Skip to main content

เปรมในม็อบ

คอลัมน์/ชุมชน

การจะดูว่าผู้คนคิดและรู้สึกอย่างไรกับชนชั้นนำนั้น การลงไปหาข้อมูลจากภาคสนามหรือในกรณีที่กำลังจะกล่าวถึงคือจากม็อบต้านรัฐประหารนั้นน่าจะช่วยให้รับรู้ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนได้ดียิ่งกว่าการอ่านเอาจากหนังสือพิมพ์รายวันแบบโฆษณาชวนเชื่อในเครือผู้จัดการ หรือฟังรายงานข่าวทางโทรทัศน์ช่องทหาร หรือฟังการวิเคราะห์ของนักวิชาการที่กำลังจะเป็น ส... หรือการสำรวจของโพลสำนักต่าง ๆ เป็นไหน ๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า การรายงานข่าวหรือการวิเคราะห์ของนักวิชาการนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการเล่าซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีอะไรตกหล่นหรือเพิ่มเติมเข้าไปในการเล่าซ้ำ(และบทความนี้ก็เป็นการเล่าซ้ำในอีกรูปแบบหนึ่ง)


 


พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ม็อบต้านรัฐประหารและผู้ปราศรัยบนเวทีหยิบยกขึ้นมาโจมตีอย่างดุเดือด ด้วยความเชื่อที่ว่าพลเอกเปรมนั้นเป็นบุคคลที่สนับสนุนรัฐประหารหรือทำให้เกิดรัฐประหารในครั้งนี้ขึ้น  ซึ่งก็หมายความว่าทำลายกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่มีมาก่อนหน้า (จะทำลายจริงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่มุมมองของแต่ละคนที่คงจะแตกต่างกันไปซึ่งก็อาจขึ้นอยู่กับการตีความว่าอะไรคือประชาธิปไตย)


 


ม็อบต้านรัฐประหารมีอยู่หลายกลุ่ม คนที่เข้าไปสังเกตการณ์ก็คงจะรู้ดี แต่ละกลุ่มมีคนฟังมากน้อยต่างกันไป ลีลาการพูดของแต่ละกลุ่มก็ต่างกันไป บางกลุ่มอาจเน้นข้อมูล ความเป็นเหตุเป็นผล บางกลุ่มเน้นเอามันส์ ใช้ถ้อยคำหยาบคายรุนแรง  แต่จุดร่วมเหมือนกันคือเห็นว่ารัฐประหารทำให้สังคมการเมืองไทยถอยหลัง การรัฐประหารมีผลเสียมากกว่าผลดี การรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยที่คนรุ่นก่อน ๆ ช่วยกันสร้างมา


 


พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นเป้าใหญ่ที่ถูกพาดพิงถึง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร แต่สิ่งที่ยังความประหลาดใจให้ผมอย่างใหญ่หลวงนั้นก็คือการใช้วาจาด่าทอพลเอกเปรม ของม็อบกลุ่มหนึ่งที่มีต่อพฤติกรรม "ส่วนตัว" ของพลเอกเปรม รุนแรงหยาบคายเสียจนผมไม่กล้านำมาเล่าซ้ำ และคงไม่มีสื่อแขนงใดกล้าเล่าซ้ำ


 


ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ม็อบกลุ่มนั้นพูดหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้ทึ่งใจก็คือ คนพูดมีความกล้าหาญชาญชัยมาก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าพลเอกเปรม ในพ.. นี้เป็นบุคคลสำคัญที่ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ตรง ๆ  ใครที่ออกมาวิจารณ์พลเอกเปรม ก็ต้องได้รับผลกระทบกลับไป ดูคุณสมัคร  สุนทรเวช เป็นตัวอย่าง


 


ที่ผ่านมาการจะ "พูดถึง" พลเอกเปรม ได้นั้น กระทำกันอย่างลับ ๆ  หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า "นินทา" การนินทาเป็นวิธีการอย่างหนึ่งของชาวบ้านและของสังคมไทยในการต่อรอง คัดคาน กับอำนาจที่ไม่อาจปะทะได้ตรง ๆ


 


เราจึงมักได้ยิน  ได้ฟังเรื่องลูกน้องนินทาหัวหน้าตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงเรื่องการทำงาน (เพราะไม่สามารถพูดกับหัวหน้าตรง ๆ ได้)  เรื่องคนรับใช้นินทาเจ้าของบ้าน (เพราะกลัวจะโดนหักเงินเดือนหรือโดนไล่ออก) หรือคนนั้นเป็นชู้กันกับคนนี้ การนินทาในแง่นี้จึงเป็นการควบคุมทางสังคมได้อีกด้วย เพราะคนที่เป็นชู้กับเมียหรือผัวชาวบ้านจะถูกนำมาเป็นหัวข้อในการนินทาซึ่งก็คงไม่มีใครอยากให้ตนเองถูกนินทา


 


แต่ชื่อของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในม็อบนั้น ไม่ใช่การนินทาอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นป่าวประกาศต่อสาธารณะ ต่อสังคม เป็นการยื่นญัตติของประชาชน(คำนี้เป็นคำของอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ที่ใช้เรียกประชาชนในม็อบพันธมิตรที่ชุมนุมประท้วงอดีตนายก ฯ ทักษิณ)


 


บรรยากาศภายในม็อบนั้นทำให้อาณาจักรแห่งความกลัวภายใต้รัฐทหารถูกทำลายลง (คงรู้กันดีว่าคำนี้เป็นของดร. นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ที่ใช้สาธยายบรรยากาศอันน่ากลัวเกินจริงภายใต้การนำของคุณทักษิณ)


 


ยิ่งนานวัน ม็อบก็ยิ่งทำให้ความกลัวสลายลง สิ่งที่เคยอยู่ในที่มืดก็จะถูกหยิบยกเอามา "แฉ" ในที่สว่าง (เครื่องเพชรพอเพียง 14 ล้านและโบกี้รถไฟที่ซุกซ่อนไว้ก็จะถูกนำมาเปิดโปง!อ้าว!) เรียกได้ว่าเปลืองตัวไปตาม ๆ กัน


 


นอกจากพลเอกเปรมแล้ว บุคคลอีก 2 คนที่ม็อบต้านรัฐประหารหยิบชื่อขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กระทั่งก่นประณามคือพลเอกสนธิ  บุณยรัตนกลิน ประธานคมช.  และพลเอกสะพรั่ง กัลยาณมิตร ที่ออกมาพูดแต่ละทีก็ยิ่งทำให้ความสมานฉันท์กลายเป็นนิทานหลอกเด็ก ชื่อของทั้ง 2 คนนี้เป็นชื่อที่ถูกบอกให้ออกไป! เช่นเดียวกับที่ชื่อทักษิณเคยโดน


 


ภายในม็อบต้านรัฐประหาร (ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม) ชื่อพลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ ถูกแตะน้อยกว่าทั้ง 3 ชื่อที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะบุคลิกการวางตัว ตลอดจนการพูดของพลเอกสุรยุทธ ที่ฟังแล้วคนไม่รู้สึกเกลียดมากเท่า (แต่ต่อไปไม่แน่)


 


ต้องรอดูกันต่อไป ว่าม็อบต้านรัฐประหารจะทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้กระเทือนมากน้อยแค่ไหน จะทำให้คมช. ตื่นกลัวลนลานจนต้องสกัดกั้นประชาชนตามเส้นทางต่าง ๆ อย่างที่เคยทำหรือไม่ แต่ที่แน่    นั้นชื่อของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในม็อบต้านรัฐประหารนั้นไม่ขลังอย่างที่เคยขลังอีกแล้ว.