Skip to main content

เสวนา "หญิงรักหญิงกับการปฏิบัติธรรม"

คอลัมน์/ชุมชน

ในสังคมพุทธแบบไทยในบ้านเรานั้น มีความเชื่อและคำสอนชุดหนึ่งที่ว่า เกิดเป็นผู้หญิงเพราะมีกรรม 


กรรมที่ว่านี้ก็คือในชาติที่แล้วทำผิดศีลข้อ 3  คนที่เกิดเป็นกะเทย เกย์ ทอม ดี้ก็ถูกเหมารวมว่ามีกรรมข้อนี้ด้วย ความคิดความเชื่อเช่นนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดอคติต่อผู้หญิงและผู้ที่มีเพศสภาพหลากหลายในสังคมเรา ดังนั้นกลุ่มอัญจารีจึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ  "หญิงรักหญิงกับการปฏิบัติธรรม" ขึ้น  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549  โดยมี อาจารย์กุลวีร์ ประภาพรพิพัฒน์ จากศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มานำเสวนาและเสนอแนวคิดและมุมมองในการทำความเข้าใจความเชื่อเช่นนี้ 


อาจารย์กุลวีร์ เริ่มต้นการเสวนาด้วยการพาพวกเราตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในพุทธศาสนา เช่น ทำไมเวลาผู้ชายมาบวช ผู้คนรอบข้างมักเห็นดีเห็นงานและสนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันถ้าผู้หญิงคนหนึ่งจะบวช ผู้คนมักจะสันนิษฐานว่า ผู้หญิงอยากบวชเพราะต้องการหนีปัญหาเช่นอกหัก ดังมีคำพูดที่ว่าผู้หญิงบวชเพราะ "อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม เลื่อมใสท่าน (คือมาติดพระ) ฯลฯ


เมื่อศาสนาไม่ได้มีแต่คำสอนที่บริสุทธิ์แต่ยังมีความเชื่อและอคติของคนเข้าไปปนอยู่ด้วย เวลาที่เราจะทำความเข้าใจกับคำสอนความเชื่อต่าง ๆ เราจึงควรตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนสอน ใครเป็นคนเขียนหรือบันทึกคำสอน คำสอนถูกบันทึกเมื่อไร ที่ไหน และเพื่ออะไร เช่น ถ้าเราย้อนกลับไปดู หลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน ยังไม่มีการบันทึกคำสอน แต่เป็นการถ่ายทอดด้วยมุขปาฐะคือการบอกเล่าปากต่อปาก แม้ในการสังคายนาครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพานสามเดือนแล้วก็เป็นการใช้วิธีนี้ กว่าที่จะมีการจารึกลงบนใบลานก็ผ่านไปสี่ร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งกระทำครั้งแรกที่ศรีลังกา เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่คำสอนจะมีโอกาสถูกดัดแปลง เพิ่มเติม หรือตัดทอนคำสอนดั้งเดิม


การบันทึกนั้นก็กระทำโดยผู้ชายซึ่งมักจะมองข้ามเรื่องของผู้หญิงไป เช่น การสังคายนาครั้งแรกมีการบันทึกว่าทำโดยพระอรหันต์ 500 รูป ซึ่งเป็นชายล้วน แต่น่าแปลกที่ไม่มีการบอกว่ามีพระภิกษุณีเข้าร่วมแต่อย่างใด พระไทยบางรูปอธิบายว่า เป็นเพราะพระภิกษุณีหายไปหมดแล้ว  ซึ่งการอธิบายเช่นนี้ไม่ถูกต้องตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะมีภิกษุณีไปเผยแผ่พุทธศาสนาไปที่ศรีลังกาในสมัยพระเจ้าอโศก และจากนั้น ภิกษุณีจากศรีลังกายังเดินทางไปสืบสายที่จีนและพม่าด้วย


อาจารย์ไขข้อข้องใจต่อกรณีคำสอนว่าเกิดเป็นผู้หญิงเพราะมีกรรม ว่าจากการที่อาจารย์ได้ศึกษาพระไตรปิฎกมาโดยละเอียดนั้น ไม่พบคำสอนดังกล่าวเลย จึงไม่ได้มาจากพระพุทธองค์ แต่คำสอนเช่นนี้เกิดขึ้นโดยพระภิกษุในสมัยหลังซึ่งเป็นผู้เขียนอรรถกถาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาแบบเถรวาท เมื่อเรารับพระพุทธศาสนาผ่านทางลังกา เราจึงได้รับคำสอนเช่นนี้มาด้วย ประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทอื่นๆ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ก็มีคำสอนว่าเกิดมาเป็นผู้หญิงเพราะเป็นกรรมเช่นกัน แต่เราจะไม่พบคำสอนเช่นนี้ในประเทศที่นับถือมหายาน และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ประเทศมหายานยังมีภิกษุณีอยู่


ความเชื่อเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ในคัมภีร์เท่านั้น แต่บางวัดยังมีการสอนเน้นย้ำความเชื่อที่มีอคติเช่นนี้ให้บรรดาผู้ที่มาวัดรวมทั้งผู้หญิง พระก็บอกว่าเกิดเป็นผู้หญิงเพราะมีกรรม จะบวชก็บวชไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องทำบุญชดใช้กรรมนั้น ซึ่งก็คือทำบุญให้วัด ซึ่งอาจตั้งคำถามได้ว่า พระเผยแพร่คำสอนที่มีอคติทางเพศเพื่อประโยชน์แก่ตนหรือศาสนา?


ต่อจากนั้น อาจารย์ได้นำเสนอความเห็นต่อกรณีคำสอนว่าเกิดเป็นกะเทย เกย์ หญิงรักหญิง เป็นเพราะทำผิดศีลข้อ 3 ในชาติก่อนหรือไม่ ในพระไตรปิฎกนั้นมีแต่การใช้คำว่าบัณเฑาะก์ แต่ก็ไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าหมายถึงอะไร ซึ่งอาจารย์คิดว่าพระไตรปิฎกน่าจะหมายถึงคนสองเพศโดยทางกายภาพ แต่ในอรรถกถาชั้นหลังมีการอธิบายคำว่าบัณเฑาะก์เพิ่มเติมอีกมาก เช่น หมายถึงคนที่แอบมองดูผู้อื่นมีเพศสัมพันธ์ก็เรียกว่าบัณเฑาะก์ หรือมีเพศสัมพันธ์ด้วยปากก็ใช่ ในศาสนาพุทธแบบไทยก็เหมารวมเอาว่ากะเทย เกย์ ทอม ดี้ ก็เป็นบัณเฑาะก์ไปด้วย อาจารย์คิดว่านี่เป็นเพราะคนส่วนใหญ่รวมทั้งพระสงฆ์ไม่รู้ว่าจะจัดคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ต่างไปจากกระแสหลักอย่างไรดี ก็เลยจัดให้เป็นบัณเฑาะก์ไปหมด เพื่อที่จะได้ปฏิบัติต่อคนๆ นั้นได้สอดคล้องกับความเชื่อของตนและความคาดหวังของสังคม ดังนั้น หากไปพบคนที่มีลักษณะทางเพศไม่ชัดเจนรวมทั้งคนที่เป็นกะเทย เกย์หรือทอม คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกลำบากใจเพราะไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร


บางคนอาจตำหนิว่า คู่เกย์หรือเลสเบี้ยนไม่สามารถผลิตลูกได้ ซึ่งหากมองจากมุมมองของพุทธอาจเป็นเรื่องดีเพราะพุทธศาสนา (โดยเฉพาะเถรวาท) มักมองว่าการเกิดเป็นทุกข์ ถึงขนาดที่พระพุทธเจ้าสอนลูกศิษย์ว่า "สัตบุรุษไม่พึงปรารถนาบุตร" การไม่มีลูกจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายสำหรับพุทธศาสนาทั้งสำหรับคู่เกย์/เลสเบี้ยนและคู่ชายหญิง และยังอาจเป็นโอกาสให้มีเวลาในการพัฒนาทางจิตวิญญาณได้มากขึ้นด้วย


แล้วการรักเพศเดียวกันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมและบรรลุธรรมหรือไม่ ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระภิกษุรูปหนึ่งที่หลงรักพระพุทธเจ้ามาก ไปไหนก็คอยเฝ้าดู เฝ้าตามพระองค์เสมอ ๆ พระพุทธองค์ทรงทราบก็เตือนพระรูปนี้ว่า แล้วท่านจะมาบวชไปทำไม เมื่อท่านมาติดกับรูปถึงเพียงนี้ พระรูปนั้นก็น้อยใจ จะไปโดดหน้าผาตาย พระพุทธองค์จึงแสดงนิมิตและธรรมะ ในที่สุดพระรูปนั้นก็บรรลุธรรม  มีคนเคยตีความว่าพระรูปนั้นถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็คือเกย์นั่นเอง และที่น่าสนใจคือพระรูปนี้ก็สามารถบรรลุธรรมได้


เมื่อเรามองในระดับปรมัตถสัจจะแล้ว มีความเชื่อว่า ประตูนิพพานนั้นเปิดอยู่ตลอดเวลาแต่แคบมาก ดังนั้นการที่จะสามารถเข้าสู่ประตูนิพพานได้ จะต้องทิ้งภาวะและอภาวะทั้งหมดรวมทั้งความเป็นชาย/ความเป็นหญิง และความเป็นรักเพศตรงข้าม/รักเพศเดียวกัน ซึ่งจัดว่าเป็นทวิธรรมคือธรรมคู่ เพราะนิพพานเป็นสภาพธรรมที่พ้นไปจากธรรมคู่และสามารถเข้าถึงได้โดยหลักธรรมเรื่องทางสายกลาง


ในระดับสมมติสัจจะ คนที่เป็นเกย์หรือหญิงรักหญิงอาจเป็นกลุ่มคนที่สนใจธรรมะได้ง่ายเพราะอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างไปจากคนทั่วไป อาจทำให้เกิดความคับข้องใจ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโอกาสให้ตั้งคำถามและแสวงหาความเข้าใจตัวเอง (และโลก) ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิกฤต (ของอัตลักษณ์ทางเพศ) ให้เป็นโอกาส (ในการพัฒนาจิตวิญญาณ) 


ตลอดการเสวนามีการนำเสนอความคิดต่าง ๆ เช่น น่าจะมีพื้นที่สำหรับคนที่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างสบายใจ (รวมทั้งต้อนรับคนที่รักเพศตรงข้ามแต่เป็นมิตรกับเกย์และเลสเบี้ยน) เป็นที่ที่ไม่มีการบังคับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งในการแต่งกายและการอยู่ร่วมกัน เช่น ไม่บังคับให้ผู้หญิง (โดยเฉพาะทอม) ต้องใส่ผ้าถุง หรือกะเทย/เกย์ต้องไปอยู่รวมกับผู้ชาย ถ้ากะเทยใส่ผ้าถุงหรือทอมนุ่งกางเกงแล้วปฏิบัติธรรมได้ดีก็น่าจะสนับสนุน ที่สำคัญคือผู้สอนหรือผู้ให้คำแนะนำต้องมีความเข้าใจและยอมรับคนที่มีเพศสภาพที่แตกต่างหลากหลาย หากเป็นดังนี้ ชาวเกย์/เลสเบี้ยนก็จะมีพื้นที่ปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ความเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนของตนเองอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติธรรมและการพัฒนาทางจิตวิญญาณก้าวหน้าได้ดียิ่งขึ้น