Skip to main content

โรงไฟฟ้าจากสบู่ดำในประเทศมาลิ: มีคำตอบของท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาท้องถิ่น

คอลัมน์/ชุมชน

ในขณะที่คนไทยส่วนหนึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านที่เป็นมาอย่างยาวนานและรุนแรงขึ้นทุกวันได้หรือไม่ เราลองถอยฉากมาดูการหาคำตอบท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนท้องถิ่นของประเทศมาลี (Mali) ซึ่งเป็นประเทศยากจนในทวีปอัฟริกากันบ้าง เผื่อว่าจะได้ข้อคิดอะไรบางอย่าง


 


จากเอกสารที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนทั่วไป (16 ตุลาคม 2549 ซึ่งเผยแพร่โดย www.malifolkecenter.org)  ชาวหมู่บ้าน การาโล (Garalo) จำนวนหนึ่งพร้อมด้วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการเหมืองแร่พลังงานและน้ำ ได้จัดงานเฉลิมฉลองให้กับโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้น   คือ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้สบู่ดำเป็นเชื้อเพลิง   ข้อความและภาพในข่าวรายงานว่าทั้งวัยรุ่นและคนแก่รวมทั้งผู้นำชุมชนและนายกเทศมนตรีกำลังเต้นรำกันด้วยลีลาที่เผ็ดมันดังที่คนไทยเราเคยเห็นในหนังสารคดีทั่วไป


 


 




ชาวบ้านเต้นรำเพื่อเฉลิมฉลองโครงการ


 


โรงไฟฟ้าที่ว่านี้มีกำลังผลิต 245 กิโลวัตต์ซึ่งเพียงพอสำหรับชาวบ้านรอบๆโรงไฟฟ้าถึง 8 พันคน  ท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงของโรงไฟฟ้า ก็ขอให้เปรียบว่ากำลังผลิตขนาดนี้สามารถใช้กับหลอดผอมขนาด 20 วัตต์ (ซึ่งคนไทยเรานิยมใช้) ได้ประมาณ 1 หมื่น 3 พัน หลอด


 


โครงการนี้เป็นความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชน ภาครัฐและบริษัทเอกชนให้การสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้งมูลนิธิหนึ่งในประเทศเนเธอแลนด์  โครงการนี้ใช้เงินประมาณ  30 ล้านบาท แต่ข่าวไม่ได้บอกว่าได้รวมค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยหรือไม่  การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นภายในเดือนมีนาคมปีหน้าครับ


 


ประชากรของประเทศมาลิมีประมาณ 13.4 ล้านคน โดยเฉลี่ยต่อคนมีรายได้ไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อัตราเข้าโรงเรียนของเด็กๆมีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น พื้นที่ 1 ใน 3 เป็นทะเลทราย มาลิเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน เป็นประเทศที่มีหนี้สินถึง 2,800 ล้านดอลลาร์ สินค้าออกที่สำคัญคือฝ้ายซึ่ง 99% ถูกส่งออกไปในรูปวัตถุดิบทำให้กำไรไม่ตกอยู่ภายในประเทศ


 


เอ็นจีโอกลุ่มที่ชื่อว่า  Mali-Folkecenter   เห็นว่าเพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความยั่งยืนและลดหนี้สินของประเทศ และเพื่อความพอเพียงมากขึ้นในอนาคต (more self-sufficient future) พวกเขาจึงสนับสนุนและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป


 


ต่อไปลองมาทำความเข้าใจกับสบู่ดำ (Jatropha) สักเล็กน้อย


 


สบู่ดำเป็นพืชที่ขึ้นและเติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง  ในประเทศไทยเราเองก็ขึ้นอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะตามหมู่บ้านชายทะเล  เมื่อประมาณปีกว่าๆมาแล้วนักวิชาการ นักพัฒนาตลอดจนข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้ถกเถียงกันว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสบู่ดำจะไม่คุ้มกับการลงทุน


เมล็ดสบู่ดำใช้ทำน้ำมัน ชาวบ้านบอกผมว่า หลังจากหนีบเมล็ดสบู่ดำจนได้น้ำมันออกมาแล้ว สามารถนำไปใช้กับเครื่องเรือยนต์ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆทั้งสิ้น มีข้อมูลเพิ่มว่า สบู่ดำ 4 กิโลกรัมจะได้น้ำมัน 1 ลิตร เท็จหรือจริงอย่างไร ผมไม่ขอยืนยัน เพียงแต่ "เรียนมาเพื่อทราบ" เท่านั้น


กลับมาที่โรงไฟฟ้าสบู่ดำของประเทศมาลิอีกครั้ง


 


เพื่อป้อนสบู่ดำเป็นเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับโรงไฟฟ้าขนาด 245 กิโลวัตต์  พวกเขาต้องใช้พื้นที่ปลูกสบู่ดำจำนวนประมาณ  6,220  ไร่  ซึ่งขณะนี้ได้ปลูกและให้ผลผลิตไปแล้วจำนวนประมาณ 700 ไร่  นอกจากนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะปลูกเพิ่มอีก 5,600 ไร่


 


 



ต้นสบู่ดำริมรั้วในประเทศมาลิ  ใช้ป้องกันลมกัดกร่อนหน้าดิน  ป้องกันสัตว์เข้าสวน


 


 


 




กิ่ง ใบ และเมล็ดสบู่ดำ (สังเกตขนาดนิ้วหัวแม่มือคนมุมซ้ายบน)


 


 


นักข่าวได้ถามความรู้สึกของรัฐมนตรีที่มาร่วมงาน เขาเปลี่ยนความรู้สึกมาเป็นคำพูดว่า "การเป็นอิสระทางพลังงานของชาวมาลีได้เริ่มขึ้นแล้ว ณ ที่สนามแห่งนี้"


 


สบู่ดำนอกจากจะใช้ทำเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังใช้ทำสบู่ เศษที่เหลือใช้ทำปุ๋ย และก๊าซชีวภาพสำหรับหุงต้มในครัวเรือนได้อีกด้วย


 


เอกสารของเอ็นจีโอกลุ่มดังกล่าวยังได้บอกอีกว่า  รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถนำไปช่วยเหลือในการยกระดับสุขภาพ การศึกษา และธุรกิจขนาดย่อม คุณภาพชีวิตและอื่นๆ อีกเยอะแยะ


 


โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ยังมีหนทางที่เป็นคำตอบสำหรับคนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนท้องถิ่น  ตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการความตั้งใจเฉพาะของเราอยู่ที่การตอบสนองความจำเป็นของคนในท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างกับโครงการพลังงานชีวมวลอื่นๆ ที่มักเน้นเพื่อการส่งออกซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตของคนท้องถิ่น


 


ในฐานะที่ผมเองได้ติดตามเรื่องกิจการพลังงานของประเทศไทยและของประเทศต่างๆมานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการไฟฟ้า   ผมมีความเห็นว่า แม้คนไทยจะไม่ยากจนเหมือนชาวมาลิ แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบท การส่งเสริมให้คนมีงานทำ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้คนไทยสามารถขายไฟฟ้าที่ตนเองผลิตได้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตจากไม้ฟืน ก๊าซชีวภาพ ลม หรือแสงอาทิตย์


เมื่อเร็วๆนี้ทางกระทรวงพลังงานได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตขนาดเล็กมาก นับว่าเป็นข่าวดี แต่เป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้น  ในทางปฏิบัติจริงยังเป็นไปได้ยากมาก ผู้ผลิตบางรายยังถูกหน่วงเหนี่ยวนานถึงเกือบ 3 ปีกว่าจะทำได้  ในบทความนี้จะไม่ขอลงรายละเอียด


 


อนึ่ง ในวาระที่มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ผมมีข้อเสนอว่าควรจะบัญญัติไว้ในหมวด 5 (เลียนแบบปี 2540) ในแนวนโยบายแห่งรัฐว่า รัฐพึงส่งเสริมกิจการหมุนเวียนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและกระจายรายได้ให้กับชุมชน


 


ในแต่ละปีคนไทยเสียเงินไปกับกระแสไฟฟ้าเกือบ 4 แสนล้านบาทซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นค่าเชื้อเพลิงที่ผูกขาดโดยกลุ่มพ่อค้าเพียงไม่กี่คน  ถ้าชุมชนทั้งในเมืองและชนบทสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สัก 10 % หรือคิดเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท  ปัญหาที่กล่าวมาแล้วก็จะลดลงไปเยอะ


 


นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่กล่าวกันว่าเราต้องการ "รัฐธรรมนูญฉบับกินได้"   และมีคำตอบให้กับการแก้ปัญหาท้องถิ่นในระดับที่มีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง   ขอฝากประเด็นนี้ไว้ด้วยครับ