Skip to main content

เปิดประตูเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบชะตาธรณีแผ่นดินเกิด คุ้มครองธรรมชาติ และแหล่งอาหารที่บ้านแม่ขะ

คอลัมน์/ชุมชน





เปิดประตูเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบชะตาธรณีแผ่นดินเกิด
คุ้มครองธรรมชาติ และแหล่งอาหารที่บ้านแม่ขะปู



๓ วันของการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล โดยสมาชิกรัฐสภา คือ ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้ผ่านไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๓-๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘ ซึ่งหลายท่านได้เตรียมประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะมาอย่างดี โดยถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับรู้นโยบาย ๙ ประการของรัฐบาล และข้อห่วงใยของสมาชิกรัฐสภา เป็นข้อมูลให้สามารถติดตาม ตรวจสอบได้ว่า การบริหารงานใน ๔ ปีข้างหน้า รัฐบาลจะนำนโยบายมาปฏิบัติจริงหรือไม่ และได้ผลดีจริงหรือไม่


หลังจากนั่งในสภามา ๓ วันเต็ม ๆ วันละ ๑๓-๑๔ ชั่วโมง เช้าวันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๘ ดิฉันก็ได้ขึ้นดอยไป เรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่อยู่ร่วมกับป่าของชาวปกาเกอญอ ที่บ้านแม่ขะปูใน หมู่ ๓ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณวิโรจน์ ดุลยโสภณ คุณสมพล โชคดีศรีสวัสดิ์ และคุณเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนและเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ มารับที่สนามบินเชียงใหม่ เวลา ๐๘.๐๐ น.


รถตู้ของอ้ายเพชร ขวัญใจชาวบ้านพาขึ้นดอยไปทางแม่ริม ผ่านตำบลบ่อแก้ว แล้วแล่นไปตามทางดินที่คดเคี้ยวและสูงชัน ใช้เวลาราว ๓ ชั่วโมง ก็ถึงบ้านแม่ขะปู ซึ่งอยู่ในเขตดอยม่อนยะ " พะตี มูเสาะ" [1] พะตี เป็นคำนำหน้าเรียก ผู้นำบ้านแม่ขะปู ซึ่งดิฉันรู้จักมา ๑๐ กว่าปีแล้ว ในฐานะผู้นำเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ มารับด้วยความดีใจ มีชาวบ้านในลุ่มน้ำแม่ขาน ๕ หมู่บ้าน และเครือข่ายสมัชชาคนจนจากภาคอีสานมาร่วมงานด้วย พะตีบอกว่าไปกินข้าวก่อน แล้วค่อยไปป่าที่ทำพิธี


อาหารที่เลี้ยงแขกในงานมงคล ต้องมีแกงขนุนเป็นหลัก เพื่อแสดงว่าจะได้เกื้อกูลหนุนช่วยกันต่อไป กินแกงขนุนกับข้าวไร่หุง ห่อด้วยใบตอง มัดตอกแถมด้วยปลาทูทอด ตามด้วยน้ำต้มสมุนไพรใส่ในกระบอกไม้ไผ่กลิ่นหอมกรุ่น อิ่มหนำแล้ว พะตีมูเสาะพาเดินจากวัดไปยังหมู่บ้าน สัก ๑๕ นาทีก็ถึง แวะบ้านพะตีที่เพิ่งสร้างเสร็จ พื้นบ้านเป็นไม้กระดานเลื่อยมือ ฝาเป็นฟากไม้ไผ่ มีเตาไฟอยู่มุมห้อง แม่บ้านกำลังเตรียมอาหารเลี้ยงแขกมื้อเย็น


ดิฉันขอกิน " แกงเย็น" อาหารโปรด ซึ่งทำง่าย ๆ พะตีลงมือเอง คือเอาน้ำเย็นจากกระบอกไม้ไผ่เทใส่ชาม คว้าผักกาดดอยตากแห้งจากถุง ๑ กำมือ ใส่ในชาม เติมด้วยเกลือ พริกตำ มะแว้งตำ ผสมกัน ชิมดูรสเข้ากันดีก็กินได้ เมียพะตีบอกว่า เสียดายวันนี้ไม่มีมะกอกป่า ถ้าใส่ด้วยจะอร่อยมาก


กินอาหารรอบสองเสร็จ ก็ได้ดื่มน้ำผึ้งป่า ซึ่งชาวบ้านเพิ่งได้มา ผสมน้ำมะนาวกับน้ำอุ่นและเกลือ ชื่นใจ ชุ่มคอเป็นที่สุด แล้วพะตีมูเสาะก็พาเดินไปยังเวทีเสวนา โดยเดินผ่านป่าสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยเท้าเปล่า สัมผัสแม่ธรณีอันอ่อนนุ่ม ชุ่มเย็น




ป่าแม่ขะปู ฟื้นตัวจากการเป็นป่าสัมปทานและการเป็นไร่ผืนเก่า ในเวลา ๓๐ ปี มีพืชพันธุ์ต่าง ๆ และระบบนิเวศที่หลากหลาย พะตีชี้ให้ดูดงมะไฟ ซึ่งกำลังออกช่อสีเขียวห้อยระย้า อีกเดือนกว่าก็จะสุกเป็นสีเหลือง สีแดง เป็นผลไม้ชั้นดีของเด็ก ๆ และผู้ใหญ่


มะเดื่อป่ามีหลายชนิด ชนิดที่กินลูกสุก กำลังเป็นช่ออยู่เต็มโคนต้น รอวันที่ลูกสุกสีแดง หอมหวาน ผึ้งพากันมาตอม กับชนิดกินดิบ ลูกออกตามกิ่งบนต้น ดิฉันเคยกินบ่อย ๆ เมื่อครั้งที่อยู่บนดอย


มีพะตีคนหนึ่งถือปี่เขาควายมาด้วย จึงมีเสียงไพเราะขับกล่อมเป็นระยะ ๆ พะตีเล่าว่า เวลาเดินในป่า ถ้ามากันแค่ ๑-๒ คน จะต้องเป่าปี่ เพื่อใช้เสียงเป็นเพื่อน สัตว์ใหญ่ พวกเสือ หมี ช้าง ได้ยินก็จะหนีไป ไม่มายุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามาหลายคน เสียงพูดคุยกันก็เป็นสัญญาณให้สัตว์หลบไปทางอื่น


" ต้นตอง" มีหนามเป็นตุ่มรอบต้น เป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว ดูดซับน้ำไว้มาก ทำให้ป่าชุ่มชื่น พะตีบอกว่า เจ้าหน้าที่น่าจะเพาะแจกให้ปลูกกันมาก ๆ


" ต้นไคร้น้ำ" เป็นเสมือนเขื่อนเก็บกักน้ำ ช่วงฤดูหนาวจะทิ้งใบ แล้วผลิใบ ออกดอก เป็นช่วงที่เหมาะในการขยายพันธุ์ โดยตัดกิ่งไปปักริมที่ที่มีน้ำเปียกชุ่ม ไคร้น้ำโตเร็ว รากแผ่ขยายไปไกล เป็นรากฝอย ซึ่งสัตว์น้ำใช้เป็นที่วางไข่ เป็นที่หลบภัย เป็นที่อยู่ของตัวอ่อน ควรส่งเสริมให้ปลูกมาก ๆ เพื่อรักษาลำห้วยน้อยใหญ่ทั้งหลายให้มีความชุ่มชื้น มีน้ำอุดมตลอดปี


มาถึงช่วงที่เป็นดงต้นก่อป่า น้องที่มาด้วยเตือนให้ดิฉันใส่รองเท้า เพราะอาจถูกหนามก่อตำเอา เพลิดเพลินกับการเดินป่าที่เย็นชุ่มฉ่ำ ได้หายใจเข้าลึกเต็มปอด หายใจออกยาวเต็มที่ หัวใจเต้นแรงยามที่ต้องไต่ขึ้นเขาช่วงที่สูงชัน รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมานานหลายวัน มีเสียงนก เสียงแมลงขับกล่อม และแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรชาวปกาเกอญอผู้รักป่าดุจดังชีวิต เป็นความสุขอย่างยิ่ง


สักชั่วโมงเดียวก็มาถึงพื้นที่ที่เป็นเวทีเสวนา " ความรู้พื้นบ้านกับการกำหนดเวทีนโยบายสาธารณะ" ซึ่งเป็นเวทีกลางป่า แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ มีขอนไม้เป็นที่นั่ง กลุ่มสมัชชาคนจน โดยอาจารย์ชัยพันธุ์ ประภาสวัต วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ กับคณะ มาถึงก่อนแล้ว


ตัวแทนชาวบ้านได้พูดถึงความรู้เกี่ยวกับ " โหน่" (ภาษาปกาเกอญอ ทางเหนือเรียกว่า บวกควาย) ซึ่งดิฉันเอง แม้จะอยู่ดอยมานานถึง ๓๑ ปี ก็ไม่เคยสังเกตมาก่อน ว่าเป็นพื้นที่ที่มีน้ำซึมออกมาเป็นแอ่ง โดยควายเป็นผู้สร้างโหน่ ด้วยการลงนอนเกลือกกลิ้งตามพื้นที่ชื้น ๆ จนเกิดเป็นแอ่งที่พักร้อนของควาย มีแพลงตอนจากขี้ควายเป็นอาหารชั้นเลิศ ทำให้ไส้เดือน เขียด ปู มาอาศัยในโหน่ และช่วยทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ทั้งการชอนไชดินให้ร่วนซุย โดยไส้เดือนคุ้ยเขี่ยให้ดินมีรู ซับน้ำ เป็นการเปิดตาน้ำ ให้น้ำไหลออกมาใสแอ่งที่ควายสร้างขึ้น จนกลายเป็น " โหน่" ก่อนที่จะไหลลงลำธารต่อไป




ชาวปกาเกอญอเชื่อว่า โหน่เป็นที่อยู่ของผีน้ำ จึงรักษาโหน่ไว้อย่างดี ลำห้วยแต่ละสายจะมีโหน่กระจายอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๐ แห่ง " โหน่จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของลำห้วย แสดงถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของทุกชีวิตเล็ก ๆ ที่อยู่รายล้อมโหน่"


จากเวทีเสวนา ดิฉันขอให้กลุ่มของพะตีพาไปดู " โหน่" ประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีถึง ๑๑ ประเภท ด้วยความมหัศจรรย์ใจในภูมิปัญญาที่ชาวบ้านผู้อยู่กับป่า ได้สั่งสมความรู้ อย่างเป็นระบบและมีมิติของจิตวิญญาณ


เอกสารเรื่อง " โหน่ มหัศจรรย์ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์ต้นน้ำ" ซึ่งจัดทำโดย เครือข่ายป่าชุมชนและเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งดิฉันได้รับมาเป็นโปสเตอร์ใหญ่ ๑ แผ่น เป็นเอกสารที่อ่านเข้าใจง่าย แม้เด็ก ๆ ระดับประถมก็น่าจะอ่านได้สนุก ดิฉันอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ได้ประสานงานกับผู้จัดทำ เพื่อนำไปผลิตแล้วส่งให้โรงเรียนต่าง ๆ จัดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ เพื่อที่จะรักธรรมชาติ รักท้องถิ่น และสืบสานภูมิปัญญานี้ ให้ดำรงอยู่คู่โลกต่อไป




เดินอีก ๑ ชั่วโมง ก็มาถึงพื้นที่ราบสันเขา ซึ่งเป็นที่ทำพิธี " สืบชะตาแม่ธรณี แผ่นดินเกิดฯ" ผ่านต้นมะขามป้อมลูกดก ก็ได้กินลูกที่ถูกเขย่าลงมา รสขื่นในตอนเคี้ยวแต่เมื่อกลืนแล้วจะหวานชุ่มคอ รวมทั้งลูกสตรอเบอร์รี่ป่าลูกเล็ก ๆ สีเหลือง รสหวาน ชื่นใจ หายเหนื่อย




ขอแสดงความชื่นชมกับผู้จัดงานครั้งนี้ ซึ่งวางวัตถุประสงค์ไว้ ๔ ข้อ คือ


๑. เพื่อร่วมพิธีกรรมสืบชะตา และแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของแต่ละบุคคลที่หลากหลาย ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม และผีดั้งเดิม และร่วมแสดงเจตนารมย์ในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดินน้ำป่าให้ยั่งยืนถึงลูกหลาน


๒. เพื่อเป็นวันประกาศเริ่มต้นลงมือปฏิบัติการการจัดระเบียบที่ดิน การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ตามแนวทางการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน


๓. เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมต่อฐานความรู้และประสบการณ์ขององค์กรชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการแก้ไขปัญหาความยากจนสู่กระบวนการใหม่ร่วมกัน ระหว่างภาคราชการ องค์กรประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชน


๔. เพื่อเป็นฐานในการเชื่อมโยงและสร้างแผนงานระหว่างลุ่มน้ำต่าง ๆ ในอำเภอสะเมิง และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป


รวมทั้งมุ่งให้เกิด การเรียนรู้จากประสบการณ์องค์กรชุมชน ๖ ข้อ


๑. เรียนรู้การจัดการโหน่/ตาน้ำ/น้ำซับ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตภูเขา ขี้ควาย กบ เขียด คือผู้เชื่อมโยงระบบน้ำซึมซับให้ต่อเนื่อง จริงหรือไม่อย่างไร


๒. เรียนรู้ประสบการณ์การจัดการไฟป่า ผลที่เกิดขึ้นด้านบวกต่อการฟื้นตัวของป่า สัตว์ป่า น้ำ สมุนไพร อาหารมีมากน้อยเพียงไร และผลกระทบด้านลบ ความลำบากของคนท้องถิ่น งูมากขึ้น ต้องดับไฟในยามค่ำคืน ขาดงบสนับสนุนที่เพียงพอ ฯลฯ


๓. เรียนรู้ความสามารถในการจัดการพันธุกรรมพื้นบ้านให้คงอยู่หลากหลาย พันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก พืชอาหาร


๔. เรียนรู้เหตุผลเบื้องหลัง ทำไมชาวบ้านต้องจัดการระบบนิเวศน์ให้หลากหลาย ป่าใหญ่ ป่ารุ่นสอง ป่าทุ่งหญ้า ผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารจากทุ่งหญ้า สัตว์กินหญ้าเคี้ยวเอื้อง สัตว์ใหญ่ แนวคิดอะไรจะทำลายรูปธรรมความดีดังกล่าว


๕. เรียนรู้สมุนไพร ป้องกันก่อนแก้ไข ชาวบ้านกินอะไรแทบทุกวัน โรคอะไรที่แพทย์แผนใหม่ทำไม่ได้ แพทย์แผนโบราณทำได้


๖. เรียนรู้เรื่องไม้ฟืน พลังงานมวลชีวภาพ กับทางเลือกในการจัดการพลังงาน


นอกจากนี้ ยังมุ่งเชื่อมโยงเพื่อบูรณาการแผนงาน ระหว่างแผนชุมชนกับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจนและฟื้นฟูลุ่มน้ำ โดยประกาศ แผนการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างเป็นระบบ ๔ ข้อ



  • ประกาศตัวคณะกรรมการแต่ละหย่อม แต่ละหมู่
  • ประกาศชี้แจงแนวทางการสำรวจและรังวัด ปักหมุดขอบเขตที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าใช้สอย ให้ชัดเจน
  • ประกาศภารกิจสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด ระเบียบร่วมกันในระดับชุมชน ลุ่มน้ำ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสม ชัดเจนมากขึ้น
  • ประกาศภารกิจเตรียมขยายฐานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากฐานความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การบูรณาการใหม่ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นและระดับชาติ




นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจะบรรลุผล ถ้าคำนึงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นต้นทุนทางสังคม และต้นทุนธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว นำมาบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสังคมทุกส่วน ขอให้ขยายผลให้ทั่วทั้งประเทศแล้วความยากจนทั้งทางปัญญาและทางวัตถุ จะหมดไปจากประเทศได้แน่นอน