Skip to main content

ชีวิต อยู่ดีมีสุข ส่งท้ายปี

คอลัมน์/ชุมชน

ปี 2549 กำลังจะผ่านไป หลายเรื่องที่คาดว่าจะได้ดำเนินการก็มีอันเป็นไป


 


นั่นคือเรื่องการงดโฆษณาเหล้า เบียร์ เมื่อคณะกรรมการกฤษฏีกาตีความว่า คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่มีอำนาจเกี่ยวกับการห้ามโฆษณา เพราะเป็นอำนาจของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งก็ใช่ แต่ทาง อย. ก็ยื่นอุทธรณ์ให้มีการพิจารณาใหม่ เนื่องจากมีการมอบอำนาจนี้แก่กันจาก สคบ. ถึง อย.


 


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นอุปสรรคในทางเทคนิค สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือหลักการและความเชื่อของการกระทำครั้งนี้คือการท้าทายอำนาจและอิทธิพลของโฆษณาที่ครอบงำวิถีชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน การโฆษณาเพื่อสร้างความจงรักภักดีต่อสินค้าต่างๆ ของผู้บริโภค ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีสินค้าใดกล่าวถึงข้อเสีย ข้อด้อยของตนเอง  เหล้า เบียร์ ก็เช่นกัน แม้ไม่มีโฆษณา   ประชาชนที่ดื่มก็ดื่มกันเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะเลือกดื่มยี่ห้อใดเท่านั้น ยี่ห้อใดมีของแถมน่าสนใจ ยี่ห้อใดเปิดพื้นที่ เปิดลานส่งเสริมการดื่มมากน้อยเพียงใด ยี่ห้อใดวางโชว์อย่างชัดเจนในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้อตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงมากกว่ากัน คาดว่าการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ก็คงมีการดื่มกันอย่างไม่ยั้งเช่นเดิม ตลอดจนออกมาขับขี่หลังจากการดื่มด้วย สร้างโอกาสการเกิดอุบัติเหตุเหมือนเดิม  อย่างไรก็ตาม ในปีใหม่นี้ ผลการอุทธรณ์ของ อย. คงจะได้เห็นผลกันว่าเป็นอย่างไร


 


การดื่มเหล้า เบียร์ การเล่นหวย เป็นความสุขในชีวิตของคน โดยเฉพาะคนที่มีชีวิตประจำวันซ้ำซากเหมือนเดิม ทำมาหากินตัวเป็นเกลียว หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาไปเดินชอปปิงในห้าง ไปงานปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แค่เพียงหยุดงาน ก็หยุดรายได้  ไม่เคยมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน  ไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับใคร จะซื้อหาสินค้าโทรทัศน์  เครื่องเล่นดีวีดีสักเครื่องก็ต้องผ่อนกัน 10 เดือน 15 เดือน กว่าจะผ่อนหมดเครื่องก็พังพอดี ไม่มีโอกาสดูรายการผ่านดาวเทียม ผ่านเคเบิล  เพราะค่าติดตั้ง ค่ารายเดือน ก็เกินกำลังแล้ว ชีวิตจึงมีความสุข กับการฟังถ่ายทอดวันหวยออก การพูดคุยกันเรื่องตัวเลข หมุนวนกันไปอย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ 


 


หากจะให้ชีวิตอยู่ดีมีสุขในปีใหม่และต่อๆ ไป ก็ต้องช่วยกันทำให้คนที่มีรายได้น้อย มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือลดช่องว่างของการกระจายรายได้  สร้างการกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงกัน การใช้มาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง ทั้งเรื่องการเพิ่มค่าแรง การเพิ่มมูลค่าแรงงาน ไม่ใช่มุ่งเน้นทำอุตสาหกรรมที่อาศัยค่าแรงถูกเพื่อส่งออกอย่างเดียว การสร้างสวัสดิการการศึกษาให้ลูกหลานคนจนได้เรียนหนังสือมากขึ้น ทั้งการให้มีกองทุนสำหรับการศึกษาต่อมัธยมต้น  มัธยมปลาย และอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการให้เปล่าและการกู้ยืมผสมกันไปก็ได้


 


การใช้มาตรการทางภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีการครอบครองที่ดินจำนวนมากเกินไป ภาษีการซื้อขายหุ้นให้มากขึ้น  ไม่ใช่รีดเอาจากภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าอย่างเดียว การจัดสรรที่ดินทำกิน ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ให้ประชาชนที่ขาดแคลน การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ตกงาน ให้มากขึ้น


 


ทั้งนี้ ต้องตั้งบนฐานคิดว่าประชาชนทุกคนมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เพราะจน เกิดมาจน ก็ต้องรับกรรมกันไป แต่ต้องสร้างสังคมที่ไม่เอาเปรียบกัน คนมีโอกาสก็มีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ  ต้องมีระบบที่จะควบคุมความเหลื่อมล้ำทางรายได้  ต้องมีแต้มต่อให้กับคนจนคนด้อยโอกาส เช่น ลดภาระการเป็นหนี้ด้านการศึกษาของลูกหลาน การลดภาระหนี้สินเรื่องที่อยู่อาศัย การลดภาระเรื่องการรักษาพยาบาล การเพิ่มรายได้  การเพิ่มฝีมือแรงงาน การสนับสนุนสวัสดิการทางสังคมโดยชุมชน ส่งเสริมการจัดเตรียมสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับคนในชุมชนของตน การเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้มีการศึกษา มีงานทำ มีรายได้พอเพียง โดยเฉพาะคนที่ทุกข์ยากที่สุดของชุมชนควรได้รับโอกาสมากที่สุด ทั้งนี้ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเรียนเก่งเท่านั้นถึงจะได้ทุน  แต่ชุมชนต้องช่วยกันสร้างโอกาสให้มากที่สุดสำหรับทุกคน


 


รัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาหน้าตาอย่างไร  ประชาชนทุกคนต้องติดตาม ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของคณะผู้ร่างฯ เท่านั้น ต้องเปิดโอกาสให้คนรับรู้ความก้าวหน้า และแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แอบร่างกันแล้วเอาออกมาให้ลงคะแนนว่าเอาไม่เอาในตอนสุดท้ายเท่านั้น มันไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชนผู้ไม่ค่อยมีโอกาสจะศึกษา เพราะต้องทำมาหากินตัวเป็นเกลียวตลอดเวลา  หวังว่าปีใหม่ชีวิตเราจะอยู่ดีมีสุขขึ้นบ้างนะคะ  ขอร่วมสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมกันต่อไป  


 


สวัสดีปีใหม่ค่ะ