Skip to main content

แก้ปัญหาไฟไหม้ป่าด้วยปัญญา

คอลัมน์/ชุมชน


เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๘ ดิฉันได้ร่วมประชุมกับตัวแทนพี่น้ององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำงานด้านเด็ก สตรีและชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่สำนักงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้ทราบข้อมูลว่า ฤดูร้อนปีนี้เกิดไฟไหม้ในปริมาณมาก ทั้งการจุดไฟเผาซากพืช เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพดในไร่นา การเผาซากพืชในบ้านเรือน การเผาซากพืชสองข้างถนน การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรในฤดูผลิตหน้าฝนปีนี้ รวมทั้งการเผาเพื่อในแปลงปลูกป่าของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อากาศก็แห้งแล้ง มีความชื้นในอากาศน้อยมาก หมอกควันจากการสะสมของควันไฟ ทำให้ท้องฟ้าถูกปกคลุม จนบรรยากาศดูหดหู่ บางคนแพ้ควันไฟจนแสบจมูก แสบคอ ตาอักเสบ


เรื่องที่น่าเศร้าที่สุด คือ ที่ หมู่บ้านหล่อโย หมู่ที่ ๑๙ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๘ มีไฟลุกไหม้ป่าลามเข้ามาใกล้ป่าชุมชนที่ชาวบ้านรักษาไว้ และใกล้หมู่บ้านมาก เจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมไฟป่ากับชาวบ้านทุกหลังคาเรือน พากันไปช่วยดับไฟ ด้วยอุปกรณ์เท่าที่มีอยู่ เมื่อไฟสงบก็กลับเข้าหมู่บ้านราว ๔-๕ โมงเย็น


ครั้นถึงหมู่บ้านแล้ว ก็ตรวจสอบกันว่า ทุกคนกลับมาครบหรือไม่ พบว่า อาบอพิยะ เชอมือกู่ (1)อาบอ เป็นคำนำเรียกแทน อายุ ๕๖ ปี อดีตผู้ช่วยผู้นำหมู่บ้านหายไป ชาวบ้านจึงระดมกำลังกันไปตามหา พบว่า อาบอพิยะ ถูกไฟคลอก เสียชีวิตอยู่ในบริเวณที่ถูกไฟไหม้ !! ชาวบ้านจึงนำศพกลับสู่หมู่บ้านด้วยความโศกเศร้า


หมู่บ้านหล่อโย ตั้งมาได้ ๓๐-๔๐ ปีแล้ว คนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานเป็นอูโล้อาข่า (ลักษณะเด่นคือ ผู้หญิงสวมหมวกทรงสูง ประดับด้วยขนไก่ย้อมสีต่าง ๆ ) ต่อมาก็มีกลุ่มโลเมอาข่า (ผู้หญิงสวมหมวกเงิน มีแผงตั้ง ประดับด้วยลูกกลมเงิน ห้อยลงมาด้านหน้า มีแผ่นเงินรูปครึ่งวงกลมใช้แทนมีด เอาไว้ปอก ตัด ผักหรือผลไม้ได้) ดิฉันรู้จักบ้านหล่อโยตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๗ เมื่อครั้งสอนนักเรียนชาวลีซู ลาหู่อยู่ที่บ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย


ชื่อบ้าน " หล่อโย " มีที่มาจากชื่อของผู้นำหมู่บ้านคนแรกที่ชื่อ หล่อโย พ่อเฒ่าหล่อโยได้เดินทางมาที่หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปางสา ขอให้หัวหน้าหน่วยฯ ขณะนั้น (คุณธนูชัย ดีเทศน์) มาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านของเขา ซึ่งเมื่อ ๒๑ ปีก่อนนั้น เป็นหมู่บ้านที่ยังไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง ตั้งอยู่เขตชายแดนไทย-พม่า ต้นน้ำแม่จัน


ชาวบ้านหล่อโย เป็นแรกบันดาลใจให้ดิฉันและกลุ่มกัลยาณมิตรทำโครงการสำรวจสภาพทางสังคมเศรษฐกิจของชุมชนในเขตต้นน้ำแม่จัน แม่สลอง แล้วพัฒนามาเป็นการก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) โดย ศ.ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง กรุณาเป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก ต่อด้วยศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล และ ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร (อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) เป็นประธานคนปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานต่อเนื่องในเขตลุ่มน้ำแม่จัน แม่สลอง จนจะมีอายุเต็ม ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ความสัมพันธ์ที่ดิฉันมีต่อชาวอาข่าบ้านหล่อโย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในลุ่มน้ำแม่จันและที่อื่น ๆ จึงเป็นดั่งญาติสนิท เมื่อทราบข่าวเศร้าว่าชาวเขาต้องสละชีวิตเพื่อพิทักษ์ผืนป่าให้ดำรงอยู่ ดิฉันจึงรีบขึ้นไปยังบ้านหล่อโย ด้วยพาหนะรถขับเคลื่อนสี่ล้อของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา พร้อมกับคุณผิน สมเมือง คุณชัชวาลย์ หลี่ยา และ คุณอาเบ หลี่ยา โดยได้ชวนนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเชียงราย " ฟ้าล้านนา " คือ คุณธนาภัทร ไรปิ่น ซึ่งเป็นผู้เอื้อเฟื้อภาพประกอบบทความครั้งนี้ ขึ้นไปด้วย


ความสัมพันธ์ที่ดิฉันมีต่อชาวอาข่าบ้านหล่อโย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในลุ่มน้ำแม่จันและที่อื่น ๆ จึงเป็นดั่งญาติสนิท เมื่อทราบข่าวเศร้าว่าชาวเขาต้องสละชีวิตเพื่อพิทักษ์ผืนป่าให้ดำรงอยู่ ดิฉันจึงรีบขึ้นไปยังบ้านหล่อโย ด้วยพาหนะรถขับเคลื่อนสี่ล้อของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา พร้อมกับคุณผิน สมเมือง คุณชัชวาลย์ หลี่ยา และ คุณอาเบ หลี่ยา โดยได้ชวนนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเชียงราย " ฟ้าล้านนา " คือ คุณธนาภัทร ไรปิ่น ซึ่งเป็นผู้เอื้อเฟื้อภาพประกอบบทความครั้งนี้ ขึ้นไปด้วย




สภาพอากาศจากเส้นทางในตัวเมืองเชียงราย ผ่านเส้นทางจากอำเภอแม่จันไปอำเภอแม่อาย ถึงสามแยกกิ่วสะไตแล้วเลี้ยวขวาตามเส้นทางไปแม่สลอง เห็นความแห้งแล้ง มีหมอกควันปกคลุมจาง ๆ อยู่ทั่วไป บางช่วงเห็นกอไผ่ถูกถางเพื่อเตรียมทำไร่ ภูเขาบางลูกโล่งเตียน จนถึงยอดเขา มีเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีการอนุรักษ์ไว้ร่วมกันหลายหมู่บ้าน คือ บ้านจะบูสี ป่าคาสุขใจ โป่งขม กิ่วสะไต บ้านอาหลู ที่เป็นผืนป่าสมบูรณ์ราว ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ไร่ ดูเขียวขจี มีพันธุ์พืชหลากหลายขึ้นอยู่สลับซับซ้อนเส้นทางขึ้นดอยแม่สลองกำลังได้รับการปรับปรุง ขยายให้กว้างขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แก้ปัญหาการพังทลายของดินที่ถล่มมาขวางทางจราจร


ที่บ้านหล่อโย ชาวบ้านกำลังร่วมงานศพอยู่ที่บ้านอาบอพิยะ หน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำแม่จัน ได้จัดหาโลงศพมาให้ พร้อมช่วยเงินสดจำนวนหนึ่ง องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง โดยนายกฯ สุพจน์ หลี่จา กับหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ต่างก็ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ดิฉันได้นำผลไม้ คือ ส้ม มะม่วง และอ้อย ไปมอบให้ลูกชายและภรรยาของผู้ตายเพื่อเลี้ยงแขกในงาน แล้วลงนั่งคุยถามถึงเหตุการณ์ อันนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตในครั้งนี้



อาส่อ ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของดิฉัน ได้ให้ข้อเสนอว่า ปัญหาไฟไหม้ป่าจะแก้ได้ ถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้พี่น้องในเขตภูเขาปลูกพืชยืนต้น ที่ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้นานตลอดไป โดยไม่ต้องใช้สารเคมี และมีราคาคงที่ ไม่ต้องเสี่ยงกับราคาที่ขึ้นลงของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชา กาแฟ ซึ่งมีตลาดแน่นอน การที่ชาวเขาต้องปลูกพืชอายุสั้น คือ ข้าว ข้าวโพด กะหล่ำ ขิง ผักต่าง ๆ เป็นเหตุให้ต้องเตรียมพื้นที่ทุกปี ต้องเผาไร่ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ลุกลามเขตป่า แต่ถ้าชาวเขาปลูกพืชยืนต้น เขาต้องดูแลสวนให้เจริญงอกงาม จึงต้องป้องกันไม่ให้ไฟเข้าสวน ซึ่งก็ต้องควบคุม ป้องกันไฟจากป่าโดยรอบด้วย


ชีวิตของชาวเขาในปัจจุบัน พึ่งตัวเอง พึ่งธรรมชาติได้น้อยลงกว่าเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน เพราะพื้นที่ป่าเหลือน้อยลง ดินเสื่อม น้ำขาดแคลน ดังกรณีตัวอย่างของครอบครัวอาส่อ ซึ่งขณะนี้อายุ ๒๖ ปี อาส่อต้องเลี้ยงเมีย ๑ คน ลูก ๒ คน อายุ ๖ ขวบกับ ๓ ขวบ โดยทำงานกับหน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำ มีรายได้วันละ ๑๐๐ บาท ต้องซื้อข้าวและกับข้าวกินทุกวัน เพราะอาส่อไม่ได้ปลูกข้าวกิน หมู่บ้านเป็นภูเขาสูง ไม่มีพื้นที่ทำนา ต้องปลูกข้าวในไร่ ซึ่งมีปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ดินเสื่อม ได้ผลผลิตไม่ดี เมียอาส่อปลูกผักไว้กิน ได้ขายบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ


เพื่อนบ้านส่วนใหญ่ก็อยู่ในสภาพเดียวกัน คนที่ได้ทำงานกับหน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำก็มีจำกัด เพราะงบประมาณมีน้อย หากหมดโครงการปลูกป่าต้นน้ำ ซึ่งใช้งบฯ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (๓ ปี) การจ้างงานก็ต้องหยุดไป ต้องไปรับจ้างทำงานตามสวนใหญ่ ๆ ซึ่งก็มีงานแค่บางครั้งบางคราว ค่าจ้างก็ต่ำ ไม่อยู่ภายในการควบคุมอัตราแรงงานขั้นต่ำ แล้วแต่ความพอใจที่จะตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง (อาจได้แค่วันละ ๗๐-๘๐ บาทด้วยซ้ำไป)


ชีวิตของพี่น้องบนดอยทุกวันนี้จึงขัดสน เช่นเดียวกับพี่น้องเกษตรกรในชนบท ซึ่งมีความเสี่ยงในทุกขั้นตอนของชีวิต จนในอนาคตไม่รู้ว่าประเทศไทยของเราจะเหลือคนที่มีใจรักจะเป็นเกษตรกรที่รู้เท่าทันยุคสมัยอีกสักเท่าไร คำว่า " กสิกร แข็งขัน เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจ เพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม " คงเป็นตำนาน เพราะทุกรัฐบาลปล่อยให้ " กระดูกสันหลัง " ผุพัง โดยไม่ได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด


คนหนุ่มอย่างอาส่อ มีความคิดอ่าน มีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาสังคมได้ อาส่ออยากเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แต่ไม่มีเงินพอ เพราะต้องเสียค่าเดินทางจากหมู่บ้านไปเรียนที่ที่ทำการ อบต. ต้องเสียค่าลงทะเบียนเรียน ไหนลูกกำลังจะเข้าโรงเรียน ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แม้จะเป็นระดับประถมศึกษาที่รัฐอุดหนุนก็ตาม


นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เข้าสู่หมู่บ้านชาวเขาไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วม และกระจายประโยชน์สู่ชุมชน อาส่ออยากทำงานเป็นไกด์ จะได้แนะนำให้ผู้มาเที่ยวรู้จักวิถีชีวิต ธรรมชาติ และภูมิปัญญาของชุมชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย



๓๐ ปีที่ทำงานกับพี่น้องบนดอยสูง ดิฉันเห็นความพยายามของรัฐ องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ และฝ่ายศาสนาที่มา " ช่วยเหลือ " พี่น้องชาวเขาทั้งการเลิกปลูกฝิ่น ส่งเสริมการปลูกผัก ผลไม้เมืองหนาว ชา กาแฟ แต่ผลสำเร็จจากการพัฒนาและประโยชน์ที่ได้ยังกระจุกตัว ยังมีปัญหาคั่งค้างอยู่ เช่น ชาวเขาปลูกลิ้นจี่ ท้อ บ๊วย สาลี่ เต็มดอย แต่คุณภาพไม่ดี ราคาตกต่ำ ขายไม่ออก ปลูกกะหล่ำ ขิง กระชายดำ ฯลฯ ก็ต้องเสี่ยงกับราคาขึ้นลง โดยเฉพาะปัญหารุกพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหาสถานภาพบุคคล การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะกำหนดทิศทางชีวิตที่พึ่งตนเองได้ และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เช่น ชาวปกาเกอญอ ที่เป็นแบบอย่างของชีวิตที่พอเพียง


การแก้ไขปัญหาไฟไหม้ป่า และการเผาวัชพืชอันเป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของภาครัฐและทุกส่วนยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ที่ผ่านมามีเพียงหน่วยควบคุมไฟป่า ซึ่งขาดการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพทั้งงบประมาณ กำลังคน หลักวิชาการ พาหนะทั้งทางบก ทางอากาศ เครื่องมือดับไฟ มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมไฟป่าจากระดับจังหวัดถึงระดับหมู่บ้าน คาดโทษผู้เป็นเหตุให้ไฟไหม้ลามเข้าป่า แต่ยังไม่มียุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงาน และระบบการสนับสนุนที่เข้มแข็งจริงจัง


ดิฉันจึงขอเสนอให้กำหนด " ยุทธศาสตร์การควบคุมไฟป่าและการเผาซากพืชในฤดูแล้ง " ดังนี้


๑.  รัฐต้องยอมรับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน โดยเร่งออก พ.ร.บ.ป่าชุมชนเพื่อส่งเสริมสิทธิหน้าที่ของชุมชน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างสมบูรณ์


๒.  พื้นที่ป่า ทั้งในเขตอนุรักษ์และเขตป่าสงวน ที่จำเป็นต้องมีการเผาเพื่อไม่ให้เศษใบไม้ กิ่งไม้แห้งสะสมเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีการวางแผน การจัดการและควบคุมการเผา โดยชุมชนรอบผืนป่าต้องรับรู้ว่าเจ้าหน้าที่จะ " ชิงเผา " ในช่วงวัน เวลาใด เพื่อจะได้เข้ามาร่วมมือในการควบคุมไฟ ไม่ให้ลามออกมา


๓.  ตั้งงบประมาณให้ชุมชนที่อยู่ในป่า ได้รักษาและฟื้นฟูป่าตลอดปี โดยช่วงฤดูแล้งให้ลาดตระเวนรอบผืนป่า ทำแนวกันไฟ มีระบบสื่อสารและเครื่องมือ มีหลักวิชาการ กำลังคน และอุปกรณ์สนับสนุนการดับไฟที่มีประสิทธิภาพ


๔.  เกษตรกรทั่วประเทศ ต้องได้รับการส่งเสริมให้ใช้ซากพืชในไร่นาให้เป็นประโยชน์ในการบำรุงดินแทนการเผา ทั้งตอซังข้าว ตอข้าวโพด หรือพืชอื่น ๆ เพื่อลดปริมาณการเผา อันก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินควร หากพื้นที่ใดจำเป็นต้องเผา ต้องมีการวางแผน มีศูนย์ประสาน จัดการ ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ถึงระดับจังหวัด เพื่อกำหนดช่วงเวลาการเผาเฉลี่ยกันไปอย่างเหมาะสม ไม่เกิดวิกฤตซ้ำซาก


๕. ลดการเผาซากใบไม้ กิ่งไม้ระดับครัวเรือน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำโครงการปุ๋ยอินทรีย์จากซากพืชที่รวบรวมจากครัวเรือน


๖.  ส่งเสริมการปลูกพืชอายุยาวในชุมชนบนพื้นที่สูง อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บน้ำตามธรรมชาติของป่า ส่งเสริมการวิจัยพันธุ์พืชที่มีคุณภาพทางสมุนไพร ทางโภชนาการ เพื่อเพิ่มมูลค่าของพืชจากป่า แทนการปลูกพืชอายุสั้น ราคาต่ำ ซึ่งทำให้มีการรุกป่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


ขอให้ทุกฝ่าย ได้ร่วมกันใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาไฟป่า และการเผาซากพืชในฤดูแล้งอย่างจริงจังเสียที เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี และสุขภาพที่ดีของทุกคนค่ะ