Skip to main content

ตรุษฝรั่ง

คอลัมน์/ชุมชน

ขณะที่พิมพ์นี้เป็นวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค. 2549 ผู้เขียนได้ฉลองปีใหม่ของที่ทำงาน มีความชื่นมื่นพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานมีความสุข  เพราะพวกเขาได้ช่วยงานผู้เขียนและอาจารย์อื่นๆ มาตลอดปีที่ผ่านมา เรื่องเจ้าหน้าที่สนับสนุนนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐฯไม่มีมากมายเหมือนเมืองไทย ทำให้ผู้เขียนต้องทำเองทุกอย่างแต่ระบบที่นั่นออกแบบให้ทุกคนพึ่งตนเอง แต่ในเมืองไทยระบบออกแบบมาให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องแบบนี้ เช่น ถ่ายเอกสาร หรือแม้กระทั่งพิมพ์เอกสารการสอน


 


งานฉลองวันนี้มีการไปทานอาหารกลางวันที่ไม่แพง (260 บาทต่อหัว) ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากการจับฉลากแลกของขวัญระหว่างอาจารย์และเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ก็มีพิเศษอีกที่อาจารย์มีของขวัญอีกชุดให้เจ้าหน้าที่จับฉลากเป็นสินน้ำใจจากอาจารย์แต่ละคน เรียกว่าเป็นการแจกอั้งเปาแบบหนึ่งก็ได้ ถือว่าเป็นการให้กำลังใจทุกคนให้ทำงานด้วยความตั้งใจ อันนี้เมืองนอกไม่มี ทั้งที่ฐานเงินเดือนไม่ได้ต่างกับที่เมืองไทย เอาเป็นว่าคนไทยใจดีกว่าในเรื่องนี้ (อย่างน้อยในโลกแคบๆของผู้เขียนที่นิด้านี้)


 


อย่างไรก็ตาม ฝรั่งก็มีเทศกาลแจกของเช่นกัน แท้จริงแล้วไทยนี่แหละเลียนแบบฝรั่ง เรื่องการแจกของขวัญช่วงปลายปีที่เรียกว่าคริสต์มาสหรือตรุษฝรั่ง หรือ ปีใหม่สากล ที่ฝรั่งต้องแจกสนั่นหวั่นไหว เป็นคติสอนใจให้รู้จักเผื่อแผ่ เพราะสังคมฝรั่งทั่วไปสอนให้คนเห็นตนเองเป็นตัวตั้งและไม่ให้อะไรแก่ใครง่ายๆ เรียกว่า "กูทำกูก็ได้  มึงไม่ทำก็ไม่ต้องได้" การที่จะใจดีคงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นตรุษฝรั่งหรือคริสต์มาสก็เลยเป็นการกุศโลบายให้คนรู้จัก "ให้" เสียบ้าง แต่ก็ยังเป็นในวงแคบคือคนในครอบครัว ส่วนฝรั่งรวยๆนั้นเค้าแจกจริงเช่นกัน แจกตลอดปีด้วยโดยเฉพาะพวกที่เรียกว่า "สาธารณกุศล" Philanthropy จุดนี้คนไทยรวยๆยังไม่ใจถึงแบบฝรั่ง อย่างไรก็ตามประเด็นนี้จะไม่กล่าวถึงในงานเขียนนี้


 


ผู้เขียนจำได้ว่าปีแรกที่ผู้เขียนทำงานที่สหรัฐฯ ผู้เขียนให้ของขวัญแบบสไตล์ไทยๆ ทำให้ผู้เขียนกลายเป็น  "นักบุญแจกของ" ข้ามพันธุ์ เพราะให้ของมูลค่าแพงๆแก่คนรอบข้าง หลังจากนั้นผู้เขียนจึงได้เรียนรู้ว่าทำแบบนี้แล้วเงินตนเองหายไปแยะ จึงมาฉลาดในปีต่อมาในการหาซื้อของที่ไม่แพงไม่ถูกและคนชอบ ทำให้ผู้เขียนเป็นที่ชื่นชอบในคนร่วมงาน เพราะให้อย่างสมเหตุผล และที่สำคัญให้ตลอดปี เช่น ไปที่ไหนก็มีของมาฝากมาให้ แม้ของไม่แพง แต่คนรับก็ซึ้งน้ำใจ ทำให้ผู้เขียนได้ของมากินมาใช้ฟรีบ่อยๆ จากฝรั่งที่ชอบพอกัน


 


ปีนี้เป็นปีแรกที่ผู้เขียนมาฉลองปีใหม่เมืองไทย หลังจากปี 2001 ต่อ 2002  ผู้เขียนเริ่มมาเจอเทศกาลแจกของขวัญแบบไทยๆ ทำให้ค่อนข้างปรับตัวได้ยากนิดหน่อย การให้ของขวัญเป็นเรื่องปกติ แต่ปีนี้มารับของขวัญจากนักศึกษา  ซึ่งเป็นเรื่องแปลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอมาเจอปีนี้มีนักศึกษาเอาของมาให้ ทำให้ผู้เขียนประดักประเดิดอย่างที่สุด แต่ต้องรับ เพราะผิดมารยาทไทยหากไม่รับ


 


ดังนั้น จึงรีบบอกนักศึกษาเท่าที่จะบอกได้ว่า "ไม่ต้องเอาอะไรมาให้" ส่วนที่เอามาให้แล้วก็อวยชัยให้พรไป แล้วบอกว่าสิ่งที่อยากได้จากนักศึกษามากที่สุดคือ "การรู้แจ้งเห็นจริงในวิชาความรู้" เพราะว่าการสอนนี่คือหน้าที่ของครูอยู่แล้ว และการเรียนคือหน้าที่ของนักศึกษา


 


ที่น่าตลกกว่านั้น มีนักศึกษามาพูดกับผู้เขียนว่า "เมอรรี่…" โดยที่ไม่รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรของคำๆนี้ สักแต่ว่าเห็นคนพูดกัน ทำให้ผู้เขียนออกจะหงุดหงิดหัวใจด้วยเหตุบางประการ


 


หนึ่ง ผู้เขียนไม่ใช่คนที่มีความเชื่อในศาสนาใดๆ  ในสหรัฐฯที่พยายามให้มีความเข้าใจถึงความแตกต่างของปัจเจกบุคคล มีการสอนว่าห้ามพูดเรื่องนี้ แต่ให้พูดว่า "Happy Holidays" (สุขสันต์วันหยุด) หรือ "Season’s Greetings" (เทศกาลสวัสดี) ส่วน "สวัสดีปีใหม่" หรือ Happy New Year นั้นใช้พูดเมื่อวันที่ 1 มกราคม อนึ่ง ฝรั่งกระแสหลักไม่ได้ให้ความสำคัญของ"ปีใหม่" หรือตรุษสากล เท่ากับ "ตรุษฝรั่ง" ที่มีพื้นมาจากศาสนาดังกล่าว


 


คนหลายคนที่ไม่ใช่กระแสหลัก หรือ ไม่ได้เชื่อในตำนานของศาสนานั้นๆ จึงหงุดหงิดและเคืองที่หลายคนต้องมาทึกทักว่าเชื่อแบบเดียวกัน และหนึ่งในคนที่หงุดหงิดคือผู้เขียนเอง รู้สึกว่าทำไมสังคมต้องมาตีขลุมและเหมารวมว่าต้องเป็นแบบนี้ หลายครั้งที่ไปเดินตามห้างแล้วมีคนมาพูด "Merry …" ทำให้ผู้เขียนต้องบอกออกไปตรงๆว่า "I am atheist" บางทีก็บอกว่า "I have no religion." ฝรั่งไม่ถือว่าหยาบคาย กลับบอกว่า "I am sorry." ด้วยซ้ำ ดังนั้นหลายครั้งจึงได้ยินคำว่า "Happy Holidays" หรือ "Season’s Greetings" ไปเลย ยิ่งเวลาผู้เขียนเห็น "นักบุญแจกของ" ที่ชอบใส่ชุดแดงตามห้างหรือในทีวีนี่ด้วยแล้ว ผู้เขียนหนีเอาเลย เพราะถือว่าไม่ใช่ความเชื่อของผู้เขียน  ไม่ขอยุ่ง และมองว่าเป็น "ไอคอน" ของกระแสวัตถุนิยมเมื่อใช้ในเชิงพานิชด้วยในปัจจุบันด้วยซ้ำ


 


สอง ผู้เขียนถามนักศึกษากลับว่าการพูดแบบนี้ รู้เบื้องลึกเบื้องหน้าของคำนี้แค่ไหน ทำไมแค่ไหลตามกระแสเท่านั้นหรือ การจะเป็นมหาบัณฑิตควรต้องมีวิจารณญาณที่ถี่ถ้วนกว่านี้ หลายคนอ้างว่าเป็นพุทธ แต่ลืมมองไปว่าความเป็นพุทธเป็นอย่างไร หลายคนบอกว่าใจกว้างยอมรับความต่าง แต่การพูดแบบนี้ถือเป็นการฝักใฝ่ไม่เป็นกลางในเรื่องความเชื่อ ขาดความเข้าใจเรื่อง"ความเชื่อ"อย่างแท้จริง มิเช่นนั้นคงไม่มีปัญหาในยุคกลางของตะวันตกหรอกที่เน้นศรัทธาจริตจนชิบหายกันเป็นแถวๆ 


 


สาม มีคนบางกลุ่มที่มีความหมกมุ่นในเรื่องความเชื่อของตนเองอย่างสุดโต่ง และมักอยากให้คนอื่นเชื่อตาม  สมัยอยู่เมืองนอกผู้เขียนโดนทาบทามชักจูงให้ฟังเรื่องความเชื่อเหล่านี้ จนน่ารำคาญ กว่า 13 ปีที่อยู่อเมริกา เจอแต่ปัญหาเรื่องทำนองนี้ เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักวิชาการชั้นเลิศของสหรัฐฯ ว่าคนที่สร้างปัญหาในสังคมสหรัฐฯปัจจุบันกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของศาสนาหนึ่ง ที่ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกและเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมหยุดชะงัก เรื่องแบบนี้คนไทยไม่ค่อยรู้เพราะไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบทำความเข้าใจ


 


น่าเสียดายที่สังคมไทย ไม่มีภูมิคุ้มกันเรื่องแบบนี้ ยิ่งเห็นฝรั่งเค้าทำกันมากหน่อย ก็เอากับเค้าด้วย มีเพื่อนรุ่นพี่เรียนขนาด ดร. ยังไหลไปกับเค้าด้วย เคยบอกว่าชอบเพลงพวกเทศกาลนี้ ผู้เขียนเลยต้องอธิบายเป็นคุ้งแคว มาบอกกับผู้เขียนว่า "ต๊าย ดวงตาเห็นธรรมเลย ที่อธิบายมานี้ น่าจะเขียนเป็นบทความเลย" ผู้เขียนสวนกลับว่า "คงลำบาก เพราะทำได้แค่ชี้แจง ส่วนคนที่เค้าศรัทธาไปแล้วเค้าไม่มีวันเชื่อที่บอกไปหรอกพี่"


 


ในขณะเดียวกัน คนไทยกลับไปดูถูกความเชื่ออื่นที่ไม่ได้มาจาก "ฝรั่ง" ยิ่งเป็นบางความเชื่อที่มาจากตะวันออกกลางนี่ ยิ่งมีอคติ และไม่เคยคิดที่จะหยุดมองอย่างไม่มีอคติ ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนเบื่อเหลือเกินที่ในเมืองไทยไม่สนใจเรื่อง "อาหารสำหรับคนที่มีความเชื่อแตกต่าง" หลายคนไม่ทานหมู แต่ไปที่ไหน อาหารมักจะมีแต่หมู ส่วนเรื่องเนื้อวัวนี่ ขยันนักเชียวที่จะไม่มี ยิ่งพวกกินเจนี่ก็ไปอีกด้าน ไปไหนๆ ยิ่งเทศกาลเจนี่ อาหารเจพรึ่ดไปหมด ทำให้นึกถึงคนไทยพุทธสุดโต่งบางกลุ่มที่ไม่ให้คนกินโน่นนี่ หรือกินกันวันละมื้อ อาบน้ำทีละห้าขัน ไม่รู้ว่าคิดกันได้ไง


 


ผู้เขียนไปกินอาหารเย็นกับเพื่อนฝรั่งในคืนวันที่ 24 ธ.ค. เพื่อนฝรั่งคนนี้เป็นศาสตราจารย์ทางการสื่อสาร เราคุยกันเรื่องเทศกาลตรุษฝรั่งกับความเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรมและบริโภคนิยมในสังคมไทย  เพื่อนฝรั่งคนนี้มาเป็น Visiting Professor ให้ที่นิด้า เมื่อเราเดินเข้าไปที่ภัตตาคารในโรงแรม มีคนมาทักทายที่ข้างหน้า แล้วบอกว่า   "เมอรี่…"  ผู้เขียนก็เริ่มหงุดหงิดมาทันที พอเข้าไปถึงก็เจ้าหน้าที่เดินมาบอกว่า วันนี้ หัวละ *** บาท บวกๆ รวมแล้วหัวละ 1,001 บาท จากเดิมที่ราว600 บาทต่อหัว อ้างว่าเป็นคืนพิเศษ มีอาหารพิเศษ มีเครื่องดื่มมาเพิ่มพิเศษ ยิ่งทำให้หงุดหงิดเพิ่มทวีคูณ เห็นว่าเป็นเรื่องที่เอาเหตุฉลองดังกล่าวมาขึ้นราคา เพราะหลายคนที่มาไม่ฉลองเทศกาลนี้ก็ได้ ทำไมต้องฉลอง ควรจะมีทางเลือกสำหรับคนที่ไม่เชื่อและไม่อยากฉลองเทศกาลดังกล่าว


 


กว่าจะหมดเทศกาลฉลองปลายปี สิ้นปีนี้ ผู้เขียนคงได้เห็นเหตุการณ์เฉลิมฉลองอะไรต่างๆ แบบไทยๆ ถ้ามองแบบนักวิจัยเชิงมานุษยวิทยาแบบปรกติก็ต้องมองแบบไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามองแบบวิพากษ์คงต้องมองถึงโครงสร้างอำนาจในวัฒนธรรม หรือถ้าเลยไปถึงเรื่องโพสต์โมเดิร์นต้องมองถึงการแปรรูปของเทศกาลและความหมายที่สร้างขึ้นโดยคนเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ ที่มีความแตกต่างออกไป และอาจยาวไปถึงอิทธิพลของยุคความเป็นอาณานิคมและยุคหลังอาณานิคม ซึ่งก็มีหลายซับหลายซ้อนออกไป ไว้จะลองชวนให้นักศึกษาลองทำหัวข้อแบบนี้ดูอย่างง่ายๆ


 


คงมีประเด็นน่าสนใจมาเสนอให้คิดต่อไปเรื่อยๆ