


อีกบ้านหนึ่ง เป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ มีกาแฟชง มีน้ำตาลที่ทำจากจาวตาลห่อด้วยใบตาลแห้ง มีขี้ไต้ที่ใช้จุดเป็นเชื้อไฟเวลาก่อเตาถ่านหรือเตาฟืน นับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ดิฉันชวนลูกชายเดินไปวัดในหมู่บ้าน เห็นแม่หญิงคนหนึ่งกำลังก่อไฟและตั้งน้ำร้อนไว้ในกระทะ ถามได้ความว่า กำลังจะทำขนมเส้น (ขนมจีน) จึงชวนกันหยุดดู แล้วขอถ่ายรูป



ข้อสังเกตที่น่าห่วงใย คือ การใช้ภาชนะพลาสติกผิดประเภท เหมือนกับคนไทยที่ใช้พลาสติกที่ผลิตเพื่อใส่ของเย็น หรือของอุณหภูมิปกติ มาตักหรือใส่อาหารที่มีความร้อนขนาดเดือดหรือร้อนจัด ทำให้เกิดการละลายสารพิษ เช่น ใช้ตะแกรงพลาสติกตักเส้นขนมจีนในน้ำเดือด แทนที่จะใช้ตะแกรงอะลูมิเนียมหรือแสตนเลส ซึ่งปลอดภัยกว่า


กระทรวงสาธารณสุขไทย ควรรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาชนะให้ถูกต้อง ในการผลิตอาหารทางโทรทัศน์ เพราะการสื่อสารให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทางโทรทัศน์ไทย ถือว่าได้ส่งไปถึงพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะพี่น้องลาวรับโทรทัศน์ไทยได้เกือบทุกช่อง



โบสถ์ของวัดลาว เป็นศิลปะที่ไม่วิจิตรบรรจงมากนัก ดูงามอย่างเรียบง่าย เหมาะกับฐานะของชุมชน ต่างจากวัดไทยที่หลายแห่ง พากันสร้างถาวรวัตถุ โดยต้องเรี่ยไรจากญาติโยมกันหลายปี กว่าจะสร้างโบสถ์ซึ่งราคาว่ากันเป็นสิบเป็นร้อยล้านได้สำเร็จ แทนที่จะเน้นการทำให้วัดสงบร่มรื่นด้วยแมกไม้และสะอาดตา สมกับเป็นแหล่งสงบจิตสงบใจ และเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ใช้จ่ายเกินความสามารถที่ชุมชนจะอุปถัมภ์ค้ำชูวัดได้


เยี่ยมหมู่บ้านพอหอมปากหอมคอ ก็มาขึ้นรถตู้ไปยังวัดพู ซึ่งเป็นวัดและปราสาทเก่าแก่แบบอารยธรรมขอม ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และกำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงซ่อมแซม


ทางขึ้นวัดพูเป็นบันไดทำด้วยหินโบราณก้อนใหญ่ สองข้างทางเป็นดงจำปาลาว (ลีลาวดี) ร่มรื่นงามตา ที่เชิงบันไดมีแม่หญิงลาว ๔-๕ คน นั่งพับใบตองทำบายศรีขนาดเล็ก ปักด้วยดอกไม้พื้นบ้าน คือ ดอกรักสีขาว ดอกดาวเรืองสีทอง และดอกโป๊ยเซียนสีชมพู เพื่อให้คนซื้อคู่กับธูปเทียน นำไปบูชาพระ


อากาศเริ่มเย็นลง ผ่อนคลายความร้อนของช่วงบ่ายไปมาก คณะ สว. ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการเพลิดเพลินกับการถ่ายรูป เพราะดูจากมุมไหนก็สวย สบายตา มองจากข้างล่างขึ้นไปเห็นดงจำปาลาว หรือมองจากข้างบนลงมาเห็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ก็ดูดีไปหมด


เมื่อถึงบริเวณวัดพูแล้ว ก็มีซุ้มขายดอกไม้อีกแห่งหนึ่ง โดยแม่หญิงลาวที่มีอาวุโส นุ่งซิ่น ใส่เสื้อแขนยาว ห่มสไบ มีพระพุทธรูปเก่าแก่ให้บูชาที่กลางพระอุโบสถ กับที่ด้านริม รวมทั้งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากศิวลึงค์ที่บนพู ผู้ที่มีศรัทธาจะรองน้ำมาล้างหน้า ล้างหัว ล้างมือ แล้วอธิษฐานให้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ ชำระใจให้ใสสะอาด ปราศจากกิเลส และความขุ่นมัวทั้งปวง



ไหว้พระแล้วมาขึ้นรถ รถลงแพข้ามแม่น้ำโขง มีเรือลำเล็ก หาปลาอยู่กลางแม่น้ำ เป็นเรือพายธรรมดาที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ ช่างเป็นชีวิตที่สันโดษ เป็นมิตรกับธรรมชาติ ซึ่งหาได้ยากในประเทศทุนนิยม ที่มุ่งกระตุ้นการบริโภค การกอบโกยเอาจากเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อความร่ำรวยส่วนบุคคล และความสะดวกสบายที่เรียกว่า "ทันสมัย"


ถนนเข้าปากเซ มีฝูงวัวควายเดินข้ามถนนเป็นช่วง ๆ คนขับรถต้องคอยระวังเพื่อให้วัว ควาย ผ่านไปได้ด้วยดี


อาหารกลางวันและอาหารเย็น เป็นอาหารที่จัดให้ถูกปากนักท่องเที่ยวชาวไทย จึงคล้ายอาหารจีน เช่น หมูพะโล้ เป็ดพะโล้ ผัดผักรวม ซึ่งมีน้ำมันมาก แต่ต้มยำปลา ปลานึ่ง และลาบปลา กินกับผักสด คือ ผักกาดบ้าน แตงกวา และมะเขือพวงสด ทำให้คลายความเลี่ยนไปได้


ถนนและร้านรวงในลาวหลัง ๒ ทุ่ม ก็ดูเงียบสงบ ปิดกิจการ ไม่มีพาหนะสัญจรมากนัก พี่ป๋องเล่าว่า ชาวลาวไม่ค่อยมีกำลังซื้อ จึงไม่ค่อยมีรถยนต์ส่วนตัว คนที่ซื้อมอเตอร์ไซด์ได้ถือว่าฐานะดีแล้ว


ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว  ข้อมูลจากกรมเอเชียตะวันออก กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ (GDP Per Capita) ๓๒๘.๘๑ ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. ๒๕๔๕) และอัตราเพิ่มผลผลิตรวมของชาติ (GDP Growth) ร้อยละ ๕.๗ (พ.ศ. ๒๕๔๕)



เช้าวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๖๔๘ วันที่สองที่อยู่เมืองปากเซ ลูกหว้านัด สว.จอน อึ๊งภากรณ์จะไปเดินเล่น เวลา ๐๖.๐๐ น. ดิฉันจึงขอตามไปด้วย ผ่านวัดเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีพระเณรถึง ๑๐๓ รูป กำลังเตรียมออกบิณฑบาต ร้านชา กาแฟ ก๋วยเตี๋ยว เตรียมก่อไฟ มีร้านขายมันเทศนึ่ง กับ "ลูกยูงนึ่ง" คือเมล็ดจากฝักของต้นดอกนกยูงฝรั่ง ซึ่งคนไทยไม่ค่อยกินกัน



ขากลับเดินมาเห็นแม่เฒ่าหญิงตั้งโต๊ะอาหารเตรียมใส่บาตร ดิฉันเดินเข้าไปทักทาย พบว่า เธออายุได้ ๗๐ ปี แต่ดูสุขภาพดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เธอชวนให้ดิฉันใส่บาตรด้วย บอกว่า "จะได้ทำบุญร่วมกัน" ดิฉันจึงได้ร่วมใส่บาตร มีข้าวเหนียวจากกระติบ ลาบและผักสดใส่ถุง รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจกับเช้าวันใหม่



กลับมากินอาหารเช้าที่โรงแรมปากเซ แล้วพี่ป๋องกับผู้ช่วยอีกสองคน คือ คุณนา (กาญจนา ทองทิ่ว นักวิจัย เป็นที่ปรึกษาอาสาสมัครช่วยงานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต ซึ่ง สว.นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน) และคุณน้อย มัคคุเทศก์อาชีพชาวลาว (ซึ่งนุ่งซิ่น คาดเข็มขัดนาค สวยทุกวัน) จะพาไปน้ำตกหลีผี น้ำตกคอนพระเพ็ง และชมปลาโลมาน้ำจืดที่วังข่า ซึ่งต้องติดตามอ่านต่อฉบับหน้านะคะ ฉบับนี้ดิฉันเขียนเนื้อหาน้อย อยากให้ชมภาพกันมาก ๆ ค่ะ