Skip to main content

ร่วมกันติดตาม (ร่าง) พ.ร.บ.พัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ…….

คอลัมน์/ชุมชน

หากไม่มีการชะลอหรือข้อขัดข้องจากเยาวชนถึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการร่างกฎหมายนี้ ประเทศไทยก็จะมีกฎหมายฉบับใหม่อีกฉบับออกมาประกาศใช้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนโดยตรง นั่นคือ (ร่าง) พ.ร.บ.พัฒนาเด็กและเยาวชน พ.….


 


มีเพื่อนเยาวชนหรือประชาชนคนไหนได้รับรู้ถึงร่างพ.ร.บ. นี้บ้าง ผมไม่แน่ใจ – เพราะที่ผ่านมาถือว่าการประชาสัมพันธ์ในเยาวชนหรือประชาชนได้รับรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเองก็มีน้อยอยู่แล้ว ที่สำคัญ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากฎหมายร่างนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง


 


เนื้อในของฉบับร่างที่ผมมีอยู่กับตัวเอง (เมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเข้าใจว่าคงมีการปรับ แต่ก็พยายามติดตามอยู่ว่าปรับอย่างไรบ้าง) ประกอบด้วย เนื้อหา 4 หมวด 40 มาตรา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการเสนอแนะ และติดตามแผนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน


 


นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสนับสนุนการทำงานของเยาวชนในรูปแบบสภาเด็กและเยาวชนระดับต่างๆ


 


ในร่าง พ.ร.บ. นี้ ระบุถึงเหตุผลของร่างไว้ว่า "เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้  คือ  เนื่องจากการพัฒนาเด็กและเยาวชน  จำเป็นต้องให้เด็ก  เยาวชน  องค์กรเอกชนและประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยส่งเสริมให้สถาบันครอบครัว  สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบร่วมกันในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพ  และสมควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งการจัดทำนโยบาย  แผนงาน  งบประมาณในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน นอกจากนี้ยังสมควรให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต   รวมทั้งได้รับการยอมรับ การคุ้มครองและโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน  เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"


 


ด้วยเหตุนี้กฎหมายนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หากแต่เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญอย่างยิ่งแต่นโยบายของประเทศในการพัฒนาเด็กและเยาวชน


 


ทว่า แม้ว่าเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.นี้จะมีส่วนที่เอื้อต่อการทำงานขององค์กรประชาสังคมและเยาวชน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "ที่มา" ของกระบวนการร่าง พ.ร.บ. นี้ก็ไม่ค่อยเห็นว่าเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเท่าใด หรืออาจจะมีแต่ไม่อาจจะรับรู้ได้


 


ที่ว่าไม่อาจจะรับรู้ได้ เพราะอาจมีคนที่รู้จัก หรือใกล้ชิดกับคณะผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. นี้เท่านั้นที่มีโอกาสเข้าร่วมในการร่างกฎหมายออกมา แต่ถามว่าเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิด เยาวชนภูธรที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ได้เข้าร่วมในกระบวนการพัฒนา หรือร่างกฎหมายนี้อย่างใด


 


บทเรียนหนึ่งที่เห็นชัดคือ เรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.. 2546 ที่แต่เดิมทีในฉบับที่ยังเป็นร่างอยู่นั้นก็มีเนื้อหาในทำนองว่าหากเยาวชนทำผิดกฎ ระเบียบของโรงเรียนจะต้องถูกทำโทษและหากทำซ้ำ 4 ครั้งก็ต้องถูกนำส่งสถานพินิจ นี้เป็นฉบับร่าง – แต่พอมีเสียงคัดค้านในวาระการพิจารณาของวุฒิสภา ในตอนนั้น ก็มีการแก้ไป


 


เครือข่ายเยาวชนภาคเหนือได้ติดตามและเสนอให้มีการปรับแก้ด้วย แต่ก็เกือบสายเกินไปเพราะไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไปของพ.ร.บ.นี้เท่าใดนัก แต่สุดท้ายแม้จะมีการแก้ในตัวเนื้อของพ.ร.บ. แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อเป็นประกาศใช้ออกมา กระทรวงบางแห่งก็ใช้ช่องทางของกฎหมายคุ้มครองเด็กนี้ออกระเบียบจำกัดสิทธิของเด็ก โดยการห้ามเด็กออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 แต่สุดท้ายก็เกิดแรงต้านขึ้นอีกวงใหญ่


 


เห็นไหมครับ กระบวนการได้มาซึ่งกฎหมายหนึ่งนั้นมันน่าจะทำให้ผู้ใหญ่ที่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนได้บทเรียนว่า การที่เด็กและเยาวชนไม่ได้มีส่วนร่วมนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องโหว่ต่างๆ หรือ ความสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง


 


เมื่อไม่ได้คิดถึงหลักการมีส่วนร่วมตรงนี้ ความต้องการที่ผู้ใหญ่ใส่หรือวางไว้ใน พ.ร.บ.ก็ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนอย่างจริงจังและยังอาจทำให้เยาวชนหลายๆ คน ไม่อยากร่วมทำอะไรกับผู้ใหญ่อีกเลยก็ได้


 


ทั้งนี้เองเมื่อกลับมามองที่สถานการณ์ปัจจุบัน ว่าความเงียบของการดำเนินการกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่ได้ป่าวประกาศหรือกระจายเสียงให้เยาวชนได้รับรู้แล้วเข้ามามีส่วนร่วมเท่าใดเลย


 


ในความคิดของผมเบื้องต้น ขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาเด็กและเยาวชน พ.…. ออกไปก่อน แล้วจัดเวทีสาธารณะให้เด็กและเยาวชนที่มาจากภูมิภาคต่างๆ มาจากกลุ่มที่หลากหลาย เข้ามาร่วมพิจารณา ให้ความคิดเห็น ในส่วนที่ขาดหาย หรือยืนยันความคิดเห็นของตนต่อกฎหมายอย่างจริงจัง


 


เหตุผลที่ควรจะหยุดมีอยู่อย่างน้อยสองประการ คือ หนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนที่ยังขาดและดำเนินการไม่เต็มที่ และสอง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ควรจะทำ ซึ่งรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันก็ต้องตระหนักว่า ตัวเองเป็นรัฐบาลจากการแต่งตั้งให้มารักษาการณ์ ซึ่งไม่ควรริเริ่มนโยบายใหม่ได้จนกว่าที่การเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ถูกประกาศใช้


 


และผม เยาวชนคนหนึ่งก็ขอคัดค้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และขอเสนอว่าเยาวชนต้องมีส่วนร่วมในการปรับแก้ พิจารณากฎหมายฉบับนี้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยการจัดเวทีเยาวชนพิจารณ์ทั่วประเทศ หากผู้ใหญ่ยังอยากให้เยาวชนรับผิดชอบสังคมและเป็นอนาคตของชาติ – พูดกันมานาน น่าจะปฏิบัติได้บ้างนะครับ