Skip to main content

อย่ายอมรับการฟอกตัวของคณะรัฐประหารด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ

คอลัมน์/ชุมชน


อย่ายอมรับการฟอกตัวของคณะรัฐประหารด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ:


ข้อเรียกร้องต่อผู้ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร ในวาระ 3 เดือนเหตุการณ์ 19 กันยายน


 


หมายเหตุ: 18 ธันวาคม 2549 – ครบรอบ 3 เดือนของการรัฐประหารโดยคปค. - ผู้เขียนได้เสนอบทความ "ไม่เอารัฐประหาร - ก็ต้องไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร"  ในคอลัมน์เดียวกันนี้ (โปรดดูที่ http://www.prachatai.com/05web/th/columnist/viewcontent.php?ColumnistID=104&ID=104&ContentID=2168&SystemModuleKey=Column&System_Session_Language=Thai ) เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ตลอดจน "ท่าที" และ "ลีลา" ของหลายฝ่ายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถช่วยให้ผู้เขียนคลายความวิตก หรือลดการให้ความสำคัญต่อประเด็นที่เสนอไปในบทความดังกล่าวได้


 


บทความต่อไปนี้ จึงเป็นภาคต่อ – ขยายความของบทความดังกล่าว


 


----------


 


 


ผู้เขียนยังคงยืนยันว่า การเดินหน้าผลักดันกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ มีความล่อแหลมจนอาจกลายเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างน่าวิตก


 


ก. หากเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ก็จำเป็นต้องยอมรับว่า ตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำรัฐประหารนั้นไม่เพียงผิดกฎหมาย แต่ยังเป็นการฉีก-ทำลายหลักการประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า "คณะรัฐประหาร" ไม่มีความชอบธรรมที่จะดำเนินการทางการเมืองใดๆ อย่าว่าแต่จะร่างรัฐธรรมนูญ 


 


 


ข.   แม้ว่าการออกมา "โยนหินถามทาง" ของประธานคมช. ไม่ว่าจะในประเด็น "นายกฯจำเป็นต้องมาจากการเลือกหรือไม่?" และ "สว.ควรเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง?" (และถ้าเลือกตั้ง ชนชั้นใดมีความคู่ควรที่จะเป็นผู้เลือก?) รวมทั้งหน้าตาของ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" จะทำให้หลายฝ่ายสามารถมองเห็นเค้าลางของ "รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร" และระบอบการเมืองที่คณะรัฐประหารกำลังก่อร่างได้ค่อนข้างจะแจ้ง


 


แต่ถ้าหากเราไม่ปฏิเสธตรรกะในข้อก. การกระทำรัฐประหารย่อมไม่มีความชอบธรรมใดๆ ดังนั้น ไม่ว่าเนื้อหาของ "รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร" จะล้าหลังไปกี่สิบปี หรือก้าวหน้าไปกี่ร้อยปี ก็ย่อมปราศจากความชอบธรรม จึงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต่อยอดสิ่งที่ไม่ชอบธรรมนั้น ด้วยการเข้าร่วมหรือชักชวนผู้คนในสังคมให้เข้าร่วมอยู่ดี


 


 


ค. "การร่างรัฐธรรมนูญ" ย่อมไม่สามารถ "ฟอก" การกระทำรัฐประหาร - คณะผู้กระทำรัฐประหาร ให้ดูดี - ดูเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้


 


ดังนั้น หาก "เรา" ยังคงยืนยันความ "ไม่เห็นด้วย" ต่อการรัฐประหารที่ผ่านมา ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องไปร่วมสังฆกรรมใดๆ กับ "รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร" เพราะสิ่งที่ตามมาจากการสังฆกรรมนั้น ไม่เพียงจะพาสังคมหลงประเด็น(ไปสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำรัฐประหารที่ผ่านมา - ต่อยอดแนวคิดและการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐประหาร)เท่านั้น แต่ยังจะทำให้การ "ไม่เห็นด้วย" ของเรา เป็นแต่เพียงการกล่าวอ้าง โดยไม่สามารถ "สัมฤทธิผล" ใดๆ ทั้งสิ้น


 


หากต้องการยืนยัน – ผลักดันแนวคิด "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร  ผู้ที่ "ไม่เห็นด้วย" ก็ควรเสนอต่อสังคมอย่างชัดเจน ถึงการปฏิเสธ – "บอยคอต" ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนการฟอกตัวอื่นๆ ของคณะรัฐประหาร


 


ง. แม้ว่าที่ผ่านมาจะมี "ท่าที" – "ยุทธวิธี" – "ลีลา" อันหลากหลายของผู้ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร แต่การเดินมาถึงจุดนี้ (กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคมช.) ทำให้เรา - ผู้ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหารทุกฝ่าย - จำเป็นต้องทบทวนและใคร่ครวญถึงทางเลือกในก้าวต่อไป ยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มา เพราะสิ่งที่จะตามมาจากนาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" ของประเทศนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจถึงขั้นเป็น "จุดเปลี่ยน"


 


ผู้เขียนจึงเรียกร้องต่อ ผู้ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหาร และยืนยันแนวทาง "ประชาธิปไตย" แต่ที่ผ่านมาอาจถูก "สถานการณ์เฉพาะหน้า" บังคับให้เดินอยู่ในแนวทาง "แบ่งรับแบ่งสู้" ว่า ได้โปรดหยุดเพื่อพิจารณาต่อสถานการณ์ "เฉพาะหน้า" ในนาทีนี้ด้วยเถิด


 


ซึ่งผู้เขียนเสนอว่าควร "หมดเวลา" ของการ "แบ่งรับแบ่งสู้" แล้ว


 


 


จ. ขณะเดียวกัน - ตามประสาคนขวัญอ่อน – ผู้เขียนยังคงหวาดผวาทุกครั้งที่นึกถึง "กลยุทธ" แนว "สัมฤทธิผลนิยม" ของบรรดา "นักยุทธวิธี" ที่ว่า ควร(ฉวย)ใช้โอกาสนี้เสนอนโยบาย/แนวทางทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสู่สาธารณะ  (ด้วยการทำเสมือนว่าเสนอต่อคมช.และสภานิติบัญญัติ ทั้งที่เป้าหมายแท้จริงคือเสนอต่อสาธารณชน, ทำเสมือนว่าเข้าร่วมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ใจจริงไม่เห็นด้วย - ไม่ยอมรับ, ทำเสมือนว่าขานรับแต่เป้าหมายคือคัดค้าน ฯลฯ) และขอทักท้วงว่า "ยุทธวิธี" อันยอกย้อนแยบยลทว่าคลุมเครือสิ้นดีดังกล่าว อาจนำพาสังคมไปสู่ "การหลงประเด็นครั้งที่สอง"


 


และขอตั้งคำถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า - ถ้าหากคมช.และสภานิติบัญญัติชุดนี้ "โอเค" กับนโยบาย/แนวทางทางการเมืองที่เราเสนอไป(สมมุติว่าทุกข้อ) และหาทางบรรจุรวมลงในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่าง เราจะว่าอย่างไร? 


 


เราจะ "โอเค" กับ "รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร" ไหม?


เราจะ "โอเค" กับ "การรัฐประหาร" ไหม?


 


----------


 


 


ผู้เขียนขออนุญาตเรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อเรียกร้องและคำถามทั้งหมดนี้ มีไปถึงผู้ที่ "ไม่เห็นด้วย" กับการรัฐประหารเท่านั้นครับ