Skip to main content

Grizzly Man: ถึงยังไงก็ดีใจที่ได้ทำ

คอลัมน์/ชุมชน

24 1/6


 


 


เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ใครที่เป็นขาประจำของโรงหนังในเครือลิโด้-สยาม-สกาล่า คงจำหนังสารคดีเรื่อง The Inconvenience Truth –สารคดีที่ทำให้เรารู้จักอัล กอร์ ในฐานะนักรณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อนกันได้นะครับ


 


เมื่อเวลาผ่านไปจนเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีหนังสารคดีเกี่ยวกับคนหนุ่มคนหนึ่งที่อาจจะเรียกเขาได้ว่าเป็น "นักอนุรักษ์" อีกคนหนึ่งนามว่า ทิโมธี เทรดเวลล์ (Timothy Treadwell)...หากแต่ว่าวิธีการ "อนุรักษ์" ของเขาดูจะบ้าระห่ำเข้าขั้น "อุทิศชีวิต" กว่าวิธีของกอร์หลายเท่านัก


 


วิธีที่ว่าคือการเข้าไปฝังตัวในป่าลึกของอลาสก้า เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับหมีกริซลี่ในทุกฤดูร้อนนานกว่า 12 ปี และใน 5 ปีหลังสุดของการใช้ชีวิตในป่านั้น เขาได้พกกล้องวีดิโอไปด้วย


 


เขาไม่ได้เดินทางเข้าไปในอลาสก้าอีกเลย หลังจากฤดูร้อนของปี 2002... ไม่ใช่เพราะว่าเขาเกิดเบื่อการใช้ชีวิตกับหมีกริซลี่หรอกครับ...ที่จริงต้องพูดว่าเขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะเบื่อมันอีกเลย เพราะเขากับแฟนสาวที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยได้ "อุทิศชีวิต" ของตัวเองด้วยอุ้งตีนของหมีกริซลี่ที่เขาพยายามปกป้องมัน


 


หนังที่ผมจะพูดถึงในคราวนี้ก็คือ The Grizzly Man นั่นเองครับ


 




 


แวเนอร์ แฮร์โช้ก (Werner Herzog) ผู้กำกับของหนังเรื่องนี้นำเสนอภาพของทิโมธีผ่านการสัมภาษณ์บุคคลแวดล้อมตัวเขา อย่างอดีตแฟน, คนขับเครื่องบินที่พาเขาไปส่งยังอลาสก้าในทุกฤดูร้อน, ครอบครัวของเขา ฯลฯ และความเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง อย่างเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ, เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมีกริซลี่


 


นอกจากการสัมภาษณ์แล้ว ผู้กำกับยังใช้คลิปวีดิโอที่ทิโมธีถ่ายเอาไว้ก่อนตายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่า (ถึงขนาดที่ต้องนั่งฟังเสียงที่บันทึกเหตุการณ์ที่ทิโมธีเสียชีวิตด้วยตัวของตัวเอง) พร้อมกับใส่เสียงแสดงความรู้สึกของตัวเองต่อสิ่งที่ทีโมธีทำด้วย


 


หนังทำให้เราได้เห็นถึงภาพของทิโมธีในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมของความเป็นคนรักหมีกริซลี่ถึงขั้นที่ยอมตายแทนได้ (ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายที่ในที่สุดเขาก็ตายจริงๆ), คนที่เห็นว่าทิโมธีเสียสละอย่างมากเกินกว่าที่ใครจะหาว่าเขาเป็นไอ้บ้า, ครอบครัวที่พูดถึงปูมหลังของเขา ที่อาจทำให้เขาเกลียดชังสังคมมนุษย์จนตัดสินใจหันหน้าเข้าป่าลึก, เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่มองว่าการเข้าไปของทิโมธีเป็นการเข้าไปทำลายเส้นแบ่งระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อหมีกริซลี่เอง, ผู้เชี่ยวชาญที่แสดงความเห็นว่าทิโมธี "คิดไปเอง" ว่าหมีจะถูกคนทำร้าย ไปจนถึงคนที่รู้สึกว่าทิโมธีนั้นตายเพราะแส่หาเรื่องไปยุ่งกับหมีเอง หรือแม้แต่ตัวผู้กำกับ (ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายในหนังด้วย) ก็ยังแสดงความรู้สึกว่าทิโมธีมองโลกต่างจากที่เขาคิด


 


แต่แม้ว่าความเห็นในสารคดีเรื่องนี้จะหลากหลายขนาดไหน แต่ตัวสารคดีก็ถูกนำเสนอบนพื้นฐานของความเคารพในการกระทำของทิโมธีที่ "ทำ" ในสิ่งที่ตัวเอง "เชื่อ" อย่างมุ่งมั่น


 


แม้สิ่งที่ทำอาจดูไม่เข้าท่าในสายตาคนทั่วไป แต่การตายไปกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ก็งดงามกว่าการใช้ชีวิตโดยไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร


 


ทิโมธีอาจจะคิดแบบนั้นอยู่ก็ได้