Skip to main content

สามวันในแขวงจำปาสัก (ตอนที่ ๒) ดูน้ำตกหลี่ผี คอนพะเพ็ง และปลาโลมาน้ำโขง

คอลัมน์/ชุมชน


วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๘ เป็นวันที่สองที่คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ศึกษาดูงานในแขวงจำปาสัก ซึ่งคณะจะไปเรียนรู้ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่โขงในลาว ๓ ส่วน คือ น้ำตกหลี่ผี น้ำตกคอนพะเพ็ง และชมปลาโลมาน้ำจืดที่วังข่า คือส่วนที่น้ำโขงเชื่อม ๒ ฝั่งของลาวกับกัมพูชา ด้านจังหวัดสตึงเตรัง


รถตู้ออกจากโรงแรมปากเซเกือบเก้าโมงเช้า มาตามเส้นทางหมายเลข ๑๓ ถึง กม.๔๘ มีเส้นทางแยกไปแขวงอัตตะปือ ผ่านมาอีกสักช่วง พี่ป๋องให้แวะเข้าห้องน้ำที่จุดจอดรถ มีแม่ค้าเอาของมาขายหลายอย่างทั้งไก่ย่าง ข้าวเหนียว นกย่าง เนื้อเก้ง เนื้อกวาง ตากแห้งทำเป็นเส้นยาวสักคืบ ร้อยเป็นพวง มีกล้วยปิ้งขายอยู่เจ้าเดียว พวกเราเลยพากันซื้อเพราะไม่อยากกินไก่ย่าง ซึ่งเป็นของคาวขึ้นไปกินบนรถตู้ เกรงกลิ่นจะอบอวล


ห้องน้ำสาธารณะ เป็นห้องส้วมนั่งยอง สีขาว แบบราดน้ำ โบกปูนธรรมดา แต่ก็ดูสะอาดดี ค่าใช้บริการครั้งละ ๑,๐๐๐ กีบ (๔ บาทไทย) นับว่ามาตรฐานความสะอาดดีกว่าห้องส้วมที่สถานีขนส่งรถเมล์ประจำจังหวัดของเมืองไทย ซึ่งผู้ที่ประมูลได้ มักมีแต่คนนั่งเก็บเงิน แต่คนคอยทำความสะอาดมีน้อย ไม่พอกับปริมาณผู้ใช้บริการ ห้องน้ำสาธารณะของเมืองไทย จึงถูกจัดระดับให้อยู่ต่ำสุดของโลกดังที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อสักสองปีมาแล้ว ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ควรปรับปรุงมาตรฐานความสะอาดในห้องน้ำสาธารณะทุกแห่ง และสถานที่สาธารณะทั้งหลาย เพื่อสุขอนามัยและความเจริญตาเจริญใจของทุกคนที่ได้มาพบเห็น และแสดงถึงความมีวินัย ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของชาวไทยทุกคน


รถตู้มาจอดเพื่อลงเรือหางยาวมีหลังคา ผ่านเกาะแก่งสีพันดอน (ดอนเล็กดอนน้อยกลางลำน้ำโขง ราวสี่พันดอน บางดอนใหญ่ขนาดเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน แต่บางดอนก็เล็กจิ๋วมีต้นไม้แค่ ๑-๒ ต้น) ริมแม่น้ำมีพันธุ์พืชหลากหลาย เป็นราวป่าที่ร่มรื่น บางช่วงเป็นที่พักริมน้ำแบบง่าย ๆ หลังเล็ก ๆ พวกเราหลายคนคิดว่า ถ้ามาครั้งหน้าอยากมานอนริมน้ำมากกว่าที่ตัวเมืองปากเซ


เรือหางยาวพามาส่งขึ้นบ้านดอนกะสัง ซึ่งเป็นหมู่บ้านทางผ่านไปน้ำตกหลี่ผี พี่ป๋องจัดให้เรานั่งกะบะที่ลากด้วยรถอีแต๋น ผ่านเส้นทางในหมู่บ้านไปสู่น้ำตก เส้นทางนี้ ถ้ามีเวลาเดินหรือขี่จักรยาน ก็จะได้บรรยากาศดี เห็นฝรั่งขี่จักรยานกันหลายคน บางคนก็แบกเป้เดินมาตามทาง เรียกขึ้นรถก็ไม่ขึ้น


ผ่านหมู่บ้านซึ่งอยู่บนเกาะ (ดอน) ในดงมะพร้าว หมาก และไม้ยืนต้นชนิดต่าง ๆ มีบ้านที่จัดเป็น Home Stay แขกมาพักได้ มีร้านเล็ก ๆ ริมน้ำ ขายกาแฟ น้ำผลไม้ปั่น เพื่อบริการนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง


หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคฝรั่งเศสครอบครองลาว คือ รางรถไฟ และหัวรถจักรโบราณ เพื่อจะขนไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรมีค่าจากลาวไปลงทะเล เพราะไม่สามารถใช้เส้นทางเรือได้ เนื่องจากติดที่น้ำตกหลี่ผี ซึ่งเป็นเกาะแก่งและความสูงชันเป็นด่านกั้นขวางไว้


รถจอดที่บริเวณหัวรถจักรเก่าให้เราเดินผ่านหมู่บ้านต่อไปยังน้ำตกหลี่ผี ดิฉันกับลูกชาย แวะคุยกับชาวบ้านที่นั่งบนตั่งใต้ถุนบ้าน แล้วเดินผ่านลำห้วยน้ำใส มีควายก้มลงกินสาหร่ายที่พื้นหินใต้น้ำ ริมฝั่งมีหมูตัวอ้วนถูกผูกไว้กับหลัก ดูชาวบ้านที่นี่มีฐานเศรษฐกิจพึ่งตัวเองได้ สังเกตจากทุ่งนา สัตว์เลี้ยง และลักษณะบ้านเรือนที่สร้างถาวร


ด้านหน้าน้ำตกหลี่ผี มีร้านขายมะพร้าวอ่อนลูกโต น้ำอัดลม กาแฟ และผ้าทอมือ มีจุดให้ชมความงามของน้ำตกหลี่ผีได้หลายจุด ดูตามเกาะแก่งที่เป็นฐานน้ำตก ท่าทางว่า ปีนี้ปริมาณน้ำจะน้อย ปริมาณน้ำตกจึงไม่มากนัก แต่ก็ดูสวยสมคำเล่าลือ


ถึงเวลาพอควร ก็มานั่งกินน้ำมะพร้าว (ซึ่งไม่ค่อยอร่อยเหมือนมะพร้าวน้ำหอมของเมืองไทย) แล้วเดินมาขึ้นรถลาก ลงเรือหางยาวตามเส้นทางเดิม เพื่อขึ้นรถตู้ไปน้ำตกคอนพะเพ็ง อันเป็นจุดกินอาหารกลางวันด้วย



คุณน้อย ไกด์สาวลาวบอกว่า ให้กินข้าวก่อน แล้วค่อยไปชมน้ำตก ทางร้านเตรียมเมนูปลาสดจากแม่น้ำโขงไว้ให้ รสชาติดีมาก กินเสร็จมีกาแฟเย็นตบท้าย เป็นที่ประทับใจ


จุดที่ดูน้ำตกคอนพะเพ็ง เป็นศาลาชมวิว มองเห็นน้ำตกที่ถูกเปรียบว่าเป็น ไนแองการ่า ของเอเชียอาคเนย์ได้ชัดเจน ดิฉันชอบบรรยากาศของคอนพะเพ็งที่ยังคงเป็นธรรมชาติ ไม่ถูกดัดแปลงไปจากสภาพเดิม เหมือนที่ไนแองการ่า และไม่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์มากนัก


ทางเข้า-ออก มีร้านขายของที่ระลึก คือ โปสการ์ด เสื้อยืดแสดงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของลาว/จำปาสัก และผ้าทอลาว ราคาผ้าต่อรองได้ตามสมควร


เมื่ออิ่มท้องและอิ่มใจจากคอนพะเพ็งแล้ว พวกเราเดินทางต่อไปบ้านเวินคาม เพื่อลงเรือหางยาวข้ามโขง ไปชมปลาโลมาน้ำจืด (โลมาอิระวดี) ทุกคนได้รับแจกเสื้อชูชีพ เพื่อความปลอดภัย


ถึงเกาะกลางแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นทรายขนาดไม่กว้างนักมีอาคารให้พักร่ม ทำด้วยวัสดุท้องถิ่นอยู่ ๒ หลัง เป็นเขตแดนเขมรด้านสตึงเตรัง มีเรือพานักท่องเที่ยวไปชมปลาโลมาอยู่ ๕-๖ ลำ ส่งคนขึ้นฝั่งแล้วจอดรออยู่ รวมคนที่มารอดูปลาโลมาสัก ๓๐-๔๐ คน (นั่งเรือลำละ ๕-๗ คน)


ดวงตะวันยังส่องแสงจ้าอยู่บนฟ้า ดิฉันดูท่าทางว่าบรรยากาศไม่ค่อยสงบ ปลาโลมาไม่น่าจะปรากฏตัวให้เห็นได้ง่าย ๆ มองไปยังสายน้ำแม่โขง เห็นน้ำสะอาด สัมผัสดูก็เย็น ๆ ดี จึงชวนอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สว.การุณ ใสงาม และลูกหว้า (บวร ดีเทศน์) ลงเล่นน้ำโขงกันโดยใช้ชูชีพช่วยลอยตัวด้วย


ว่ายน้ำเล่นสัก ๒๐ นาที แดดเริ่มราแสง นักท่องเที่ยวฝรั่ง ๒-๓ ลำ กลับไปแล้ว ความสงบคืนมาสู่แม่น้ำโขง ดิฉันอธิษฐานต่อเทพเจ้าแห่งแม่น้ำโขง ขอให้ได้เห็นปลาโลมา ขอให้ทุกคนที่มาอยู่ ณ ที่นี้ มีพลังกาย พลังใจ พลังปัญญาที่จะร่วมมือกับทุกประเทศในลุ่มน้ำโขง รักษาแม่น้ำโขงให้เป็นมรดกของมนุษยชาติและสรรรพสัตว์ไปอีกแสนนาน ขอให้โครงการพัฒนาทุกอย่างในแม่น้ำโขง ดำเนินไปบนพื้นฐานของความเคารพในธรรมะ ธรรมชาติ และเคารพในสิทธิของชุมชนท้องถิ่น อย่ากดขี่ อย่าเบียดเบียนกันเลย


ปลาโลมาที่แสนน่ารัก ค่อย ๆ ขยับเข้ามา จากการพลิกตัว พ่นน้ำให้เห็นที่ริมฝั่งด้านเขมร เป็นเข้ามาใกล้เกาะที่พวกเรารอดูอยู่แค่ ๒๐-๓๐ เมตร ผู้ที่เห็นพากันเฮ ด้วยความตื่นเต้นทุกครั้งไป เสียดายที่ไม่ได้พกกล้องส่องทางไกลมา จะได้ดึงภาพให้เห็นได้ชัดขึ้น


พวกเราคุยกันว่า น่าจะขออนุญาตทางการกัมพูชา มากางเต๊นท์นอนกันบนเกาะ ยามเย็นโพล้เพล้ หรือยามรุ่งเช้า น่าจะเห็นโลมาได้ใกล้ชิด โดยต้องตั้งกติกาให้ทุกคนอยู่ในความสงบ ไม่ชวนกันคุย หรือส่งเสียงเฮ เมื่อยามเห็นปลาพลิกตัวบนผิวน้ำ


ไกด์เร่งให้กลับตอนบ่ายสี่โมงกว่า ๆ เพราะถนนกลับเมืองปากเซ มีฝูงวัวควายกลับจากไร่นา เดินข้ามถนนจำนวนมาก ถ้ารถแล่นตอนค่ำอาจเสี่ยงอันตราย ระหว่างทาง รถแวะให้สมาชิกหญิงชายลง "เก็บดอกไม้" และ "ยิงกระต่าย" ข้างพุ่มไม้ เพราะไม่มีปั้มน้ำมันไว้คอยให้ความสะดวกอย่างที่บ้านเรา


การเดินทางขาไป-กลับ เกือบ ๓๐๐ กิโลเมตรในวันนี้ ทำให้สมาชิกบางท่านเกิดอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว ถามพี่ป๋อง หัวหน้าทัวร์ว่า น้ำตกตาดฟาน กับ น้ำตกฝาซ่วมที่จะไปดูพรุ่งนี้ ต่างจากน้ำตก หลี่ผี คอนพะเพ็งอย่างไร ไม่มาได้ไหม ได้รับคำตอบว่า ถ้าไม่ได้เห็นจะเสียใจ ไม่ครบสูตรของการมาแขวงจำปาสัก



เช้าวันศุกร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ ทุกคนได้ทำบุญใส่บาตรตั้งแต่หกโมงครึ่ง โดยคุณน้อย จัดข้าวเหนียวใส่กระติ๊บไว้ให้ พระสงฆ์เดินแถวมาสิบกว่าองค์ หยาดน้ำ ให้พร ก่อนคนใส่บาตร จากนั้นไกด์พาไปกิน "เฝอ" (ก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม) เจ้าอร่อยที่สุดในปากเซ แล้วก็ไปตลาดของเมืองจำปาสัก ซึ่งเป็นตลาดที่มีชีวิตชีวา แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักชนิดต่าง ๆ ปลาสดจากแม่น้ำโขงที่วางขาย มีหลากชนิดกว่าที่เห็นในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงของ เชียงแสน ทั้งขนาดก็ใหญ่กว่า ปลารากกล้วยกองพะเนิน กบเขียดตัวเล็กตัวน้อยร้อยเป็นพวง หรือวางในอ่างในถัง


อ่านเรื่องตลาดจำปาสัก และน้ำตกตาดฟาน น้ำตกฝาซ่วมในตอนจบครั้งหน้าค่ะ