Skip to main content

หลวงพระบาง (ตอนสอง) : หฤหรรษ์ไปกับชีวิตคน (หัด) เดินทาง

คอลัมน์/ชุมชน

จันทน์กระพ้อ


 


เราช้อปของกินกลับห้อง 2 อย่างคือ ขนมจอก ก๋วยเตี๋ยวมังสวิรัติ (ผักน้อยเส้นเยอะ) และข้าวจี่ ตอนแรก plan ไว้ว่าจะหากาแฟลาวกินด้วย แต่เดินเจอแค่ร้านเดียวและเต็มไปด้วยคนไทยเลยตัดสินใจหิ้วเสบียงกลับเฮือนพัก (เกสต์เฮ้าส์ – ภาษาลาว) ดีกว่า 


 


ถึงตอนนี้คุณคงอยากรู้ว่า รสชาติอาหารมื้อแรกของเราเป็นยังไง  คงต้องตอบอย่างเป็นธรรมว่า แล้วแต่ปากใครปากมัน  สำหรับฉันชอบขนมจอกที่สุด  อร่อยมากๆ แต่คนที่ไปด้วยชอบข้าวจี่เห็นได้จากการฟาดเรียบคนเดียว 2 ไม้ (หลังจากที่กินทุกอย่างหมดแล้ว)  โดยข้าวจี่ที่นี่จะแตกต่างจากเมืองไทยตรงที่มีการนำข้าวที่ปิ้งเสร็จแล้วไปทาน้ำพริกเผาอีกที  ทำให้ข้าวจี่ที่ได้มีมากกว่าความจืด (อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว)


 


อิ่มหมีพีมันหน้าจอทีวี (ที่รับสัญญาณจากประเทศไทย) เรียบร้อยก็ได้เวลาออกเดินหาจักรยานเช่าซึ่งหาไม่ยากเลย และจักรยานที่ฮิตที่สุดของที่นี่คือ จักรยาน LA มีทั้งที่เป็นแบบ sport แบบเสือภูเขา และแบบแม่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่า เรา 2 คนต้องเลือกแบบแม่บ้านที่ความสูงพอประมาณ จะได้ผลัดกันขี่ผลัดกันซ้อน แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่เป็นอย่างนั้น  เพราะถนนที่หลวงพระบางชันมาก  ทุกครั้งที่ปั่นจึงต้องออกแรงมากเกินความคาดหมาย  ใครมีโอกาสไปก็อยากให้ได้ลองขี่จักรยานแม่บ้านขึ้นภูเขาดูสักครั้ง  แล้วจะรู้สึกได้ถึงความหฤโหด  แต่เรื่องอย่างนี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาถ้าคุณพาคนที่ "สามารถ" ปั่นได้ไปด้วย  เพราะฉะนั้นหน้าที่โดยรวมของฉันบนจักรยานคันนั้นก็คือ นั่งหรือยืนเกาะหลังคนขี่  ทั้งนี้อาจรวมไปถึงการพูดนั่นพูดนี่ให้คนขี่ฟังแก้เหนื่อย  และ 10.000 กีบ (40 บาท) ต่อจักรยาน 1 คัน ต่อ 1 วัน จึงเป็นอีกหนึ่งความสุขของฉันกับคนที่มาด้วย (รึเปล่า) ที่หลวงพระบาง


 


ขอวกกลับมาเล่าเรื่องสถานที่ที่ยวดยานสุดหฤหรรษ์คันนี้พาเราไปเที่ยวกันบ้างเรา  สถานที่แรกที่เราไปก็คือ "พิพิธภัณฑ์แห่งชาติลาว" (ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518  สถานที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า "พระราชวังหลวงพระบาง") ซึ่งเรา 2 คนตัดสินใจไปในแนวทางเดียวกันว่า  ขอเดินชมรอบๆ ก็พอ เพราะไม่ค่อยชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์เท่าไรนัก  แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า  ขนาดไม่ได้เข้าไปชมข้างใน  เราก็ยังใช้เวลาอยู่ที่นี่นานกว่า 1 ชม. เพราะข้างในนี้ร่มรื่น สงบ และสวยงาม แต่ถ้าจะถามว่า  มีเรื่องราวความสำคัญเกี่ยวกับลาวมาบอกต่อมั้ย  คงต้องตอบอย่างอายๆ ว่าไม่มีเลยค่ะ  เพียงแต่ถ้าใครได้มา (หลวงพระบาง) ก็อยากให้ได้มาเที่ยวที่นี่เหมือนกัน


 


     


พิพิธภัณฑ์ฯ คือสถานที่แรกที่เราไปชมค่ะ


 


     


ภาพพระราชวังฯ ถ่ายจากยอดเขาภูษี


 


สถานที่ต่อไปที่เราเลือกจะไปเยือนก็คือ วัดเชียงทอง  ที่ๆ จักรยานของเราถูกขี่ผ่านซอย (เล็กๆ) ไปมาประมาณ 3-4 เที่ยว (เพราะหลง) กว่าจะได้ฤกษ์เลี้ยวเข้าซอย (วัดเชียงทองตั้งอยู่ในซอยนั้น) ทำเอาคนขี่ของเราเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว…แต่เรื่องอย่างนี้จัดเป็นหนึ่งในความเท่ของนักเดินทางนะฉันว่า…อันนี้เป็นคำพูดปลอบใจคนออกแรงปั่นที่ได้ผลนิดหน่อยค่ะ


 


เราจอดจักรยานไว้มุมใดมุมหนึ่งของวัด  แล้วตระเวนถ่ายรูปสถาปัตยกรรมภายในวัดเชียงทอง (ที่สวยมากแต่ไม่เก่าแก่เท่าไหร่ในความรู้สึกฉัน)  ซึ่งกว่าจะเก็บภาพพระอุโบสถทั้งหลังได้ก็เหงื่อตกไปหลายหยด  เพราะขนาดของพระอุโบสถที่ค่อนข้างใหญ่ในขณะที่หน้าจอกล้องดิจิตอลนั้นค่อนข้างเล็ก  แถมความสามารถในการซูมยังค่อนข้างต่ำอีกต่างหาก  แต่ไม่ว่ายังไง  ฉันก็จะต้องถ่ายให้ได้มุมเหมือนในหนังสือท่องเที่ยวให้ได้  (ภาพพระอุโบสถในหนังสือหลายเล่มมักถ่ายมุมใกล้เคียงกัน)  เพราะภาพเหล่านั้นทำให้ฉันอยากมาชมความสวยงามของพระอุโบสถให้เห็นกับตา  วันนี้จึงมาพร้อมปณิธานอันแรงกล้าว่า  เราก็น่าจะถ่ายภาพพระอุโบสถมุมนี้ไว้เป็นความภูมิใจของเราบ้างนะ ซึ่งฉันว่าฉันก็ทำได้นะ (รึเปล่า...ชมภาพด้านล่างแล้วช่วย comment ด้วยนะคะ)


 


 




พระอุโบสถ วัดเชียงทอง


 


เดินชมวัดจนเหงื่อตก ไม่ใช่เพราะเหนื่อยแต่เพราะแดดแรงมากค่ะท่านผู้ชม  แรงมากเหมือนเมืองไทยช่วงหน้าร้อน  เราจึงมานั่งพักใต้ต้นไม้ภายในวัด  และกางหนังสือเกี่ยวกับวัดเชียงทองออกอ่านศึกษาหาความรู้


 


หนังสือเค้าบอกอย่างนี้ค่ะ  วัดเชียงทองมีพระอุโบสถ (สิม - ภาษาลาว) ที่โดดเด่นและแสดงถึงสถาปัตยกรรมทางศาสนาแบบหลวงพระบางแท้...ภายในวัดยังมีเขตสังฆาวาสประกอบด้วยกุฏิ  สถูปเจดีย์ดังเช่นวัดทั่วไป และยังมีพระจำพรรษาอยู่  นับเป็นวัดในหลวงพระบางที่ยังคงรักษาสิ่งก่อสร้างเดิมๆ ไว้ได้อย่างครบถ้วน (ขออนุญาตตัดตอนมาเพียงเท่านี้นะคะ เพราะเราก็แอบอ่านข้ามๆ เหมือนกัน  ปล. ถ้าใครสนใจหาอ่านได้จาก Trips Magazine ฉบับลาวเหนือค่ะ)


 


  


จิตรกรรมในพระอุโบสถ


 




สถาปัตยกรรมภายในวัดเชียงทอง


 


 


จากวัดเชียงทองมีบันไดเดินลงไปเจอกับแม่น้ำ  คนเก็บค่าเที่ยวชมวัดถามเราว่าอยากไปเที่ยวถ้ำติ่งมั้ย  เค้าจะอาสาพาเรานั่งเรือเค้าไป  ค่าเรือ 1,000 บาท ไป-กลับ จะกี่คนก็ราคานี้  แต่ด้วยความที่เราไม่มีพรรคพวกมาด้วยจึงจำต้องปฏิเสธเค้าไปเพื่อกลับมาตั้งหลักหาคนแชร์ค่าเรือด้วย  เพราะขืนเหมาลำไปกัน 2 คน ตังค์ที่เตรียมมาคงไม่พอใช้แน่ ๆ


 


เสร็จจากวัดเชียงทอง  เราขี่จักรยานหาอาหารลงท้อง  ขี่วกไปวนมาอยู่นาน  ตอนแรกอยากกินกาแฟตรงตลาดเช้าปรากฏว่าเค้าขายเฉพาะตอนเช้า  เลยจำต้องปั่นจักรยานคอตกหาร้านอื่นต่อไปๆ และต่อไป  ที่ต้องบอกผ่านหลายร้านก็เพราะทุกร้านต่างก็มีเนื้อวัวเป็นส่วนประกอบซึ่งฉันไม่กินมาตั้งแต่เกิดแล้ว  ตอนนั้นท้อเพราะความแรงของแดดที่แผดเผาชีวิตคน 2 คน บนจักรยานแบบเอาตายเลยกะจะซื้อบาแก็ตกินประทังชีวิต  แต่แล้วความพยายามเฮือกสุดท้ายก็เป็นผลเมื่อแม่ค้าหน้าหวาน (ประมาณร้านที่ 5 ได้แล้วมั๊ง) เอ่ยปากบอกทันทีที่เราถามว่า "เนื้อก็มี  หมูก็มีเจ้า"  โอ้โห! สวรรค์โปรด  ร้านนี้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับมื้อกลางวันมื้อแรกของเราที่หลวงพระบาง


 


เฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) 1 ชาม กับข้าวซอย 1 ชาม ถูกยกมาวางบนโต๊ะที่มีผักมากมายหลายชนิดเป็นเครื่องเคียง ที่ฉันรู้จักก็มีผักกาดหอมกับสะระแหน่  นอกนั้นไม่รู้จักค่ะ  แต่ลองกินหมด  สำหรับบทสรุปของมื้อนี้  จะแย่ไปมั้ยคะ  ถ้าจะบอกว่าผักอร่อยแต่เฝอกับข้าวซอยไม่อร่อยเลยอ่ะ  (นานาจิตตังเพราะคนที่มาด้วยบอกว่า  อร่อยใช้ได้)


 


แบกพุงก้อนโต (จากน้ำดื่ม) กลับห้องเพราะไม่รู้จะทำอะไรในวันที่แดดร้อนแบบนี้  ความจริงเจอคนไทยที่มากันเป็นกลุ่ม 5-6 คน มาชวนเราแชร์ค่ารถ  คือเค้าจะเหมารถ 4 ล้อ (แท็กซี่) ไปสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำถึง 3 แห่งคือ น้ำตกกวางสี  น้ำตกตาดแซะ และถ้ำติ่ง ภายใน 1 วัน ราคา 1,500 บาท (แต่เค้ากะจะต่อเหลือ 1,000 บาท) ความจริงไม่แพงเลยสำหรับ 3 ที่กับราคาเท่านี้  แต่ฉันกับคนที่ไปด้วยกันตกลงกันว่า  เรามาที่นี่เพื่อพักผ่อน  การเที่ยวหลายที่ที่คุ้มค่าและประหยัดเวลาจึงเหนื่อยและรีบเร่งเกินไปสำหรับเรา จึงตอบปฏิเสธเค้าไป  เค้าก็ถามว่า  "แล้วน้องจะไปไหนกัน?"  ฉันก็ได้แต่ยิ้มและตอบไปว่า "ไม่รู้เหมือนกันค่ะ" เค้าคงคิดในใจ "ไอ้ 2 คนนี้มันปกติดีป่าววะ"  ซึ่งเราก็ไม่อยู่ให้เค้าสงสัยนาน  เพราะตอบอย่างนั้นไปเสร็จ  เราก็รีบขอตัวแล้วมุ่งหน้า...อยากรู้มั้ยว่าไปไหน  55 กลับเฮือนพักไปตั้งหลักเปิดแผนที่ค่ะ


 


กลับถึงห้องพักไม่รู้ตั้งหลักอีท่าไหน  ผล็อยหลับไปทั้งคู่รู้สึกตัวอีกที 4 โมงเย็น  ได้นอนเต็มอิ่มอย่างนี้เสมือนกำลังกายและใจถูกถมจนได้ที่พร้อมแล้วสำหรับการพาตัวเองปีนบันได (ที่โค_รชัน) หลายขั้นขึ้นไปนมัสการพระธาตุจอมษีบนยอดเขาภูษี  ซึ่งถ้าใครขึ้นไม่ไหวก็ไม่เป็นไร  เพราะไม่ว่าจะยืนอยู่ ณ จุดใดของหลวงพระบาง  เมื่อแหงนหน้ามองฟ้าแล้วหันไปทางทิศที่พระธาตุตั้งอยู่  คุณก็สามารถชมความงามของพระธาตุสีทององค์นี้ได้แล้วค่ะ  ซึ่งช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกว่า  พระธาตุจอมษีงดงามที่สุดก็คือ  เวลาเที่ยงวัน  เพราะทุกครั้งที่แดดแรงๆ ส่องมากระทบ  รังสีสีทองขององค์พระธาตุจะแผ่ขยายเตะตาผู้ที่เงยหน้าขึ้นไปชม  บอกตามตรงว่า  ฉันหลงใหลในประกายสีทองนี้เอามากๆ ถึงขนาดสะกิดคนข้างๆ ว่า  แม้แดดจะแรงหรือทางจะชันเท่าไหร่  ยังไงวันนี้เราก็ต้องขึ้นไปนมัสการพระธาตุจอมษีระยะใกล้ๆ ให้ได้


 


แล้วบันไดขั้นสุดท้ายก็ถูกข้ามผ่าน  และเราก็พบกับนักท่องเที่ยวมากมายที่ต่างยืนชมความงามขององค์พระธาตุบริเวณทางเดินคล้ายระเบียงโดยมีรั้วกั้นกันตกเขาอยู่ตลอดแนว  ซึ่งจากจุดนี้สามารถชมวิวทิวทัศน์เมืองและสถานที่สำคัญต่างๆ ของหลวงพระบางได้เกือบรอบ  ทั้งพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง  แม่น้ำโขง  และสนามบิน  แต่ความตื่นตาตื่นใจไม่ได้มีเพียงเท่านั้น  เพราะบนยอดเขาภูษียังถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดของหลวงพระบาง 


 


 


พระธาตุภูษี – ของจริงทองกว่านี้หลายเท่า!!


                  




ถนนที่หลวงพระบาง – ถ่ายจากยอดเขาภูษี


 


เรารอชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าโดยมีนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติชมเป็นเพื่อน  และเมื่อเวลาที่รอคอยมาถึง  เสียงพูดคุยเซ็งแซ่ค่อยๆ เบาบางจางหาย  โดยมี "ความรัว" ในการกดชัตเตอร์เข้ามาแทนที่  ส่วนฉันกับคนที่ไปด้วยสะพายกล้องคนละตัว  ต่างคนต่างถ่าย  แต่รูปที่ได้เกือบเหมือนกัน  เพราะวินาทีนั้นใครที่มีกล้องก็คงอยากถ่ายภาพเก็บไว้ดูเผื่อคิดถึงกันทุกคน  ซึ่งพระอาทิตย์ที่หลวงพระบางตกเร็วมาก  ไม่กี่อึดใจท้องฟ้าสีส้มก็เลือนหายกลายเป็นสีฟ้าออกเทาๆ ส่งสัญญาณว่าความเงียบเหงากำลังจะเข้าแทนที่เสียงดังอื้ออึงของนักท่องเที่ยวที่ต่างก็อาศัยยอดเขาภูษีแห่งนี้เป็นสถานที่กักเก็บความประทับใจกลับบ้านไปคนละมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน


 


 




พระอาทิตย์ตกดิน  ถ่ายบนยอดเขาภูษี


 


ขาลงจากยอดเขาเราใช้คนละเส้นทางกับขาขึ้น  เพื่อแวะสักการะวัดพระธาตุจอมษี  วัดถ้ำพูษี  วัดศรีพุทธบาทและวัดป่ารวกซึ่งตั้งอยู่เรียงรายไปตามขั้นบันได  วัดทั้ง 4 วัด  ออกจะเก่าแก่แต่สวยงาม  มีประติมากรรมมากมายซึ่งฉันไม่มีความรู้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด  แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือความเคร่งขรึม  สงบเงียบ  และอบอวลไปด้วยศรัทธาบางอย่างที่อธิบายไม่ได้เหมือนกัน


 




ประติมากรรมที่ปรากฏอยู่บริเวณบันไดวัดทางลงจากเขาภูษี


 


ลงจากเขาก็ได้เวลาเอาจักรยานไปคืนเลทไป เกือบ 1 ชม. แต่เจ้าของร้านใจดีไม่มีต่อว่าสักคำ  เราเดินเรื่อยๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่ "ตลาดมืด" ที่ซึ่งถูกเรียกว่า "ตลาดเช้า" ในตอนเช้า  ตลาดมืดนั้นถือเป็นมหกรรมตลาดอันยิ่งใหญ่เพราะปิดถนนยาวๆ ออกร้านกันเลยทีเดียว  แต่ก่อนจะไปถึงที่นั่นเราก็ถูกเสียงหวานๆ ของแม่ค้าขายกล้วยแขกตรึงไว้ซะก่อน


 


"กล้วยบ่ อันละ 1,000 5 อัน แถมอันนึง"  นี่...แม่ค้ามีโปรโมชั่นมาล่อใจซะด้วย


"3 อัน แถมอันเล็กอันละกัน"  ฉันต่อรอง  ความจริงถ้าแม่ค้าไม่แถมก็ตั้งใจจะซื้ออยู่แล้ว  เพราะกล้วยแกชิ้นใหญ่มาก  ขอเขียนอีกทีว่า  ใหญ่สุดๆ  ถ้าได้เขมือบรสชาติต้องดีแน่ๆ


"โอ๊ย! คนไทยนี่ขี้ต่อเนอะ"  แม่ค้าพูดพลางหยิบกล้วยแขกใส่ถุง  โดยยอมแถมให้เราอย่างไม่อิดออด


ฉันยื่นตังค์ไปแลกกับถุงใส่กล้วยแขกในใจก็นึกขอโทษคนไทยทั้งประเทศที่ทำให้ภาพลักษณ์ของคนไทยในหัวใจของแม่ค้ากล้วยแขกเสียหาย...


 


กัดคำแรกตรงกึ่งกลางของกล้วยแขก  รสชาติหวานๆ ของกล้วยที่สาบานว่า  ไม่เคยได้ลิ้มรสที่เมืองไทยค่อยๆ ทยอยเข้าสู่กระบวนการเคี้ยว  ย่อย  และต่อด้วยการกินเข้าไปใหม่อย่างเร็วๆ จนหมด 


 


โอ้โห! ท่านผู้ชมอร่อยมาก  อร่อยสุดๆ ของสุดๆ  น่าเสียดายที่ไม่ได้ถามว่า  แม่ค้าใช้กล้วยพันธุ์อะไรจะได้ขอมาเพาะที่เมืองไทย  รับรองธุรกิจกล้วยทอดของฉันต้องได้รับการบอกปากต่อปากจนเฟื่องฟูอย่างแน่นอน  (ไม่ได้โม้นะคะ  อร่อยมากจริงๆ ไว้ใครจะไปเมลมาถามได้ว่าร้านตั้งอยู่ตรงไหน)


 


จัดการกับกล้วยเสร็จก็มาถึงภารกิจหลักของวันนี้คือ  การกินบุฟเฟ่ต์มังสวิรัติราคา 5.000 กีบ (20 บาท)  เป็นมื้อเย็น  อันที่จริงเมนูนี้ plan ไว้ก่อนมาที่นี่ประมาณปีกว่าๆ แล้วค่ะ


บุฟเฟ่ต์มังสวิรัติราคา 20 บาท มีด้วยกันหลายร้าน  แต่เราไม่ได้เลือก พอเจอร้านนี้ก็นั่งเลย (แล้วมารู้ทีหลังว่า  มีหลายร้าน)  พี่คนขายให้จานมา 1 ใบ ตักได้ 1 ครั้ง พูนเท่าไหร่ก็ได้  เมนูวันนั้นมีผัก ข้าว และเส้นสารพัดอย่าง  ฉันตักมาเกือบทุกอย่างเรียงสลับชั้นกันไป  เวลากินก็ปนๆ กัน  รสชาติอร่อยดีค่ะ  คนที่ไปด้วยก็บอกว่า  อร่อยดี  ได้ประโยชน์  และถูก


 


 


ร้านบุฟเฟ่ต์มังสวิรัติ


 




บรรยากาศตลาดมืด


 


อิ่มหมีพีมันทั้งคู่ปุ๊บ  เราก็เดินชมของที่ตลาดมืดปั๊บ  มีของที่อยากได้หลายอย่าง  แต่วันนี้คงจะไม่ได้อุดหนุนเพราะตังค์มีไม่พอต้องรอแลกเงินพรุ่งนี้  วันนี้เลยแค่เดิน survey รอบเดียวแล้วก็เดินออกจากตลาดเพื่อไปลิ้มลองบรรยากาศของผับที่หลวงพระบางดูซักที...


 


ใจจริงอยากเขียนต่อ  แต่หน้ากระดาษหมดแล้ว ยังไงติดตามตอนหน้าอีกซักตอนนะคะ  จะพาไปเที่ยวน้ำตก  ผับ  แล้วก็เธคค่ะ


 


 







ขอล้อมกรอบตอบ คุณคนอยากไปเหมือนกันผ่านทางบทความนี้เลยละกันนะคะ


 


คนที่ไปด้วย say : เมื่ออยู่ในหลวงพระบาง พึงระวังเอาไว้ให้ดี! ระวังความน่ารักรุมทำร้าย! ความประทับใจจู่โจม! ศิลปะงามๆ โหมเข้าใส่!


ฉัน say : เรื่อง "เวลา" ค่ะ  เพราะการเดินทางที่นั่นอาจทำให้ตารางกิจกรรมที่คุณ plan ไว้ถูกยืดและยืดออกไป  เพราะรถที่คุณนั่งอาจเสียกลางคัน  หรือคนขับอาจแวะคุยกับเพื่อนระหว่างทาง  ประมาณนี้ค่ะ 


 


ส่วนเรื่องอัตราค่าใช้จ่าย คนลาวจะคิดค่าเงิน 250 กีบ เป็น 1 บาท  แต่ถ้าแลกที่ธนาคารอัตราก็อาจผันผวนไปบ้าง ช่วงที่ฉันไป 269 กีบ เป็น 1 บาทค่ะ  สำหรับค่าอาหารอยู่ในเรต 20 บาท ขึ้นไป  ถ้าเป็นร้านอาหารริมโขง  หรือร้านที่ขายอาหารประเภทเนื้อ เช่น ไก่ย่าง ราคาก็จะแพงขึ้นมาหน่อย ส่วนน้ำเปล่าขวดละ 8 บาท ชาเขียวโออิชิ  รวมถึงน้ำที่มีความ special อื่นๆ ราคาแพงกว่าที่เมืองไทยเล็กน้อย


 


ค่าที่พักแล้วแต่ต่อรองค่ะ  ถ้าไม่ติดริมโขงห้องน้ำในตัว  ตกประมาณคืนละ 6 ดอลลาร์ ถ้าริมโขงประมาณ 10-11 ดอลลาร์  ถ้าพักหลายคืนก็็ต่อได้อีกหน่อยค่ะ  ส่วนค่ารถ  ที่หลวงพระบางไม่มีรถเมล์  มีแต่รถเหมา โดยเรากับคนขับจะตกลงราคากันเอง  (เค้าไม่ได้คิดเป็นรายหัวแต่คิดเป็นรายระยะทาง ถ้ารวมกลุ่มไปกันเยอะๆ ก็จะมีการเเชร์ที่มากขึ้น  ช่วยประหยัดทั้งค่าที่พักและค่ารถค่ะ)