Skip to main content

หอมกลิ่นจันทน์กะพ้อ

คอลัมน์/ชุมชน

ฤดูร้อนปี ๒๕๔๘ ฝนตกที่เชียงรายตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ทำให้ควันไฟจากการเผาทุกประเภทและไฟป่าจางหายไป มีความสดชื่น ชุ่มชื้นในบรรยากาศเข้ามาแทนที่ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ ๑๙ มีนาคม ฝนก็ตกหนักกลางดึก อากาศจึงเย็นสบาย ต้นไม้ต่างผลิยอด ผลิดอก ผลิใบ เป็นสีเขียวอ่อนไสว นับเป็นบุญของคนไทยที่ธรรมชาติช่วยให้วิกฤตของฤดูร้อน เปลี่ยนเป็นความชุ่มเย็น รวมทั้งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานฝนหลวงโดยทรงอำนวยการด้วยพระองค์เอง


ดอกไม้หอมชนิดต่าง ๆ ที่บ้านของดิฉัน ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์นคร พงษ์น้อย ได้เมตตาให้ชนิดใหม่ ๆ มาเป็นประจำทุกปี) พากันผลิดอกเสมือนให้รางวัลแก่ชีวิต จึงขอพาท่านชมสวนดอกไม้กันให้สุขใจ


จันทน์กะพ้อ เป็นต้นไม้ที่คนมักไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็น กำลังออกดอกเต็มต้น เกือบทุกกิ่ง กลีบดอกสีขาวนวลดูเย็นตา กลิ่นหอมของดอกจันทน์กะพ้อ ยามลมโชยมา เป็นกลิ่นพิเศษดั่งรวมความหอมของมวลดอกไม้นานาชนิดไว้ด้วยกัน



ดิฉันชอบเก็บกลีบดอกจันทน์กะพ้อใส่ไว้ในหนังสือ เมื่อเปิดอ่านครั้งใด ก็ได้สัมผัสกลิ่นที่ชื่นใจทุกครั้งไป เมื่อดอกจันทน์กะพ้อบานครั้งใด ดิฉันมักโทรศัพท์ไปบอกอาจารย์นคร พงษ์น้อย ด้วยความปลื้มปิติ อาจารย์บอกว่า " เหมือนความดีที่บ่มเพาะมานาน เพิ่งได้เห็นผล บางคนอาจมีความสุขกับการมีเพชรนิลจินดาราคาแพง แต่บางคนก็มีความสุขได้ง่าย ๆ กับกลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งต้องใช้เวลาดูแลรักษายาวนาน จึงจะเห็นคุณค่า "


ดอกโมก ดิฉันปลูกไว้เป็นแนวรั้ว มีความหมายเป็นมงคลว่า " วิโมกข์ " คือความหลุดพ้น ดอกเล็กขาวพราวเต็มต้น กลิ่นหอมเย็น มีทั้งดอกชั้นเดียว และดอกซ้อน เมื่อตอนเด็ก ๆ ดิฉันนั่งเรือในคลองบางหลวง คลองด่าน แถวฝั่งธนบุรี เห็นชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ ปลูกโมกไว้ริมตลิ่ง ดอกบานเกือบตลอดปี แต่ที่เชียงราย อากาศเย็น ดอกโมกจึงบานเฉพาะตอนต้นฤดูร้อนเท่านั้น


ดอกชมนาด หรือดอกข้าวใหม่ กับ ดอกเล็บมือนาง ปลูกไว้บนซุ้มประตูรั้ว กำลังเริ่มบานคู่เคียงกัน ดอกชมนาดสีขาวนวล กลีบดอกหยัก รูปทรงสวย เล็บมือนางสลับสีขาว ชมพู แดง ห้อยระย้า แต่งแต้มให้โลกนี้สวยงาม


ดอกมณฑาทอง สีเหลืองอ่อน ดอกยี่หุบ กลีบแข็งสีขาว ดอกบัวสวรรค์ สีชมพูอมม่วงจาง ๆ ดอกแก้ว กลีบบางสีขาวคล้ายดอกส้ม ดอกหอมหมื่นลี้ ดอกจิ๋วเป็นช่อเล็ก ๆ เอามาชงเป็นชาสมุนไพร ดื่มแล้วตื่นจากความง่วงเหงา ดอกเข็มกุมภกรรณ สีชมพู บานตลอดปี


ที่หน้าประตูเข้าสู่ตัวบ้าน ดิฉันปลูก ดอกลำดวน ไว้ ตำราไม้มงคลระบุว่า ต้นลำดวน หมายถึงความรัญจวนใจ สมาชิกในครอบครัวจะมีความรัก ความรัญจวนใจ ความเมตตาต่อกัน ปลายเดือนมีนาถึงกลางเดือนเมษา ดอกลำดวนสีเหลืองจะผลิบาน ดั่งดวงดาวที่ส่องประกายภายใต้พุ่มใบสีเขียว ต้นลำดวนในครึ้มช่วยบังแสงแดดทางทิศตะวันออกของบ้านได้อย่างดี


ต้น การเวก ปลูกไว้สิบปีแล้ว เพิ่งทอดยาว อยากจะเลื้อยเป็นเถาเป็นเครือได้แค่ ๒-๓ ปี จึงต้องทำค้างให้เลื้อยได้ตามธรรมชาติ ดอกหอมยามเย็นถึงดึก เช้ามาก็ทิ้งกลีบแข็งสีเหลืองเข้มลงสู่พื้น


ต้น สารภี ที่ดิฉันถวายท่านแม่ชีสัมฤทธิ์ ตรีสันเทียะ ที่วิปัสนาสถาน ตำบลป่าแดด อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว ปีนี้เพิ่งออกดอกครั้งแรก เกสรสารภีสีเหลืองอ่อน ผึ้งชอบมาตอมกลิ่นและเกสร แต่ต้นที่บ้านดิฉัน ถูกย้ายไป ๒ ครั้งจึงยังไม่ผลิดอกให้ชม


ริมรั้วมีเถา รสสุคนธซึ่งจะออกดอกช่วงฤดูฝน ฝูงผึ้งจะมาตอมตั้งแต่เช้าตรู่ ขี้ยวกระแต ออกดอกยากอาจเป็นเพราะพื้นที่มีพรรณไม้แออัดเกินไป


บุนนาค ไม้มงคลนาม หมายถึงบุญมาก ออกใบเป็นพุ่มสูงใหญ่ แต่เพิ่งมีดอกไม้เมื่อปีที่แล้วแค่ไม่กี่ดอก สงสัยว่าอยู่ติดสระน้ำเกินไปเลยออกใบมากเกินควร


จำปี จำปา กรรณิการ์ สายหยุด ังไม่ถึงฤดูที่ดอกบาน ปีบขาวหรือกาสะลองเงิน พิ่งบานเมื่อต้นฤดูหนาว พยอม ับ คำมอกหลวง คงยังไม่ถึงวัยออกดอก เพราะเพิ่งปลูกได้แค่ ๔-๕ ปี ดิฉันรอวันที่จะชื่นชมดอกพะยอมซึ่งเป็นไม้มงคล ที่หมายถึงความยินยอม ประนีประนอม ไม่ขัดแย้ง ไม่รุนแรงต่อกัน หวังว่าอีกไม่นานจะได้เห็น


ผู้ใหญ่สอนไว้ว่าทุกแห่งทุกหนมีพระภูมิเจ้าที่ เทพไท้เทวดาคุ้มครองรักษาอยู่ ถ้าประพฤติดี ประพฤติชอบ รักษาบ้านเรือนให้สะอาด มีวินัย ปลูกดอกไม้ ต้นไม้ให้ร่มรื่น หอมหวน เทวดาก็จะคุ้มครอง รักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข ดิฉันจึงชอบปลูกดอกไม้ไทยกลิ่นหอม เพื่อให้รางวัลแก่สมาชิกในครอบครัว เพื่อผู้ที่ได้พบเห็นจะได้ชื่นชม และเพื่อเป็นของขวัญแก่ธรรมชาติ


ดอกไม้ไทยที่มีกลิ่นหอมมีอีกมากมาย เช่น มะลิ กระดังงา พิกุล กุหลาบมอญ พุดซ้อน นมแมว ราตรี สายน้ำผึ้ง บางอย่างส่งกลิ่นหอมยามเช้า บางอย่างหอมตอนเย็น บางอย่างหอมตลอดวัน แล้วแต่ลมจะพัดโชยไปทางทิศไหน กลิ่นหอมของดอกไม้ไทย ทำให้จิตใจสดชื่น เบิกบาน สงบเย็น


รัฐบาลน่าจะส่งเสริมให้วิจัย ทดลองกลั่นหัวน้ำหอมจากดอกไม้เหล่านี้ ไทยอาจลือชื่อด้วยกลิ่นน้ำหอมชนิดใหม่ไปทั่วโลกก็ได้


หากโรงเรียน วัด บ้าน สถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะต่าง ๆ ปลูกไม้ไทยในวรรณคดี หรือไม้มงคลไว้ให้มาก ๆ รวมทั้งดอกไม้ที่มีสีสันสดใส ปลูกง่าย เลี้ยงดูง่าย เช่น พุทธรักษา บานชื่น ดาวเรือง ดาวกระจาย ชบาสีต่าง ๆ ดอกเข็ม พวงคราม พวงชมพู พวงแสด อัญชัน บานบุรี รักเร่ กาหลง ชงโค ดังเนื้อเพลง " อุทยานดอกไม้ " สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของคนไทยคงจะแจ่มใส ทำให้ทุกคนอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด ไม่เคร่งเครียด ลดความรุนแรงในจิตใจและพฤติกรรมลงได้มาก


ขอฝากเนื้อเพลงอุทยานดอกไม้ ซึ่งขับร้องโดย วงจันทร์ ไพโรจน์ จากคำร้องและทำนองของ สกลธ์ มิตรานนท์ เพื่อไปหามาฟังกัน จะได้จุดประกายให้ช่วยกันรณรงค์ปลูกดอกไม้ไทยในช่วงฤดูฝน ดังนี้


ชมผกา จำปา จำปี กุหลาบ ราตรี พะยอม อังกาบ ทั้งกรรณิการ์


ลำดวน นมแมว ซ่อนกลิ่น ยี่โถ ชงโค มณฑา สายหยุด เฟื่องฟ้า ชบา และสร้อยทอง


บานบุรี ยี่สุ่น ขจร ประดู่ พุดซ้อน พลับพลึง หงอนไก่ พิกุลควรปอง


งามทานตะวัน รักเร่ กาหลง ประยงค์ พวงทอง บานชื่นสุขสอง พุทธชาติสะอาดแซม


พิศ พวงชมพู กระดังงาเลื้อยเคียงคู่ ดูสดสวยแฉล้ม


รสสุคนธ์ บุญนาค นางแย้ม สารภีที่ถูกใจ



งามอุบลปน จันทร์กะพ้อ ผีเสื้อแตกกอ พร้อมเล็บมือนาง พุดตาน กล้วยไม้


ดาวเรือง อัญชัน ยี่หุบ มะลิวัลย์แลวิไล ชูช่อไสว เร้าใจในอุทยาน


อาหารใจ สำหรับสมาชิกในครอบครัว คือ ธรรมชาติที่ร่มรื่นในบ้าน คือหลักศาสนธรรม การปฏิบัติธรรม การสวดมนต์ภาวนาด้วยกันที่บ้าน การไปวัด และการชื่นชมกับศิลปวัฒนธรรม


ส่วน อาหารกาย ที่บริโภคเพื่อให้มีสุขภาพดีตามแนวธรรมชาติบำบัด เน้นอาหารที่ทำจากพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งน่ายินดีที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงถึงคุณค่าของผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง


โดยเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ก็ได้มาจัดโครงการรณรงค์บริโภคผักพื้นบ้านภาคเหนือเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพและชุมชน ที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีการประกวดทำอาหารพื้นเมือง คือแกงแค และแกงผักรวม กับขนมไทยชนิดต่าง ๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชผักพื้นบ้าน ดิฉันได้ร่วมเป็นผู้เสวนาเรื่อง " สุขภาพดีทั่วหน้าด้วยคุณค่าผักพื้นบ้าน " และยังได้มีโอกาสช่วยชิมแกงผัก จนอิ่มทั้งท้องอิ่มทั้งใจ



ตลาดสด คือที่ที่ดิฉันและครอบครัวชอบไปเป็นประจำ ฤดูนี้ซึ่งฝนเพิ่งโปรยปรายมา มีผักพื้นเมืองจากธรรมชาติซึ่งปลอดสารพิษมากมาย เงิน ๒-๓ บาทก็สามารถซื้อผักได้ ๑ กำ เช่น บัวบก ก็ขึ้นอยู่ตามทุ่งนา ใบสดก้านสีเขียวอมชมพู กำละแค่ ๒ บาท ชะอม ผักบุ้งนา ดอกแคบ้าน ผักเซียงดา ยอดผักแซ่ว ยอดเสี้ยว ยอดผักปรัง ดอกผักปรัง ผักหวาน ถั่วแปบ แตงกวา ผักกาดเมือง ยอดตำลึง ยอดฟักทอง ลูกฟักทองอ่อน เป็นต้น รวมทั้ง ไข่มดแดง ไข่แมงมัน แมงขี้เบ้า (ตัวอ่อนของกว่างอยู่ในรังที่แม่วางไข่ไว้ ชาวบ้านขุดมาเป็นดินลูกกลม ๆ ขนาดโตกว่าลูกปิงปองสัก ๒ เท่า ข้างในกลวงเป็นที่อยู่ของตัวอ่อน) ปลาจากแม่น้ำกก เช่น ปลาสร้อย ปลาตะเพียน เป็นต้น


เศรษฐกิจหมู่บ้าน พูดกันแค่เงินไม่กี่บาท แม่ค้าจากหมู่บ้านเก็บผัก กุ้ง หอย ปูปลา จากธรรมชาติ ทุ่งนา ห้วย หนอง มาขาย เพียงเพื่อมีรายได้พออยู่พอกิน มิใช่มุ่งเป้าเพื่อความร่ำรวยถึงหลักหมื่น หลักแสน แต่นักธุรกิจ นายทุน นักการเมืองบางส่วน คิดถึงผลประโยชน์หรือโครงการพัฒนาระดับเป็นร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ซึ่งห่างไกลจากวิถีชีวิตที่เป็นจริงของประชาชนระดับรากหญ้า ทั้งในชนบทและในเมืองเป็นอย่างยิ่ง


คนชนบทอยู่กับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย สันโดษ แม้จะ " จน " ตามตัวชี้วัดทางวัตถุ แต่จิตใจเป็นสุขมั่นคง ไม่หวั่นหวั่นต่อการเสพสุขจากวัตถุ เหมือนคนส่วนใหญ่ในเมือง


รัฐบาลในฐานะตัวแทนของประชาชน จึงต้องเข้าใจ ต้นทุนทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมที่คนไทยมีอยู่ ไม่นำทิศทางการพัฒนาประเทศตามกระแสโลกาภิวัตน์อย่างสุดขั้ว ไม่มุ่งพัฒนาทางวัตถุเร็วเกินไป เพราะชาวบ้านตามไม่ทัน ขอให้เดินตามหลักทางสายกลาง และตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว แล้วไทยจะเข้มแข็งอยู่บนฐานของการพึ่งตนเองได้ พร้อมทั้งดำรงความงดงามของจิตใจ วัฒนธรรม ธรรมชาติไว้ได้ตลอดไป