Skip to main content

๙ วันในเมียนมาร์ เยือนหงสาวดี

คอลัมน์/ชุมชน

คณะธรรมะทัวร์สบายๆ นำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ  สุจริตกุล  มีเวลาชมเมืองหงสาวดี ๒ วัน คือวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนกับวันจันทร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙  ขากลับมาย่างกุ้ง ได้นมัสการพระธาตุมุเตา พระธาตุคู่เมืองหงสาวดี  ได้ชมพระราชวังของพระเจ้าบุเรงนอง  ไหว้พระพุทธรูปสี่ทิศที่วัดไจ้ปุ่น  แวะสำนักปฏิบัติธรรมเชมเยยิตตาสาขาโมบี้ แล้วได้ชมการแสดงของพม่าคู่กับอาหารเย็นที่โรงแรมกันดอร์จี ย่างกุ้ง ซึ่งอาจารย์อำไพ  ได้เขียนบทเพลงบันทึกไว้ดังนี้


           


"  ๖ ขึ้นเขาวกวนเหลือใจ                            เสียวไส้เลียบเหวน่ากลัว


            ครื้นเครงกันทั่ว                                         เมื่อถึงไจ้ทีโย      (สร้อย) 


               ๗ อัศจรรย์พระธาตุอินทร์แขวน                 แต่ต้องแล่นไปเติมพลัง[1]


            แล้วจึงมานั่ง                                            สมาธิบูชา           (สร้อย)


               ๘ พักโรงแรม "ก็ใหญ่ก็โต" (Kyaikhto)       ใกล้อักโขกราบพระธาตุอีกได้


            อาหารเช้าก็ถูกใจ                                      แล้วลาไปเมืองพระโค(หงสาวดี) (สร้อย)


               ๙ พระธาตุมุเตาหงสาวดี                          เมืองที่พระนเรศวรมา


            พระสุพรรณกัลยา                                     พลีชีพรักษาชาติไทย (สร้อย)         


              ๑๐ สิบชุดระบำพม่า                                 สีดาแสนกลัวทศกัณฐ์


            เอ๊ะ! เพลงใดนั่น                                       ลอยกระทงของไทย  


 


การค้าขายของประชาชนที่มองเห็นจากรถ  เป็นธุรกิจในครอบครัว แม่ค้าตั้งโต๊ะตัวเตี้ยๆ ขายขนม ข้าวต้มมัดไส้กล้วย ขนมที่ทำจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น คือข้าวเหนียวมะพร้าว ถั่วชนิดต่างๆ ห่อด้วยใบตอง ร้านข้าวแกงก็มีหม้อข้าว  หม้อแกง น้ำพริก ผักสด ผักต้ม ตั้งไว้ ผู้ซื้อมาสั่งก็ตักให้ได้เลย


 


ผลไม้ที่เห็นขายกันทั่วไปคือ กล้วยชนิดต่างๆ ที่ต่างจากเมืองไทยเรา คือเขานิยมกินกล้วยหักมุกสุก  โดยกินสดๆ ไม่ได้นำมาปิ้ง ย่าง เชื่อม บวดชีเหมือนบ้านเรา  ราคาขายอยู่ที่ ๕๐๐, ๑๐๐๐, ๑,๕๐๐ จั๊ด (คิดเงินบาทเอา ๓๐ หาร) ขึ้นกับว่าซื้อในตลาดแบบชาวบ้านหรือซื้อในเขตท่องเที่ยว  และขึ้นกับว่าผู้ซื้อเป็นชาวพม่า หรือคนต่างชาติ


           


แตงโม สับปะรด ส้ม ฝรั่ง ก็มีขายกันมาก ดิฉันไปถามซื้อส้ม ตกกิโลกรัมละ ๒,๐๐๐ –  ๓,๐๐๐ จั๊ด คือ ๗๐ – ๑๐๐ บาท ทราบว่าส่งมาจากจีนจึงแพงมาก  ชาวบ้านท้องถิ่นคงไม่มีกำลังพอจะซื้อได้


 


พวงมาลัยดอกไม้ที่ขายตามตลาดและตามวัด คือพวงมาลัยที่ร้อยดอกไม้เรียงซ้อนๆกัน แบบง่ายๆ ไม่ประดิดประดอยเหมือนพวงมาลัยบ้านเรา


 


พระธาตุมุเตา คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองหงสาวดี เป็น ๑ ใน ๕ พุทธสถานสำคัญที่ชาวพุทธพม่าต้องมาสักการะให้ได้สัก ๑ ครั้งในชั่วชีวิตหนึ่ง  ได้แก่ พระเจดีย์ชเวดากอง  พระธาตุมุเตา   พระธาตุอินทร์แขวน พระมหาเมี๊ยะมุนี (เมืองมัณฑเลย์) และพระเจดีย์ชเวซิกองที่พุกาม โดยเฉพาะพระธาตุอินทร์แขวน ควรมาให้ได้ ๓ ครั้งในชั่วชีวิตหนึ่ง


 


 


 


พระธาตุมุเตาองค์ปัจจุบัน คือองค์ที่บูรณะขึ้นใหม่  ส่วนองค์เดิมก็ยังคงรักษาไว้  ยังเห็นซากของพระธาตุองค์เก่าอยู่คู่กับพระธาตุองค์ปัจจุบัน


 


ผู้ที่มาสักการะพระธาตุมุเตา จะตั้งจิตอธิษฐานขอพรโดยจรดศีรษะกับองค์พระธาตุเก่าซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก


 


ท่านอดีตอธิการ อาจารย์ ดร.ประเยาว์  ศักดิ์ศรี ได้กรุณาถ่ายภาพกับดิฉันหน้าพระธาตุมุเตาองค์เดิม  เป็นภาพที่ดูกี่ครั้งก็ปลื้มปีติ จึงขอฝากให้ท่านผู้อ่านได้ชมด้วย


 



 


พระราชวังบุเรงนอง รัฐบาลได้ลงทุนสร้างขึ้นใหม่แทนพระราชวังเดิมที่ถูกไฟไหม้ไปแล้ว รวมทั้งตำหนักของพระสุพรรณกัลยา ที่มาอยู่พม่าพร้อมกับพระนเรศวรก็ถูกไหม้ไปด้วย


 



 


ท้องพระโรงที่พระเจ้าบุเรงนองออกว่าความกับห้องบรรทมคือสองสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ โดยจำลองจากของเดิม ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองทรงรับศิลปะและสถาปัตยกรรมรูปแบบต่างๆ จากเมืองที่ทรงได้พระสนมมา พระราชวังจึงงดงามด้วยศิลปะที่หลากหลาย เป็นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชม


 


พวกเรากินอาหารกลางวันที่ภัตตาคารจีน ซึ่งราคาแพงมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนท้องถิ่น


 


เมื่อรถจอดก็ได้พบกับกลุ่มแม่ค้าที่ขายพัดไม้ลายฉลุ เป็นพัดที่ไกด์อธิบายว่า ใช้ไม้ธรรมดากดพิมพ์ลายด้วยเครื่อง เอาไปอบกลิ่นหอม แล้วมาทำเป็นพัดที่พับได้ คลี่ได้ แต่กลิ่นหอมจะไม่อยู่ทน ถ้าเป็นพัดไม้กฤษณาราคาจะแพงมาก ขายราคา ๕ อัน ๑๐๐ บาท ไทยไม่ได้


 


กลุ่มเด็ก และผู้หญิงอุ้มเด็กอ่อนมาขอเงิน พากันมาห้อมล้อมนักท่องเที่ยว ไกด์บอกว่า เขาจนจึงต้องมาขอ แต่ประเทศนี้ไม่มีขโมยหรือฉกชิงวิ่งราว เพราะกลัวบาป และกลัวการลงโทษจากทหาร


 


เห็นผู้หญิงและเด็กๆ มาขอทานแล้ว หลายคนกินข้าวไม่ลง บางคนถึงกับน้ำตาไหล เพราะขณะที่เรากินหมู เห็ด เป็ด ไก่ กันในห้องแอร์เย็นฉ่ำพวกเขาแทบไม่เคยมีอาหารเต็มท้อง จึงห่ออาหารออกมาฝาก ได้เห็นประกายตาวาววับด้วยความดีใจของเด็กๆ ก็รู้สึกดีขึ้น


 



 


มาถึงวัดไจ้ปุ่น (พระพุทธรูป ๔ ทิศ) มีตำนานเล่าว่า พี่น้องสี่สาวสัญญากันว่าจะไม่แต่งงาน ได้สร้างพระพุทธรูปร่วมกัน ๔ องค์ หันหน้าไป ๔ ทิศ แทนพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ แต่น้องสาวผิดสัจจะหนีไปแต่งงาน จึงเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พระพุทธรูปองค์ที่น้องคนเล็กสร้างชำรุดเสียหาย แม้บูรณะแล้วก็ยังเห็นรอยตำหนิอยู่


วัดชะเวตาละยอง คือวัดที่มีพระนอนท่าสร้างมาแล้วพันกว่าปี องค์ปัจจุบันได้จากการบูรณะใหม่ มีแม่ค้าตั้งร้านขายไม้แกะสลัก เป็นถาด เป็นของใช้ต่างๆ และพระพุทธรูป รวมทั้งร้านขายผ้าทอ ตั้งเรียงรายอยู่ ๒ ข้างทางเข้าวัด


 


กฎที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามเมื่อเข้าวัด คือ ต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า ถุงน่องทั้งหมด เดินเท้าเปล่าเข้าไปสักการะ บางทีจึงมีเด็กเล็กๆขายถุงพลาสติกให้ใส่รองเท้าหิ้วติดตัวไป แต่ทุกที่จะมีพื้นที่รับฝากรองเท้า ประกันการใส่คู่ผิดไป


 


รถบัสของเราเสียกลางทาง ซ่อมก็ไม่ได้ อากาศในรถจึงร้อนอบอ้าว ยังดีที่ทุกคนตั้งใจว่ามาเพื่อปฏิบัติธรรม จึงไม่มีใครบ่น นั่งเจริญสติ ฝึกความอดทนกันไป


 


ถึงร้านใหญ่ที่ขายเครื่องดื่ม ระหว่างการเดินทางพวกเราจึงแวะลงเพื่อเติมความสดชื่นให้ตัวเอง ไปต่อคิวรอสั่งน้ำผลไม้ปั่น ได้แก่ส้ม, มะนาว ,สัปปะรด, แคนตาลูป ราคาไม่ถูกเลยแก้วละ ๑,๕๐๐ จั๊ด กาแฟเย็นแก้วละ ๑,๐๐๐ จั๊ด ในขณะที่ร้านน้ำชาแบบชาวบ้านขายชาร้อนแค่ถ้วยละ ๒๐๐ จั๊ด


 


เพราะอาหาร เครื่องดื่มมีราคาแพงอย่างนี้ ชาวพม่าจึงจัดข้าวใส่ปิ่นโตไปกินในที่ทำงานตอนกลางวัน เป็นวัฒนธรรมที่พอเพียง พึ่งตนเองที่น่าชื่นชม


 


กลับมาถึงโรงแรม "อยู่ซะน่า" เป็นครั้งที่สอง ตอนเย็นแล้วคณะพากันเก็บกระเป๋าเข้าห้อง แล้วไปกินอาหารเย็นที่โรงแรมกันดอร์จี เป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ มีการแสดงโชว์ศิลปะพม่า ๑๐ ชุด พร้อมคำบรรยายเป็นเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ไทย แล้วแต่ว่าวันไหนจะมีคนชาติใดมามากกว่า


 



 


ชุดการแสดง ๑๐ ชุด น่าสนใจ เป็นชุดสั้นๆ ชุดละ ๒-๓ นาที ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ต่างๆ ประกอบกับเพลงบรรเลงสดโดยวงปี่พาทย์ ตบท้ายด้วยเพลงลอยกระทงของไทย ทำเอาชาวไทยทุกคนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่


 


ฉบับหน้าไปเยือนมัณฑเลย์กันนะคะ






[1] กินอาหารค่ำที่ร้านอาหารแบบยูนนานใกล้ๆ พระธาตุ