Skip to main content

เรื่องของสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้

คอลัมน์/ชุมชน

คงรู้กันทั่วแล้วว่าวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ได้อย่างจำเพาะและชัดเจน  ที่กล่าวมาข้างต้นก็เพื่อที่จะพูดถึงแหล่งเก็บรวบรวมความรู้ทางวัฒนธรรมอันถูกจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นระเบียบแบบแผน  และนั่นก็หมายถึง สารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ภาคใต้นั่นเองครับ


 


สารานุกรมวัฒนธรรมไทยนั้นเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนรวมทั้งบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักวิชาการทางวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั่นแหละ และสิ่งที่อยากจะนำเสนอต่อท่านผู้อ่านในคราวนี้จึงเป็นเรื่องของสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ ครับ


 


จริงๆ แล้วหนังสือชุดสารานุกรมวัฒนธรรมไทยนั้นก็มีครบทั้ง ๔ ภาค คือ ทั้งภาคอีสาน  ภาคกลาง  ภาคเหนือ  และภาคใต้  แต่พิเศษหน่อยตรงที่สารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ภาคใต้ นั้นได้เกิดมีขึ้นก่อนใครอื่น  ก็ตั้งแต่ครั้งเมื่อประมาณปี ๒๕๒๔  ที่ศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ และสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ได้ริเริ่มคิดและรวบรวมนักวิชาการทั้งท้องถิ่นและระดับส่วนกลางที่เป็นผู้ทรงภูมิทางวัฒนธรรม ไทยภาคใต้มากถึง ๒๒๑ คน มาศึกษารวบรวมคำและคำนิยามต่างๆ  ในวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของคนใต้และเรียบเรียงจัดระบบไว้อย่างวิธีสากลปฏิบัติจนเป็นคลังข้อมูลคลังใหญ่ที่สุดของภาคใต้เลยก็ว่าได้


 


ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากฐานข้อมูลทางคติชนวิทยาที่ท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ได้เก็บไว้ก่อนแล้ว ที่มีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลภาพ  ข้อมูลเสียง วัตถุของจริง และวรรณกรรมทั้งมุขปาฐะและหนังสือบุดนั่นเอง


 


ก็ในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๗ นี่เองที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศญี่ปุ่นจัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้เป็นเงินกว่า ๒๐ ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยในยุคนั่นก็กว่า  ๒ ล้านบาท   สุดท้ายในปี ๒๕๒๙ ก็ได้รับทุนจัดพิมพ์จากมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศญี่ปุ่นจำนวน ๑,๐๐๐ ชุด เป็นเงินกว่า ๒ ล้านบาท


 


จากนั้นสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้จึงเป็นที่สนใจของเหล่านักวิชาการอย่างกว้างขวางแบบว่าทึ่งกันเป็นแถวๆ เลยทีเดียว จะไม่ทึ่งได้อย่างไรก็สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ชุดนี้ได้รวบรวมคำไว้ถึง ๖,๐๐๐ คำเลยนี่ครับ นับว่าเป็นมิติใหม่ของการศึกษาและการจัดเก็บ-บันทึกความรู้ทางวัฒนธรรมของประเทศไทยเอาไว้อย่างเป็นระบบ


 


นับว่าเป็นต้นแบบของสารานุกรมวัฒนธรรมไทยฉบับภาคอื่นๆ อย่างแพร่หลาย ก็เพราะสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้นั่นเองที่ส่งผลให้วงวิชาการหลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการบันทึกความรู้ทางวัฒนธรรมในรูปแบบนี้


 


ด้วยข้อจำกัดทางข้อมูล  หลายปีต่อมาจึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงหนังสือสารานุกรมชุดดังกล่าวขึ้นใหม่เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นจากฉบับเก่า  กอรปกับการที่มีการเกิดขึ้นของมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมไทย  สถาบันทักษิณคดีศึกษาจึงได้มีโอกาสปรับปรุงสารานุกรมชุดดังกล่าวอย่างจริงจังและจัดพิมพ์ฉบับปรับปรุงขึ้นใหม่พร้อมๆ กับที่มีการเกิดขึ้นของสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง-ภาคเหนือ-ภาคอีสาน อันจัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีสารานุกรมชุดเก่าของภาคใต้เป็นต้นแบบในการคิดนั่นเอง


 


ชุดหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ภาคใต้  ฉบับปรับปรุงปี ๒๕๔๒ นี้ มีการจัดหมวดความรู้ไว้อย่างครบถ้วน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม  ภาษา  ประวัติศาสตร์  การแสดงและการละเล่น  การปกครองและสังคม  สถานที่สำคัญ  อาชีพ  ความเชื่อและประเพณี  บุคคลสำคัญ  ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ระบบการชั่งตวงวัด  และกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น รวบเบ็ดเสร็จเป็นเล่มแล้วรวม ๑๘ เล่มครับ


 


ผมพูดอย่างไม่อายเลยครับว่าสารานุกรมวัฒนธรรมไทยทั้ง ๔ ภาคดังกล่าวนี้เป็นหนังสือชุดที่สถานศึกษาทั่วประเทศควรมีไว้ให้นักเรียนนักศึกษาได้รู้จักและเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นของประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อยด้วย


 


อีกอย่างที่อยากกล่าวถึงเพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจศึกษาและเรียนรู้ได้รู้จักก็คือ พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ ซึ่งพูดได้ว่ามีมานานและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง รับรองอ่านแล้วมี "ขำขำ" แน่นอน และพิเศษอีกที่ไม่มีที่ใดเลย


 


ที่เล่ามาทั้งหมดใช่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรอกนะครับ  แต่ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรบอกต่อเป็นอย่างยิ่ง  หากโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ทุกคน ทุกภาคทั่วประเทศ เพราะวันนี้ใช่มีเพียงแต่สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้เท่านั้น  แต่ทุกวันนี้ก็มีสารานุกรมกันทั่วทุกภาคแล้ว 


 


ความเห็นส่วนตัว...ผมคิดว่าเราควรรู้จักตัวเองก่อน  และสิ่งนี้สามารถตอบท่านผู้อ่านได้ว่า ตัวเราล้วนมีรากมาแต่ก่อนโน้นแล้ว และเป็นรากที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่พอตัวทีเดียว


 


บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ-สงขลา