Skip to main content

"ไม่เอารัฐประหาร - ก็ต้องไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร"

คอลัมน์/ชุมชน

(คำเตือน:  ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นทรรศนะส่วนตัว ซึ่งมีแนวโน้มไปในทาง "(ลัทธิ)ประชาธิปไตยไร้เดียงสา" ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณและสติสัมปชัญญะในการพิจารณา หากไม่แน่ใจว่ามีควรอยู่ในความดูแลของ "ผู้ปกครอง")


 


"นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่?"


"สว.ล่ะต้องเลือกตั้งไหม? (ถ้าต้อง ควรเลือกตั้งกี่คน - แต่งตั้งกี่คนดี?)"


 


ผู้เขียนเพิ่งทราบว่า คำถามเหล่านี้ได้กลายกลับมาเป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การถกเถียงในพ.ศ.นี้ เช่นเดียวกับที่เพิ่งทราบจากปาฐกถาของท่านประธานคมช.[i] ว่า ในพ.ศ.เดียวกันนี้ คมช. – ซึ่งก็คือคณะรัฐประหาร - มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประเทศที่ประกาศตนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย


 


เพราะผู้เขียนคิดและเชื่ออย่างไร้เดียงสามาตลอดว่า คณะรัฐประหารไม่ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร ก็ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทางการเมือง อย่าว่าแต่จะร่างรัฐธรรมนูญ


 


ด้วยตรรกะเดียวกัน รัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหาร - ไม่ว่าจะร่างเองหรือใช้ให้ใครร่างและออกมาสวยหรูน่าชื่นชมเพียงใด - ย่อมปราศจากความชอบธรรม


 


ดังนั้น คำถามหลงยุคที่ยกมาข้างต้น (รวมทั้งการที่นักวิชาการอาวุโสบางท่าน ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความห่วงใยว่า ให้ระวังการหมกเม็ดของอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะร่าง) จึงไม่จำเป็น - ไม่ควรนำมาถกเถียงให้สังคมหลงประเด็น


 


ไม่อย่างนั้นก็ต้องกลับมาถกประเด็นต่อไปนี้กันก่อน นั่นคือ "เรา" อ้าง (บอกกับผู้อื่น หรือคิดในใจกับตัวเอง)ว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ใช่หรือไม่? ถ้า "ไม่" ก็แล้วไป  แต่ถ้าคำตอบคือ "ใช่" ผู้เขียนก็ไม่เห็นเหตุผลที่ "เรา" จะเข้าไปถกเถียงในเนื้อหาของ "รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร" ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกับคณะรัฐประหารเอง หรือกับคณะผู้ที่ได้รับมอบหมายและความไว้วางใจจากคณะรัฐประหารให้เป็นผู้ลงมือร่าง และไม่ว่าการถกเถียงนั้นจะเป็นไปในทางเห็นด้วยหรือคัดค้านต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ตาม


 


เพราะถึงที่สุดแล้วก็คือการ "ต่อยอด" ให้กับแนวคิดและการกระทำของคณะรัฐประหาร ซึ่งก็คือการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับนี้, ให้แก่สิทธิในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร รวมทั้งให้แก่การกระทำรัฐประหารที่ผ่านมา หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ "สร้างความชอบธรรมให้แก่การฉีกหลักการประชาธิปไตย" อย่างไม่มีทางปฏิเสธ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่


 


หากจะมีสิ่งที่เราควรกล่าวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือ "ไม่ยอมรับ" มัน


เช่นเดียวกับที่เราไม่ยอมรับการกระทำรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540


 


 


 


ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มีข้อบกพร่อง และสมควรแก้ไข


แต่เห็นว่าไม่ใช่ใครที่ไหนจะมาฉีกทิ้งแล้วร่างใหม่อย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งลงมือฉีกกติกา - ทำลายหลักการประชาธิปไตยของประเทศนี้ด้วยตนเอง


 


ที่สำคัญผู้เขียนไม่เคยลืมว่า จะดีจะชั่ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็สร้างมาด้วยการสั่งสมบ่มเพาะอุดมการณ์ประชาธิปไตยของประเทศนี้ บนเส้นทางที่ยาวไกลและเต็มไปด้วยเลือดเนื้อของ "ประชาชน" จำนวนมหาศาล


หากจะมีการฉีก -  รื้อ - แก้  ก็ต้องกระทำภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย


หากจะมีการฉีก -  รื้อ - แก้  ก็เพียง "ประชาชน" เท่านั้นที่มีสิทธิ์กระทำ


 


 


 


ที่สำคัญ ผู้เขียนไม่เชื่อด้วยว่า เราควร(ฉวย)ใช้โอกาสนี้ เสนอนโยบาย/แนวทางทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสู่สาธารณะ  ทั้งนี้ ไม่เพียงเพราะ "นักยุทธวิธี" ทั้งหลายจำเป็นต้องจดจำบทเรียนจากคราวที่พยายามฉวยใช้ "โอกาส" เมื่อกระแส "ไม่เอาทักษิณ" และ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" กำลังขึ้นสูง ด้วยการแทรกตัวเข้าไปในร่มธงนั้น เพียงเพื่อแบ่งปันพื้นที่นำเสนอประเด็นโจมตีนโยบายรัฐบาลทักษิณ (เช่น สงครามยาเสพติด, ความรุนแรงภาคใต้, แทรกแซงสื่อ ฯลฯ จากที่ก่อนหน้านั้นได้พยายามเสนอไป แล้วถูกโจมตีจากกระแส "ทักษิณฟีเวอร์" จนสะบักสบอม) โดยไม่ไยดีต่อเสียงทัดทานว่า นอกจากจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแล้ว การ "หนุนเสริม" พลังขวาจัดดังกล่าวยังจะนำไปสู่สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย …เพราะบัดนี้สิ่งนั้นก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว – เท่านั้น


 


(ยังไม่นับคำถามที่ว่า ถ้าคมช. "โอเค" กับนโยบาย/แนวทางทางการเมืองแบบที่เสนอไป จะว่าอย่างไร?  เราจะ "โอเค" กับ "คมช." และ "การรัฐประหารไหม?")


 


แต่ผู้เขียนยังเห็นว่า ใครก็ตามที่อ้างว่าเรียกร้อง/สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่สมควรสังฆกรรมใดๆ ทั้งสิ้นกับคณะรัฐประหาร  การ "ต่อยอด" ให้กับการกระทำหรือแนวคิดใดๆ ของคณะรัฐประหารยิ่งไม่สมควรกระทำ เพราะไม่มีใครสามารถเรียกร้อง/สนับสนุนประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กับการ "ร่วมมือ" กับผู้ที่ทำลายมันลงไปได้ (ยิ่งอ้างว่าจำเป็นต้องร่วมมือ "เพื่อ" ประชาธิปไตย ยิ่งฟังไม่ขึ้น)  


 


กับสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่มี "ทางสายกลาง" เว้นแต่เราจะยอมปากว่าตาขยิบ


 


 


 


ข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน:


สามัญสำนึกอันต่ำต้อยและไร้เดียงสาของผู้เขียนบอกว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือสัญญาณเตือนว่า เราได้เดินมาถึง "ทางแยก" ที่สำคัญยิ่ง  ซึ่งไม่เพียงหมายถึงหมดเวลาของการ "แบ่งรับแบ่งสู้"   แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เห็นได้ชัดว่าจะนำไปสู่ผลกระทบอันยาวนานต่อประเทศและสังคมนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และสิ่งที่เรา "เลือก" บน "ทางแยก" นี้ ย่อมจะเป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่อาจย้อนเวลากลับมาบิดเบือนเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบได้อีกต่อไป


 


นาทีนี้ "เรา" จึงจำเป็นต้องใคร่ครวญ ก่อน "เลือก" ให้แน่ชัดลงไประหว่าง


 



  1. ถ้าเราเชื่อใน "ประชาธิปไตย" สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของ "ประชาชน"   เราก็สมควรยุติการสังฆกรรมและ/หรือ "ต่อยอด" ให้กับการกระทำหรือแนวคิดใดๆ ของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นผู้ฉีกหลักการประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของ "ประชาชน"  รวมทั้งควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนและเคร่งครัดต่อสิ่งที่เราเชื่อและกล่าวอ้างเสียที


    

แน่นอนว่า ไม่เพียงคัดค้าน "การรัฐประหาร" แต่ต้องรวมถึงการคัดค้าน "รัฐธรรมนูญ(และอะไรก็ตาม)ที่ได้มาจากการรัฐประหาร" ด้วย


 



  1. ถ้าเราไม่มีลักษณะตามข้อ 1 หรือไม่ต้องการจะทำเช่นนั้น เราก็สมควรหยุดอ้างถึง "ประชาธิปไตย" กันได้แล้ว และหันมาอ้างอิงการเมืองที่เราเชื่อ ที่ใจเราอยากได้จริงๆ กันอย่างเปิดเผยเสียที จะดีกว่าไหม


 


อย่างน้อย "อดีต" จะได้ไม่ตามมา "หลอกหลอน" เรา


 


ละลายทิ้งเลือดเนื้อเดือนตุลาฯ


เลือนแล้ว "พฤษภาฯ" อุทิศให้


ละเลงลบ - กลบหน้า "ประชาธิปไตย"


74 ปี นิยามใหม่กันเสียที !


 






[i]  พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ขณะนี้คมช.เหลือหน้าที่ 3 อย่างที่ดำเนินการได้คือการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ 2.มีหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐมนตรี ในเรื่องด้านความมั่นคง และ 3.คือรับสนองพระบรมราชโองการให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง…" (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน - กานต์ ณ กานท์).  ผู้จัดการออนไลน์, 16 ธันวาคม 2549 น., http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000154119 .