Skip to main content

สำนึกและใยดี

คอลัมน์/ชุมชน

เทอมนี้ได้สอนภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาเอ็มบีเอภาคปกติของนิด้า ก่อนสอนรู้มาก่อนแล้วว่าส่วนมากเด็กโปรแกรมนี้เป็นเด็กเก่งผ่านการคัดสรรสูง ใครๆ ก็อยากมาเรียน เป็นเอ็มบีเอที่ราคาถูก คุ้มค่า เมื่อคิดถึงคุณภาพหรือผลที่เกิดขึ้น  เพราะว่าคนที่จบไปนั้นแทบไม่มีโอกาสตกงานเลย เรียกว่าการมาเรียนนี้เป็นการประกันอนาคตว่าไม่มีทางตกอับได้ง่ายๆ จึงเป็นเหตุที่ทำให้คนเก่งๆ มักมาเรียนที่นี่กัน  เมื่อผู้เขียนรู้ว่าต้องมาสอนพวกนี้จึงค่อนข้างสบายใจว่าคงไม่ต้องออกแรงมากนัก เพราะเด็กมีความคล่องตัวสูงเป็นพื้นเมื่อเปรียบกับคณะอื่นๆ อีกหลายคณะ


 


เมื่อสอนไปๆ ก็รู้ว่าไม่ได้ผิดจากที่ร่ำลือนัก เด็กๆพวกนี้มีแรงขับมากกว่าหลายแห่ง อีกทั้งหลายคนมาจากสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยเฉพาะวิศวกรที่มากันไม่น้อย ทำให้น่าเสียดายอีกด้านหนึ่งว่าน่าที่จะไปเรียนต่อสาขาด้านที่ตนจบมาเพื่อพัฒนาวิทยาการเฉพาะด้าน น่าเสียดายที่โลกใบนี้ไปเน้นเรื่อง "ทุนนิยม" มากจนกระทั่งใครๆ ก็อยากเรียนอะไรที่ทำเงิน ไม่อยากเรียนอะไรที่วิชาการมาก เพราะไม่ทำเงิน


 


สอนๆ ไป ผู้เขียนพยายามแทรกเรื่องทฤษฎีสังคมศาสตร์เข้าไปด้วย เช่นเรื่องทฤษฎีระบบ แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม มนุษยนิยม โพสต์โมเดิร์นนิสซึ่ม พบว่าเป็นเรื่องที่นักศึกษาไม่มีพื้นมาก่อน เมื่ออธิบายก็ฟัง แต่ไม่สนใจมากนัก เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ทำเงิน  แถมยังขัดแย้งกับจุดประสงค์ของหลักสูตรของพวกเขาที่เน้นการแข่งขัน และต้องการเพิ่มกำไรและตัดต้นทุนให้ต่ำที่สุด อันนี้ไม่ว่ากันเพราะเข้าใจถึงเงื่อนไขของนักศึกษา


 


เด็กๆ พอใจที่จะเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเอาไปใช้งานในการอ่านตำรา และเป็นตำราด้านบริหารธุรกิจ เด็กชอบให้ผู้เขียนเล่าเรื่องเมืองนอก เรื่องเม้าท์ดารา แต่ว่าผู้เขียนก็จะเล่าไปและแฝงไว้ด้วยเรื่องต่างๆ ทางสังคมศาสตร์ เพราะต้องการให้เด็กมองอะไรออกมานอกเหนือจากสิ่งที่เค้าได้เรียนจากสาขาของพวกเขา ผู้เขียนมองว่าการเป็นนักบริหารที่ดีต้องมีความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เพราะมิเช่นนั้นก็จะเป็นมนุษย์ที่ไร้วิญญาณและสำนึก น่าเสียดายที่ไม่ได้สอนวิชาอื่นๆให้กับเด็กพวกนี้ เพราะว่าโดนสั่งมาให้สอนให้อ่านภาษาอังกฤษเท่านั้น จึงพยายามแทรกๆ เข้าไปเท่าที่จะทำได้ โชคดีที่นักศึกษายังไม่ขัดแย้งอะไร มีแต่ได้ร้องอืมอืมเท่านั้น


 


วันหนึ่ง นักศึกษาคนหนึ่งมาถามผู้เขียนว่า Paradigm คืออะไร[1] ผู้เขียนจึงอธิบายว่าภาษาไทยเรียกว่ากระบวนทัศน์ หรือกรอบในการมองสิ่งต่างๆ เพื่อค้นหาความจริง ซึ่งพวกนักวิชาการก็เอาเรื่องพวกนี้มาวางกรอบของตนเองในการหาความจริง ซึ่งก็นำไปสู่เรื่องของวิจัยนั่นเอง ตัวอย่างเช่นผู้เขียนไม่เชื่อว่าโลกนี้มีความจริงสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นเรื่องของการให้ความหมายที่เกิดจากปัจเจกบุคคล ซึ่งแต่ละคนก็มีลักษณะต่างออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ มากมาย ทำให้ผู้เขียนไม่พยายามตอบคำถามบางประเภทเช่น ปัจจัยที่ทำให้เด็กเรียนเก่ง แล้วแยกออกเป็นสูตร อธิบายได้เป็นตัวเลขทางสถิติ   แต่ผู้เขียนมองว่าคำว่าเด็กเรียนเก่งหมายถึงอะไร แล้วมีผลต่อสังคมอย่างไร เกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าเด็กเรียนเก่งเป็นปัจจัยหลักของอะไรอื่นๆ หากมองว่าเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดหรือบางทีก็มองว่ามันไม่ใช่ปรากฏการณ์เลยก็ยังได้


 


เมื่อเด็กคนนั้นได้ฟัง ก็ทำท่าเหมือนจะรู้เรื่อง ผู้เขียนก็บอกว่าดีใจที่มีคนมาถามคำนี้ เพราะไม่คาดฝันว่าจะมีจากกลุ่มเด็กที่เรียนในสาขานี้ แล้วก็บอกว่ามีอะไรก็ให้มาถามอีกได้ แถมบอกต่ออีกว่าการรู้ภาษาอังกฤษจะทำให้เปิดโลกในด้านนี้ได้มากขึ้น เอกสารเรื่องนี้ในภาษาไทยมีไม่มากนัก


 


จากการพบกันในคราวล่าสุด ผู้เขียนแนะนำนิตยสารที่น่าอ่านให้เด็กห้องนี้ เป็นภาษาไทย มี "ฟ้าเดียวกัน" กับ "Way" นักศึกษาอื่นไม่ได้โชว์ความสนใจลึกซึ้งนัก เด็กคนเดิมเดินมาคุยกับผู้เขียนตอนเลิกชั้น ถามว่า "อาจารย์ครับ ผมเลือกเรียนถูกรึเปล่า ที่มาเรียนหลักสูตรนี้" ผู้เขียนตะลึง เด็กบอกต่อว่า  "ผมว่าผมมาเรียนวิชาที่ไม่ได้ตรงกับตัวตนของผม วิชาแบบนี้มันเป็นเรื่องที่มองแต่ตัวเอง" ผู้เขียนจึงบอกไปว่า "อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นเลย เรียนต่อไปให้เห็นว่ากระแสหลักเค้าทำอย่างไร เราจะได้ไม่หลงไปกับเค้า เรายังอยู่ในกระแสโลกทุนนิยมหลังสมัยใหม่ ที่แต่ละคนต้องกระเสือกกระสนเพื่ออยู่รอด เราต้องไม่ไปขัดกับกระแสมากไปนัก แต่เราต้องไม่ไหลไปกับกระแส เราต้องหาสมดุลให้ได้ เสียแต่ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ มิเช่นนั้นจะคับข้องใจและแปลกแยกได้ ชีวิตจะขาดสุข"


 


เด็กบอกต่อไปว่า "ผมไม่อยากเหมือนคนพวกโน้น (พวกที่เป็นทุนนิยมหลังสมัยใหม่) ผมอึดอัด" ผู้เขียนตอบว่า "เราไม่ต้องเหมือน แต่เรารู้ทันเค้า รู้ทันตนเอง แรงของเราไปต้านกระแสไม่ได้ เวลาไม่ใช่ของเรา อีกอย่างเรื่องแบบนี้มันต้องใช้เวลา ทุกอย่างจะหมุนไปกับกาลเวลา" จากนั้นผู้เขียนกับเด็กก็คุยกันต่อเป็นเวลานานพอควร


 


หลังจากบทสนทนานั้น ผู้เขียนดีใจที่ว่า เสียงที่เปล่งออกไปของผู้เขียนไม่ได้สูญเปล่า อย่างน้อย 1 ใน 30 คนก็สะท้อนกลับมาให้ได้ยินว่าฟังเรา ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจที่จะทำงานต่อแล้วก็พยายามแนะและเสริมเรื่องนี้เข้าไปเรื่อยๆ ไม่บังคับ ไม่กดดัน ไม่ยัดเยียด ทำไปเรื่อยๆ เพราะนี่คือหน้าที่ของนักการศึกษาที่ควรจะทำ


 


 "กระบวนทัศน์" ไม่ใช่ของที่จะเปลี่ยนชั่วข้ามคืน ยิ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่ไม่คุ้น ไม่เป็นสูตร แต่เน้นในความมนุษย์นั้น ยิ่งนับว่ายากในกระแสปัจจุบัน ขนาดในสหรัฐฯ ยังใช้เวลาตั้งนาน บัดนี้ก็ยังไม่สำเร็จ หลายๆ ครั้งก็มีการถดถอย เช่นกระบวนทัศน์ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ชนผิวสีไม่ได้ต่ำต้อยกว่าชนผิวขาว ทุกวันนี้ในสหรัฐฯ ก็ยังแก้ปัญหาไม่หมด เพราะปัจจัยหลักๆแก้ไม่ได้ ระบบความคิดของคนผิวขาวไม่สามารถยอมรับระบบความคิดบางอย่างของคนผิวสีได้ แม้จะมี Civil Rights เพื่อประกันความเท่าเทียมของประชาชาติทุกคน แต่ในทางปฏิบัติ ชนผิวสีก็ยังเจอกับการกีดกันในทุกรูปแบบของชนผิวขาว


 


การที่เด็กคนนี้ได้ถามถึง "กระบวนทัศน์" และเผยความรู้สึกคับข้องใจเพราะพบว่าตรงนี้ไม่ตรงกับพื้นฐานความคิดของตนเอง ได้โชว์ถึงความใยดีและสำนึกต่อสังคมที่หาได้ยากมากในสังคมปัจจุบัน ผู้เขียนถือว่าเป็นยากำลังที่ทำให้ผู้เขียนมีพลังที่จะทำงานต่อไป


 


อยากบอกกับเด็กคนนั้นว่า "You are a gem of the day."