Skip to main content

เช-กอ ผืนใหม่ (1)

คอลัมน์/ชุมชน

เช วา โพ เลอ โหม่ โหม่ ทา             กื๊อ กิ โพ เลอ ป่า ป่า เท


ปวา เต่อ โอะ วี เต่อ โอะ เช เนอ แล ชุ แล จ๊อ จ๊อ เดะ เดะ


 


ผ้าขาว ขาวที่คุณแม่ทอ     ก๋วยน้อย น้อยคุณพ่อสานไว้                       


ไม่มีใครจับไม่มีใครใช้                   นางไม้ป่าเจ้าหายไปไหน


 


(ส่วนหนึ่งของเพลง เช-กอ ผืนใหม่  คำร้อง- พนา พัฒนาไพรวัลย์ ทำนอง- ชิ สุวิชาน อัลบั้ม เพลงนกเขาป่า)


 


 


 



 


ลา ปลือ เป็นเดือนแห่งความหนาวเย็น  เป็นเดือนที่มีกลางคืนนานกว่ากลางวัน เป็นเดือนที่ไม่ค่อยมีใครอยากตื่นขึ้นมาสัมผัสบรรยากาศตอนเช้าเช้าสักเท่าใดนัก


 


แม้กระทั่งพระอาทิตย์เอง ก็ยังตื่นมาทำหน้าที่สายกว่าปกติ


 


ที่ขยันที่สุด  เห็นจะเป็นหมอกและเหมย ที่ปกคลุมซ่อนหมู่บ้านในป่าสนเอาไว้จนไม่สามารถมองทะลุเห็นอะไรได้  อีกทั้งเกล็ดน้ำค้าง (แม่คะนิ้ง)  เป็นตัวช่วยที่ไม่เลวเลย เพราะขยันลงทุกเช้า ผลงานของมันคือความแห้งเกรียมของใบหญ้า ใบไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์   แต่กลับเป็นต้นสนที่มีชีวิตชีวาเขียวเข้มขึ้นมาอย่างทันตาเห็น


 


มองไปยังต้นกล้วย จะเห็นใบแห้งเกรียมจากผลงานของเกล็ดน้ำค้าง ใบกล้วยนั้นเมื่อโดนลมพัดก็จะแตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ


 


ซึ่งไม่แตกต่างจากผิวหนังและริมผีปากของคนมูเจ่คี (ขุนแจ่ม) ในยามนี้ เวลายิ้มแต่ละทีต้องค่อยๆ ยิ้ม   ค่อยๆ หัวเราะ  ขืนยิ้มแบบอ้าเต็มที่ ริมฝีปากที่แห้งจะแตกเป็นร่องๆ ปริทำให้เลือดซิบเช่นกัน


 


ในตอนเช้านอกจากกองไฟจาก ผ่าคว๊ะธิ ที่เป็นเตาในห้องครัวคนปวาเก่อญอแล้ว  ต้องเพิ่มกองไฟนอกบ้านอีกกอง  เพราะถ้าขืนมัวแต่แย่งชิงตำแหน่งนักผิงเปลวฟืนอยู่แต่ในครัว จะทำให้คนทำอาหารได้รับความเกะกะ อาจได้กินทัพพีแทนข้าวก็เป็นได้ 


 


คนทำอาหารส่วนมากเป็นแม่บ้าน  ส่วนพ่อเฒ่า แม่แก่และเด็ก ๆ และคนอื่น ๆ ในบ้านต้องไปสถาปนาวงกองไฟนอกบ้านอีกกองหนึ่ง


 


การเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ ในไร่ในนาช่วงนี้เริ่มเสร็จสิ้นกันแล้ว


 


ในกองไฟข้างบ้านสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ กาต้มน้ำชา ชาอุ่น ๆ ร้อน ๆ ใส่เกลือลงไปนิดหน่อย ตามสไตล์


คนมูเจ่คี  มันต้านทานความซ่าของเกล็ดน้ำค้างได้ดีพอควร  พอทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นมาบ้าง   มีมันเทศที่ปลูกไว้ตอนแรกฝน เอามาคลุกกับเถ้าถ่านสีแดงและกลบมันไว้ซักพัก มันก็จะสุก จะได้ความมันปนนุ่ม  เป็นกิจกรรมในยามเช้า


 


กิจกรรมอีกอย่างที่นิยมกันคือ การเผาข้าวหลามกิน โดยกลางวันเมื่อพวกผู้ใหญ่ไปทำงาน ก็จะกลับมาตัดไผ่หลาม ติดมือมาด้วย  ตกเย็นหลังจากทานข้าวก็ให้เด็ก ๆ แช่ข้าวเหนียวในน้ำ แล้วใส่เข้าไปในไม้ไผ่หลาม


 


เด็กๆจำกระบอกของตัวเองได้ดี  ตื่นมาตอนเช้าเด็กจะเอากระบอกไม่ไผ่ที่ใส่ข้าวเหนียวไว้แล้วให้ผู้ใหญ่เผาให้  มาแกะกินที่ยังร้อน ๆ อยู่  เป็นของโปรดในยามเช้า  ซดน้ำชา แกล้มมันเทศและข้าวหลาม     อากาศหนาวเย็นเช่นนี้  ของกินมักจะเป็นอะไรที่อุ่นๆ หรือร้อนๆ


 


เช้าวันนี้ก็เช่นกัน การดำเนินชีวิตในยามเช้าก็เป็นอย่างที่เล่ามาในตอนต้น  เราล้อมวงผิงเปลวฟืนนอกบ้าน ปล่อยให้แม่  ซึ่งเป็นแม่ครัวประจำบ้านทำอาหารในครัวตามลำพัง


 


แต่ละหลังคาเรือนนั้น ก็จะมีลูกหลานและมีพ่อเฒ่า แม่แก่ คอยบริการข้าวหลาม มันเทศ ให้กับเด็ก ๆ   ครอบครัวยังเป็นลักษณะของครอบครัวรวมอยู่ บ้างก็ตะโกนชวนเพื่อนบ้านมาดื่มน้ำชาด้วยกัน  มีการทักทายไต่ถามสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกันข้างกองไฟ


 


ผมได้นั่งร่วมวง โดยไม่สนใจอะไร ผมนั่งก้มหน้าซดน้ำชา และรับไอร้อนจากเปลวฟืนลูกเดียว  พร้อมกับพ่นลมหายใจเป็นไอระเหยออกจากปาก


 


จนกระทั่งวินาทีหนึ่ง ที่ทิศทางลมพัดควันไฟเข้ามาทางที่ผมนั่งอยู่ ควันไฟเข้าเต็มลูกตาจนผมต้องเงยหน้าเพื่อหลบควันไฟ 


 


ทันใดนั้นเอง  ผมก็เหลือบไปเห็นหลานชายคนเล็กคนหนึ่ง   กำลังกินข้าวหลามอย่างเอร็ดอร่อย  อาโหม่ คือ ชื่อของหลายชายตัวเล็ก ๆ คนนี้  ในวัยห้าขวบยังไม่ได้เข้าเรียน


 


อาโหม่เป็นเด็กกินเก่ง  เรื่องกินนั้นแกจะทุ่มเทเต็มที่ ชนิดถึงไหนถึงกัน จึงมีบางคนแซวว่า  "เด็กคนนี้คงจะมีสองกระเพาะกระมัง?"


 


ช่วงนี้อากาศเย็นทำให้คนเป็นหวัดกันเยอะ  ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ บางคนถึงกับเสียงเปลี่ยนไปเลย  พูดออกมาเหมือนจมูกไม่มีรู  บางคนพูดน้อยกว่าไอเสียอีก


 


เช้านี้อาโหม่เต็มที่กับการหม่ำมันเทศ ที่เขี่ยออกมาจากกองไฟ ยังไม่ทันที่จะเป่าขี้เถ้าออก อาโหม่ก็งาบเข้าไปแล้ว  ที่มุมปากของอาโหม่ มีขี้เถ้าติดทั้งสองข้าง ดูแล้วคล้ายเขี้ยวยักษ์ก็ไม่ปาน


 


อาโหม่ ใส่ เชกอ หรือเสื้อคนปวาเก่อญอสำหรับผู้ชายใส่ แต่เชกอของอาโหม่ ตอนนี้ถูกทาและถูกระบายด้วยน้ำมูกของอาโหม่จนมีแสงประกายแวววาวออกมา เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมากระทบ


 


ผมมอง เชกอ ของอาโหม่แล้วเกิดความรู้สึกหลายอย่าง  กำลังนึกถึงกาวน้ำ เวลาเอาไปแปะบนผ้า  นึกถึงนมข้นที่ย้อยลงติดเสื้อหรือติดอะไรสักอย่างหนึ่ง  และนึกถึงชีวิตในวัยละอ่อนของผมเอง  ตอนนั้นอายุผมคงราวเดียวกับอาโหม่นี้แหละ  ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนแต่อย่างใด


 


ผมมี เชกอ อยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งแม่ผมทอให้ประมาณสองปีที่แล้ว  ผมใส่มันเป็นประจำ (เพราะไม่ค่อยมีเสื้อเปลี่ยน) และตื่นมาเช็ดน้ำมูกทุกเช้า  น้ำก็ไม่ค่อยอาบ อาบเองนี้ไม่เคยเลย จนแม่ต้องบังคับและจับให้อาบทุกครั้ง กว่าจะอาบน้ำเสร็จร้องไห้เสียน้ำตาไปเป็นลิตร เพราะฝีมือการขัดหลังเท้าของแม่นั้นปวดแสบปวดร้อนเหลือเกิน


 


เช้าวันนั้น


"อ้ายตัวเล็ก ถอดเชกอ ออก แม่จะเอาไปซัก ดูสิมีแต่น้ำมูกน้ำลายติดเสื้อเต็มไปหมดเลย ถอดมาเร็ว" แม่บอกกับผม


 


ผมไม่สนใจคำสั่งนั้น ยังเฉยๆ จนผู้เป็นแม่ต้องมาจับถอดให้ แต่ด้วยความรัดตัวและความเก่าของมันทำให้เส้นด้ายที่เย็บรอยตะเข็บของเสื้อได้ขาด ทำให้เสื้อถูกแยกส่วนออกจากกัน  กลายเป็นเสื้อที่ไม่สมประกอบ


 


ด้วยความขี้แย  ผมจึงร้องไห้ฟูมฟายใหญ่ แต่มีคำพูดประโยคหนึ่งที่ทำให้ผมหยุดร้องไห้


"เดี๋ยวแม่จะทอตัวใหม่ให้" แม่พูดพร้อมกับเข้ามาลูบหัวผมแล้วมองหน้าผมยิ้มๆ


"แม่ต้องทอตัวใหม่ให้จริงๆนะ" ผมปัดน้ำตาน้ำมูก แต่ยังสะอื้น


"จริงสิ แม่ซื้อฝ้ายมาเรียบร้อยแล้ว" แม่ชี้ไปที่ห่อฝ้าย


"ทอให้ผมวันนี้เลยนะ" ผมงอแงกับแม่


"วันนี้นะ?!  ได้ แต่ต้องรอแม่ไปซักผ้ากลับมาก่อนนะ" ผมหยุดร้องไห้พร้อมมองหน้าผู้เป็นแม่ แล้วยิ้มตอบด้วยความดีใจ