Skip to main content

การเมืองสีเขียว : ประกายดาวอันสุกใส ในความมืดมนของระบบพรรคการเมืองประชาธิปไตย

คอลัมน์/ชุมชน

ท่ามกลางพรรคการเมืองแบบเก่าที่รวมศูนย์อำนาจ ผูกขาดอำนาจความเป็นประชาธิปไตยตัวแทน (Representative democracy) จนมองไม่เห็นบทบาทการมีส่วนร่วม (Participation) ของประชาชนในการปกครองตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองแบบทำลายล้างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ นักคิด นักวิชาการ นักพัฒนา และนักการเมืองฝ่ายประชาชนในประเทศต่าง ๆ จึงพยายามเคลื่อนไหว ผลักดันให้มีการจัดตั้งพรรคเขียว (Green Party) ขึ้นทั่วโลก เพื่อรังสรรค์การเมืองใหม่ ต่อสู้แข่งขันกับพรรคการเมืองแบบเก่าบางตอนจากคำนำหนังสือ


พรรคเขียว จัดตั้งขึ้นก่อนในยุโรป แล้วแพร่สู่ประเทศต่าง ๆ ในทุกทวีป กระแสการเมืองสีเขียว (Green Polities) ได้รับการยอมรับว่าเป็นการเมืองทางเลือกหนึ่ง และเป็นทางรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจ สังคมของมนุษยชาติในอนาคต


แนวคิดทางการเมืองสีเขียวได้เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานหลายปี นักคิด นักวิชาการหลายคนพยายามปูทางเพื่อสร้างพรรคการเมืองสีเขียว และสะอาดบนจุดยืนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง บุคคลที่โดดเด่น ๒ ท่าน คือ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ และ ประชา หุตานุวัตร ผู้ศึกษาค้นคว้าแนวคิดการเมืองสีเขียวอย่างลุ่มลึกมาเป็นเวลานาน ด้วยทัศนะที่กว้างไกลหลากหลายมุมมอง


"ประชา หุตานุวัตร คือนักคิดผู้ศึกษา "การเมืองสีเขียว" จากเอกสารและหนังสือต่างประเทศมากมาย จนเรียบเรียงเป็นหนังสือ "การเมืองสีเขียว" พิมพ์โดยโครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์ มูลนิธิเด็ก ได้จัดพิมพ์แล้ว ๒ ครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ และ พ.ศ ๒๕๔๔ คุณค่าของหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้เรียนรู้กระบวนการก่อเกิดความคิด ปรัชญา การพัฒนาเชิงปฏิบัติการ และแนวคิดอันหลากหลายของการเมืองสีเขียว ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองและการสร้างพรรคการเมืองที่เป็นความหวังของมนุษยชาติในอนาคต"


มูลนิธิแฮริช โบล (Heinrich - Boll - Foundation) ได้เชิญดิฉันไปเข้าร่วมประชุมเครือข่ายการเมืองสีเขียว ๒ ครั้งแล้ว ครั้งแรกที่กรุง Canberra ประเทศออสเตรเลียเมื่อ ๓ - ๔ ปีก่อน ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ที่กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น


ดิฉันได้รับแรงบันดาลใจจากการประชุมที่เกียวโตเป็นอย่างยิ่งด้วย ๒ ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ จากกระบวนการและสาระของการประชุม ซึ่งมีผู้มาร่วมประชุม ๗๒ ประเทศ ทั้งตัวแทนพรรคสีเขียวและองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่สอง คือ แรงบันดาลใจจากตัวแทนประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมคือ ๑.ประชา หุตานุวัตร (ผู้เรียบเรียงหนังสือการเมืองสีเขียว ซึ่งดิฉันได้ขออนุญาตแล้วที่จะนำบางตอนมาเสนอในบทความครั้งนี้) ๒.พี่เปี๊ยก พิภพ ธงไชย ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ๓.สุริยะใส กตศิลา รองเลขาธิการคณะกรรมการดำเนินงาน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย


ช่วง ๔ คืน ๕ วัน ในเกียวโต (๑๐ - ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘) คนไทยทั้ง ๔ คนนี้ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิด ข้อมูล แนวทางที่จะก่อให้เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ ที่เหมาะสมกับสังคม ภูมิปัญญา และศาสนธรรมของไทย คิดเรื่องกระบวนการที่จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องกับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ โดยพี่เปี๊ยก พิภพ ธงไชย ได้มอบหนังสือ "การเมืองสีเขียว" ที่เรียบเรียงโดย ประชา หุตานุวัตร ให้ดิฉัน ๑ เล่ม ซึ่งดิฉันได้อ่านบนเที่ยวบินขากลับจากโอซาก้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ จนต้องนำบางตอนมาเผยแพร่ให้ช่วยกันคิด


อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เขียนไว้ในตอนหนึ่งของคำนำว่า "ผู้ที่สนใจการเมือง การปกครองของฝรั่งจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การเมืองกระแสหลัก (ไม่ว่าจะในนามของพรรคเดโมแครต รีปับลิกัน แห่งสหรัฐ หรือพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน หรือพรรคเสรีประชาธิปไตย แห่งอังกฤษ รวมถึงพรรคที่มีชื่อแผกออกไปในเยอรมัน ฯลฯ ) ล้วนได้รับความล้มเหลวทั้งสิ้น โดยจะรวมเรียกการเมืองกระแสหลักว่า "การเมืองสีน้ำเงิน" ก็คงได้กระมัง ทั้งนี้เพราะทั้งฝ่ายแดง (หมายถึงฝ่ายซ้ายที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เรียกว่าสังคมนิยม- Socialist และ Communist) และฝ่ายน้ำเงินคิดแก้ไขเพียงด้านเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลัก ผิดกันแต่ว่าพวกสีแดงต้องการกระจายรายได้ให้เกิดความยุติธรรมทางเศรษฐกิจให้มาก จนรัฐเข้ามาก้าวก่ายมากน้อยเพียงใดก็ย่อมมีสีแดงเข้มข้นหรือจืดจางลงตามส่วน


ในขณะที่ฝ่ายน้ำเงินนั้น สีจะเข้มข้นหรือจืดจางลงเพียงใด ก็อยู่ที่ปล่อยให้เกิดระบบการค้าหรือตลาดเสรีมากน้อยเพียงใด เป็นประการสำคัญ จนฝ่ายน้ำเงินนั้นบัดนี้ตกอยู่ใต้บรรษัทข้ามชาติยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที โดยมีธนาคารโลก กองทุนระหว่างชาติและองค์การค้าโลกเป็นจักรกลที่มีอำนาจ เหนือรัฐทุกรัฐ รวมถึงสหรัฐอเมริกาผู้เป็นต้นตอที่มาของสามหน่วยงานนี้ด้วย และบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ


นักคิดและผู้ที่มีกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งหาทางเลือกจากการเมืองฝ่ายน้ำเงินและฝ่ายแดง จึงหาทางออกโดยเลือกเอาการเมืองสีเขียว คือต้องเน้นที่ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเข้ามาร่วมด้วยเป็นประการสำคัญ ถ้าขาดพืชพันธุ์ธัญญาหารและร่มไม้อันเขียวขจีเสียแล้ว จะเกิดความยุติธรรมทางสังคมได้อย่างไร


ข้อคิดและความประพฤติปฏิบัติของนักการเมืองสีเขียวนั้นได้รับความสำเร็จบ้างแล้วในตะวันตก เช่นถึงกับเข้าไปเป็นพรรคสำคัญในเยอรมัน มีสมาชิกหลายประเทศในรัฐสภายุโรป รวมทั้งยังมีสมาชิกในสภาท้องถิ่นต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสภาท้องถิ่นของยุโรปนั้นมีผลมาจากการกระจายอำนาจ


อย่างไรก็ตามนักการเมืองสีเขียวก็ยังไม่ต่างไปจากนักการเมืองสีแดงหรือสีน้ำเงิน คือยังเป็นฝรั่งมากเกินไป คิดมากเกินไป มุ่งภายนอกมากเกินไป ยังไม่เกิดสันติภาวะภายในตนจนเป็นคนปกติอย่างมีศีลาจาวัตร ไม่รู้จักประสานหัวสมองให้เข้ากับหัวใจ ตามหลักแห่งสมาธิวิธี เพื่อให้เกิดปัญญาหรือการรู้จักศักยภาพที่แท้ของแต่ละคน จนเกิดความเข้าใจให้รู้จักเอื้ออาทรต่อกัน ลดความเกลียดชังกัน แก่งแย่งแข่งดีกัน แม้ในพรรคการเมืองเดียวกันก็มักทนกันและกันไม่ได้ ไม่ว่าจะในเรื่องปัญหาส่วนตัวหรือข้อแตกต่างทางอุดมการณ์


ในแง่ของพุทธศาสนา ถ้ารู้จักเจริญโยนิโสมนสิการ รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง แล้วนำปัญญาในเชิงวิจารณญาณดัง กล่าวมาใช้วิเคราะห์สังคม อย่างลดอคติลงเรื่อย ๆ อย่างรู้จักใช้ขันติธรรม และพรหมวิหารธรรม พร้อมด้วยวิริยะอุตสาหะ ยิ่งสามารถหากัลยาณมิตรมาร่วมตักเตือนกัน เกื้อกูลกัน รับฟังซึ่งกันและกัน แล้วขยายเครือข่ายออกไป โดยจะทางพรรคการเมืองหรือไม่ ก็น่าจะเป็นเหตุให้การเมืองสีเขียวเป็นทางออกต่างไปจากการเมืองสีแดงและสีน้ำเงิน

สาระของหนังสือการเมืองสีเขียวมี ๗ บท ว่าด้วย ๑.การเมืองสีเขียวคืออะไร ๒.รากฐานทางปรัชญา ๓.สังคมยั่งยืนที่พึงปรารถนา ๔. ยุทธศาสตร์เพื่อสังคมยั่งยืนสีเขียว ๕.นิเวศนิยมกับสังคมนิยม ๖.นิเวศนิยมกับสตรีนิยม และ ๗.บทสรุป ซึ่งจะนำเสนอในครั้งต่อไป