Skip to main content

พอเพียง

คอลัมน์/ชุมชน

ปลายปี 2549 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป สำหรับผมมีเรื่อง "พอเพียง" เกิดขึ้นหลายเรื่อง


 


หลังวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ผมพบว่าหลังจากตัวเองและเพื่อนกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลทักษิณกันแบบมาราธอนตั้งแต่ปลายปี 48  ผลที่ได้ก็คือ รัฐบาลทหารของนายสนธิ บุญยรัตกลิน(ย้ำว่าไม่ได้เขียนผิด) ที่ให้ประชาธิปไตยแบบ "พอเพียง" กับคนชั้นกลาง


 


คนชั้นกลาง ซึ่งขณะนี้อิ่มเอมกับประชาธิปไตยแบบ "แดกด่วน" (คือไม่ต้องการให้คนชนบทใช้เวลาในการเรียนรู้การปกครองระบอบนี้ไปตามขั้นตอนของเขา ซึ่งอาจต้องมีการหกล้มบ้างเป็นธรรมดา)


 


โดยเฉพาะบรรดาพ่อแม่ที่หิ้วลูกจูงหลานเฮโลไปมอบดอกไม้และถ่ายรูปกับรถถังราวกับเป็นงานวันเด็กแห่งชาติ และนิยามว่าการยึดอำนาจด้วยอาวุธนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง แถมยังสอนให้เด็กๆ ที่เป็นอนาคตของประเทศให้รู้จักประชาธิปไตยแบบ "พอเพียง" ด้วยการลูบไล้รถถังอันเป็นที่มาของรัฐบาลทหารซึ่งทำลายสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะของประชาชน สอนลูกหลานเขาว่า หากในอนาคต ลูกเป็นทหาร เมื่อใดที่เบื่อประชาธิปไตย ก็เอารถถังออกมาวิ่งและยึดอำนาจได้ ไม่ผิด ถ้าไม่ได้ยิงใคร เพียงแต่จ่อปากกระบอกปืนเอาไว้หน้าสถานที่สำคัญจำพวกสถานีทีวีและทำเนียบรัฐบาลก็พอ


 


นักหนังสือพิมพ์บ้านเราหลายท่านขณะนี้  ก็มีประชาธิปไตยแบบ "พอเพียง" โดยอ้างว่าถ้าไม่ได้ทหารคงเกิดการนองเลือดในกรุงเทพฯ เพราะมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 20 กันยายน จะปะทะกับมวลชนฝ่ายรัฐบาลที่เข้ามาจากต่างจังหวัดอย่างแน่นอน


 


แต่พวกเขาไม่เคยถามกลับว่า รู้ได้อย่างไร ถ้าเราชุมนุมอย่างสงบและสันติ เมืองไทยจะก้าวข้ามผ่านยุคทักษิณไปเป็นประชาธิปไตยแบบมีสติปัญญาไม่ได้เทียวหรือ พวกเขาไม่มองว่า หากตำรวจหรือทหารทำหน้าที่เต็มที่ในการป้องกันผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายที่จะเกิดขึ้นไม่ให้ปะทะกันแทนที่จะ "ฮั้ว" ร่วมมือกันรัฐประหาร ประชาธิปไตยของไทยก็จะก้าวหน้าไปขนาดไหน


 


ขณะนี้ (ปลายปี 2549) หนังสือพิมพ์รายวันที่ประชาชนอ่านทุกเช้าส่วนใหญ่เชียร์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รวมถึง "รัฐบาลหุ่น" อย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่สนว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นขัดกับหลักวิชาชีพของนักหนังสือพิมพ์ที่ต้องยืนอยู่ข้างประชาชน ยึดมั่นในประชาธิปไตย ซึ่งคนรุ่นก่อนวางรากฐานเอาไว้ 


 


พวกเขาลืมไปเรียบร้อยแล้วว่า นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าพยายามและเสี่ยงชีวิตสักเพียงใดในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการคิด การเขียนตามระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยกิจการหนังสือพิมพ์ไทยเริ่มต้นก้าวแรกๆ ในสมัยรัฐบาลระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครองประเทศ (ทศวรรษที่ 2470)


 


นักหนังสือพิมพ์ใหญ่และที่ทำตัวเหมือนจะใหญ่ในค่ายผู้จัดการหลายคน ไม่ว่าจะเป็นสนธิ ลิ้มทองกุล จิตตนาถ ลิ้มทองกุล คำนูณ สิทธิสมาน สำราญ รอดเพชร  และ ฯลฯ น่าจะจำได้ที่ตนเองอ้างประโยคของกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ผู้ต่อต้านเผด็จการที่ว่า "ในเวลาสงบ ท้องฟ้าโปร่ง สว่างจ้าด้วยแสงตะวัน ใครๆ ก็แลเห็นว่าเรายืนอยู่ที่ไหน เวลาพายุกล้า ฟ้าคะนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปในอากาศ ไม่เห็นตัวกัน…ต่อพายุสงบ ฟ้าสว่าง ใครๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าเรายืนอยู่ที่เดิมและจักอยู่ที่นั่น" ได้ดี


 


ซึ่งถ้าหากทุกท่านที่กล่าวมาอ่านประวัติกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทั้งหมดโดยไม่นำมาบิดเบือนอย่างที่เป็นอยู่ ก็น่าจะจำได้ว่า "มนุษยภาพ" บทความแรกของผู้เขียนคนเดียวกันที่นำเสนอเรื่องความเสมอภาคอย่างถึงแก่น ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และ ไทยใหม่ในปี 2474 นั้น 


 


รัฐบาลที่ "ล่วงละเมิดมิได้" ในขณะนั้นได้เข้าซื้อหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ และสั่งปิดหนังสือพิมพ์ศรีกรุงแบบฉับพลันถึง 9 วัน


 


เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การเมืองไทยก็ตกสู่วังวนการแย่งชิงอำนาจไปมาระหว่างคณะบุคคลต่างๆ ซึ่งนักหนังสือพิมพ์ค่ายผู้จัดการบางคนก็ชี้ว่าการปฏิวัติที่นักประชาธิปไตยทั่วโลกยอมรับว่าเป็นการ "อภิวัฒน์" (การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่) ครั้งนี้นั้น เป็นการชิงสุกก่อนห่ามและอ้างว่ารัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญแบบ "ค่อยเป็นค่อยไป" ให้คนไทยอยู่แล้วนั้น


 


พวกเขาไม่เคยอ่านบันทึกของทูตญี่ปุ่น รวมไปถึงหลักฐานหลายชิ้นที่ระบุ ถ้าให้ฝ่ายเจ้าร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ พวกคุณก็คงไม่สามารถมีอาชีพสื่อได้อย่างเต็มภาคภูมิจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังทำการเรียกร้องให้ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" เสียอีกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา


 


กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยให้คำตอบกับสมมติฐานการถวายคืนพระราชอำนาจนี้ และเขียนถึงความรู้สึกของเขาต่อกรณีมีผู้เสนอจะให้อำนาจอธิปไตยในยุคนั้น ซึ่งถูกนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้าไปปู้ยี่ปู้ยำเสียเละเทะให้กลับไปอยู่กับคนๆ เดียวแฝงไว้อย่างยอดเยี่ยมในนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า ซึ่งเป็นนิยายที่ดีที่สุดของเขาว่า 


 


"คนพวกหนึ่ง อาจทำให้ประชาธิปไตยของเราล่มจมลง แต่ก็จะต้องมีคนอีกพวกหนึ่งมากู้มันขึ้นและทำให้กลไกของมันเดินคล่องขึ้นและดีขึ้นเป็นแน่…ไม่มีวันเสียละที่จะถอยกลับไปข้างหลัง เราหลุดออกมาจากหนองน้ำของพวกจระเข้ และเมื่อต้องเผชิญกับเสือ เราจะถอยกลับไปในป่าจระเข้อีกหรือ มันเป็นไปไม่ได้"


 


"ทางเลือกของราษฎรมีแต่ทางเดียวคือ เราจะต้องฝ่าฟันอันตรายในดงเสือและค้นหาทางออกไปข้างหน้าเท่านั้น…พวกคนชั้นสูงที่คิดว่าราษฏรจะเรียกร้องให้พวกเขาเข้ามาปกครองประเทศอีก เป็นความคิดที่น่าสงสาร เดี๋ยวนี้ราษฎรพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อพวกคนชั้นสูงปกครองประเทศ เขาปกครองเพื่อประโยชน์ของใคร เขาปกครองเพื่อประโยชน์ของสามัญชนหรือไม่ เขาปกครองเพื่อผลประโยชน์ของราษฎรทั้งในเมืองและชนบทหรือ ถ้าพวกเขาปกครองเพื่อสามัญชนจริงๆ คนทั่วประเทศก็คงจะไม่ต้องประสบความยากเข็ญเหมือนเดี๋ยวนี้"


 


"พวกคนชั้นสูงเขามีปัญญาก็จริง แต่อย่าไปหวังพึ่งปัญญาของเขาเลย เพราะโดยทั่วไปแล้ว เขาย่อมใช้ปัญญาของเขาไปในทางรักษาผลประโยชน์ของเขา และก็มีบ่อยทีเดียว ที่ปัญญาของเขาเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสามัญชน พวกคนชั้นสูงมีเพียงหยิบมือเดียว ราษฎรตั้งสิบกว่าล้าน (และตอนนี้มีกว่า 60 ล้าน-ผู้เขียน) จะยกประเทศให้พวกเขาปกครองตามอำเภอใจได้อย่างไร"


 


กลับมาที่ปัจจุบัน คงต้องคำถามว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ลืมเรื่องนี้เสียหมดแล้วกระมัง จึงยอมเชียร์อำนาจเถื่อนที่มาจากปากกระบอกปืน และยอมใช้ประชาธิปไตยแบบ "พอเพียง" (ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามาจากมาตรา 7 หรือไม่)


 


เมื่อสนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจและแต่งตั้งรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นหุ่นเชิด ซึ่งชัดเจนจากการให้สัมภาษณ์ของ พล..บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์วันที่ 14 .. 49 เมื่อถูกนักข่าวถามเรื่องยกเลิกกฎอัยการศึกว่า


 


 "คนที่บอกได้ว่าสถานการณ์ควรยกเลิกทั้งหมดหรือยกเลิกบางส่วนคือผู้บัญชาการทหารบกที่เป็นประธาน คมช. (ไม่ใช่นายกฯ ?) ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวต่างๆ ขณะนี้มีผลต่อการตัดสินใจจะยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ จะเลิกได้ก็ต่อเมื่อไม่มีอะไร หรือมีก็น้อยและคิดว่าควบคุมได้ เรื่องความมั่นคงเราก็ต้องให้เขา เรามีหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ทำงานตามที่เป็นฝ่ายบริหาร แต่เรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องของ คมช.ที่ดูแลอยู่ คือเปรียบเสมือนรัฐบาลหอยนั่นแหละ คือทำงานอย่างเดียว เรื่องความมั่นคง คมช.ก็ดูแล"


 


ซึ่งเป็นการสรุปว่านายกรัฐมนตรีตัวจริงคือนายสนธิ บุญยรัตกลิน เพียงแต่ออกหน้ามากไม่ได้เพราะประชาคมนานาชาติไม่ยอมรับรัฐบาลเถื่อนที่มาจากการยึดอำนาจ


 


ทุกวันนี้ รัฐบาลทหารใช้คำว่าพอเพียงออกมามากเสียทุกนโยบาย จนกลายเป็นประโยคฮิตติดปากคนไทย ก่อความชื่นชมอย่างใหญ่หลวงทั้งๆ ที่พวกเขาไม่รู้ว่าแนวคิดพอเพียงกับสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติทุกวันนั้นมันไปด้วยกันไม่ได้แม้แต่นิดเดียว


 


เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า "พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินรวม 25,246,091 บาท พ..หญิง คุณหญิง จิตรวดี จุลานนท์ ภริยา มีทรัพย์สินรวม 65,566,363 บาท…"


 


เอาแค่ทรัพย์สินนายกรัฐมนตรี ผมคิดไม่ออกว่า ถ้าคนไทยสักคนที่เกิดในบ้านซึ่งมีฐานะธรรมดา เติบโตและทำงานโดยสุจริตสักสิบชาติ จะหาเงินได้มากเท่านายทหารอาชีพชื่อสุรยุทธ์ จุลานนท์และศรีภรรยา ซึ่งมีทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องเพชรเครื่องพลอยรวมกันเกือบร้อยล้านได้หรือไม่


 


หรือว่าใครเป็นนายพลแล้วรวยเกือบจะร้อยล้านทุกคนจนเป็นเรื่องธรรมดา !


ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คนไทยก็คงอยากเรียนนายร้อยเพิ่มขึ้นอีกเป็นกอง


การให้ความโปร่งใสกับสังคมตรงนี้จึงสำคัญมาก


 


ผมคิดไม่ออกว่า บ้านอดีตองคมนตรีท่านนี้ "พอเพียง" ตรงไหน เพราะหลังใหญ่โต ใช้ไฟเดือนละไม่รู้เท่าไร แถมขณะที่ตัวท่านบรรยายเรื่องจำพวกพอเพียง ธรรมาภิบาล ฯลฯ  ภรรยาท่านก็ใส่ทองหยองและนาฬิกาเรือนละล้านอยู่ แน่นอน คมช. ก็อู้ฟู่ไม่แพ้กัน เดือนละแสนสำหรับค่าตอบแทนการทำรัฐประหารและดิสเครดิตประชาชนที่คิดจะแสดงออกทางการเมืองแบบนายสะพรั่ง กัลยาณมิตร


 


ตอนนี้ ดูเหมือนการที่นายกฯ และคณะรัฐมนตรี โชว์ทรัพย์สินว่ารวยแบบ "พอเพียง" คือรวยน้อยกว่ารัฐบาลทักษิณผู้ฉ้อฉลนั้น หลอกคนไทยผู้ "เบื่อหน่ายทักษิณ" และ "ลืมง่าย" ได้ชะงัด


 


อย่าเปลี่ยนประเด็น ว่าเสียสละออกมาเป็นนายกฯ เพราะคนที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเรียกร้อง ไม่เคยมีใครเรียกร้องให้ท่านมา ยกเว้นคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่กลัวโดนย้าย


 


* * * *


 



 


ปลายปี 2548 ผมถ่ายภาพนี้ได้ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง


 


คุณยายคนนี้นั่งนิ่งอยู่ที่ศาลาท่าน้ำพร้อมกับเพื่อนคู่ใจอีกหนึ่งตัว เหม่อมองนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาอย่างไร้จุดหมาย


 


ระยะเวลาห่างกันไม่กี่ปีผมพบคุณยายสองครั้งแล้ว ดูๆ ไปชีวิตยายก็ไม่ต่างกับชาวบ้านแถบตะเข็บชายแดนที่ผมเคยพบ ยากจนชั่วนาตาปี รัฐบาลไหน ใครจะรัฐประหาร ไม่มีผลกับ "ไพร่" อย่างแก


 


ผู้ปกครองบ้านนี้เมืองนี้ท่องคำว่า "พอเพียง" ขณะที่ชาวบ้านบางคนไม่มีอะไรกิน และเขาก็ไม่รู้ว่าด้วยว่าชีวิตเท่าที่เป็นอยู่ไม่พอเพียงอย่างไร และก็ไม่มีที่ดินมากพอจะให้สร้างชีวิตที่พอเพียง ทั้งยังไม่มีโชคได้รับการช่วยเหลือแบบคนบางคนที่โชคดีเจอผู้มีบุญ


 


ในสายตาของนักเดินทาง ผมไม่สามารถละเลยการพิจารณาปัญหาการเมืองของประเทศนี้ได้ เพราะมันก่อผลกระทบต่อผู้คนในที่ๆ ที่ผมเดินทางไปพบอย่างกว้างขวาง และการที่จะ "พอเพียง" จำกัดตนเองว่าต้องเขียนแต่เรื่องท่องเที่ยว  สำหรับผมนั่นไม่ต่างอะไรกับนักเดินทางตาบอด


 


ทุกวันนี้ "พอเพียง" จึงเป็นแค่เทรนด์ของชนชั้นสูง ที่ส่วนใหญ่ทำแบบผักชีโรยหน้า แต่ลับหลังอู้ฟู่กันทั้งนั้น


 


ประชาชนส่วนหนึ่งในประเทศไทยก็ยัง "พอเพียง" แบบในภาพนี้อยู่ดี